- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- แกะรอยที่มากลุ่ม“ดาวไถ”เรียกเงินพีอาร์ข่าวช่อง9–โยงนักการเมืองหนุ่ม ?
แกะรอยที่มากลุ่ม“ดาวไถ”เรียกเงินพีอาร์ข่าวช่อง9–โยงนักการเมืองหนุ่ม ?
"...คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อทางอสมท ยืนยันว่า ทำข่าวให้หน่วยงานรัฐไม่เสียเงิน แล้ว นายชลิตรัตน์ เอาข้อมูลเรื่องค่าผลิตรายการที่ต้องจ่ายให้อสมท.ในเรื่องนี้มาจากไหน? สัญญาที่ต้องทำกับฝ่ายการตลาด ฝ่ายโฆษณาในการเผยแพร่สกู๊ปชิ้นนี้ตามที่นายชลิตรัตน์ระบุถึงอยู่ที่ไหน?.."
ยังคงเป็นปริศนาค้างคาใจใครหลายคนเกี่ยวกับ “เรื่องเล่า” ของ “ดาวไถ (ค่าข่าว)” กลุ่มใหม่ ที่ถือกำเนิดขึ้นในวงการ "สื่อ”
ที่หาญกล้าถึงขนาดโทรศัพท์ไปทวงเงินจำนวน 2 แสนบาท จากบีโอไอ เพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าเผยแพร่สกู๊ปข่าวประชาสัมพันธ์โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน หรือ อีโคคาร์ ทางช่อง 9 อสมท.
ว่าแท้จริงแล้ว มีอยู่จริงหรือ เป็นเพียงแค่เสียงซุบซิบนินทาในวงการสื่อมาพร้อมกับสายลม?
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ทำการประมวลข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ได้รับจากการยืนยันของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทุกฝ่าย มานำเสนออีกครั้ง
พร้อมพบข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ ดังนี้
1. จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดจากกระแสข่าวลือของคนใน อสมท. ว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง โทรศัพท์สายตรงไปถึงผู้บริหารบีโอไอ เพื่อขอรับเงินจำนวน 2 แสนบาท หลังจากที่สกู๊ปข่าวประชาสัมพันธ์โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางช่อง 9 อสมท. ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา
มีการยืนยันข้อมูลจากคนใน อสมท ว่า จุดเริ่มต้นของสกู๊ปข่าวชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากหัวหน้าข่าวโต๊ะสายข่าวแห่งหนึ่งใน อสมท ได้แจ้งต่อที่ประชุมกองบรรณาธิการว่า มีนโยบายจากเบื้องบน ให้ อสมท ช่วยทำข่าวเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานของ รัฐบาลให้มากยิ่งขึ้น
ก่อนจะเสนอไอเดีย ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังจะเปิดตัวโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานเฟสสอง ขอให้โต๊ะข่าวเศรษฐกิจส่งทีมข่าวเข้าไปทำสกู๊ปข่าวชิ้นนี้มานำเสนอด้วย
ว่ากันว่า ในขั้นตอนการทำสกู๊ปข่าวชิ้นนี้ ทีมข่าวที่ได้รับมอบหมาย ไม่ต้องลงแรงอะไรมาก โดยเฉพาะการติดต่อประสานงานกับแหล่งข่าว เนื่องจากมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าวันที่บันทึกคำสัมภาษณ์ แหล่งข่าว จะเป็นวันหยุดก็ตามที่?
