- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
“...ชาวนามีกำไรนิดเดียว แต่รายจ่ายเยอะ ต้องจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา สุดท้ายหนี้สินก็พอกพูน เพราะเงินไม่พอ ฉะนั้น เงินที่รัฐบาลจ่ายให้ไป ถามว่าชาวนาเอาไปทำอะไร ก็ต้องเอาไปใช้หนี้ ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดการบริโภค เพราะต้องเอาไปใช้หนี้ หรือรีไฟแนนซ์หนี้ ฟันเฟืองเศรษฐกิจจึงไม่หมุน...”
นับตั้งแต่วัน “คิกออฟ” จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2562 ผลปรากฏว่า ณ วันที่ 20 ธ.ค.2562 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินส่วนต่างฯให้ชาวนาแล้ว 7.58 แสนครัวเรือน เป็นเงิน 16,023 ล้านบาท จากกรอบวงเงินชดเชยส่วนต่างฯที่ตั้งไว้ 20,940 ล้านบาท
เมื่อรวมกับมาตรการคู่ขนาน เช่น โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการสินเชื่อเพื่อพยุงราคาข้าวเปลือก เป็นต้น
จะพบว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/1 ได้อัดฉีดเม็ดเงินทั้ง “เงินจ่ายขาด” และ “วงเงินสินเชื่อ” เพื่อช่วยเหลือชาวนาและพยุงราคาข้าวเปลือกไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 145,488 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจ่ายขาด 80,488 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 3 โครงการ วงเงิน 65,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนชาวนาที่ลงทะเบียนในโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค.2562 พบว่ามีจำนวน 4.57 ล้านครัวเรือน เทียบกับโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนาผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ที่มีชาวนาได้รับเงินช่วยเหลือ 3.87 ล้านครัวเรือน
จะพบว่าแม้ว่าในช่วง 4 ปีการผลิตที่ผ่านมา จำนวนชาวนาจะเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนครัวเรือน แต่วงเงินช่วยเหลือกลับลดลง 5,162 ล้านบาท
เปรียบเทียบโครงการช่วยเหลือ “ต้นทุนการผลิต
***จ่ายจริง
ที่มา : มติคณะรัฐมนตรี ,สำนักข่าวอิศรารวบรวม
เช่นเดียวกับโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พบว่า ในปีการผลิต 2559/60 จำนวนชาวนาที่ได้รับการช่วยเหลือมีจำนวน 3.73 ล้านครัวเรือน แต่พอถึงปีการผลิต 2562/63 ชาวนาที่ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเป็น 4.57 ล้านครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 8.4 แสนครัวเรือน แต่วงเงินช่วยเหลือลดลง 4,898 ล้านบาท
***จ่ายจริง
ที่มา : มติคณะรัฐมนตรี ,สำนักข่าวอิศรารวบรวม
จึงเท่ากับว่าในห้วงการบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เทียบกับรัฐบาลประยุทธ์ 1 พบว่า รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ใช้จ่ายงบได้อย่างมีประสิทธิภาพและรัดกุมขึ้น เห็นได้จากการประหยัดงบช่วยเหลือต้นทุนปลูกข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวที่ลดลง 10,060 ล้านบาท แต่ช่วยเหลือชาวนาได้เพิ่มขึ้น 7-8 แสนครัวเรือน
แต่ก็มีคำถามว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลแจกจ่ายให้ชาวนาเหล่านี้ ทั้งการจ่ายส่วนต่างโครงการประกันรายได้ และการช่วยเหลือต้นทุนปลูกข้าว และช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าว จะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวนาได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งจะสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรของไทยหรือไม่
รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวมากว่า 40 ปี ให้ความเห็นกับ “สำนักข่าวอิศรา” ว่า แม้ว่าโครงการประกันรายได้ฯจะดีกว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะรัฐไม่ต้องเก็บข้าวและนำข้าวไปขายเอง
แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับชาวนาอยู่ดี เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ตอนนี้ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 7,600-7,700 บาท แต่ราคาประกันอยู่ที่ตันละ 10,000 บาท เท่ากับว่ารัฐต้องจ่ายส่วนต่างตันละ 2,300-2,400 บาท เป็นต้น
“ปัญหาของนโยบายประกันรายได้ คือ ซัพพลายไม่ได้ลดลง เพราะนโยบายนี้จูงใจให้ชาวนาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น เมื่อมีผลผลิตส่วนเกิน ราคาข้าวก็ตกต่ำ สอง การจ่ายเงินส่วนต่าง ทำให้คนที่ประสิทธิภาพไม่ดียังอยู่ในระบบการผลิต และสาม โครงสร้างการผลิตข้าวอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ทั้งๆที่ความต้องการบริโภคข้าวบางอย่างเปลี่ยนไปแล้ว”รศ.ดร.สมพรระบุ
@ รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ /ภาพจาก https://www.trf.or.th/
