- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เช็คประวัติ 5 ส.ว.ป้ายแดง 'ฝ่าพงหนาม' ข้อครหาคดีความ ก่อนปฏิบัติภารกิจโหวตเลือกนายกฯ ใหม่
เช็คประวัติ 5 ส.ว.ป้ายแดง 'ฝ่าพงหนาม' ข้อครหาคดีความ ก่อนปฏิบัติภารกิจโหวตเลือกนายกฯ ใหม่
"...มี ส.ว.ป้ายแดง อย่างน้อย 5 ราย ที่ดูเหมือนเส้นทางชีวิตจะต้อง 'ฝ่าพงหนาม' ข้อครหาคดีความต่างๆ มามากมาย ก่อนจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่สำคัญในชีวิตครั้งนี้ ส่วนผลการปฏิบัติหน้าที่จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องคอยดูผลงานเชิงประจักษ์กันต่อไป..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบกันไปแล้วว่า 250 ส.ว. ล็อตแรกตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เป็นใครมาจากไหนกันบ้าง โดยเฉพาะบรรดานายพลทหาร/ตำรวจ มีมากถึง 101 นาย ในจำนวนนี้มี ‘คนสนิท-สายสัมพันธ์ใกล้ชิด’ ผู้มีอำนาจในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนหนึ่ง อดีต ส.ว.-สนช.-สปช.-สปท. รวมถึงกลุ่มทุน-อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ด้วย (อ่านประกอบ : จำแนก 250 ส.ว.ใครเป็นใคร? 101 นายพล-คนสนิก‘บิ๊กตู่-ป้อม’พรึบ-กลุ่มทุน-อดีต ขรก.อื้อ)
อย่างไรก็ดี มี ส.ว.ป้ายแดง อย่างน้อย 5 ราย ที่ดูเหมือนเส้นทางชีวิตจะต้อง 'ฝ่าพงหนาม' ข้อครหาคดีความต่างๆ มามากมาย ก่อนจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่สำคัญในชีวิตครั้งนี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงข้อมูลมาให้รับทราบ ดังนี้
หนึ่ง นายชยุต สืบตระกูล (ชื่อเดิมนายสมคาด สืบตระกูล)
นายชยุต หรือ ชื่อเดิมนายสมคาด สืบตระกูล (ดูเอกสารยืนยันการเปลี่ยนชื่อด้านล่าง) เป็นอดีตเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ยุคนายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ กทม.) โดยนายชยุต หรือนายสมคาด ตกเป็นจำเลยในคดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพิจิตต นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. นายชยุต หรือสมคาด อดีตเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. นายประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัด กทม. นายสมควร รวิรัฐ อดีต ผอ.สำนักการคลัง กทม. นางอรุณพรรณ แก้วมรินทร์ อดีต ผอ.กองระบบการคลัง กทม. และนายชวน พัฒนวรานนท์ อดีต ผอ.เขตบางซื่อ เป็นจำเลยที่ 1-8 กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่ให้ กทม. จัดซื้อที่ดินเป็นที่จอดรถขยะ รถน้ำ และรถอื่น ๆ ของ กทม. ย่านบางซื่อ ในราคา 270 ล้านบาท ซึ่งแพงเกินจริงกว่า 36 ล้านบาท และรับค่านายหน้าขายที่ดินเป็นเงิน 18 ล้านบาท เหตุเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4 ธ.ค. 2538-16 ก.ย. 2540
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 8 ปี นายสมคาด จำเลยที่ 4 ส่วนนายชวน จำเลยที่ 8 กระทำผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินฯ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด จำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่เหลือให้ยกฟ้อง
ก่อนที่ ศาลอุทธรณ์ จะแก้คำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ในส่วนของนายพิจิตต อดีตผู้ว่าฯกทม. จากเดิมที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หลังมีพยานหลักฐานนำสืบชี้ว่า จำเลยเป็นผู้อนุมัติการจัดซื้อที่ดิน และภายหลังมีทรัพย์สินเป็นเงินสดจำนวน 10 ล้านบาท โดยไม่ได้ฝากบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นเงินที่เชื่อได้ว่ารับมาจากจำเลยรายอื่น
ส่วนนายสมคาด สืบตระกูล อดีตเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. จำเลยที่ 4 ลดโทษเป็นจำคุก 5 ปี จากเดิมศาลชั้นต้นให้จำคุก 8 ปี เช่นเดียวกับ นายชวน พัฒนวรานนท์ อดีต ผอ.เขตบางซื่อ จำเลยที่ 8 ลดโทษเป็นจำคุก 7 ปี ขณะที่ ทนายความได้เตรียมเงินสดและโฉนดที่ดินยื่นประกันตัวจำเลย ไปสู้คดีในชั้นต่อไป (อ้างอิงข่าวส่วนนี้ จาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/42646)
