- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กาง กม.ดูชัด ๆ ‘ซื้อตัว’ ส.ส.โทษสูงสุดติดคุก-ยุบพรรค หลักฐานเชิงประจักษ์หาจากไหน?
กาง กม.ดูชัด ๆ ‘ซื้อตัว’ ส.ส.โทษสูงสุดติดคุก-ยุบพรรค หลักฐานเชิงประจักษ์หาจากไหน?
“...นั่นหมายความว่า หากมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มีการใช้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในการ ‘ซื้อตัว’ ส.ส. กันจริง ทั้ง ‘ผู้ให้’ และ ‘ผู้รับ’ จะต้องมีความผิดตามมาตรา 30 และ 31 โดยโทษสูงสุดคือติดคุก ส่วนโทษทางการเมืองคือพรรคที่ซื้อตัวอาจถูกยุบได้ด้วย ?...”
จบศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว ด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลตามที่หลายฝ่ายคาดหมาย ท่ามกลางกระแสดราม่าอยู่ 2 กรณี หนึ่ง กรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านแตกคอกันเอง ระหว่างพรรคเพื่อไทย และอดีตพรรคอนาคตใหม่ ในประเด็น ‘ดีลลับ’ กับผู้มีอำนาจ สอง กรณีการกว้านซื้อตัว ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ อย่างน้อย 9 ราย ด้วยวงเงินรายหัว หัวละ 23 ล้านบาท
ประเด็นเรื่องรอยร้าวพรรคร่วมฝ่ายค้าน เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยออกโรงขอโทษอดีตพรรคอนาคตใหม่ และมีกระแสข่าวว่าทั้ง 2 พรรค นัดกินข้าวเคลียร์ใจกันแล้วแต่ไม่รู้ว่าอนาคตจะกลับมา ‘กลมเกลียว’ กันเหมือนเดิมหรือไม่ ?
อีกประเด็นคือกรณีการกว้านซื้อตัว ส.ส. โดยเฉพาะจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง จากการเปิดประเด็นของ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย ส.ส.สีส้ม อีกจำนวนหนึ่ง ที่ปล่อยหลักฐานเป็นคลิปเสียงสนทนากับ ‘นักการเมือง’ รายหนึ่ง ติดต่อขอซื้อตัว จ่ายรายหัว หัวละ 23 ล้านบาท และหากหาคนมาได้เยอะ อาจมอบตำแหน่งโควตารัฐมนตรีให้ด้วย
สำหรับเหตุการณ์ซื้อตัว ส.ส. ดังกล่าว หากนับเฉพาะในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) กำลังถูกตรวจสอบประเด็นการถือครองหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และกรณีปล่อยกู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่ 191.2 ล้านบาท
ในช่วงเวลาที่ ‘พรรคสีส้ม’ กำลังระส่ำระส่าย ในซีกรัฐบาลก็ไม่มั่นคงนักเพราะว่าคะแนนเสียง ‘ยังปริ่มน้ำ’ ยุทธการ ‘ซื้อตัวงูเห่า’ จึงเริ่มต้นขึ้น โดยช่วงเวลานั้นมี ส.ส. พรรคอนาคตใหม่อย่างน้อย 4 ราย ที่โหวตสวนมติพรรคเกือบทุกครั้ง ท้ายที่สุดพรรคอนาคตใหม่จึงลงมติ ‘ขับ’ 4 ส.ส.งูเห่าดังกล่าวออกจากพรรค และทั้ง 4 รายย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท และพรรคพลังประชารัฐในเวลาต่อมา
ต่อมาภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค กรณีกู้ยืมเงินจากนายธนาธร วงเงิน 191.2 ล้านบาท มิชอบด้วยกฎหมาย มีกระแสข่าวสะพัดขึ้นอีกครั้งว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคกำลังต่อสายดีล ส.ส.สีส้ม ให้มาเข้าสังกัดพรรคตัวเอง
1.เพื่อตัดแต้มพรรคฝ่ายค้านให้น้อยลง
2.เพื่อเพิ่มการต่อรองโควตารัฐมนตรีให้มากขึ้น
ท้ายที่สุดมีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการจากพรรคภูมิใจไทยแล้วว่า มี ส.ส.สีส้ม อย่างน้อย 9 ราย ‘แปรพักตร์’ ย้ายขั้วมาซบเรียบร้อย โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะนายทะเบียนพรรค ส่งชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบแล้ว ขณะที่พรรคพลังท้องถิ่นไท โดยนายชัชวาลย์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ประกาศผ่านสื่อเช่นกันว่า มีการติดต่อ ส.ส.สีส้ม ให้ย้ายมาเข้าสังกัดพรรคตนเองเช่นกัน เพื่อหวังว่าในอนาคตจะได้เก้าอี้อย่างน้อยก็ รมช.มหาดไทย (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง!เกมพรรคร่วม รบ.กวาด ‘ส.ส.สีส้ม’ต่อรองโควตา รมต.-จับตาพรรคกล้า?)
