- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิด TOR รถลากจูงบินไทย เช่าจาก บ.พนัสฯ ระบุชัดต้องลากได้ 5,000 ฟุตต่อปอนด์
เปิด TOR รถลากจูงบินไทย เช่าจาก บ.พนัสฯ ระบุชัดต้องลากได้ 5,000 ฟุตต่อปอนด์
"...คุณลักษณะทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะของรถลากจูง ..มีกําลังฉุดลากสัมภาระ (Tractive Effort) ไม่น้อยกว่า 5,000 ฟุตปอนด์ (at coefficient traction 0.8 with dry concrete) ... ชุดต่อลากสัมภาระทางด้านหลัง (Towing Coupling) เป็นแบบ E-Hitch โดยเป็นไปตามมาตรฐาน IATA AIRPORT HANDLING MANUAL AHM916 เพื่อใช้ต่อพ่วงกับ Dolly และสามารถลากจูงขบวนสินค้าต่อพ่วงจํานวน 6 Dolly เฉลี่ยน้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 15,000 กิโลกรัม..."
" การเช่ารถลากจูงของการบินไทย ที่ดำเนินการไปแล้วมี 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นการเช่าจำนวน 24 คัน เริ่มเช่าในช่วงปี 2560 ประมาณเดือน ก.ย. สัญญามีระยะเวลา 5 ปี ส่วนการเช่าในระยะที่ 2 อยู่ในช่วงเดือน ก.ย. 2562 จำนวน 30 คัน สัญญาประมาณ 5 ปี เช่นกัน"
"สรุปแล้วขณะนี้การบินไทยมีรถลากจูงสัมภาระที่เช่าจาก Bliss Fox ทั้งสิ้นประมาณ 54 คัน และเป็นรถยี่ห้อ Harlan ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกประมาณ 27 คัน เท่ากับว่า การบินไทยมีรถลากจูงสัมภาระประมาณ 81คัน อย่างไรก็ดี รถลากจูงสัมภาระยี่ห้อ Harlan นั้นขณะนี้มีอายุการใช้งานมากแล้วและการซ่อมบำรุงก็ใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นด้วย คงจะทยอยปลดการใช้งานไป"
"ขอเรียนว่าทั้งรถรุ่น Harlan และรถรุ่น Bliss-Fox นั้นต่างก็มีค่าแรงดึงที่เหมือนกันก็คือประมาณ 6,000 ปอนด์ หรือประมาณ 2,721 กิโลกรัม"
ทั้งหมดนี่ คือ คำสาระสำคัญในชี้แจงล่าสุด จากผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้นของบริษัท การบินไทยฯ ที่ให้ต่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ที่ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาร้องเรียนมาตรฐานรถลากจูงสัมภาระของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งคนในการบินไทย ตั้งข้อสังเกตว่ารถลากจูงที่เช่ามาใช้งานใหม่ น่าจะเป็นรถจากประเทศจีน ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ารถลากจูงรุ่นดั้งเดิมที่การบินไทยซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ ทางผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น ยืนยันว่า การบินไทยไม่ได้เช่ารถลากจูงสัมภาระมาจากประเทศจีนตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นรถลากจูงจากออสเตรเลีย ยี่ห้อ Bliss-Fox F1-40 ส่วนเอกชนที่การบินไทย ได้ทำสัญญาเช่ารถลากจูงด้วยนั้น คือ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ (Panus Assembly) (อ่านประกอบ : ตามไปดู 'บินไทย' พิสูจน์มาตรฐานรถลากจูง เช่าจาก บ.พนัสฯ 54 คัน ของออสเตรเลีย-ประกอบจีน, เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียดงาน หรือ TOR โครงการการเช่าซื้อรถลากสัมภาระ ในส่วนสัญญาแรก จำนวน 24 คัน ที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของรถลากสัมภาระ พบว่ามีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ขอบเขตของการเช่ารถลากจูงรถลกสัมภาระ
