- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ความแตกต่างระหว่าง‘Blind Trust’ แบบ‘ธนาธร’ กับ พ.ร.บ.จัดการหุ้น รมต.
ความแตกต่างระหว่าง‘Blind Trust’ แบบ‘ธนาธร’ กับ พ.ร.บ.จัดการหุ้น รมต.
“…สำหรับสัญญาอย่างเป็นทางการระหว่างนายธนาธร กับบริษัทแห่งนี้ ถือว่ามีสถานะเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ได้มีสภาพบังคับตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ดังนั้นหากวันใดวันหนึ่งข้างหน้า นายธนาธร ส่งซิกบอกไบ้อะไรบางอย่างให้บริษัทแห่งนี้ดำเนินการ บริษัทแห่งนี้คงไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพราะเป็นความลับของลูกค้า และกังวลว่าอาจเสียลูกค้าได้ ดังนั้นสิ่งที่นายธนาธรจำเป็นต้องทำคือ การทำสัญญาประชาคมทางการเมือง เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน และประชาชนตรวจสอบได้ว่า นายธนาธรทำตามสัญญาจริงหรือไม่ ?...”
สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่ม!
สำหรับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 กรณีการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนที่ถือหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงที่ดิน มูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท จะใช้แนวทาง Blind Trust คือโอนทรัพย์สินไปให้ Trust หรือกองทุนเป็นผู้ดูแล โดยจะให้บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เป็นผู้ดูแลทั้งหมด ส่วนบ้าน รถ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะเก็บไว้ในนามส่วนตัว และยังบอกอีกว่า วิธีนี้เป็นมาตรฐานใหม่ ไม่มีเคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ Private Fund มาก่อน เป็นนวัตกรรมใหม่ ยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณชน
เบื้องต้นต้องเข้าใจความหมายของคำว่า Blind Trust ก่อน โดย Blind Trust ถือเป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่มีขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหา ‘การขัดกันของผลประโยชน์’ (Conflict of Interest) ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อนักธุรกิจหันมาเล่นการเมือง โดยกองทุนจะทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินดังกล่าวในระหว่างที่เจ้าของทรัพย์สินอยู่ในตำแหน่งทางการเมือง
ตามหลักการและทฤษฎี เจ้าของทรัพย์สินจะไม่ทราบเลยว่าทรัพย์สินของตนถูกนำไปบริหารจัดการอย่างไร หรือที่เรียกว่า Blind (ตาบอด) เป็นการเพิ่มความโปร่งใส และลดข้อครหาว่า ผู้มีตำแหน่งทางการเมือง ออกนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง นี่จึงเป็นเหตุที่กองทุนลักษณะนี้เรียกว่า Blind Trust หลังจากเมื่อพ้นตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ผู้จัดการกองทุนจะส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนสู่เจ้าของ ซึ่งอาจงอกเงยกว่าเดิม หรือขาดทุนก็ได้
เว็บไซต์ไทยพับลิก้า (Thaipublica) อ้างคำพูดของ Jackson White Attorneys at Law อธิบายคำว่า Blind Trust ในเว็บไซต์ว่า Trust จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงของกฎหมาย มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อจัดการดูแลทรัพย์สิน โดย Trust มีทั้งเพิกถอนได้ และเพิกถอนไม่ได้ โดย Trust ที่สามารถถอนได้นั้น เจ้าของทรัพย์สินสามารถแก้ไขเงื่อนไขการลงทุน รวมถึงเรียกคืนทรัพย์สินที่โอนไปคืนมาได้ ทั้งนี้คำว่า Blind Trust คือ ผู้รับผลประโยชน์ไม่มีส่วนในทรัพย์สิน ไม่สามารถควบคุมทรัพย์สินใน Trust ได้ หลังจากมีการโอนทรัพย์สินเข้าไว้ใน Blind Trust แล้ว กองทุนที่รับดูแลทรัพย์สินสามารถซื้อขายทรัพย์สินได้อย่างอิสระ ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลง รวมถึงไม่สามารถให้ทิศทางหรือแนวทางการจัดการทรัพย์สินกับกองทุนนั้น ๆ ได้
