- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
"...เราเป็นหน่วยสร้าง ไม่ว่าเงินจะมาจากแหล่งไหน เราก็มีหน้าที่สร้าง และเมื่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยหาเงิน ให้ความเห็นอย่างนี้ เราก็รับได้..."
ในที่สุดสรุปลงตัวแล้ว สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กรอบวงเงิน 122,041 ล้านบาท หลังจากการสรุปรูปแบบการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน
ย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนก.ย.2562 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณาแยกสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ออกเป็น 2 สัญญา
คือ 1.สัญญางานโยธา ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 96,012 ล้านบาท (แบ่งเป็นงานโยธา 88,568 ล้านบาท รวมเงินเฟ้ออัตรา 2.5% ต่อปี งบสำรองค่างานโยธา 4,029 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท) ซึ่งยังไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,661 ล้านบาท
และ2.สัญญางานระบบรถไฟฟ้า การจัดขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทางตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะเวลาเดินรถ 30 ปี วงเงิน 26,029 ล้านบาท
นายอนุทิน ให้เหตุผลว่า กระทรวงการคลังรายงานว่า หากรัฐลงทุนงานโยธาเอง และเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนระบบเดินรถ จะทำให้รัฐใช้เงินเพียง 9 หมื่นล้านบาท และการลงทุนงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง รัฐก็ลงทุนเอง
แต่ทว่าแนวคิดการแยกสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตกของนายอนุทิน ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ ‘เอื้อประโยชน์’ ให้เอกชนบางรายหรือไม่ และยังทำให้การเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่กำหนดว่าจะเสนอให้ครม.เห็นชอบในวันที่ 1 ต.ค.2562
ต่อมาวันที่ 11 ต.ค.2562 นายศักดิ์สยาม ได้เสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือครม.เศรษฐกิจ พิจารณาแยกสัญญาโครงการฯเป็น 2 สัญญา แม้ว่าจะถูกทักท้วงจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ‘หากแยกสัญญารัฐจะได้ประโยชน์อย่างไร’
สุดท้ายแล้วการประชุมครม.เศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาแยกสัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ‘จบลงแบบไม่มีข้อสรุป’ และต่อมาในเดือนพ.ย.2562 ทางกระทรวงการคลังได้ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อเสนอประกอบการพิจารณาของครม.
โดยระบุว่า แม้การกู้เงินมาลงทุนงานโยธาของเอกชน จะมีดอกเบี้ยสูงกว่าภาครัฐ แต่ก็ควรเปิดให้เอกชนร่วมทุนงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกเช่นเดิม เพราะภาครัฐจำเป็นต้องนำเงินไปพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคเกษตร และภาคการศึกษา ที่เอกชนไม่สนใจร่วมลงทุนด้วย
ดังนั้น การพัฒนารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่ศึกษาไว้ในรูปแบบ PPP Net Cost รวมงานโยธาและงานบริหารการเดินรถเป็น 1 สัญญา จึงเหมาะสมแล้ว
ข้อสรุปที่ไม่ ‘ลงตัว’ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง แม้ว่าจะนำไปสู่ ‘รอยร้าว’ ในพรรคร่วมรัฐบาล แต่จะจบลงอย่างชื่นมื่นหลังงานเลี้ยง ‘ดินเนอร์หูฉลาม’ เมื่อค่ำคืนวันที่ 19 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา
นายศักดิ์สยาม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า นายอนุทิน ในฐานะรองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ได้เสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ไปยัง สลค.แล้ว และต้องขึ้นอยู่กับทางเลขาธิการ สลค. ว่า จะบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของที่ประชุมครม.ได้เมื่อใด โดยรูปแบบโครงการจะเป็นสัญญาเดียวตามเดิม
“ตามความเห็นกระทรวงการคลัง เขาให้ความเห็นเรื่องเกี่ยวกับเพดานหนี้สาธารณะว่า ถ้าโครงการที่มีผลการตอบแทนการลงทุนที่ดี ก็อยากให้ใช้ PPP เพื่อรักษาเพดานหนี้สาธารณะไปใช้กับโครงการอื่นที่มีผลตอบแทนไม่สูง เช่น แหล่งน้ำ กระทรวงคมนาคมก็ไม่มีปัญหา จึงจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนเป็นสัญญาเดียวแบบเดิม”นายศักดิ์สยามระบุ
นายศักดิ์สยาม ยังย้ำว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เดิมใช้รูปแบบการร่วมลงทุน PPP สัญญาเดียวก็จริง แต่เมื่อมีการเสนอโครงการให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณา กระทรวงการคลังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ควรจะแยกสัญญา เป็นสัญญางานโยธา และสัญญางานเดินรถ กระทรวงคมนาคมจึงดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
แต่ต่อมากระทรวงการคลังเปลี่ยนความเห็นเป็นว่า ควรใช้รูปแบบสัญญาเดียวแบบเดิม กระทรวงคมนาคมก็ดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ดังนั้น ทุกอย่างจึงอยู่ที่กระทรวงการคลังทั้งหมด และเมื่อรวมเป็นสัญญาเดียวเหมือนเดิม วงเงินที่ภาครัฐจะสนับสนุนในโครงการนี้ก็ยังคงเป็นเท่าเดิม
“เราเป็นหน่วยสร้าง ไม่ว่าเงินจะมาจากแหล่งไหน เราก็มีหน้าที่สร้าง และเมื่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยหาเงิน ให้ความเห็นอย่างนี้ เราก็รับได้ แต่การแยกสัญญาก็มีเหตุผล เพราะหากเรามีเพดานสาธารณะมาก การแยกสัญญาจะทำให้เรามีต้นทุนโครงการถูกลง” นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า หากครม.เห็นชอบโครงการฯ กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดประมูลภายในปีนี้ และเปิดให้บริการเดินรถช่วงแรกได้ตั้งแต่ปี 2566
ขอบคุณข้อมูล : ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภาครัฐจะลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,661 ล้านบาท และอนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุนค่างานโยธาให้เอกชน 96,012 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะทยอยชำระคืนให้เอกชนหลังจากเปิดเดินรถทั้งเส้น โดยแบ่งชำระไม่ต่ำกว่า 10 ปีพร้อมดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม รฟม. ประเมินว่า การให้เอกชนลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และรัฐทยอยคืนชำระคืนให้เอกชนเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี พร้อมดอกเบี้ยนั้น จะทำให้รัฐมีภาระทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยประมาณ 40,000 ล้านบาท
ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ และงานเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาของโครงการฯ ระยะเวลา 30 ปีนั้น ให้เอกชนแป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงิน (Subsidy)
จากนี้คงต้องติดตามกันว่า บทสรุปสุดท้ายของการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก กลุ่มผู้รับเหมารายใดจะ ‘เข้าวิน’ คว้างานมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท พ่วงสัมปทานเดิน 30 ปี ไปครอบครอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/