- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
"...การมีอนุกรรมการกลั่นกรอง จะช่วยทำให้การอนุมัติงบประมาณกองทุนจากนี้ไปก็จะมีความรัดกุมรอบคอบมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีคณะอนุฯ ชุดนี้ นอกจากนี้ เรายังจะมีคณะอนุฯติดตามช่วยประเมินโครงการด้วย ซึ่งทั้งสองกลไกนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการอนุมัติงบประมาณในอดีต และจะช่วยตัดวงจรการชงเองกินเองแบบที่เคยเกิดในอดีตที่ผ่านมาด้วย..."
เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ โดนข้อครหาว่า ‘ชงเองกินเอง’
หลังจากปรากฏชื่อ ‘บุคคลใกล้ชิด’ นักการเมืองในรัฐบาลปัจจุบัน เข้าไปนั่งเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ
ไม่ว่าจะเป็น ‘วณี ปิ่นประทีป’ ภรรยา ‘นพ.พลเดช ปิ่นประทีป’ สมาชิกวุฒิสภา และคณะทำงานดูแลงานประชาสังคมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือ ‘อนุรุทธิ์ นาคาศัย’ เลขานุการ รมว.พลังงาน น้องชายของ ‘อนุชา นาคาศัย’ ส.ส.ชัยนาท แกนนำกลุ่ม ‘สามมิตร’ และประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคกลาง พปชร.
ร้อนถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแลการบริการงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานวงเงินนับหมื่นล้าน ต้องมาชี้แจงต่อสาธารณชน ว่า การแต่งตั้งง นางวณี ปิ่นประทีป ภรรยา นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คณะทำงานดูแลงานประชาสังคมของพรรคพปชร. และนายอนุรุทธิ์ นาคาศัย เลขานุการ รมว.พลังงาน เข้าร่วมเป็นคณะอนุฯ ด้วย เป็นเจตนาดี ในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุติ ที่มาจากองค์กรภาคประชาชน และตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้าไปร่วมกันกลั่นกรองโครงการให้มีความรัดกุมรอบคอบ เพื่อแก้ไขปัญหาการชงเองกินเอง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวการนำเงินกองทุนออกมาใช้ทำโครงการอนุรักษ์พลังงานต่างๆ เพื่อสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับ ส.ส. ของพรรคพปชร. ว่าไม่เป็นความจริงด้วยนั้น
นายสนธิรัตน์ ยังย้ำด้วยว่า "การมีอนุกรรมการกลั่นกรอง จะช่วยทำให้การอนุมัติงบประมาณกองทุนจากนี้ไปก็จะมีความรัดกุมรอบคอบมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีคณะอนุฯ ชุดนี้ นอกจากนี้ เรายังจะมีคณะอนุฯติดตามช่วยประเมินโครงการด้วย ซึ่งทั้งสองกลไกนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการอนุมัติงบประมาณในอดีต และจะช่วยตัดวงจรการชงเองกินเองแบบที่เคยเกิดในอดีตที่ผ่านมาด้วย"
(อ่านประกอบ : ไม่เกี่ยวหาเสียงพปชร.! 'สนธิรัตน์' ยันเจตนาดีตั้งคนใกล้ชิดช่วยกลั่นกรองงบกองทุนพลังงาน, เปิดคำสั่ง 'สมคิด' ตั้งคนใกล้ชิด รมว.พลังงาน ช่วยกลั่นกรองงบกองทุนพลังงานหมื่นล้าน)
น่าสนใจว่า วงจรการชงเองกินเอง ภายใต้การบริหาร ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ ในอดีตมีเกิดขึ้นจริงหรือไม่?