สำหรับ กฎหมาย Blind Trust ในประเทศไทยยังไม่มีโดยตรง แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 184 บัญญัติไว้สรุปได้ว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายเข้ารับเป็นสัมปทานรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือคู่สัญญารัฐ ที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ส่วนมาตรา 187 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ กรณีรัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นดังกล่าวต้องแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) รับทราบ และต้องโอนหุ้นให้แก่นิติบุคคลเพื่อจัดการทรัพย์สินตามที่กฎหมายบัญญัติ และรัฐมนตรีจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวไม่ได้
นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ระบุสาระสำคัญว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน เว้นแต่กรณีถือครองไม่เกิน 5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
กรณีรัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่เกิน 5% ต้องแจ้งหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และโอนหุ้นส่วน หรือหุ้นให้กับนิติบุคคลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบ เมื่อโอนให้นิติบุคคลแล้ว ให้แจ้งหนังสือต่อประธาน ป.ป.ช. ทราบอีกครั้งภายใน 10 วัน
สำหรับนิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วน หรือหุ้นให้จัดการตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมาย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนิติบุคคลที่รับโอนหุ้นจะต้องไม่มีกรรมการ หรือพนักงานที่มีส่วนได้เสียกับรัฐมนตรี คู่สมรส เจ้าหนี้ หรือลูกหนี้
มีบทลงโทษสำหรับรัฐมนตรี ที่มีลักษณะเข้าไปบริหารครอบงำ หรือออกคำสั่งจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือจัดหาผลประโยชน์ในเครือหุ้นที่โอนให้นิติบุคคลไปแล้ว รวมถึงห้ามมิให้นิติบุคคลยินยอมดำเนินการตามคำสั่งของรัฐมนตรีที่ออกคำสั่งบริหาร ครอบงำ หรือจัดการหุ้นที่โอนไปแล้ว หรือเปิดเผยข้อมูลในลักษณะที่ทำให้รัฐมนตรีทราบถึงการบริหารหรือจัดการหุ้นส่วน เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามกฎหมายกำหนด หรือรายงานประกอบกิจการตามเงื่อนไขที่ ป.ป.ช. กำหนด หากรัฐมนตรี หรือนิติบุคคลฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 1 แสน-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (อ่านกฎหมายดังกล่าว คลิกที่นี่)
หากยกคำพูดของนายธนาธร ที่ระบุว่า การโอนทรัพย์สินแบบ Blind Trust เป็นคนแรกหรือไม่ คงต้องบอกว่า นายธนาธร คือนักการเมืองคนแรกที่โอนทรัพย์สินแบบ Blind Trust ให้กับกองทุนจัดการ นับเป็นเรื่องดี ถือเป็นมาตรฐานใหม่ในแวดวงการเมือง และเป็นเรื่องน่าชื่นชม
เพราะนายธนาธรยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่กลับโอนทรัพย์สินแบบ Blind Trust แล้ว จึงถือเป็นความสมัครใจเพื่อแสดงความจริงใจ และโปร่งใสในการทำงานทางการเมือง
อย่างไรก็ดีต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 ที่นายธนาธร แถลงข่าวนั้น เป็นเพียงการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สิน หรือ MOU ระหว่างนายธนาธร และบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เท่านั้น โดยระบุว่า มีความประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลีกเลี่ยงข้อครหาเกี่ยวกับการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ดังนั้นจึงตกลงเข้าทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เพื่อกำหนดความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของนายธนาธร และบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด ในระหว่างที่นายธนาธรดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สาระสำคัญของ MOU ดังกล่าว คือ นายธนาธรประสงค์ให้บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เป็นผู้บริหาร และจัดการทรัพย์สินของนายธนาธร รวมถึงดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าว โดยหากเป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ให้จัดการทรัพย์สินเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และตลอดเวลาที่มอบหมายให้ดูแลทรัพย์สิน นายธนาธรจะไม่กระทำการใด ๆ อันมีลักษณะบริหารครอบงำหรือออกคำสั่ง และไม่ประสงค์รับรู้ข้อมูลการลงทุนใด ๆ ของทรัพย์สินดังกล่าว
ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวเป็นข้อตกลงเบื้องต้น โดยบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด และนายธนาธร จะเข้าทำสัญญาจัดการทรัพย์สินและกำหนดข้อกำหนด และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไป โดยบทบาทหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของนายธนาธร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด จะจัดการทรัพย์สินดังกล่าวมีผลใช้บังคับในลำดับถัดไป (ดูเอกสารประกอบ)
ดังนั้นขั้นตอนหลังจากการทำ MOU ดังกล่าวแล้ว นายธนาธร จะต้องทำสัญญาอย่างเป็นทางการกับบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เพื่อทำข้อตกลงว่าจะโอนทรัพย์สินอะไรบ้างให้กับบริษัทแห่งนี้ รวมระยะเวลากี่ปี และต้องเสียค่าตอบแทนให้บริษัทแห่งนี้เท่าไหร่ เป็นต้น
สำหรับสัญญาอย่างเป็นทางการระหว่างนายธนาธร กับบริษัทแห่งนี้ ถือว่ามีสถานะเป็นสัญญาทางแพ่ง(เว้นแต่นายธนาธรได้เป็นรัฐมนตรี) ไม่ได้มีสภาพบังคับตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ดังนั้นหากวันใดวันหนึ่งข้างหน้า นายธนาธร ส่งซิกบอกใบ้อะไรบางอย่างให้บริษัทแห่งนี้ดำเนินการ บริษัทแห่งนี้คงไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพราะเป็นความลับของลูกค้า และกังวลว่าอาจเสียลูกค้าได้
สิ่งที่นายธนาธรจำเป็นต้องทำคือ การทำสัญญาประชาคมทางการเมือง เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน และประชาชนตรวจสอบได้ว่า นายธนาธรทำตามสัญญาจริงหรือไม่ ?
สำหรับรัฐมนตรีจำนวน 15 รายก่อนหน้านี้ ที่โอนหุ้นให้กับนิติบุคคล หรือกองทุนบริหารจัดการทรัพย์สิน คล้ายกับกรณี Blind Trust นั้น เป็นสิ่งที่รัฐมนตรี ‘จำเป็น’ ต้องทำเนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 บัญญัติไว้เป็นกฎหมาย หากไม่ทำตามจะมีโทษตามมา
ส่วนการทำ Blind Trust แบบนายธนาธรทำ ยังไม่มีบทลงโทษ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมาย Blind Trust โดยตรงในไทย แต่เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ที่ห้ามรัฐมนตรีแทรกแซงการบริหารจัดการของนิติบุคคลที่รับโอนหุ้นไป ก็มีลักษณะเป็น Blind Trust เช่นกัน นี่จึงเป็นข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญ
ในเมื่อนายธนาธร ผันตัวจากนักธุรกิจมาเล่นการเมือง และทำ Blind Trust ด้วยความสมัครใจ ดังนั้นจึงควรผลักดันให้เกิดกฎหมายเกี่ยวกับ Blind Trust อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างประชาชน และนักการเมืองด้วยเช่นกัน
เพราะที่มามีนักการเมืองหลายราย อาศัยช่องทางโอนหุ้น หรือผ่องถ่ายทรัพย์สินอื่น ๆ ให้กับคู่สมรส บุตร หรือ ‘นอมินี’ แทนการทำตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
ดังนั้นหากผลักดันให้เกิดกฎหมาย Blind Trust ในไทยได้สำเร็จจริง อาจช่วยป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการทำธุรกิจ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงได้บ้าง ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
โอนหุ้นให้ blind trust ‘ธนาธร’ไม่ใช่คนแรก 15 รมต. 4 รัฐบาล ‘ชวน-บิ๊กตู่’ทำมาแล้ว
เปิด 2 มุมมอง 'สฤณี - กรณ์' ว่าด้วยกรณี ธนาธร โอนหุ้นให้ blind trust
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล : กรณีโอนหุ้นให้ blind trust ป.ป.ช.ต้องคิดอ่านละเอียดมากขึ้น