- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า
รัฐบาล 'สอบตก’? แก้เหลื่อมล้ำศก. คนจนพุ่ง 6.7 ล้าน-ช่องว่างรายได้ห่าง 19 เท่า
"...การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้ไม่เกิดการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม และทำให้ผลประโยชน์ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูง เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่สูง..."
เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เมื่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าปีที่ 2 หรือในปี 2561 ของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ‘การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม’ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
ผลปรากฏออกมาว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 ‘สอบตก’ ในหลายหัวข้อ โดยเฉพาะในด้านการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และแก้ไขปัญหาความยากจน
รายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า ในปี 2560 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มเป้าหมายประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) เพิ่มจาก 3,353 บาท/คน/เดือน ในปี 2558 เป็น 3,408 บาท/คน/เดือน ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของแผนฯที่ตั้ง 15% ต่อปี
และหากเทียบกับรายได้ของประชากรกลุ่ม 60% ที่มีรายได้สูง (Top 60) พบว่าในปี 2558 รายได้ของประชากรกลุ่มนี้อยู่ที่ 13,371 บาท/คน/เดือน แต่ในปี 2560 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 13,752 บาท/คน/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 1.4% ต่อปี สะท้อนว่า การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังคงไปตกกับกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงมากกว่ากลุ่มประชากรรายได้ต่ำ
“สาเหตุที่ทำให้การเพิ่มขึ้นของประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด เพิ่มขึ้นเพียง 0.8% เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้ เป็นผู้ไม่มีส่วนร่วมทำงานเศรษฐกิจ (Economically Inactive) คิดเป็นสัดส่วน 48.6% และอีก 34.8% เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะ อีกทั้งมีรายได้ไม่แน่นอน” รายงานระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาจังหวัดนราธิวาสและพบปะประชาชน ณ อาคารรื่นอรุณ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2563 ก่อนเข้าร่วมประชุมครม.สัญจร วันที่ 21 ม.ค.2563
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ของประชากรทั้ง 10 กลุ่มรายได้ (Decile by income) แม้ว่ากลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้ต่ำที่สุด (Decile 1) จะมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้มากที่สุด หรือคนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ (Decile 10) จะพบว่า ในปี 2560 ช่องว่างรายได้ยังคงสูงถึง 19.29 เท่า ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 22.08 เท่าในปี 2558
ที่สำคัญในขณะที่เศรษฐกิจปี 2561 เติบโตได้สูงถึง 4.1% แต่จำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นยากจนกลับ ‘เพิ่มขึ้น’ โดยเฉพาะคนยากจนมากเพิ่มขึ้นกว่า 8.4 แสนคน ในช่วงเพียง 1 ปีที่ผ่านมา
เห็นได้จากในปี 2560 จำนวนผู้ยากจนอยู่ที่ 5.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 7.87% ของประชากรทั้งหมด แต่ในปี 2561 จำนวนผู้ยากจนได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 9.85% ของประชากรทั้งหมด และสวนทางกับเป้าหมายของแผนฯ ที่ตั้งเป้าลดจำนววนคนจนให้เหลือ 6.5% ของประชากรทั้งหมดในปี 2561
“คนยากจนมาก (ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 80% ของเส้นความยากจน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจกลายเป็นคนยากจนเรื้อรังและต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มขึ้นจาก 1.8 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 2.64 ล้านคนในปี 2561 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลดลงของรายได้เกษตรกร ทำให้ครัวเรือนยากจนลดการจับจ่ายใช้สอยลง” รายงานระบุ
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในแง่การถือครองทรัพย์สินทางการเงิน พบว่าในปี 2560 กลุ่มครัวเรือน 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด ถือครองทรัพย์สินทางการเงินที่ 12.7% ของสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมด คงที่เมื่อเทียบกับปี 2558 และต่ำกว่าเป้าหมายของแผนฯ ที่ตั้งเป้าให้ครัวเรือนกลุ่มนี้ถือครองทรัพย์สินทางการเงินเพิ่มขึ้น
“กลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด จะสะสมสินทรัพย์ในรูปของเงินสด เงินฝากธนาคาร ทอง อัญมณี ขณะที่กลุ่มประชากร 60% ที่มีรายได้สูง จะสะสมสินทรัพย์ในรูปพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารทุน และกองทุนรวม ซึ่งมักให้ผลตอบแทนที่ดี และนำไปสู่การสะสมความมั่งคั่งได้รวดเร็ว ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป” รายงานระบุ
รายงานของสภาพัฒน์ฯ ยังสอดคล้องกับรายงาน ‘ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21’ ซึ่งจัดทำโดยนักวิชาการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยจะปรับลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ
เห็นได้จากรายงานของ World Economic Forum (2018) ที่ชี้ว่าระดับ ความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลก สูงกว่าเวียดนาม (อันดับที่ 29) สิงคโปร์ (อันดับที่ 36) อาร์เจนติน่า (อันดับที่ 45) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 87)
ในขณะที่ความแตกต่างของรายได้ โดยเฉลี่ยระหว่างกลุ่มประชากรหัวแถวที่มีรายได้สูงที่สุด 20% และกลุ่มประชากรท้ายแถวที่มีรายได้ต่ำที่สุด 20% สูงถึง 10.3 เท่าในปี 2015 (พ.ศ.2558) และกลุ่มรายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด
“หากพิจารณาในมิติของจำนวนคนจนพบว่ากว่า 50% ของคนจนทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรที่ขยายตัวต่ำตามราคาสินค้าเกษตรหลักที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาตลาดโลก รวมถึงจากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ” รายงานธปท.ระบุ
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล นักวิชาการศูนย์ศึกษาความเหลื่อมล้ำและนโยบายสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วงปี 2558-60 ที่ผ่านมา จะพบว่า 'สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนไม่ได้ดีขึ้นเลย'
เห็นได้จากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค เพิ่มจาก 0.445 ในปี 2558 เป็น 0.453 ในปี 2560 ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด ลดลงจาก 14.3% ในปี 2558 เป็น 14.2% ในปี 2560
และเมื่อพิจารณาในแง่ส่วนแบ่งการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินของกลุ่มครัวเรือน 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด ลดลงจาก 13.6% ในปี 2558 เป็น 12% ในปี 2560 เช่นเดียวกับสัดส่วน 'หนี้สินต่อรายได้' ทั้งหมดของกลุ่มครัวเรือน 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด เพิ่มจากระดับ 9.8 เท่า ในปี 2558 เป็น 12.8 เท่า ในปี 2560
นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ทั้งหมดของกลุ่มครัวเรือน 10% ที่มีรายได้ต่ำสุด พบว่าเพิ่มจาก 14.9 เท่าในปี 2558 เป็น 21.7 เท่า ในปี 2560 และสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นจาก 7.2% ในปี 2558 เป็น 9.8% ในปี 2561
“ราคาพืชผลตกต่ำ ผลตอบแทนแรงงานในกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่มีรายได้สูงค่อนข้างมาก และการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้ไม่เกิดการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม และทำให้ผลประโยชน์ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูง เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่สูง” ผศ.ดร.ดวงมณีกล่าว
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล
ผศ.ดร.ดวงมณี ยังระบุว่า ในขณะที่มาตรการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้นมากกว่ามาตรการกระกลางและยาวนั้น จะพบว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งยังไม่สามารถทำให้ผู้มีรายได้น้อยพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนมีรายได้ในการดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ดวงมณี ได้เสนอแนวทางการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและรายได้ใน 8 ประเด็น ได้แก่
1.ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
2.การยกระดับรายได้ในกลุ่มที่มีรายได้น้อย เช่น ทำให้ภาคเกษตรมีผลิตภาพที่สูงขึ้น การดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร และการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นปัจจุบัน
3.การเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และส่งเสริมการออมของครัวเรือน เช่น ส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชน
4.การเพิ่มและขยายโอกาสทางการศึกษาในครัวเรือนยากจน และในพื้นที่ห่างไกล
5.พัฒนาคุณภาพของบริการทางการแพทย์ให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นในระหว่างพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายตัวของบุคคลากรทางการแพทย์ให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างพื้นที่
6.จัดให้มีระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมในทุกด้าน รวมทั้งการสร้างระบบสวัสดิการสังคม
7.ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินให้มีการจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น ภาษีมรดก ควรแก้กฎหมายเพื่อลดการยกเว้นภาษีลงให้เหลือไม่เกิน 50 ล้านบาท ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ควรแก้กฎหมายเพื่อลดการยกเว้นภาษีสำหรับบ้านหลังหลัก และที่ดินสำหรับทำการเกษตร จาก 50 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 5 ล้านบาท
8.ปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณ และการใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย
เหล่านี้ คือ ผลงาน ‘แก้จน’ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดก่อนได้ทำเอาไว้ และก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ชุดหลังการเลือกตั้ง จะทำได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา
อ่านประกอบ : รายงานการติดตามความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 https://bit.ly/2uThffC
: ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/Inequality_2GiniCoefficient.PDF
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/