ทำให้ปัจจุบัน ส.ส.สีส้ม ที่ว่ากันว่าจะมีการประกาศชื่อ ‘พรรคใหม่’ ในวันที่ 8 มี.ค. 2562 เหลือจำนวนเพียง 55 ราย จากเดิมมี 65 รายภายหลังการยุบพรรค เท่ากับว่าหายไปจากเดิมประมาณ 10 ราย
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การย้ายพรรคของ ส.ส. ที่พรรคถูกยุบต้องดำเนินการอย่างไรตามกฎหมาย และการประกาศซื้อตัว ส.ส. แบบ ‘โจ๋งครึ่ม’ กลางสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ สามารถทำได้หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ ดังนี้
หนึ่ง ประเด็นการย้ายพรรคของ ส.ส. ที่พรรคถูกยุบต้องทำอย่างไร ?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ระบุว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง เมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืออง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ ส.ส. ผู้นั้นเป็นสมาชิก และ ส.ส. ผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น
หมายความว่า หากพรรคการเมืองใดถูกยุบพรรค ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น มีสิทธิย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน หากเกินกว่านั้น จะสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.
ดังนั้นในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ส.ส. ที่ยังเหลืออยู่จึงสามารถย้ายสังกัดพรรคได้อย่าง ‘เสรี’ แล้วแต่จะเลือก แต่ต้องดำเนินการภายใน 60 วัน
อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
สอง การประกาศซื้อตัว ส.ส. แบบ ‘โจ๋งครึ่ม’ กลางสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ สามารถทำได้หรือไม่
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พบว่า มีอย่างน้อย 2 มาตรา บัญญัติโทษเกี่ยวกับการซื้อตัว ส.ส. เอาไว้ ดังนี้
มาตรา 30 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด สมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะสมาชิก
มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ส่วนบทลงโทษเป็นไปตามมาตรา 109 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 30 หรือ 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
ถ้าความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อให้ลงหรือขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
นอกจากนี้การกระทำความผิดดังกล่าวอาจถึงขั้นถูก ‘ยุบพรรค’ ได้ โดยตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ระบุว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง (3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
อ่าน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 : https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf
นั่นหมายความว่า หากมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มีการใช้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในการ ‘ซื้อตัว’ ส.ส. กันจริง ทั้ง ‘ผู้ให้’ และ ‘ผู้รับ’ จะต้องมีความผิดตามมาตรา 30 และ 31 โดยโทษสูงสุดคือติดคุก ส่วนโทษทางการเมืองคือพรรคที่ซื้อตัวอาจถูกยุบได้ด้วย ?
อย่างไรก็ดีประเด็นที่จะสืบสวนได้คือ ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า มีการซื้อตัวเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร จ่ายเงินผ่านกันทางไหน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างยากลำบากพอสมควร หากไม่มีใครคนใดคนหนึ่งระหว่าง ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ขาย’ ปูดข้อมูลขึ้นมาเอง ?
เบื้องต้นองค์กรเครือข่ายภาคทุจริตภาคประชาชนนครราชสีมา ยื่นเรื่องร้องเรียนผ่าน กกต.นครราชสีมา ถึง กกต.ส่วนกลาง ให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว
บทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามกันต่อไป !
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่แถลงข่าวจาก www.bangkokbiznews.com
อ่านประกอบ :
งัดคลิปสนทนามัด! เครือข่ายต้านทุจริตฯโคราชร้อง กกต.สอบปมซื้อตัว ส.ส.อดีต อนค.
เบื้องหลัง!เกมพรรคร่วม รบ.กวาด ‘ส.ส.สีส้ม’ต่อรองโควตา รมต.-จับตาพรรคกล้า?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/