- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- วิ่งหรือกระโดด เจาะลึกดูละเอียด อับดับความสามารถไทยหล่น ด้วยสาเหตุใด
วิ่งหรือกระโดด เจาะลึกดูละเอียด อับดับความสามารถไทยหล่น ด้วยสาเหตุใด
อันดับความสามารถการแข่งขันของไทย ที่ 40 กำลังจบไปกับปี 2019 สิ่งที่ท้าทายกว่า คือ แล้วอนาคต เราจะวิ่งอย่างไร? วิ่งให้ชนะ ที่หลายท่านขอให้เราวิ่งก้าวทันโลก ขอให้เลิกใช้ เพราะเมื่อไหร่เราก้าวทันแปลว่า เราล้าหลัง เท่ากับเดินให้ทันเท่านั้นเอง แสดงว่า มีคนอยู่ก่อนหน้าแล้ว ฉะนั้น ไทยจำเป็นต้องก้าวล้ำ ก้าวล้ำไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้องกระโดดเยอะขึ้น
อันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ปี 2019 ของประเทศไทย ตกจากอันดับที่ 38 อยู่ที่ 40 ของโลกจากทั้งหมด 141 ประเทศ ขณะที่คะแนนที่ประเทศไทยได้สูงขึ้น จากปี 2018 เดิม 67.5 คะแนนเป็น 68.1 คะแนน หรือได้เพิ่มขึ้นมา 1 คะแนน (อ่านประกอบ: สิงคโปร์ล้มยักษ์ นั่งแท่นที่ 1 ความสามารถทางการแข่งขันโลก-ไทยคะแนนดี อันดับ 40)
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันธมิตรอย่างเป็นทางการหนึ่งเดียวจากประเทศไทยขององค์กรระดับโลก World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการวัดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) และการเปรียบเทียบความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกประจำปีล่าสุด 2019
ปีนี้ ปรากฎว่า มีการโค้นแชมป์เก่าเกิดขึ้น โดยประเทศเล็กๆ ในเอเชีย คือ สิงคโปร์ได้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง แทนที่ สหรัฐอเมริกา ที่ตกลงไปเป็นอันดับ 2 โดยอันดับ 3 – 10 มีดังนี้ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก ตามลำดับ
ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ให้เห็นถึงดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของ “สิงคโปร์” เพิ่มขึ้น จากทรัพยากรมนุษย์ การเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และความโปร่งใสในการทำธุรกิจเอื้ออำนวยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและทำการค้ามากขึ้น
ส่วน “เวียดนาม” เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงที่สุดในโลก โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 3.5 คะแนน ทำให้อันดับขยับเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 อันดับ จากอันดับที่ 77 เมื่อปีที่ผ่านมา ขึ้นเป็นอันดับที่ 67 ของโลกในปีนี้
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเวียดนามอย่าเพิ่มตื่นตระหนก ผศ.ดร.วิเลิศ เน้นย้ำ พร้อมกับมองว่า สำหรับประเทศไทย ดัชนีความสามารถทางการแข่งขัน เราไม่ได้เดินถอยหลัง เราเดินไปข้างหน้า แต่อัตราเร่งของเราน้อยกว่าประเทศในโลก หากจะเปรียบไป เราเดินไม่ได้แล้ว เราต้องก้าวให้เร็วกว่านี้ การพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปต้องถูกยกเลิก ต้องพัฒนาชนิดที่เรียกว่า “ก้าวกระโดด”เพื่อลูกหลานในอนาคต
"คะแนนที่ไทยได้น้อย เป็นเรื่องของ โครงสร้างพื้นฐาน หากอยากให้เราได้คะแนนสูงๆ ชนิดก้าวกระโดด เราต้องพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ (Human Captial) พัฒนาทักษะ (Skills) ซึ่งทักษะไม่ได้เป็นเรื่องของโรงเรียน ไม่ได้เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย แต่เป็นเรื่องขององค์กรต่างๆ ที่ต้องส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะ Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ รวมไปถึงเรื่องนวัตกรรม (Innovation)"
ทักษะ Critical Thinking In Teaching การวิเคราะห์เชิงใช้วิจารณญาณ ในการเรียนการสอนของไทย ได้ 37 จาก 100 คะแนน ผศ.ดร.วิเลิศ เรียกว่า ไม่ใช่สอบซ่อม ทักษะนี้ต้องไปเรียนใหม่เลยทีเดียว