1.1 เช่ารถลากจูงสัมภาระ ต้องเป็นรถใหม่ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน จํานวน 24 คัน/วัน โดยต้องเป็นรถจากโรงงาน ผู้ผลิตเดียวกัน
1.2 บริษัทฯ ทรงไว้ซึ่งสิทธิในการใช้รถเช่าในแต่ละวัน ได้ตามความจําเป็นของภารกิจ ตามที่เห็นสมควร (ระยะเวลาในการ ใช้งานรถเช่า ทุกวันเฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมง/คันวัน)
1.3 กําหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี ( 60 เดือน) นับจากวันที่ผู้ให้เช่าส่งมอบรถจํานวน 24 คันและผ่านการตรวจสอบแล้ว
2. คุณลักษณะทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะของรถลากจูง
2.1 มีกําลังฉุดลากสัมภาระ (Tractive Effort) ไม่น้อยกว่า 5,000 ฟุตปอนด์ (at coefficient traction 0.8 with dry concrete)
2.2 ชุดต่อลากสัมภาระทางด้านหลัง (Towing Coupling) เป็นแบบ E-Hitch โดยเป็นไปตามมาตรฐาน IATA AIRPORT HANDLING MANUAL AHM916 เพื่อใช้ต่อพ่วงกับ Dolly และสามารถลากจูงขบวนสินค้าต่อพ่วงจํานวน 6 Dolly เฉลี่ยน้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 15,000 กิโลกรัม
3 ความสามารถขับเคลื่อนทําความเร็ว
3.1 ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อไม่ได้ลากสัมภาระ
3.2 ความเร็วไม่ต่ำกว่า 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อลากสัมภาระ 10,000 กิโลกรัม
3.3 ความเร็วไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อลากสัมภาระ 15,000 กิโลกรัม
3.4 สามารถขับเคลื่อนได้บนทางลาดชันที่ระดับ 5 (8.7%) ระยะทาง 30 เมตร ในขณะที่ลากสัมภาระ 10,000 กิโลกรัม
3.5 ใช้ระบบส่งกําลังแบบออโตเมติก (Automatic Transmission)
3.6 มีอุปกรณ์นับระยะเวลาใช้งานของรถลากจูง (hour meter)
3.7 มีระบบพาวเวอร์ ช่วยผ่อนแรงในระบบบังคับเลี้ยว
3.8 ระบบเบรกหน้า - หลังแบบ 2 วงจร พร้อมพาวเวอร์ ผ่อนแรง และมีระบบ Parking brake แบบ Manual
3.9 ระบบไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณทั้งด้านหน้า - ด้านหลัง เป็นไปตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก โดยสัญญาณไฟ เลี้ยวให้ติดตั้งทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง พร้อมติดตั้งเสียงสัญญาณเตือนขณะถอยหลัง โดยติดตั้งให้ได้ยิน ชัดเจนในขณะปฏิบัติงาน
3.10 ไฟสัญญาณขณะปฏิบัติงานเป็นแบบหมุนหรือแบบ Flash Light เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO annex 14 low intensity type C (Yellow) พร้อมสวิทซ์เปิด-ปิด
3.11 มีเบาะที่นั่งสําหรับผู้โดยสาร 1 ที่ทางด้านข้างของคนขับ
3.12 มีชุดโครงสร้างหลังคาที่ทําจากวัสดุเหล็ก มีความแข็งแรง ไม่มีชุดประตู ไม่มีกระจกบังลมทั้งด้านหน้า-หลัง ติดตั้งกระจกมองด้านหลังทั้งข้างซ้าย กึ่งกลางและข้างขวา
3.13 ติดตั้งกันชนและกันกระแทก โดยกันชนทําจากเหล็กที่มีความคงทน แข็งแรงพร้อมวัสดุกันกระแทกทําด้วยยางหรือ วัสดุเทียบเท่า ติดตั้งบริเวณกันชนด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง
3.14 ติดตั้งถังดับเพลิง มี Fire Rating เท่ากับ 6A20B ขนาด 10 ปอนด์ จํานวน 1 ถัง