สอง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร
พล.ต.ท.ศานิตย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เคยแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง สนช. ระบุว่า มีทรัพย์สินรวมของคู่สมรส 93 ล้านบาทเศษ มีหนี้สินรวม 11 ล้านบาทเศษ
อย่างไรก็ดีในส่วนของรายได้ พล.ต.ท.ศานิตย์ แจ้งว่า รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 เดือนละ 5 หมื่นบาท (ดูเอกสารประกอบด้านล่าง) ต่อมา พล.ต.ท.ศานิตย์ ได้ออกมาปฏิเสธ อ้างว่า ให้ลูกน้องเป็นคนกรอกข้อมูล และลูกน้องกรอกผิด หลังจากนั้นมีการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้สั่งให้ยุติเรื่อง เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟฯ (อ่านประกอบ : โชว์เอกสาร‘ศานิตย์’ปมรับค่าที่ปรึกษาไทยเบฟ-ผ่านไป3เดือนเพิ่งอ้างกรอกผิด?, กรอกผิดฟังขึ้น! ผู้ตรวจฯยุติเรื่อง‘ศานิตย์’รับเงินไทยเบฟ เหตุไม่ปรากฏหลักฐาน)
ต่อมา เมื่อกลางปี 2560 สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีคำสั่งลับถึงกรมที่ดิน ให้ตรวจสอบการถือครองที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศของ พล.ต.ท.ศานิตย์ และภรรยา ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินเชิงลึกอยู่ (อ่านประกอบ : เผยคำสั่งลับป.ป.ช.แจ้งกรมที่ดินให้ผู้ว่าฯปูพรมตรวจข้อมูลอสังหาฯ'ศานิตย์-ภรรยา'ทั่วปท.)
สาม พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา
ชื่อของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ถูกจับตามากที่สุดใน 250 ส.ว. เนื่องจากเป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
พล.อ.ปรีชา ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง สนช. ตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อมา พล.อ.ปรีชา พร้อมสมาชิก สนช. รวม 7 ราย ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบจากคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กรณีเว็บไซต์ไอลอว์เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า พล.อ.ปรีชา และสมาชิก สนช. รวม 7 ราย ใช้สิทธิลาการประชุม สนช. จำนวน 349 วัน ต่อมาคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ลงมติเห็นว่า ไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม เนื่องจากการลาประชุมของ พล.อ.ปรีชา และสมาชิก สนช. รวม 7 ราย เป็นไปตามข้อบังคับ และมีภารกิจของหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ จึงมีความจำเป็นต้องลาประชุม
นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้ว พล.อ.ปรีชา ยังถูกสำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบอย่างน้อย 2 กรณี 1.กรณีกรอกบัญชีทรัพย์สินคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกรณีเงินหมุนเวียนในบัญชีของ พล.อ.ปรีชา และนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยา จำนวน 25 ล้านบาทเศษ โดยนางผ่องพรรณ แจ้ง ป.ป.ช. ว่า ไม่มีรายได้ต่อปีแต่อย่างใด แต่ประเด็นนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติแล้วว่า พล.อ.ปรีชา ยื่นบัญชีทรัพย์สินถูกต้อง แต่ไม่ได้ตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติต่อ ? (อ่านประกอบ : ดูชัดๆ 2 ปมปริศนา"เงินฝาก-สถานะบัญชี" ปรีชา-เมีย ยิ่งขุดยิ่งพิลึก?, ดูชัด ๆ ยอดเงินไหลเข้า-ออกบัญชี “ปรีชา-เมีย” ถอนสูงสุด 8.5 ล., อ้างลืมกรอกเงินฝาก‘ภรรยา’! เปิดผลสอบ ป.ป.ช.ก่อนตีตกปมทรัพย์สิน‘พล.อ.ปรีชา’)
