- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กรณีศึกษา'Airbus SE' โคตรโกง=โคตรโง่ : ถอดบทเรียนค่าปรับคดีคอร์รัปชันสูงที่สุดในโลก (1)
กรณีศึกษา'Airbus SE' โคตรโกง=โคตรโง่ : ถอดบทเรียนค่าปรับคดีคอร์รัปชันสูงที่สุดในโลก (1)
"...ช่องทางการจ่ายเงินออกจากบริษัท ภายใต้รูปแบบค่าคอมมิชชั่นจากยอดขาย กลายเป็นช่องทางจ่ายสินบนกันเอิกเกริก ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน คนเก่าพ้นตำแหน่งไปแล้ว คนใหม่มาก็รับช่วงต่อทำตามๆ กันไป ล่วงเข้าปี 2014 คณะกรรมการ CDSC เกิดสงสัยข้อมูลที่รายงาน จึงจ้างผู้ตรวจสอบอิสระเข้ามาตรวจเส้นทางการเงิน แล้วก็พบข้อมูลบ่งชี้ว่ามีการกระทำผิดที่ละเมิดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและนโยบายด้าน CG ของบริษัท จนนำไปสู่การระงับการจ่ายเงินให้แก่ตัวแทนและสั่งปิดฝ่าย SMO ในปี 2016 ...แม้แอร์บัสจะสั่งปิดฝ่าย SMO ไปแล้ว แต่ความผิดฐานติดสินบนนั้นยังคงอยู่..."
หลังดำเนินการสอบสวนนานกว่า 4 ปี (2559-2562) สำนักงาน The Serious Fraud Office (SFO) หน่วยงานปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลอังกฤษออกแถลงการณ์ผลคำตัดสินศาลเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 กรณีบริษัทแอร์บัส เอสอีตกลงยอมรับเงื่อนไข Deferred Prosecution Agreement (DPA-แปลเป็นไทยว่าสัญญาผัดผ่อนการดำเนินคดีเมื่อยอมรับชำระค่าปรับ
โดยสัญญานี้จะระบุเงื่อนไขที่บริษัทต้องปรับปรุงระบบควบคุมภายในของบริษัทตามที่กำหนด) และภายใต้ข้อตกลงนี้ แอร์บัสต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลกว่า 120,000 ล้านบาท!
ถือเป็น 'นิวไฮ' ค่าปรับคดีคอร์รัปชันที่สูงที่สุดในโลก นับว่าสมน้ำสมเนื้อกับบริษัทระดับโลก
นอกเหนือจากโดนศาลอังกฤษ สั่งลงโทษให้จ่ายค่าปรับครั้งมโหฬารแล้ว บริษัทยังต้องชำระค่าดำเนินการสอบสวนให้แก่ SFO อีก 237 ล้านบาท และยังต้องจ่ายค่าปรับให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสอีกกว่า 70,000 ล้านบาท และอีก 18,000 ล้านบาทให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อันเป็นผลพวงมาจากการกระทำผิดในคดีนี้
ตลอดเวลากว่า 4 ปีของ SFO และคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบของฝรั่งเศส The French Parquet National Financier (PNF) ซึ่งร่วมกันตรวจสอบการจ่ายสินบนของบริษ้ทแอร์บัสไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยแบ่งงานตรวจสอบประเทศคู่ค้าของแอร์บัสออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกตรวจสอบโดย SFO จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน ศรีลังกา และ กาน่า อีกกลุ่ม PNF รับไปตรวจสอบ 15 ประเทศได้แก่ เม็กซิโก บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย เนปาล ยูเออี คูเวต ซาอุดิอาระเบีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ตุรกี เวียดนาม และไทย
ส่วน Department of Justice (DOJ) ของสหรัฐอเมริกา ร่วมตรวจสอบจัดหนักเน้นเฉพาะการจ่ายสินบนและการจำหน่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในด้านทหารของบริษัทแอร์บัสและบริษัทในเครือที่ส่งขายให้แก่ประเทศจีน
@เปิดโคตรถุงเงิน แอร์บัส เอสอี
บริษัทแอร์บัส เอสอี จดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศเนเธอแลนด์เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มบริษัทแอร์บัส ที่รู้จักกันดีในฐานะบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องบินพาณิชย์และอากาศยานรบเกือบทุกชนิดให้แก่ “กองทัพทั่วโลก” โดยรายได้ร้อยละ 80 มาจากการขายเครื่องบินพาณิชย์
ในช่วงปี 2554-2561 บริษัทมีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 49 พันล้านยูโรถึง66.5 พันล้านยูโร กำไรก่อนหักภาษีและต้นทุนการเงินอยู่ระหว่าง 1.5 พันล้านยูโรและ5 พันล้านยูโร ผลประกอบการปีล่าสุด 2562 บริษัทแถลงรายได้เพิ่มขึ้นถึง 70,478 ล้านยูโร แต่เมื่อหักลบค่าปรับแล้วทำให้ผลประกอบการขาดทุน 1,362 ล้านยูโร