3.15 ผู้ให้เช่าต้องจัดเตรียมเอกสารหลักฐานคุณสมบัติของรถเช่าพร้อมรับรองความถูกต้อง แต่หากกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ เอกสารหลักฐานดังกล่าว ผู้ให้เช่าจะต้องนําเอกสารตัวจริงมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของบริษัทฯ ภายในเวลา กําหนด หากไม่นํามาแสดงจะถือว่าขาดคุณสมบัติ
3.16 รถลากจูงต้องผ่านการพิจารณาตรวจข้อมูลคุณลักษณะทางเทคนิคและทดสอบความสามารถจากกองวิศวกรรม (2E) ของผู้ว่าจ้างก่อนการส่งมอบรถเช่า และต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการลากจูงซ้ําทุก 3 เดือน ตลอด ระยะเวลาการเช่า
3.17 จัดทําหมายเลขรถ ตัวอักษรสีม่วง No.91149 ความสูงตัวอักษร 15.5 เซนติเมตร ความหนาตัวอักษร 2 เซนติเมตร เว้น ช่องไฟให้เหมาะสมตามพื้นที่ โดยติดหมายเลขทั้ง 4 ด้าน แบ่งเป็น ตัวรถด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหลังและด้านหน้าตรง ฝากระโปรงรถ
3.18 ตัวถังรถให้ใช้สีขาว (SPU-106) ตามมาตรฐานที่ผู้เช่ากําหนด (ดูภาพประกอบ)
**สามารถอ่าน TOR ฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1yumrnN-EeeziMpmiKc3i8sGI3MCa899F/view
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อร้องเรียนจากคนในการบินไทยว่า รถลากจูงที่การบินไทย เช่ามาใช้งานน่าจะเป็นรถจากประเทศจีนรุ่น JJCC Baggage Towing Tractor 2T-3T จะมีค่า Drawbar Pull หรือแปลว่าค่าแรงดึงที่ข้อลากอยู่ที่ประมาณ 2,000 -3,000 KG
ส่วน รถลากที่การบินไทยใช้อยู่ก่อนหน้านี้ คือ รถลากสัมภาระยี่ห้อ Harlan รุ่น HT 60 โดยรายละเอียดค่าแรงดึงของรถรถยี่ห้อ Harlan นั้นจะอยู่ที่ 6,000 LBS หรือ 2,722 Kg (อ่านประกอบ:สำรวจข้อมูล รถลากสหรัฐ-จีน แบบไหนดีกว่า! หลังบินไทยถูกร้องเรื่องประสิทธิภาพ?)
ขณะที่ในระหว่างการชี้แจงของผู้บริหารการบินไทย เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา มีการยืนยันว่า รถลากจูงสัมภาระที่เช่ามาใช้งานจากบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ (Panus Assembly) ยี่ห้อ Bliss Fox โดยบริษัทพนัสฯ มีกลุ่มกิจการที่เข้าไปซื้อสายงานการผลิตรถลากจูงยี่ห้อ Bliss-Fox ที่เป็นของทางออสเตรเลียเอาไว้ ส่วนรายละเอียดการประกอบรถนั้น บริษัทพนัสฯ จะสั่งประกอบรถขึ้นในโรงงานที่ประเทศจีน โดยใส่เครื่องยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเอาไว้เป็นเครื่องยนต์หลัก พอรถมาถึงประเทศไทย บริษัทพนัสฯ ก็จะมีการประกอบรถลากจูงสัมภาระให้เหมาะสมและถูกต้องตามเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างอีกที
และเมื่อมีการทดสอบคุณภาพรถให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราดู ทั้งการลากจูงสัมภาระและลากจูงแผ่นสร้างสมดุลที่ใช้บนเครื่องบินจำนวน 6 คันรถ (ดอลลี่) น้ำหนักโดยรวมทั้งสิ้น 17,700 กิโลกรัม หรือ17.7 ตัน มีการขับบนทางราบ ขับรถลงอุโมงค์ และขับรถขึ้นอุโมงค์ ซึ่งการทดสอบรถลากนั้น สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
สำรวจข้อมูล รถลากสหรัฐ-จีน แบบไหนดีกว่า! หลังบินไทยถูกร้องเรื่องประสิทธิภาพ?
บินไทยยันรถลากจูงกระเป๋า มีประสิทธิภาพปลอดภัยระดับสากล-รับเช่าจริง 54 คัน
คนบินไทย ส่งคลิปสอบรถลากกระเป๋าเพิ่ม ชี้เป้าใช้เครื่องยนต์จีน แฉคุณสมบัติต่ำกว่าTOR
เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/