"การเรียนการสอนอยู่ในตำราไม่ได้อีกแล้ว หากในหนังสือบอกอะไร เราไม่ใช่จำและท่องกัน แต่ต้องใช้ทักษะ Critical Thinking ความฉลาด ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สามารถวิพากษ์วิจารณ์พร้อมข้อเสนอแนะได้"
คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ยังชี้ว่า หากไทยเรียนรู้จากประเทศฟินแลนด์ที่ได้ที่ 1 Critical Thinking In Teaching เขามีทักษะของอนาคต ทำให้คนของเขามีความคิดเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงแรงงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็เอื้อและสนับสนุนให้คนเพิ่มทักษะ ทักษะในการใช้ดิจิทัลอย่างมีวิจารณญาณ
ความสามารถด้านนวัตกรรม ผศ.ดร.วิเลิศ ชี้ว่า ไทยได้คะแนนน้อย เพราะบ้านเรามีความสามารถในการใช้ (User) เราไม่ได้มีความสามารถในการคิด หรือสร้างนวัตกรรม (creator)
อีกตัวที่ประเทศไทยได้คะแนนน้อย คือ มิติด้านตลาด (Markets) ประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง มีอำนาจเหนือตลาด ควบคุมกลไกเศรษฐกิจทั้งหมด ขณะที่สวิตฯ ได้คะแนนดีด้านนี้ เพราะสามารถสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโต และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดได้ ฉะนั้น รัฐบาลต้องสนใจธุรกิจรายเล็กๆ มากขึ้น ไม่เอื้อให้ธุรกิจรายใหญ่ควบคุมการตลาดทั้งหมด เชื่อว่า การใช้อำนาจเหนือตลาด (Market Dominance) จะลดลงได้
สำหรับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีดัชนีชี้วัดทั้งสิ้น 4 มิติใหญ่ และแบ่งย่อยออกมาเป็น 12 เสาหลัก ได้แก่
- สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ประกอบไปด้วย สภาพแวดล้อมหน่วยงาน (Institutes) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Adoption) และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค(Macroeconomic Stability)
- ทรัพยากรมนุษย์ (Human Captial) ประกอบด้วย สาธารณสุข (Health) และทักษะ (Skills)
- ตลาด (Markets) ประกอบไปด้วยการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ตลาดแรงงาน (Labor Market) ระบบการเงิน (Financial System) และขนาดของตลาด (Market Size)
- ระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ประกอบไปด้วย การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism) และ ความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capacity)
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทย พบว่า
มิติที่หนึ่ง สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment) ประเทศไทยได้คะแนน 273 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน โดยคะแนนด้านสภาพแวดล้อมหน่อยงาน (Institutions)ของไทยลดลง จาก 55.1 เป็น 54.8 โดยอันดับด้านนี้ลดลงจาก 60 เป็น 67 แต่ก็ยังอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) คะแนนของประเทศไทยลดลงจาก 69.7 เป็น 67.8 โดยอันดับตกจาก 60 เป็น 71 ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องการเข้าถึงไฟฟ้าและการเชื่อมต่อของสนามบิน ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยทางด้านโครงสร้างพื้นฐานแย่ลงเกิดจากความหนาแน่นของระบบทางรถไฟ และความมีประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟ ทั้งที่ประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้นในส่วนของอัตราการเกิดอาชญากรรมและข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ในส่วนของด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Adoption) คะแนนดีขึ้นจาก 56.6 เป็น 60.1 อันดับขึ้นจาก 64 เป็น 62 โดยประเทศไทยได้คะแนนในระดับดีมากในด้านการใช้โทรศัพท์มือถือ ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability)คะแนนดีขึ้นเล็กน้อยจาก 89.9 เป็น 90 โดยอันดับขึ้นจาก 48 เป็น 43 เนื่องจากเราควบคุมระดับเงินเฟ้อได้ดี
