- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- สนใจ"เขื่อนแม่วงก์"จนลืมปัญหาน้ำมันดิบทะเลระยอง ..ใครบางคนกำลังจะลอยนวล?
สนใจ"เขื่อนแม่วงก์"จนลืมปัญหาน้ำมันดิบทะเลระยอง ..ใครบางคนกำลังจะลอยนวล?
"..ฟังเสียงครวญจากชาวประมงในทะเลระยอง ถึงปัญหาน้ำมันดิบรั่วไหล ที่กำลังถูกกลืนหายไปกับสายลม ในวันที่สังคมไทย กำลังตื่นตัวกับกระแสการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จนทำให้ใครบางคนกำลังจะลอยนวล..”
ในขณะที่สังคมไทยกำลังตื่นตัวกับกระแสการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่กำลังขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดูเหมือนว่า การเยียวยาเหตุการณ์น้ำดิบรั่วไหล ในทะเลระยอง เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่โต
กำลังค่อยๆ ถูกกลืนหายไปกับสายลม เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น!!
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา นายธีระพล ลายประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเครือข่ายกลุ่มประมงเรือเล็กชายฝั่ง จ.ระยอง กล่าวยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยองเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ในวันนี้ ประชาชนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยยังคงได้รับผลกระทบ
"มีการพบเต่าทะเลตาย พบปะการังฟอกขาว อีกทั้งตนและเครือข่ายประมงยังไม่ได้รับการชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารรายงานโดยละเอียดจาก ปตท. และหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าปริมาณน้ำมันที่แม้จริงที่รั่วไหลลงทะเลมีเท่าไหร่แน่ รวมถึงสารพิษตกค้าง และปริมาณสารเคมีที่ใช้"
นายธีระพล ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนการเยียวยาในระยะยาว ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ยังหารือกับ ปตท. เป็นระยะ
“วันนี้เรายังไม่เห็นแผนฟื้นฟูใดๆ ที่เป็นรูปธรรมจากทั้ง ปตท.และหน่วยงานภาครัฐ ว่ามีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร และยังไม่ได้รับการเปิดเผยข้อเท็จจริงจากปตท. ถึงปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลว่ามีเท่าไหร่แน่ เรายังไม่เห็นรายงานโดยละเอียดที่เป็นเอกสารจากทั้งปตท. และหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งปริมาณสารเคมี สารพิษตกค้าง ทั้งที่ ปตท.และหน่วยงานรัฐควรต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ต่อประชาชน แต่เรายังไม่เห็นความชัดเจนใดๆ”
นายธีระพล ยังระบุด้วยว่า ส่วนที่กรมควบคุมมลพิษเคยบอกว่าพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 25 เท่า แล้วไม่กี่วันต่อมาก็ระบุว่าอยู่ในระดับปกตินั้น ก็ต้องเปิดเผยให้สาธารณะชนทราบด้วยว่าที่บอกเกิน 25 เท่านั้น ตัวเลขชัดๆ คือเท่าไหร่ ที่บอกว่าไม่เกินค่ามาตรฐานนั้นคือเท่าไหร่ และค่ามาตรฐานที่แท้จริงคือเท่าไหร่ จนถึงวันนี้ เราก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้โดยละเอียดจาก
"ส่วนเรื่องเงินเยียวยาเครือข่ายประมงกับ ปตท. ก็ประชุมหาทางออกกันเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ถึงการฟื้นฟูเยียวยาในระยะยาว"
ขณะที่แหล่งข่าวซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรวจสอบกรณีน้ำมันดิบรั่วร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระเป็นประธาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปโดยละเอียด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1.ที่มาของน้ำมันดิบที่ทาง ปตท.แจ้งว่ามาจากตะวันออกกลางนั้นต้องตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ เพราะน้ำมันดิบจากสถานที่ขุดเจาะแต่ละแห่งย่อมมีคุณลักษณะและองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน มีโลหะหนักในปริมาณที่ต่างกัน
ประเด็นที่ 2.ปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรแน่ มาจากท่อ มาจากเครื่องจักร หรือมาจากคน และหากเกิดจากความผิดพลาดของคน ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไปว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หากพบว่าเจตนา ย่อมต้องถูกดำเนินคดีทางอาญา
ประเด็นที่ 3. การตรวจสอบว่าในขณะเกิดเหตุหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถหรือไม่ และปฏิบัติหน้าที่อย่างไร อาทิ ในขณะเกิดเหตุ กรมเจ้าท่าปฏิบัติงานอย่างไร มีการรับมือต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร กรมอุทยานฯ มีการเฝ้าระวังรักษาพื้นที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างไร
ประเด็นที่ 4. ตรวจสอบข้อมูลจากกรมศุลกากรว่าการนำเข้าน้ำมันดิบในครั้งนี้ เสียภาษีนำเข้าต่อกรมศุลกากรเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งมูลค่าดังกล่าวอาจสะท้อนได้ถึงปริมาณน้ำมันที่แท้จริงที่นำเข้า เมื่อนำไปพิจารณาประกอบกับภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ และปริมาณน้ำมันในเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการขนถ่ายน้ำมัน เหล่านี้ เป็นปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยในการคำณวนปริมาณน้ำมันดิบที่แท้จริงได้ว่ารั่วไหลเป็นปริมาณเท่าไหร่
“เหล่านี้ คือประเด็นหลักๆ ที่เราจะเริ่มเดินหน้าตรวจสอบในต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยจะขอรายงานการตรวจสอบโดยละเอียดจาก ปตท.ด้วย เพราะฉบับที่ ปตท. แถลงต่อสาธารณะโดยมีคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเป็นประธานนั้น เป็นเพียงข้อมูลโดยย่อ ไม่ได้ชี้แจงในรายละเอียด เช่น ไม่แสดงภาษีนำเข้าจากกรมศุลกากร และไม่ได้แสดงถึงการได้มาของข้อมูลอย่างรอบด้าน เช่น ไม่มีการเสนอข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษประกอบ ไม่มีการวัดหรือตรวจคุณภาพน้ำ"
"ส่วนเรื่องปริมาณน้ำมันที่นำเข้า ปริมาณที่รั่วไหล หรือแรงดันขณะอัดฉีดน้ำมันสู่โรงกลั่นบนบก ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ที่ ปตท. เคยแถลง เราก็รับฟังและเก็บไว้เป็นข้อมูล แต่เราก็จะต้องตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น” แหล่งข่าวรายนี้ระบุ
นี่คือความคืบหน้าล่าสุด เกี่ยวกับการติดตามปัญหาน้ำมันดิบในทะเลระยอง ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากนักในช่วงเวลานี้
จนอาจทำให้ใครบางคนเริ่มสบายใจว่า กำลังจะลอยตัว ลอยนวล ต่อความรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วก็เป็นได้?