- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เช็คข้อมูล 6 บิ๊กเอกชน ซื้อซองประมูลดิวตี้ฟรี กับความจริงใจ 'บิ๊กตู่' กรณีข้อตกลงคุณธรรม
เช็คข้อมูล 6 บิ๊กเอกชน ซื้อซองประมูลดิวตี้ฟรี กับความจริงใจ 'บิ๊กตู่' กรณีข้อตกลงคุณธรรม
“...ช่วงเวลานี้มีการเร่งการลงทุนและเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลจำนวนมากที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ท่ามกลางกระแสข่าวที่สงสัยถึงความพยายามของธุรกิจใหญ่บางรายที่จะเข้าครอบงำรัฐเพื่อตักตวงผลประโยชน์ในหลายๆ โครงการ ซึ่งสาธารณชนต่างคาดหวังว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ยอมถูกครอบงำหรือเอื้อประโยชน์ให้กับใคร..."
หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 มาได้ระยะหนึ่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (ทอท.) ก็กลับมาเริ่มต้นเดินหน้าจัดการประมูลเต็มรูปแบบอีกครั้งแล้ว สำหรับโครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร(ดิวตี้ฟรี)สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) สนามบินสุวรรณภูมิ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การดำเนินงานต้องหยุดชะงักไปเล็กน้อย เมื่อเกิดปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์มีลักษณะผูกขาด จนส่งผลทำให้ ผู้บริหาร ทอท. ต้องออกมาเร่งชี้แจงความโปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินงานเป็นการด่วน พร้อมประกาศรับฟังเหตุผลข้อคัดค้านใหม่ๆ ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ให้หมดสิ้น แต่ยังยืนยันในเดือน ก.ย.2562 นี้ น่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลพื้นที่ได้แน่นอน
ล่าสุด นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. ออกมาเปิดเผยความคืบหน้ากับสื่อมวลชนว่า ภายหลังจาก ทอท.ได้ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ายื่นซื้อซองประกวดราคาในโครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร(ดิวตี้ฟรี)สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเปิดประมูลหาผู้ประกอบการรายเดียว (Master concessionaire) ระยะเวลา 10 ปี (วันที่ 28 กันยายน2563-31 มีนาคม 2574) ที่เริ่มเปิดขายซองตั้งแต่วันที่ 1 -18 เมษายน2562
มีเอกชนมาซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรี จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด 2. บริษัทคิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 3. บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 4.บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 5.บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ส่วน โครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ มี 4 ราย ประกอบไปด้วย 1.บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 2. บริษัทคิงพาวเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด 3.บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด
โดยในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ทอท.กำหนดให้เอกชนมารับฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม และกำหนดให้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานเพื่อขอรับสิทธิการประกอบกิจการในวันที่ 22 พฤษาคมนี้ และจะเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ซึ่งในการประมูลครั้งนี้มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือน 20% ของยอดขาย หรือประกันรายได้รายปีขั้นต่ำสุด(มินิมัม การันตรี) ที่จะต้องบวกเพิ่มเปอร์เซ็นต์การขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศด้วย แล้วแต่ว่าแบบไหนสูงกว่าทอท.ก็จะคิดตามนั้น โดยใช้เกณฑ์พิจารณาด้านคะแนนเทคนิค80% และด้านผลตอบแทนประเทศ20% (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จากฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/content/399537)
หากโฟกัสข้อมูลในส่วนของเอกชน ที่เข้ามาซื้อซองประกวดราคาทั้ง 2 โครงการ จะพบรายละเอียดดังนี้
บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 26 เมษายน 2517 ทุนปัจจุบัน 3,335,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 1027 อาคารเซ็นทรัลชิดลม ทาวเวอร์ ชั้น 7 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจการขายปลีกสินค้าอื่นๆในราคาทั่วไป เป็นธุรกิจคนในตระกูล จิราธิวัฒน์ ณ 30 เมษายน 2561 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 40,784,371,721 บาท รวมรายจ่าย 36,608,641,789 บาท กำไรสุทธิ 3,131,881,981 บาท
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 30 สิงหาคม 2536 ทุนปัจจุบัน 4,618,914,291 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 99 อาคารเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ชั้น 16 ซอยรูเบีย ถนนสุขุมวิท 42 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจการลงทุน ประกอบกิจการโรงแรม ภัตตาคารและการจัดจำหน่ายและผลิตสินค้า - ผู้ผลิต
นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค นายพอล ชาลีส์ เคนนี่ นายอานิล ธาดานี่ นายเอ็มมานูเอล จู๊ด ดิลิปรัจ ราชากาเรีย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 13 มีนาคม 2562 บริษัทไมเนอร์ โฮลดิ้ง (ไทย) จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่ามีรายได้รวม 5,112,767,000 บาท รวมรายจ่าย 2,947,213,304 บาท กำไรสุทธิ 2,123,436,608 บาท
บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 27 กุมภาพันธ์ 2556 ทุนปัจจุบัน 2,100,000,000 ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 14 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งทางอากาศ สนามบินพาณิชย์
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นางอาริญา ปราสาททองโอสถ นายประดิษฐ์ ทีฆกุล นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 13 มีนาคม 2562 นาย พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งมีรายได้รวม 26,065,943,199 บาท รวมรายจ่าย 23,151,177,873 บาท กำไรสุทธิ 802,716,835 บาท
บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2539 ทุนปัจจุบัน 200,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 8 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ
เป็นธุรกิจของคนตระกูล ศรีวัฒนประภา ณ 30 เมษายน 2561 บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งว่ามีรายได้รวม 35,633,729,034 บาท รวมรายจ่าย 33,217,607,180 บาท กำไรสุทธิ 1,838,120,075 บาท
บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 15 เมษายน 2537 ทุนปัจจุบัน 937,500,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 2 ซอยกัปตันบุช ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจโรงแรม นายวิชัย ทองแตง และนายพิจิตต รัตตกุล นายชายนิด อรรถญาณสกุล นายวิทวัส วิภากุล นางสาววิลาวัณย์ เหลืองนาคทองดี นายอมรินทร์ นฤหล้า เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 4 มีนาคม 2562 บริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2561 มีรายได้รวม 983,647,374 บาท รวมรายจ่าย 803,545,669 บาท กำไรสุทธิ 129,548,837 บาท
สำหรับเอกชน ที่เข้าซื้อซองโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 ราย ประกอบไปด้วย 1.บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 2. บริษัทคิงพาวเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด 3.บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (เข้าซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรีด้วย) และ 4. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด มีดังนี้
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 19 กรกฎาคม 2537 ทุนปัจจุบัน 2,244,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 999/9 ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจเป็นผู้พัฒนาโครงการใหม่ๆ และรับบริหารโครงการต่างๆ โดยก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารศูนย์การค้าเพื่อให้เช่า ให้บริการด้านสาธารณูปโภคภายในศูนย์การค้า ขายอาหารและเครื่องดื่ม และให้คำปรึกษาด้านการบริหารและการจัดการอสังหาริมทรัพย์ นายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ นายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ นายกอบชัย จิราธิวัฒน์ นายปรีชา เอกคุณากูล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 15 มีนาคม 2562 บริษัทเซ็นทรัลโฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่ามีรายได้รวม 22,690,529,017 บาท รวมรายจ่าย 14,281,838,399 บาท กำไรสุทธิ 7,563,176,510 บาท
บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 2 มิถุนายน 2523 ทุนปัจจุบัน 100,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 49 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าให้เช่าสถานที่และบริการต่างๆ นายสุรัตน์ อัมพุช นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช นางสาวกฤษณา อัมพุช นายสุทธิพงษ์ อัมพุช นางอัจฉรา อัมพุช นางบุษราคัม ชันซื่อ นางสาวสันทนา อัมพุช นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 บริษัท อัมพุช โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 19,777,479,533 บาท รวมรายจ่าย 6,850,031,511 บาท กำไรสุทธิ 1,254,371,485 บาท
บริษัทคิงพาวเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ทุนปัจจุบัน 100,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 8 ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร เป็นธุรกิจของคนตระกูล ศรีวัฒนประภา ณ 30 เมษายน 2561 บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งมีรายได้รวม 5,324,105,976 บาท รวมรายจ่าย 3,065,491,832 บาท กำไรสุทธิ 1,764,802,470 บาท
หากพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด จะพบว่า ในการประกวดราคาทั้ง 2 โครงการ มีบริษัทเอกชน เข้าซื้อซอง จำนวน 6 แห่ง คือ 1. กลุ่มบริษัทคิงพาวเวอร์ 2 สัญญา 2. กลุ่มเซ็นทรัล 2 สัญญา 3. บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 2 สัญญา 4.บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากนี้ ทอท. ได้เปิดโอกาสให้ เอกชนที่เข้ามาซื้อซองประกวดราคา สามารถที่จะจะไป joint venture กับใครก็ได้ แต่จะต้องแจ้งทอท.ให้รับทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ นั่นก็คือวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ก่อนกำหนดวันยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ และจากมติของคณะกรรมการPPP ที่พิจารณาแล้วว่าการประมูลดังกล่าว ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ก็ทำให้การเดินหน้าการเปิดประมูลของทอท.เดินได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า บริษัทเอกชนที่ซื้อซองไปแล้วแห่งใด จะจับมือร่วมกันเข้าแข่งขันบ้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ปรากฎให้เห็นชัดเจนจาก ทอท. เกี่ยวกับความคืบหน้าการประมูลงานทั้ง 2 โครงการนี้ ก็คือ จะมีการนำ“ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในการประมูลด้วยหรือไม่
ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2562 องค์กรต่อต้านคอร์รับชันฯ ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการนำ“ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในการประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีอากร (Duty Free Shop) ครั้งใหม่ ไปแล้ว หลังจากที่องค์กรฯได้เสนอเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 4 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าและคำตอบใดๆ
และนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทวงถามเรื่องนี้ จากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ การทำหน้าที่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างร้อนแรง
" บางโครงการยกตัวอย่างเช่น การประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีและอากร หรือดิวตี้ ฟรีใน 4 สนามบิน ยังไม่ได้ใช้วิธีดำเนินการประมูลที่สร้างความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และการใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จนถูกวิจารณ์ว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนแทนที่จะปกป้องประโยชน์ของประเทศ"
“ช่วงเวลานี้มีการเร่งการลงทุนและเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลจำนวนมากที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ท่ามกลางกระแสข่าวที่สงสัยถึงความพยายามของธุรกิจใหญ่บางรายที่จะเข้าครอบงำรัฐเพื่อตักตวงผลประโยชน์ในหลายๆ โครงการ ซึ่งสาธารณชนต่างคาดหวังว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ยอมถูกครอบงำหรือเอื้อประโยชน์ให้กับใคร"
"มีโครงการมูลค่าระดับแสนล้านบาทที่ถูกมองว่ารัฐบาลกำลังทำในสิ่งตรงกันข้าม"
เรื่องแรกคือ “ไม่ใช้” ข้อตกลงคุณธรรมในการประมูลร้านค้าร้านดิวตี้ ฟรี ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พยายามเสนอมาตลอดเพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นของประชาชน
เรื่องที่สองคือ “ใช้” อำนาจพิเศษอุ้มค่ายโทรศัพท์มือถือโดยยืดการชำระค่าสัมปทานกว่าแสนล้านบาทออกไปทำให้เอกชนได้ประโยชน์ราว 2.4 หมื่นล้านบาท แต่รัฐกลับเสียโอกาสที่จะได้เงินสดมาใช้ในการพัฒนาประเทศแบบน่ากังขา
เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะมีขึ้นเร็ววันนี้ ประชาชนกำลังต้องการได้นายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์ โปร่งใส กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า รัฐบาลจะทำสิ่งที่ตรงใจประชาชนได้มากขนาดไหน” (อ่านประกอบ : ACT ห่วงรัฐเร่งเดินหน้าโครงการแสนล.ไม่โปร่งใส-เตือนบิ๊กตู่ อย่าทำให้ปชช.ผิดหวัง)
ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีเสียงตอบรับจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อห่วงใยเรื่องเหล่านี้แต่อย่างใด
ทั้งที่ ข้อห่วงใยเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความเชื่อมั่นของประชาชนโดยตรง
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะมีรัฐบาลใหม่ จะเริ่มไม่ค่อยได้รับความน่าเชื่อในสายตาของประชาชน ว่า มีความจริงใจในการเข้ามาปฏิรูปประเทศตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่
เพราะ "คำพูด" กับ "การกระทำ " ที่แสดงออกมา ดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ACT ห่วงรัฐเร่งเดินหน้าโครงการแสนล.ไม่โปร่งใส-เตือนบิ๊กตู่ อย่าทำให้ปชช.ผิดหวัง
คำต่อคำ! นิตินัย แจงเหตุดันประมูลดิวตี้ฟรีใหม่ ยันจบดร.มารู้นิยามเรื่องผูกขาดดี
ACT ห่วงรัฐเร่งเดินหน้าโครงการแสนล.ไม่โปร่งใส-เตือนบิ๊กตู่ อย่าทำให้ปชช.ผิดหวัง
ACT ห่วงรัฐเร่งเดินหน้าโครงการแสนล.ไม่โปร่งใส-เตือนบิ๊กตู่ อย่าทำให้ปชช.ผิดหวัง