หากย้อนเวลากลับไป หลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ค.2557 ไม่ถึง 1 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่มี ‘พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์’ ตำแหน่งปลัดบัญชีทหารบกในขณะนั้น เป็นประธาน
ภารกิจหลักของ คตร. คือ การตรวจสอบโครงการลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เบื้องต้นมี 8 โครงการ ก่อนจะเพิ่มเติมเข้ามาอีก 28 โครงการในเวลาต่อมา
หนึ่งในนั้น คือ การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า มีนักการเมืองเข้าไปพัวพันในลักษณะ ‘ชงเองกินเอง’ เปิดช่องให้มีการเอื้อประโยชน์ต่อบางกลุ่มธุรกิจ และเป็นโครงการที่มุ่งเน้นไปในการหาเสียง
สะท้อนได้จากการจัดสรรเงินกองทุนฯ ปีงบ 2557 วงเงิน 6,524 ล้านบาท ซึ่งถูกนำไปใช้ในโครงการเปลี่ยนหลอดไฟ LED การช่วยเหลือประชาชนสามารถซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาถูก และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) ในภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ เป็นต้น
อีก 1-2 เดือนต่อมา คตร.สั่งยุติการดำเนินโครงการ 23 โครงการ และให้เสนอโครงการใหม่ทดแทน พร้อมสั่งทบทวนแผนการใช้เงินกองทุนฯ หลังพบว่าภายใต้แผน 5 ปี (2554-2558) วงเงิน 29,500 ล้านบาท เงินกองทุนฯจำนวน 3,000 ล้านบาท ที่ถูกจัดสรรเป็น ‘งบบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์’
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ‘พล.อ.อนันตพร’ ลุกจากเก้าอี้ประธาน คตร. ก้าวขึ้นเป็น รมว.พลังงาน ในเดือน ส.ค.2558 ก่อนถูกโยกเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในเดือน พ.ย.2560 โดยมี ‘ศิริ จิระพงษ์พันธ์’ เข้ามานั่งเป็นรมว.พลังงานแทน และมี ‘พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง’ รองนายกฯ ทำหน้าที่ประธานกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ
แต่แล้วเหตุการณ์ก็วนกลับมาเป็น ‘หนังม้วนเก่า’
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการตรวจสอบการใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ หลังจากในเดือนส.ค.2561 กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ตรวจสอบการจัดสรรเงินกองทุนฯปีงบ 2561 (เพิ่มเติม) ภายใต้โครงการ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ วงเงิน 5,200 ล้านบาท
แบ่งเป็น 1.โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร 5,000 ระบบ 2.โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนชนบท 350 ระบบ และ3.โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 170 ระบบ
พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบการจัดสรรเงินกองทุน ประจำปีงบ 2562 วงเงิน 10,448 ล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ADDP) ด้วย
เนื่องจากเห็นว่าการจัดสรรเงินกองทุนฯ มีการเปิดให้ ‘เอกชนบางกลุ่ม’ เข้ามากลั่นกรองโครงการฯที่ได้รับการสนับสนุน ซึ่ง ‘ส่อ’ ไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาว่ามี ‘มาเฟีย’ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการ ทำหน้าที่ควบคุมการจัดสรรเงินกองทุนฯปีละหมื่นล้าน และเรียก ‘เงินทอน’ มานานนับสิบปี
เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับ ‘ความไม่โปร่งใส’ ในการใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ซึ่ง ณ วันที่ 31 ก.ค.2561 กองทุนฯมีเงินสูงถึง 41,874 ล้านบาท
ส่งผลให้ในเดือน ก.ย.2561 ‘ทวารัฐ สูตะบุตร’ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ถูกเด้งไปเป็นผู้ตรวจฯ เซ่นกระแสข่าวความไม่โปร่งใสในการจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ
ต่อมาในช่วงปลายปี 2561 ‘กุลิศ สมบัติศิริ’ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สั่ง ‘ทบทวน’ โครงการที่ได้รับอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯ ประจำปีงบ 2562 ทั้งหมด ซึ่งยังเหลือเงินอยู่ 9,432 ล้านบาท จากงบทั้งหมด 10,448 ล้านบาท
และเดินหน้าจัดสรรงบในโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำและระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ ที่เหลืออยู่ 3,710 ล้านบาท ก่อนที่การเมืองจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในเดือนมี.ค.2562
ต่อมาเมื่อกระทรวงพลังงานเข้าสู่ยุคที่มี ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ เป็นรมว.พลังงาน และมี ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกฯ เป็นประธานกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ‘สมคิด’ สั่งยกเลิกกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนฯ ประจำปีงบ 2563 วงเงิน 12,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการกองทุนฯชุดเดิม มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562
พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนฯ ประจำปีงบ 2563 ใหม่ พร้อมทั้งปรับลดวงเงินจัดสรรเหลือ 1 หมื่นล้านบาท ภายใต้ 3 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้การใช้พลังงาน 5,000 ล้านบาท 2.แผนพลังงานทดแทน 4,700 ล้านบาท และ 3.แผนการบริการจัดการสำนักงานกองทุนฯ (ส.กทอ.) 300 ล้านบาท
แต่ก็ไม่วายแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดกับ ‘นักการเมือง’ เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ
ข้อครหาการจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานแบบ ‘ชงเองกินเอง’ แม้กระทั่งแจกงบเพื่อหวังผลทางการเมือง ก็ยังกลับมาย่ำซ้ำรอยเดิมอีกจนได้
ที่สำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ที่มีการจัดสรรเงินไปในโครงการต่างๆปีละนับหมื่นล้าน และเป็นเงินนอกงบประมาณที่ตรวจสอบได้ยากลำบาก และยังไม่มีการส่งรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและงบการเงินมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเลย จนครม.ถึงกับต้องมีการทวงถาม และเร่งรัดให้กระทรวงพลังานเสนอรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและงบการเงินปีสิ้นสุด วันที่ 30 ก.ย.2558 - 30 ก.ย.2562 ต่อครม.โดยเร็ว
ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า กองทุนหมื่นล้านกองนี้ มีการ ‘ซุกซ่อน’ สิ่งที่ไม่ชอบมาพากลเอาไว้อีกหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/