รศ.ดร.สมพร ยกตัวอย่างว่า วันนี้ความต้องการข้าวนุ่มขยายตัว แต่ไทยยังผลิตข้าวในรูปแบบเดิม คือ ชาวนายังคงปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตที่เลวหรือปลูกข้าวอะไรก็ได้ที่เก็บเกี่ยวได้เร็ว อย่างข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ กข.73 เป็นข้าวพันธุ์ดีที่ตลาดต้องการ แต่คนไม่ปลูก เพราะต้องใช้เวลา 140 วัน แต่อยากปลูกข้าวอายุ 100-110 วัน ซึ่งปลูกได้ปีละ 3 ครั้งและใช้น้ำมาก
ขณะเดียวกัน การตั้งราคาข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ราคาตันละ 14,000 บาท ใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิที่ราคาประกันอยู่ที่ 15,000 บาท หรือต่างกันเพียง 1,000 บาท ทำให้ชาวนาในภาคกลางบางส่วนนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิไปปลูกในเขตพื้นชลประทาน เพื่อหวังเงินชดเชยส่วนต่าง แม้ว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกได้จะไม่หอมเหมือนข้าวหอมมะลิในภาคอีสาน
“ถ้าปลูกข้าวไม่ไวแสงจะขายได้แค่ 7,500-7,600 บาท และได้เงินส่วนต่างนิดเดียว แต่ถ้าปลูกหอมมะลิจะได้ส่วนต่าง 7,000 บาท แต่ข้าวจะไม่หอม และตรงนี้จะกระทบข้าวหอมมะลิในอีสาน เป็นการดึงสาวสวยให้สวยลดลง รัฐจึงไม่ควรสนับสนุนให้ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่มีราคาใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิ” รศ.ดร.สมพรกล่าว
รศ.ดร.สมพร ระบุว่า ด้วยต้นทุนการผลิตข้าวของไทยที่อยู่ในระดับสูง หรือตันละ 7,200-7,300 บาท ทำให้ชาวนาเหลือกำไรจากการปลูกข้าวเพียง 500 บาท ต่างจากชาวนาเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปปลูกข้าวพื้นนุ่ม ราคาอยู่ที่ตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นข้าวเปลือกตันละ 12,000 บาท แต่ต้นทุนอยู่ที่ 6,000 บาท เท่ากับมีกำไรตันละ 6,000 บาท
“ชาวนามีกำไรนิดเดียว แต่รายจ่ายเยอะ ต้องจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา สุดท้ายหนี้สินก็พอกพูน เพราะเงินไม่พอ ฉะนั้น เงินที่รัฐบาลจ่ายให้ไป ถามว่าชาวนาเอาไปทำอะไร ก็ต้องเอาไปใช้หนี้ ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดการบริโภค เพราะต้องเอาไปใช้หนี้ หรือรีไฟแนนซ์หนี้ ฟันเฟืองเศรษฐกิจจึงไม่หมุน”รศ.ดร.สมพรกล่าว
รศ.ดร.สมพร บอกด้วยว่า ต้นทุนการผลิตข้าวไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ทำให้ไทยต้องขายข้าวขาวที่ราคาตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าอินเดียที่ขายข้าวตันละ 350-360 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามตันละ 360-370 ดอลลาร์สหรัฐ และปากีสถานตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มาร์เก็ตแชร์ข้าวไทยในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การมุ่งมั่นพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มและข้าวหอมมะลิของเวียดนาม เช่น ข้าวหอมมะลิพันธุ์ ST26 ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มและข้าวหอมมะลิเพิ่มจาก 8 หมื่นตัน เป็น 2.2 ล้านตันในปัจจุบัน แซงข้าวหอมมะลิของไทยที่ส่งออกได้ 1.9-2.1 ล้านตันไปแล้ว
โดยเฉพาะในตลาดจีน จากข้อมูลปี 2561 พบว่าเวียดนามส่งออกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มและข้าวหอมมะลิไปจีนกว่า 6 แสนตัน เทียบกับไทยที่ส่งออกข้าวหอมมะลิไปฮ่องกงและจีนได้เพียง 3 แสนตันเท่านั้น
“ถ้าเราทำให้ข้าวหอมมะลิให้ยังหอมและนุ่มอยู่ได้ ความเป็นพรีเมี่ยมของข้าวก็จะไม่หายไป เรายังสามารถขายข้าวหอมมะลิที่ตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐได้ แต่การที่โครงการประกันรายได้เน้นที่พันธุ์ข้าว ไม่ได้ดูถึงเรื่องของความหอมแล้ว จากนี้ก็ต้องดูว่าต่อไปข้าวหอมมะลิไทยจะเป็นอย่างไร” รศ.ดร.สมพรกล่าว
รศ.ดร.สมพร เสนอว่า แม้ว่าการช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการประกันรายได้จะยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ต้องใช้ระยะสั้นๆ และการดำเนินนโยบายช่วยเหลือภาคเกษตรของสหรัฐและยุโรปนั้น ไม่ได้ทำอย่างเดียว แต่ต้องมีนโยบายอื่นๆควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะนโยบายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการปรับโครงสร้างการผลิต
อาจสรุปได้ว่าแม้ว่ามาตรการช่วยเหลือชาวนา 4.57 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นมากกว่า 20 ล้านคน โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านต่างๆนั้น ยังไม่ได้ตอบโจทย์ความยั่งยืนของภาคเกษตรไทยในระยะยาว
และทำให้รัฐบาลยังคงต้องอุดหนุนเงินงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือชาวนาทุกปีๆ ละนับแสนล้านบาท วนเวียนไม่รู้จบ เพื่อหวังให้เป็นฐานเสียงทางการเมือง
แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/