- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- แสน ล.ยังไม่ส่งรายได้แผ่นดิน! คำพิพากษาศาลชำแหละคดีหวยบนดิน‘ทักษิณ’รู้อยู่แล้วขาดทุน-ขัด กม.
แสน ล.ยังไม่ส่งรายได้แผ่นดิน! คำพิพากษาศาลชำแหละคดีหวยบนดิน‘ทักษิณ’รู้อยู่แล้วขาดทุน-ขัด กม.
“…ดังนั้นการจำหน่ายสลากดังกล่าวเป็นการจัดให้มีการเล่นพนันซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ การใช้จ่ายเงินรายได้ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนและไม่ปรากฏว่าได้รับการตรวจรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในทุกกรณี ทั้งมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบราชการในทุกขั้นตอนแม้หักค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน เงินสมทบ ค่าบริหารและเงินคืนสู่สังคมแล้ว ก็ยังคงมีเงินรวมประมาณนับแสนล้านบาทที่ไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเงินที่ไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนี้ดีไม่ปรากฎค่าใช้จ่ายแต่ละรายการเช่นเดียวกับการเสนอขอใช้งบประมาณแผ่นดินในโครงการอื่น…”
หลายคนทราบไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘คดีหวยบนดิน’
นับเป็นคดีที่ 3 แล้วที่นายทักษิณถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก ต่อจากคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก (จำคุก 1 ปี แต่คดีหมดอายุความแล้ว) และคดีให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า จำคุก 3 ปี (อ่านประกอบ : คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา! ศาลฎีกาฯ พิพากษา ทักษิณ คดีทุจริตหวยบนดิน)
สำหรับคดีหวยบนดิน ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้ตรวจสอบ ต่อมาได้ส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน และดำเนินการยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ .2502 และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
ท้ายที่สุดศาลฎีกาฯพิพากษานายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เผยแพร่เอกสารคำพิพากษาฉบับย่อ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงมานำเสนอให้ทราบ ดังนี้
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่าง คตส. โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พันตำรวจโททักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตรจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 47 คน เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2550 ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลออกหมายจับและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความชั่วคราว ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ศาลจึงให้ยกคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ขึ้นพิจารณาต่อไปและอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีวัตถุประสงค์ในการหารายได้เข้ารัฐ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดให้เล่นและจำหน่ายเอง โดยได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหากจำหน่ายสลากได้ไม่หมด รางวัลอาจถูกลดลงได้ เงินได้หลังหักเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแล้วต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
คดีนี้ทางไต่สวนได้ความจากจำเลยที่ 42 ว่า จำเลยที่ 1 มีนโยบายที่จะปราบปรามหวยใต้ดิน จึงเร่งรัดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการตามนโยบายการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) แต่มีบุคคลหลายคนมีหนังสือทักท้วงจำเลยที่ 1 ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝาฝืนต่อกฎหมาย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) เป็นการจำหน่ายสลากตามความต้องการของผู้ซื้อไม่มีจำกัดวงเงินในการเล่น และไม่มีจำกัดวงเงินรางวัลที่จะจ่าย จึงมีความแตกต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศลที่เคยออกมา เนื่องจากไม่มีวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินรายได้เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกับสลากการกุศล รวมทั้งข้อแตกต่างสำคัญที่มิได้มีเงื่อนไขการจ่ายเงินเช่นเดียวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ในแต่ละงวดจะมีการจำกัดวงเงินรางวัล
ดังนั้นการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว (หวยบนดิน) จึงมีลักษณะเป็นสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ที่อาจทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีโอกาสขาดทุน และส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง ทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหายได้ มติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน)จึงไม่เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 5 และมาตรา 9
ตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิ่งหาคม 2546 ถึงงวดวันที่ 16 กันยายน 2549 จะมีรายได้รวมเป็นเงิน 123,339,840,730 บาท แต่ปรากฏว่ามีผลขาดทุนรวม 7 งวด เป็นเงินรวม 1,668,192,060.02 บาท ซึ่งรัฐอาจอุดหนุนเงินให้แก่ประชาชนได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งในหลายกรณีไม่ถือว่าการจ่ายเงินชดเชยแก่ประชาชนจะถือเป็นผลขาดทุนของรัฐ เพราะเป็นการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในแต่ละภาคส่วน แต่การจ่ายเงินโดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) อันเป็นเรื่องการพนันขันต่อ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข
การสั่งการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลากจึงถือว่าก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขอเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสินในวงเงิน 20,000,000,000 บาท เพื่อเป็นเงินสำรองรับการจ่ายเงินรางวัลสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว กรณีถูกเงินรางวัลเกินกว่าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดสรรไว้
จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ก็ทราบดีถึงการอาจเกิดผลขาดทุนดังกล่าว มิฉะนั้นคงไม่มีการดำเนินการขอเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว ดังนั้นการจำหน่ายสลากดังกล่าวเป็นการจัดให้มีการเล่นพนันซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ การใช้จ่ายเงินรายได้ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนและไม่ปรากฏว่าได้รับการตรวจรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในทุกกรณี ทั้งมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบราชการในทุกขั้นตอนแม้หักค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน เงินสมทบ ค่าบริหารและเงินคืนสู่สังคมแล้ว ก็ยังคงมีเงินรวมประมาณนับแสนล้านบาทที่ไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเงินที่ไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนี้ไม่ปรากฎค่าใช้จ่ายแต่ละรายการเช่นเดียวกับการเสนอขอใช้งบประมาณแผ่นดินในโครงการอื่น
การออกสลากดังกล่าวโดยไม่ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการให้เงินจากการขายสลากดังกล่าวถูกจัดสรรเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน อันจะส่งผลให้การใช้จ่ายเงินต้องเป็นไปตามช่องทางปกติตามวิธีการงบประมาณ
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโตยรวมกระทำการกัน จำเลยที่ 10 ที่ 31 และที่ 42 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และมีมติเสียงข้างมากให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อนึ่ง ในวันนี้ศาลฎีกาแผ่นกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับ จำเลยที่ 1 มาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายทักษิณ จาก BBC Thai