- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เผือกร้อน ‘สมคิด’ เข็นไทยเซ็น ‘CPTPP’ จับตา ‘ยาแพง-ต่างชาติฮุบภูมิปัญญาไทย’
เผือกร้อน ‘สมคิด’ เข็นไทยเซ็น ‘CPTPP’ จับตา ‘ยาแพง-ต่างชาติฮุบภูมิปัญญาไทย’
"...กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงกังวลว่า CPTPP จะทำให้ขอบเขตการใช้มาตรการ CL ลดลง เพราะไม่มีข้อยกเว้นกรณี for public non-commercial use ซึ่งแตกต่างจาก TRIPS และหากมีการใช้มาตรการ CL อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้..."
เป็นสถานการณ์ร้อนที่กำลังจะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม
เมื่อมีกระแสข่าวในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 ก.พ.นี้ ที่ประชุมจะพิจารณาอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP
CPTPP เป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมภาคีฯนี้ เพื่อไม่ ‘ตกขบวน’ ในการเข้าหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งมีสมาชิกก่อตั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บูรไน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ชิลี เม็กซิโก และเปรู
โดยทั้ง 11 เขตเศรษฐกิจ มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมอยู่ที่ 13.5% ของจีดีพีโลก และเป็นตลาดส่งออกสินค้าไทยคิดเป็นสัดส่วน 30% ของมูลค่าส่งออกสินค้าในแต่ละปี
“ในปี 2563 เราจะเร่งรัดการเจรจา FTA ให้สำเร็จทั้งไทย-ตุรกี , ไทย-ศรีลังกา ไทย-บิมสเทค (BIMSTEC) การฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-บังกลาเทศ ไทย-ฮ่องกง รวมถึงข้อตกลง CPTPP หลังจากปี 2562 ได้ผลักดันข้อตกลง RCEP สำเร็จแล้ว” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์กล่าวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2562
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา นายสมคิด ไปเดินทางไปญี่ปุ่นและรับปากว่า ไทยยื่นคำขอเข้าร่วมความตกลง CPTPP ภายใน 3 เดือนข้างหน้า
แต่ทว่าการผลักดันการลงนามข้อตกลง CPTPP ดังกล่าว กลับสร้างความกังวลให้กับภาคประชาสังคมหลายส่วน โดยเฉพาะการเข้าถึงยาต่างๆ โดยเฉพาะยาสามัญ
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แสดงความกังวลว่า ความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพราะจะขัดขวางการแข่งขันของบริษัทยาชื่อสามัญ ทำให้ยาที่มีความจำเป็นถูกผูกขาดโดยบริษัทที่ผลิตยาต้นแบบ ส่งผลให้ราคายาในประเทศไทยแพงขึ้น
“มาตรการที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมาการอาหารและยา (อ.ย.) ไม่รับขึ้นทะเบียนยาให้ยาชื่อสามัญ ในกรณีที่บริษัทยาต้นแบบได้ยื่นขอสิทธิบัตรหรือได้รับสิทธิบัตรในยาชนิดเดียวกัน ซึ่งจะสกัดกั้นการแข่งขันของยาชื่อสามัญ เมื่อไม่มีการแข่งขัน ยาจะถูกผูกขาดโดยบริษัทยาเพียงเจ้าเดียว และยาจะมีราคาแพง” เฉลิมศักดิ์ ระบุ
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นการขัดขวางการนำมาตรการ CL (Compulsory Licensing หรือ มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์) มาใช้ด้วย เพราะยาที่จะนำมาใช้ผ่านมาตรการ CL ได้นั้น จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนยาก่อน
เฉลิมศักดิ์ ยังอ้างงานวิจัยผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจากมาตรการ ‘ทริปส์’ ผนวกกับ FTA ไทย-สหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในปี 2553 ว่า หากไทยลงนาม โดยยอมให้มีข้อผูกมัดในเรื่องที่ไม่ให้ อ.ย. รับขึ้นทะเบียนยา ถ้ามีบริษัทอื่นยื่นขอสิทธิบัตรสำหรับยาชนิดเดียวกันหรือมีสิทธิบัตรยานั้น (มาตรการนี้เรียกว่า “Patent Linkage”)
จะทำให้ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น 822.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.55 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปีแรก และหลังจากนั้นค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุว่า ตามข้อตกลง CPTPP จะมีการจำกัดมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ CL ให้แคบลง ดังนั้น การใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อการสาธารณสุขโดยไม่แสวงหากำไร จะนำมาใช้เป็นเหตุให้ประกาศใช้ CL ไม่ได้ เหมือนที่ไทยเคยประกาศใช้ในปี 2549-50
อีกทั้งในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐใน CPTPP ยังกำหนดให้ภาครัฐจะไม่สามารถสงวนสิทธิประโยชน์บางประการ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางยาและอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศได้
“ไทยแทบไม่ได้ประโยชน์ทางการค้าอะไรเพิ่มเติม เมื่อไม่มีอเมริกา และก่อนหน้านี้ ไทยได้ลงนาม FTA กับประเทศต่างๆ ใน CPTPP เกือบหมดแล้ว เหลืออีก 2 ประเทศที่กำลังจะลงนาม ดังนั้น การที่ไทยจะลงนาม CPTPP ก็เหมือนการยอมรับเงื่อนไขและข้อผูกมัดต่างๆ โดยไม่ได้เจรจาอะไรเลย” กรรณิการ์ กล่าว
ในขณะที่ มูลนิธิชีววิถี หรือ ‘BIOTHAI’ ระบุว่า หากไทยลงนามข้อตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องพันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากมีเนื้อหาสำคัญในการกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 หรือ ‘อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ’
คือ การเพิ่มอำนาจการผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทเอกชน ลดทอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืช และลดทอนกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนายาจากสมุนไพร หรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศ
“หากไทยยอมรับความตกลงนี้ จะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายมีราคาแพงขึ้น 2-6 เท่าตัว และขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ปี รวมถึงการขยายการผูกขาดออกไปจากส่วนขยายพันธุ์ (เมล็ด กิ่ง หน่อ เหง้า) ให้รวมถึงผลผลิต และผลิตภัณฑ์ และอนุพันธ์ของสายพันธุ์ใหม่” รายงานระบุ
ที่สำคัญความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรยาระงับปวดจากกระท่อมแล้ว เป็นต้น
“การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP จะยิ่งส่งผลเลวร้ายต่อเกษตรกรและคนส่วนใหญ่มากยิ่งขึ้นไปอีก” BIOTHAI ระบุ
CPTPP ไม่เพียงแต่จะสร้างความกังวลให้ภาคประชาสังคมเท่านั้น แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีข้อห่วงใยถึงผลกระทบของ CPTPP โดยมีการจัดทำรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับผลการประเมินผลกระทบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการ หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP โดยคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2561 พบว่า
การเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP จะมีผลกระทบต่อสุขภาพใน 8 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย และสมุนไพร (2) ยา วัคซีน และชีววัตถุ (3) เครื่องมือแพทย์ (4) เครื่องสำอาง (5) อาหาร (6) ยาสูบ (7) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ (8) บริการสุขภาพ
เช่น ข้อบทที่ 2 มาตรา 2.27 ข้อกำหนดด้าน Modern biotechnology ซึ่งรวมการดัดแปรพันธุกรรม (GMO) ในสินค้าเกษตรและประมง แต่ไม่รวมยาและผลิตภัณฑ์ยา และรวมถึงการค้าสินค้าที่ได้มาจากเทคโนโลยีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียจุดยืนในการเป็นแหล่งผลิต ‘สินค้าเกษตรอินทรีย์’
มาตรา 8.14 และภาคผนวก 8-เอ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ครอบคลุมเฉพาะไวน์และสุรากลั่น (wine and distilled spirits) ไม่รวมสุราหมัก (เบียร์) โดยมาตราดังกล่าว จะทำให้มาตรการที่มุ่งคุ้มครองเรื่องการโฆษณาบนฉลากและข้อความคำเตือนด้านสุขภาพตามประกาศฉลากที่ประชาชนได้รับความคุ้มครองไว้แต่เดิมจะ ‘ใช้ไม่ได้’
นอกจากนี้ การออกอนุบัญญัติข้อความ และรูปภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต จะไม่สามารถบังคับใช้กับ ‘ฉลากหลัก’ ได้
โดยเฉพาะในข้อบทที่ 18 ทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) มาตรา 18.6 ระบุชัดเจนว่า “สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะกำหนดข้อยกเว้นที่สำคัญที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามบทนี้ (ได้แก่ สถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ กรณีจำเป็นเร่งด่วนยิ่งยวด วิกฤตด้านสาธารณสุข)”
กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงกังวลว่า CPTPP จะทำให้ขอบเขตการใช้มาตรการ CL ลดลง เพราะไม่มีข้อยกเว้นกรณี for public non-commercial use ซึ่งแตกต่างจาก TRIPS และหากมีการใช้มาตรการ CL อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องได้ เมื่อเชื่อมโยงกับข้อบทที่ 9 การลงทุน
ส่วนมาตรา 18.16 ความร่วมมือด้านภูมิปัญญาดั้งเดิม (Cooperation in the Area of Traditional Knowledge) ที่ให้ประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือกันผ่านหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ traditional knowledge (TK)
เช่น ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย และทรัพยากรพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง (genetic resource, GR) เช่น สมุนไพร และช่วยให้การตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยการให้เข้าถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ TK&GR ที่อาจใช้เป็นหลักฐาน prior art คัดค้านการจดสิทธิบัตร เป็นต้น
ตรงนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีอุตสาหกรรมยาที่มีความเข้มแข็ง เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาและทรัพยากรพันธุกรรมในประเทศสมาชิกที่เจ้าของ TK & biodiversity และจดสิทธิบัตรได้สะดวกขึ้น
อีกทั้งมาตรา 18.76 กำหนดให้เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรดำเนินการระงับการปล่อยสินค้าที่นำเข้า ส่งออก ส่งผ่านหรือขนถ่ายลำ ด้วยเหตุที่ผู้ทรงสิทธิเพียง ‘สงสัยว่า’ มีการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ถูกคาดว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้าปลอม หรือทำให้เกิดความสับสนในความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า
ทั้งนี้ การสงสัยที่ยังไม่ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนในกรณีของเครื่องหมายการค้าและชื่อยาสามัญ อาจจะทำให้กระบวนการนำเข้ายาจำเป็นชะงักได้ เพราะโดยปกติการพิสูจน์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต้องตัดสินโดยศาลและกระบวนการกว่าจะสิ้นสุดใช้เวลานาน ในขณะที่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยารักษาไม่อาจรอได้
“โดยหลักการแล้ว ประเทศควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ยาเป็นหลัก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญในการดำรงชีวิต เพียงแค่การต้องสงสัยและให้มีอำนาจจับและยึดสินค้า โดยเฉพาะยาไว้ จึงไม่เป็นธรรมและขัดหลักมนุษยธรรม” รายงานผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขระบุ
เหล่านี้เป็นข้อห่วงใยที่ภาคประชาสังคม ส่งต่อไปยัง ‘สมคิด’ และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะตัดสินใจอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/