2. ภายหลังจากที่สกู๊ปข่าวชิ้นนี้ ถูกเผยแพร่ผ่านทาง ช่อง 9 อสมท เรียบร้อยแล้ว
มีการยืนยันข้อมูลว่า มีทีมงานของนักการเมืองรายหนึ่ง โทรศัพท์ติดต่อไปยังบีโอไอ เพื่อขอให้จ่ายเงินค่าสกู๊ปข่าวเป็นจำนวนเงิน 2 แสนบาท เป็นค่าตอบแทน
เบื้องต้น ทางบีโอไอ ไม่ยอมจ่าย เพราะไม่เคยรับทราบมาก่อนว่า ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไรกับสกู๊ปชิ้นนี้ และที่สำคัญหัวขบวนใหญ่ ที่มีความต้องการจะให้มีสกู๊ปข่าวชิ้นนี้ เป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ใช่บีโอไอ
แต่ไม่นานนักภายหลังจากที่บีโอไอ ปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวไป ไม่นานนักก็ปรากฏว่า มีนักการเมืองคนหนึ่ง โทรศัพท์ติดต่อไปยังบีโอไอ ด้วยตนเอง เพื่อยืนยันให้บีโอไอ จ่ายเงินส่วนนี้
3. หลังจากเกิดกระแสข่าวลือเรื่องบีโอไอ ถูกโทรศัพท์ ไปเรียกเงินค่าสกู๊ปข่าวดังกล่าว ผู้บริหาร อสมท. ก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไรชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมถึงการทำหนังสือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ปรากฎว่า นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานบูรณาการข่าวสารและการประชาสัมพันธ์กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่จก 0203(4) /4300 ถึงผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) เพื่อชี้แจงเรื่องนี้ ทันที
โดยนายชลิตรัตน์ ได้ยืนยันในหนังสือฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการว่า การเสนอข่าวดังกล่าวไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด พร้อมระบุว่าเป็นความเข้าใจผิดของบีโอไอ ที่เข้าใจผิดว่าการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่าย
เบื้องต้น นายชลิตรัตน์ ได้ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เหตุที่ต้องทำหนังสือไปถึงช่อง 9 เพราะได้ยินมาว่าคนในสหภาพช่อง 9 พูดว่าทำไมบีโอไอถึงมาถามว่าออกข่าวให้แล้วจ่ายเงินทางไหน สหภาพช่อง 9 จึงงงว่าทำไมบีโอไอจึงถามแบบนั้น
“ผมในฐานะที่ดูแลการประชาสัมพันธ์กระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องรับผิดชอบในการชี้แจงให้ช่อง 9 รู้เหตุผลที่แท้จริง ว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้ใต้บังบัญชา เพราะเงินที่บีโอไอต้องจ่ายไม่ใช่ค่าออกข่าว มันเป็นค่าผลิตรายการที่ผู้ผลิตเขาจะต้องมีค่าใช้จ่าย เขามาสัมภาษณ์นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่ไปสื่อสารผิดว่าเป็นค่าออกข่าวจึงเกิดเรื่อง” นายชลิตรัตน์ กล่าว
(อ่านประกอบ:"ชลิตรัตน์"ปัดไม่รู้ "ใคร" ไถเงินค่าทำข่าวพีอาร์อีโคคาร์ "บีโอไอ" 2 แสน)
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลไปยัง นายอเนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่อสมท ได้รับการยืนยันว่า “การออกไปทำข่าวจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรทั้งสิ้น เมื่อมีการร้องขอมาจากหน่วยงานของรัฐ ช่อง 9 สามารถไปทำข่าวได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีการจ้าง”
นายอเนก ยังย้ำถึงปัญหาในเรื่องนี้ ว่า “ผมต้องขอโทษ เพราะผมไม่รู้เรื่องเงินเลย รู้แค่ว่าการทำข่าวมันไม่เสียเงิน”
ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายขาวในอสทม. ยันยันว่า หากจะมีการจัดทำสกู๊ปรายงานจากที่หน่วยงานรัฐร้องขอมา ผู้สื่อข่าวจะพิจารณาความเหมาะสมรวมทั้งประเด็นข่าว ก่อนที่จะออกไปดำเนินการจัดทำ โดยการจัดทำทั้งหมดจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
“แต่ในการทำสกู๊ปโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจไปสัมภาษณ์นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชน์ เลขาธิการบีโอไอ ก็ไม่มีการเรียกเก็บเงินแต่อย่างใด เพราะทุกคนรู้ดีในหน้าที่ดี ที่สำคัญหากหน่วยงานรัฐจะจัดทำเป็นโฆษณา ซึ่งมันต้องมีค่าใช้จ่าย จะต้องติดต่อผ่านฝ่ายการตลาด ฝ่ายโฆษณา ของช่อง 9 เท่านั้น เพราะเงินทุกบาทต้องเข้าบริษัท แต่กรณีที่เกิดปัญหาเท่าที่ทราบ ไม่ได้มีการแจ้งผ่านฝ่ายการตลาด ฝ่ายโฆษณา แต่อย่างใด”
(อ่านประกอบ:คนละทาง!! “ผอ.อสมท.” ยัน “ช่อง 9” ไม่เก็บเงินทำข่าวจาก “หน่วยงานรัฐ”)
คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อทางอสมท. ยืนยันว่า ทำข่าวให้หน่วยงานรัฐไม่เสียเงิน แล้ว นายชลิตรัตน์ เอาข้อมูลเรื่องค่าผลิตรายการที่ต้องจ่ายให้อสมท.ในเรื่องนี้มาจากไหน?
