- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ย้อนผลสอบคตส.-หนังสือ 'สุรเกียรติ์' มัดทักษิณสั่งปล่อยกู้ Exim Bank - ก่อนโดนคุก 3 ปี
ย้อนผลสอบคตส.-หนังสือ 'สุรเกียรติ์' มัดทักษิณสั่งปล่อยกู้ Exim Bank - ก่อนโดนคุก 3 ปี
"...หลักฐานสำคัญที่คตส.ใช้ในการไต่สวนคดีนี้ คือ เอกสารของ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้นทำถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแจ้งความเห็นประกอบวาระเพื่อพิจารณาจร เรื่องที่ 2 ในที่ประชุม ครม. เรื่องขอรับการสนับสนุนการให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลพม่า ระบุเลขที่ กต 1303/488 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องขอรับการสนับ สนุนการให้เงินกู้แก่ทางการพม่า ครม.จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2547..."
"ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี"
คือ คำพิพากษาของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแห่งรัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย กรณีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า ที่ถูกปรากฎเป็นข่าวล่าสุดในช่วงบ่ายวันที่ 23 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯสั่งคุก 3 ปี! ‘ทักษิณ’คดีปล่อยกู้ Exim Bank 4 พันล.เอื้อ บ.ชินแซทเทลไลท์ฯ)
หากสาธารณชนยังจำกันได้ กรณี นายทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า เป็นหนึ่งในคดีสำคัญหลายคดี ที่คณะกรรมการ คตส. ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ของ รัฐบาลนายทักษิณ หลังการเข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2549
สำหรับกรรมการ คตส. ที่รับผิดชอบสำนวนการสอบสอนคดีนี้ คือ นายสัก กอแสงเรือง
โดยที่มาที่ไปของคดีนี้ เป็นกรณีที่ รัฐบาลไทยให้เงินกู้พม่า 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และรัฐบาลไทยต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้แก่เอ็กซิมแบงก์ ในระยะเวลา 12 ปี เป็นเงินรวมทั้งสิ้นมากถึง 670,436,201.25 ล้านบาท แต่มีปัญหาถูกตรวจสอบพบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ทั้งนี้ ในรายงานปัจฉิมบทสรุปผลการตรวจสอบคดีต่างๆ ของ คตส. ระบุผลสรุปการตรวจสอบคดีนี้ ว่า ในการประชุมผู้นำร่วมกัน 4 ประเทศคือลาว พม่า กัมพูชา และไทยที่เมืองพุกาม สหภาพพม่า เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2546 นั้นได้มีข้อตกลงความร่วมมือกัน 5 ด้านได้แก่ ด้านการค้าและการลงทุน ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ด้านการเชื่อมเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค ด้านการท่องเที่ยว และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งไม่มีข้อตกลงเรื่องการช่วยเหลือด้านการโทรคมนาคม
ครั้งนั้นได้รับการแย้งจาก ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่กล่าวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของพม่าว่า ไม่สมควรจะมีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะกับประเทศไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ) เป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง
แต่หลังจากนั้นไม่นาน กลับมีการขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 ล้านบาทเป็น 4,000 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติพม่าได้มีหนังสือขอกู้เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมรวม 3 โครงการเป็นเงิน 962 ล้านบาท ซึ่งมีการระบุผู้ขายสินค้าและบริการอย่างชัดเจนว่า คือ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)
หลังจากนั้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 กระทรวงต่างประเทศสหภาพพม่าจึงได้มีหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3,000 เป็น 5,000 ล้านบาท ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สั่งการให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (สุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ทำหนังสือตอบทางพม่าโดยให้กู้เพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 และพร้อมจะอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยบางส่วนที่พม่าต้องจ่ายตามข้อเสนอของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ซึ่งกรณีดังกล่าว ทำให้เอ็กซิมแบงก์มีผลขาดทุนที่ต้องขอให้รัฐบาลชดเชยตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 ตลอดอายุสัญญากู้ 12 ปี เป็นเงิน 670,436,201.25 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องชดเชยให้แก่ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
ขณะที่ ในการสอบสวนคดีของ คตส. เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการตรวจสอบพบว่า นายทักษิณในขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของ ธสน.ได้เจรจาอย่างไม่เป็นทางการ และให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีพม่า และพลจัตวา เจ๊ง ซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรม และกระทรวงคมนาคมไปรษณีย์ และโทรเลข ของพม่า ทั้งที่ไม่มีผลการประชุมระหว่างผู้นำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแถมยังสั่งการให้มีการเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีกราว 1,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากข้อตกลงเดิม 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท ทำให้บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด ที่ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวชินวัตรกับพวกถือหุ้นอยู่ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลพม่า โดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว
ส่วนหลักฐานสำคัญที่คตส.ใช้ในการไต่สวนคดีนี้ คือ เอกสารของ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้นทำถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแจ้งความเห็นประกอบวาระเพื่อพิจารณาจร เรื่องที่ 2 ในที่ประชุม ครม. เรื่องขอรับการสนับสนุนการให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลพม่า ระบุเลขที่ กต 1303/488 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องขอรับการสนับ สนุนการให้เงินกู้แก่ทางการพม่า ครม.จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามคำสั่งการของนายทักษิณ (ดูหนังสือประกอบ)
เมื่อพบความผิดดังกล่าวแล้ว คตส.จึงมีมติส่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานดำเนินนโยบายต่างประเทศไปพร้อมกับการแสวงประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่เมื่อ คตส. หมดวาระลงไป จึงได้มีการโอนคดีให้ ป.ป.ช. รับเรื่องไปทำต่อ
โดยในฐานข้อมูลของ สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุความคืบหน้าในการฟ้องร้องคดีนี้ ว่า ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ให้ประทับฟ้องและอนุญาตให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าเป็นโจทก์ แทน คตส.
ขณะที่ในการฟ้องร้องคดี ของ คตส. นั้น ได้มีการประสานงานสภาทนายความเพื่อแต่งตั้งทนายความปฏิบัติหน้าที่ให้กับ คตส. ในการเป็นทนายความในคดีดังกล่าว และสภาทนายความได้มีคำสั่งที่ 63/2551 เสนอชื่อทนายความจำนวน 7 คน เพื่อเป็นทนายความในคดีดังกล่าวจึงมีทนายความที่ คตส. แต่งตั้งในคดีนี้จำนวน 7 คน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งทนายความดังกล่าวให้เป็นทนายความในคดีนี้ด้วยแล้ว
ในการพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 16 กันยายน 2551 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จำเลย ไม่มาศาล ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และออกหมายจับจำเลย อยู่ระหว่างติดตามตัว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จำเลย มาดำเนินคดี
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ขอให้ศาลไต่สวนลับหลังจำเลย และก็มีการพิจารณาคดีสืบเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปล่าสุด
ส่วนรายละเอียดคำตัดสินในคดีนี้เป็นอย่างไร คงต้องรออ่านคำพิพากษาฉบับเต็มกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/