บริษัท แอร์บัส เอสอี มีบริษัทในเครือมากมายกระจายตัวจัดตั้งในหลายประเทศทั่วโลก แต่บริษัทลูกที่เป็นตัวสร้างปัญหาจนทำให้เกิดเรื่อง คือบริษัทลูกชื่อ “Airbus SAS” โดยบริษัทได้ตั้งฝ่าย Strategy and Marketing Organisation (the SMO) ทำหน้าที่แต่งตั้งหุ้นส่วนธุรกิจ (Business Partner) ในประเทศต่างๆ เพื่อช่วยหาลูกค้าและสร้างโอกาสทางการตลาดให้บริษัทปิดดีลขายเครื่องบินได้สำเร็จ โดยตัวบริษัทลูกแห่งนี้ตั้งสำนักสาขาอยู่ในประเทศอังกฤษและสเปน
ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญ กล่าวคือ แม้บริษัทแม่แอร์บัส เอสอี จดทะเบียนตั้งในประเทศเนเธอแลนด์ แต่กลับโดนศาลอังกฤษตัดสินลงโทษได้นั้นเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทแอร์บัส เอสอี มี ‘relevant commercial organisation’ จดทะเบียนและดำเนินธุรกิจอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษตามมาตรา 7 ของ กฎหมาย UK Bribery Act จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลอังกฤษสามารถเอาผิดบริษัทแอร์บัส เอสอีได้
ถึงตรงนี้ ขอขยายความของกฎหมาย UK Bribery Act ซึ่งไม่ได้จำกัดขอบเขตการบังคับใช้ตามเขตแดนประเทศ หากแต่ครอบคลุมถึงการกระทำของบุคคลหรือนิติบุคคลสัญาติอังกฤษ ไม่ว่าจะแอบจ่ายสินบนที่ใดก็ตามบนโลกใบนี้ ศาลอังกฤษสามารถนำเรื่องไต่สวนเอาผิดได้ เรียกว่าเอาผิดได้แบบไร้พรมแดน
เช่นเดียวกับกฎหมาย Foreign Corruption Practice Act ของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กฎหมายนี้มีความโหดไปกว่านั้นตรงที่ว่า หากการจ่ายสินบนกระทำผ่านระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา แม้คนให้คนรับจะไม่ใช่คนสัญชาติอเมริกันก็ตาม รัฐบาลอเมริกันสามารถสอบสวนเอาผิดได้ ถ้าจำกันได้กรณีที่มีผู้บริหารของฟีฟ่ารับเงินสินบนเพื่อเทคะแนนให้บางประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดบอลโลก ก็โดน DOJ เล่นงานได้เพราะเหตุนี้
@ กฏหมายกำกับโคตรเข้มแต่ก็ยังโกงได้
กลับมาที่ ตัวละครของเรื่องนี้ที่ทำให้เกิดการจ่ายสินบนได้นานนับปี ฝ่าย SMO ของบริษัทแอร์บัส ได้แต่งตั้ง “หุ้นส่วนธุรกิจ” (Business Partner: BP) ซึ่งหมายความรวมถึง ตัวกลาง ตัวแทน หรือแล้วแต่จะเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่แก่นแท้สำคัญของคนเหล่านี้คือคนหรือนิติบุคคลที่ทำหน้าที่แทนบริษัทแอร์บัส เพื่อดำเนินการให้ได้มาซึ่งสัญญาสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์จากสายการบินหรือหน่วยงานรัฐของประเทศต่างๆ และเมื่อใดก็ตาม ที่แอร์บัสได้สัญญาสั่งซื้อสำเร็จ คนเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทนเป็นร้อยละของยอดขายรวม หรือส่วนแบ่งจากจำนวนเครื่องที่ขายได้แต่ละลำ เสียดายในเอกสารไม่ได้บอกว่าจ่ายกันอยู่ที่เท่าไร
คนเหล่านี้จะเป็นใครก็ได้ในประเทศที่บริษัทเข้าไปเปิดตลาด จากที่ตรวจพบส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้น ภรรยา และคนสนิทนักการเมืองที่มีอำนาจลงนามสั่งซื้อ บางรายใช้วิธีเปิดบริษัทปลอมขึ้นมาเฉพาะเพื่อรับเงินสินบน เข้าบัญชีต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก ก็ต้องมีการกำกับดูแลกิจการตามมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้เพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ ฝ่าย SMO จึงตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งให้ชื่อ “Company Development and Selection Committee (CDSC)” เพื่อกำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่บรรดาตัวแทนและทบทวนการทำงาน ประกอบด้วยตัวแทนจากสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นตัวแทนคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับ (CCO) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาการตลาด มานั่งเป็นองค์คณะ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นตัวแทนจากฝ่าย SMO ทั้งหมดนี้คือการสร้างกลไกของการกำกับดูแลกิจการให้เกิดขึ้น คำถามคือ กลไกนี้เพียงพอหรือไม่เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไป
ไม่ต้องทาย – คำตอบก็น่าจะทราบดีว่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงนั้น ไม่ค่อยมีเวลามาใสใจในรายละเอียดและการประชุมก็ไม่เคยจะได้ตัวครบ ทำให้จะนัดประชุมแต่ละครั้งจึงเกิดขึ้นได้น้อย แม้กำหนดไว้จะประชุมเดือนละครั้ง และทำให้การตัดสินใจอะไรก็ทำไม่ได้สักที เลยหาทางออกด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยให้หัวหน้าฝ่าย SMO นั่งเป็นประธานนำการประชุมได้เลย เท่ากับว่า อำนาจการตัดสินใจใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนบริษัท ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบภายในบริษัท ถึงตรงนี้กลไกกำกับดูแลของบริษัทน่าจะเกิดปัญหา เพราะกลายเป็นคนทำ คนตัดสินใจรวมศูนย์ ขาดการตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจอย่างที่ควรจะเป็น
ความรับผิดชอบหลักของฝ่าย SMO คือ สร้างความมั่นใจว่าการแต่งตั้งตัวแทนต้องไม่เป็นคนเดียวกับลูกค้าของบริษัท (แต่ภรรยา ลูก ญาติของลูกค้ากลับไม่ห้าม) โดยฝ่าย SMO ต้องประเมินความเสี่ยงการทำตามกฎระเบียบของบริษัท และกำหนดข้อตกลงการจ่ายค่าตอบแทน รวมถึงวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้ตัวแทนต้องไม่มีความเสี่ยงต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท
@ สินบนกับค่าคอมมิชชัน..โคตรจะคล้าย
อย่างว่า “อำนาจที่ขาดการตรวจสอบย่อมนำไปสู่คอร์รัปชัน”
ประโยคสัจธรรมนี้ สะท้อนให้เราได้เห็นภายหลังเรื่องแดงขึ้น โดยเอกสารของ SFO ระบุว่า กรรมการบางคนในคณะ CDSC มีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้เกิดการจ่ายสินบนในนามของค่าตอบแทน แถมซ้ำร้ายยังจัดทำข้อมูลบิดเบือน หรือเปิดเผยข้อมูลสำคัญไม่ครบถ้วน หรือนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วนให้แก่ที่ประชุมคณะกรรมการ CDSC พิจารณา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะฝ่ายเลขานุการที่รับผิดชอบจัดทำข้อมูลเสนอคณะกรรมการก็คือหัวหน้าฝ่าย SMO ชงเรื่องทั้งหมด โดยเรื่องที่บิดเบือนปกปิดมากสุดคือ การแต่งตั้งตัวแทน การกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนแต่ละราย และ การระบุตัวผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของบริษัทตัวแทน
กลายเป็นว่า ช่องทางการจ่ายเงินออกจากบริษัท ภายใต้รูปแบบค่าคอมมิชชั่นจากยอดขาย กลายเป็นช่องทางจ่ายสินบนกันเอิกเกริก ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน คนเก่าพ้นตำแหน่งไปแล้ว คนใหม่มาก็รับช่วงต่อทำตามๆ กันไป
ล่วงเข้าปี 2014 คณะกรรมการ CDSC เกิดสงสัยข้อมูลที่รายงาน จึงจ้างผู้ตรวจสอบอิสระเข้ามาตรวจเส้นทางการเงิน แล้วก็พบข้อมูลบ่งชี้ว่ามีการกระทำผิดที่ละเมิดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและนโยบายด้าน CG ของบริษัท จนนำไปสู่การระงับการจ่ายเงินให้แก่ตัวแทนและสั่งปิดฝ่าย SMO ในปี 2016
อย่างไรก็ตาม แม้แอร์บัสจะสั่งปิดฝ่าย SMO ไปแล้ว แต่ความผิดฐานติดสินบนนั้นยังคงอยู่
การเริ่มต้นสอบสวนของรัฐบาลอังกฤษจึงเกิดขึ้น !
ตอนต่อไป จะมาขยายความต่อถึงข้อสงสัยว่า ทำไม “Airbus SE” ถึงโดนปรับจาก 3 ประเทศ ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
Airbus - Approved Judgment, SFO, 31.1.20
Airbus - Statement of Facts, SFO, 31.1.20
Deferred Prosecution Agreement Airbus 31.01.20
PNF-France-CJIP AIRBUS, PNF, 2020
https://www.airbus.com/newsroom/press-releases/en/2020/02/airbus-reports-full-year-2019-results.html
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/