สัญญาที่ต้องทำกับฝ่ายการตลาด ฝ่ายโฆษณาในการเผยแพร่สกู๊ปชิ้นนี้ตามที่นายชลิตรัตน์ ระบุถึงอยู่ไหน?
ใครเป็นฝ่ายที่จะต้องจ่ายเงินระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม หรือบีโอไอ เพราะผู้บริหารก็ให้สัมภาษณ์ในข่าวชิ้นนี้เหมือนกัน?
และที่สำคัญที่สุด มีการจ่ายเงินค่าจ้างเรื่องนี้หรือยัง ถ้าจ่ายเงินแล้ว เงินจำนวนนี้ไปเข้าที่ใคร?
4. มีการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า นักการเมือง ที่โทรศัพท์ติดต่อไปยังบีโอไอ ไม่ใช่ นายชลิตรัตน์ แน่นอน แต่เป็นนักการเมืองรายหนึ่ง ที่รู้จักกับ “นายชลิตรัตน์” เป็นอย่างดี
เบื้องต้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า ภายหลังจากที่กระแสข่าวลือเรื่องการไถ่เงินค่าเผยแพร่สกู๊ปประชาสัมพันธ์โครงการรถยนต์อีโคคาร์ดังกล่าว
นักการเมืองรายนี้ อาจจะได้รับทราบข้อมูลจาก “คนสนิท” ใน อสมท. ว่า กำลังถูกจับตามองในเรื่องนี้ จึงรีบประสานงานไปยังนายชลิตรัตน์ ให้ช่วยเหลือด้วยการทำหนังสือแจ้งไปยังช่อง 9 ว่า เรื่องนี้ เป็นความเข้าใจผิดของบีโอไอเอง ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด?
(นายชลิตรัตน์ กล่าวยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา เมื่อถูกถามว่า ลือกันหนักถึงขั้นว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังด้วย นายชลิตรัตน์ ตอบว่า “ผมไม่รู้ แต่ไม่เกี่ยวกับผมแน่นอน”)
แต่การที่นายชลิตรัตน์ ระบุในหนังสือถึง อสมท.ว่า “บีโอไอ ได้มีการเข้าใจผิดว่าการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้น” รวมถึงการระบุว่า “ ได้ยินมาว่าคนในสหภาพช่อง 9 พูดว่าทำไมบีโอไอถึงมาถามว่าออกข่าวให้แล้วจ่ายเงินทางไหน สหภาพช่อง 9 จึงงงว่าทำไมบีโอไอจึงถามแบบนั้น”
ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่ยืนยันข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ว่า บีโอไอ ได้รับการติดต่อให้จ่ายค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่สกู๊ปชิ้นดังกล่าวอยู่จริง?
คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้ากระแสข่าวที่ว่า มีนักการเมืองคนอื่น นอกเหนือจากนายชลิตรัตน์ โทรศัพท์ติดต่อไปยังเพื่อแลกรับเงินค่าข่าวดังกล่าวเป็นจริง?
ก็ต้องมีคำถามตามมาว่า นักการเมืองรายนี้ ใช้สิทธิ์อะไรในการดำเนินการเรื่องนี้และทำลักษณะนี้ มากี่ครั้งกี่หนแล้ว?
แต่คำถามที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ทางอสมท. หรือองค์กรวิชาชีพด้านสื่อจะแสดงท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้
เพราะถ้ายังปล่อยให้เรื่องนี้ลอยนวลและเงียบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ช่อง 9 อสมท. อาจจะได้รับผลกระทบด้านภาพลักษณ์เต็มๆ ว่า นอกจากการเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานของหน่วยงานรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอด้วยดีตลอด (นายชลิตรัตน์ ระบุไว้ในหนังสือที่ทำถึงผอ.สถานีโทรทัศน์ช่อง 9)
อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า ถูกใช้เป็นช่องทางทำมาหากิน ให้กับ นักการเมืองบางคน ที่ต้องการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
เพื่อหา “ค่าขนม” ไปใช้ในการทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่พึ่งประสงค์ ประสาผู้ชายที่รักสนุกแต่ไม่ยึดติดตามที่มีเสียงลือดังสนั่นในวงการสื่อขณะนี้ก็เป็นไปได้?
ถึงเวลาหรือยัง ที่คนอสมท จะต้องลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีของตนเองจากกระแสข่าวทางลบ แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้?