2.กรณี หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา เข้าไปเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 3 วงเงินรวมหลายร้อยล้านบาท ขณะที่ หจก.คอนเทมโพรารีฯ เดิมแจ้งว่าจดทะเบียนที่ตั้งในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ กองทัพภาคที่ 3 ก่อนแจ้งเปลี่ยนแปลงที่ตั้งเมื่อปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบงบการเงินเดิม พบว่า หจก.คอนเทมโพรารีฯ มีสินทรัพย์แค่รถกระบะเท่านั้น แต่กลับคว้างานหน่วยงานรัฐได้หลายร้อยล้านบาท กลายเป็นประเด็นข้อสงสัย มีการร้องเรียนให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบ จนถึงปัจจุบันกรณีนี้ยังอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่ตั้งเดิมของ หจก.คอนเทมโพรารีฯ ในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว แต่ยังไม่สรุปว่า ตกลงเรื่องนี้อยู่ในขั้นใด (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ส่ง จนท.ไปค่ายทหารกองทัพภาค 3 สอบปม หจก.ลูก‘ปรีชา’คว้างานรัฐ)
ขณะที่ปัจจุบันในปี 2562 หจก.คอนเทมโพรารีฯ ยังคงเข้าประมูล ได้สัญญาจากหน่วยงานของรัฐ และกองทัพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้นายปฏิพัทธิ์ จันทร์โอชา บุตรชายคนเล็ก พล.อ.ปรีชา ยังตั้งบริษัท พี-ไรท์แอนด์บริส จำกัด กระทั่งถัดมา 8 เดือนจึงเข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างอาคารกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 14 กองทัพภาคที่ 3 โดยชนะการประกวดราคาร่วมกับ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ที่มีนายปฐมพล จันทร์โอชา พี่ชาย เป็นเจ้าของ ด้วยวงเงิน 11.8 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เจาะ บ.พี-ไรท์ฯ‘ปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา’ เพิ่งตั้ง 8 ด.ควง หจก.‘พี่’คว้างานทัพภาค3 11ล.)
สี่ พล.อ.วสันต์ สุริยมงคล
พล.อ.วสันต์ สุริยมงคล เป็นสมาชิก สนช. ต่อมาเมื่อปี 2560 สำนักงาน ปปง. เผยแพร่คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม อายัดทรัพย์สินบริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัท และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และนายอภิชาต จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง กับพวก เป็นที่ดินและบัญชีเงินฝากในธนาคาร รวม 16 รายการ 1,386,076,110 บาท โดยในคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมดังกล่าว ระบุว่า บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้จำนองที่ดินรวม 15 แปลง กับบริษัท เวลเนส อินเวสเมนท์ จำกัด รวมเป็นเงินราว 1,350 ล้านบาท
บริษัท เวลเนส อินเวสเมนท์ จำกัด แจ้งที่อยู่ 60 มาร์เก็ต สแควร์ ตู้ไปรษณีย์ หมายเลข 346 เมืองเบลีซ ประเทศเบลีซ โดยนับตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2559 บริษัทแห่งนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จำนวน 192,700 หุ้น โดยมี พล.อ.วสันต์ สุริยมงคล เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 209,100 หุ้น (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดี พล.อ.วสันต์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราขณะนั้นว่า บริษัท เวลเนสฯ ปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จริง โดยเข้ามาซื้อหนี้สินของบริษัทฯ และบริษัทได้นำที่ดินไปจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้คืน แต่ขั้นตอนการดำเนินงานตนไม่ทราบรายละเอียด เข้าใจว่าเกิดก่อนที่ตนจะเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท
"ผมไม่รู้จักกับบริษัท เวลเนส อินเวสเม้นท์ จำกัด เป็นการส่วนตัว รู้เพียงแต่ว่าเจ้าของเป็นคนอิตาลี มีการแต่งตั้งตัวแทนในประเทศไทย เข้ามาติดต่อประสานงานเท่านั้น และเท่าที่ให้บริษัทลูกน้องตรวจสอบข้อมูลก็พบว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย" พล.อ.วสันต์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ ปปง.ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ของ บริษัท ทีเอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นั้น พลเอกวสันต์ กล่าวว่า คงจะเข้าไปชี้แจงกับ ปปง. โดยยืนยันตามข้อเท็จจริงว่าแค่เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเพื่อทำธุรกิจโรงแรมต่อเท่านั้น ทรัพย์สินต่างๆ ติดมากับบริษัทอยู่แล้ว ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวอะไรกับกลุ่มผู้บริหารชุดเก่า ตามที่เคยชี้แจงไปแล้ว (อ่านประกอบ : อยู่ตู้ไปรษณีย์ปท.เบลีซ!เปิดตัวเอกชนรับจำนองที่ดินบ.ก๊วนเสียเปี๋ยง1.3 พันล., ขมวดปมบ.ตู้ไปรษณีย์ ปท.‘เบลีซ’โผล่รับจำนองที่ดินบ.ก๊วนเสียเปี๋ยง 1.3 พันล.-ใครเจ้าของตัวจริง?)
ห้า นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
สำหรับนายดิเรกฤทธิ์ เคยเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองสูงสุด ต่อมาถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีอ้างคำสั่งประธานศาลปกครอง ทำหนังสือไปยังรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจรายหนึ่ง โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เห็นว่าการกระทำของเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย
ในขณะที่ในการได้เผยแพร่ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ของสำนักงานศาลปกครอง มีการระบุว่า คณะกรรมการสอบสอนข้อเท็จจริง เห็นว่า การกระทำของเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และการกระทำดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ได้รับมอบหมายหรือรู้เห็นเป็นใจจากประธานศาลปกครองสูงสุด
และมีการอ้างความเห็นของ นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด ระบุว่าได้พิจารณารายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์ แต่เนื่องจากนายดิเรกฤทธิ์ ได้ถูกพักงานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้งดโทษภาคทัณฑ์และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้นายดิเรกฤทธิ์ พึงระมัดระวังในการรักษาชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิของสำนักงานศาลปกครอง และศาลปกครอง รวมทั้งรักษาชื่อเสียงของตน และเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตลอดจนไม่อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยปฏิบัติอยู่ในกรอบของจริยธรรม ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และวินัยที่กำหนดอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ
จากนั้นสำนักงานศาลปกครอง ได้แถลงข่าวศาลปกครอง เพื่อแก้ไขข้อความแถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็น “สำนักงานศาลปกครองขอแถลงว่า คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวฯ...ได้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าการกระทำของเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย...”
กระทั่งเมื่อ 15 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา นายดิเรกฤทธิ์ ได้แจ้งลาออกจากการเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อไปประกอบอาชีพอื่น และเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ลาออกจากราชการ ขณะที่การสอบสวนคดีในส่วนของนายดิเรกฤทธิ์ จะมีการสั่งให้ยุติการสอบสวนในเวลาต่อมา (อ่านประกอบ : โปรดเกล้าฯ 'ดิเรกฤทธิ์' เลขาฯศาลปค. ลาออกราชการ ไปประกอบอาชีพอื่น)
ทั้งหมดนี่คือ ประวัติที่ผ่านมาของ 5 ส.ว.ป้ายแดง ที่กำลังเข้ามาทำหน้าที่สำคัญ ทั้งในการโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี คนใหม่ และดูแลภารกิจงานสำคัญในสภา ยาวนานถึง 5 ปีเต็ม นับจากบัดนี้เป็นต้นไป
ส่วนผลการปฏิบัติหน้าที่จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องคอยดูผลงานเชิงประจักษ์กันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/