มิติที่สอง ทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ไทยได้คะแนน 151 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน มาจากตัวขี้วัดด้านสาธารณสุข (Health)ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นจาก 87.3 เป็น 88.9 โดยอันดับขึ้นจาก 42 เป็น 38 และตัวชี้วัดด้านทักษะ (Skills) คะแนนลดลงจาก 63 เป็น 62.3 โดยอันดับลดลงจาก 66 เป็น 73 แต่ก็ยังอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
สาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยทางด้านทักษะลดลงเกิดจากทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาแย่ลง และการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก
มิติที่สาม ตลาด (Markets) ไทยได้คะแนน 277 คะแนนจาก 400 คะแนน โดยด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดว่า ในแต่ละประเทศมีการดำเนินนโยบายที่ทำให้การแข่งขันในตลาดมีความผิดเพี้ยนไปเพียงใดและเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใดหรือไม่นั้น ประเทศไทยมีคะแนนใกล้เคียงเดิม คือ จาก 53.4 เป็น 53.5 แต่อันดับดีขึ้นมากจาก 92 เป็น 84 ด้านตลาดแรงงาน (Labor Market)มีคะแนนใกล้เคียงเดิมเช่นกัน คือ จาก 63.3 เป็น 63.4 และอันดับลดลงจาก 44 เป็น 46 แต่ในทางกลับกันกับประเทศเพื่อนบ้านที่กลายเป็นจุดเด่นของเวียดนาม ลาวและบรูไนที่มีการเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับปี 2018 ด้านระบบการเงิน (Financial System)มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 84.2 เป็น 85.1 โดยอันดับตกลงเล็กน้อยจาก 14 เป็น 16
แต่อย่างไรก็ต้องถือว่า ระบบตลาดเงินตลาดทุนของเรามีความพร้อมค่อนข้างมาก มีการพัฒนาที่ดีมาโดยตลอด และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้านขนาดของตลาด (Market Size)มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 74.9 เป็น 75.5 โดยเป็นอันดับที่ 18 คงที่จากปีที่แล้ว
มิติที่สี่ ระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ไทยได้คะแนน 116 คะแนน จาก 200 คะแนน โดยด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism) มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 71 เป็น 72 อันดับสูงขึ้น จาก 23 เป็น 21 เนื่องจากความคล่องตัวของธุรกิจในประเทศไทยดีขึ้นจากทั้งเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น และแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการที่มากขึ้น ส่วนด้านความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability)มีคะแนนสูงขึ้น คือ จาก 42.1 เป็น 43.9 อันดับสูงขึ้นจาก 51 เป็น 50 โดยความสามารถด้านนวัตกรรมดีขึ้นจากปัจจัยทุกด้าน ทั้งการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์
อันดับความสามารถการแข่งขันของไทย ที่ 40 กำลังจบไปกับปี 2019 สิ่งที่ท้าทายกว่า คือ แล้วอนาคต เราจะวิ่งอย่างไร? วิ่งให้ชนะ
"ที่หลายท่านขอให้เราวิ่งก้าวทันโลก ขอให้เลิกใช้ เพราะเมื่อไหร่เราก้าวทันแปลว่า เราล้าหลัง เท่ากับเดินให้ทันเท่านั้นเอง แสดงว่า มีคนอยู่ก่อนหน้าแล้ว ฉะนั้น ไทยจำเป็นต้องก้าวล้ำ ก้าวล้ำไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้องกระโดดเยอะขึ้น ร่วมกันกระโดดทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนคนไทยในประเทศนี้"คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สรุปทิ้งท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/