- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดยกฟ้อง‘วัฒนา’ไม่ต้องจ่าย 1.4 พันล.คดีรถดับเพลิงฯ
เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดยกฟ้อง‘วัฒนา’ไม่ต้องจ่าย 1.4 พันล.คดีรถดับเพลิงฯ
“…การทำการค้าต่างตอบแทนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ ขณะที่นายวัฒนาดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลให้ข้าราชการประจำปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย มิได้มีหน้าที่ดำเนินการทำการค้าต่างตอบแทนเอง นายวัฒนาจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการทำการค้าต่างตอบแทนดังกล่าว…”
นายวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองชื่อดังพรรคเพื่อไทย รอดคดี ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรุงเทพมหานคร กับพวกกว่า 1.2 พันล้านบาทเศษ หลังจากศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) ว่า นายวัฒนา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ยุครัฐบาลไทยรักไทย ไม่มีกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ในการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์วงเงินกว่า 7 พันล้านบาทแพงเกินจริง (อ่านประกอบ : ‘วัฒนา’รอด!ศาล ปค.สูงสุดพิพากษายืนไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายคดีรถดับเพลิง กทม.)
แม้ว่าคดีนี้ในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนา แต่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องนายวัฒนา ขณะที่ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องนายวัฒนาเช่นกัน
เหตุผลคืออะไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เฉพาะกรณีนายวัฒนา ดังนี้
@ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลผิด
ช่วงปลายปี 2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนายวัฒนา กับพวกว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของ กทม. เป็นเหตุให้มีการจัดซื้อในราคาสูงเกินความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายวัฒนา กับพวก มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
@ผลักดันให้ บ.เครือ CP ส่งออกไก่ต่างตอบแทน
ส่วนความรับผิดทางละเมิดที่มีการกล่าวหาร้องเรียน เบื้องต้นพบว่า กทม. จ่ายเงินไปแล้ว 3 งวด และต้องจ่ายค่าภาษีอากรนำเข้า ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เป็นความเสียหายที่ กทม. ต้องรับผิดชอบ จึงแจ้งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสอบสวนความรับผิดทางละเมิดต่อไป
นายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกคำสั่ง กทม. ที่ 2323/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเมื่อปี 2553 โดยอาศัยสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก สรุปความได้ว่า การทำสัญญาการค้าต่างตอบแทน กทม. ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการค้าต่างตอบแทน พ.ศ.2547 และข้อตกลงของความเข้าใจปี 2547
โดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. (เสียชีวิตแล้ว) ทำสัญญาซื้อขายรถดับเพลิงไปก่อนกรมการค้าต่างประเทศทำการค้าต่างตอบแทนกับบริษัท สไตเออร์ฯ ไม่สนใจว่าการทำการค้าต่างตอบแทบกับบริษัทผู้ขาย ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการหาตลาดส่งออกสินค้า ต่างจากการทำข้อเสนอโครงการที่มีวัตถุประสงค์จะระบายสินค้า OTOP แต่เมื่อมีการทำการค้าต่างตอบแทนจริง บริษัท C.P.M. จำกัด (เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือญาติของนายวัฒนา เข้ามาเป็นคู่สัญญาต่างตอบแทน โดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 147 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของมูลค่าซื้อขายรถดับเพลิงฯ จากการขายไก่ต้มสุกแช่แข็งตามยอดส่งออกสินค้าไปประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (ขณะนั้น) ลงนามสัญญาการค้าต่างตอบแทนกับบริษัท C.P.M. จำกัดเมื่อปี 2547 โดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามส่งออกสินค้าไก่ต้มสุกแปรรูปแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่น ตามที่เคยเห็นชอบกำหนดให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้องห้ามส่งออก เนื่องจากได้ส่งออกไก่ต้มสุกแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่นในอัตราร้อยละ 30 ติดต่อกัน 3 ปี ทำให้ประเทศไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ และขาดดุลการค้ากับประเทศออสเตรีย ส่วนบริษัท C.P.M. จำกัด เป็นบริษัทในเครือของเครือญาตินายวัฒนา และดำเนินการผลักดันไก่ต้มสุกแช่แข็งขึ้นหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีปี 2547 โดยมีความพยายามของเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศในการผลักดันให้ไก่ต้มสุกแช่แข็งเป็นสินค้าไม่ต้องห้ามส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
อีกทั้งเมื่อนายวัฒนาทราบว่า กทม. ทำสัญญาขายรถดับเพลิงไปแล้วก่อนที่กรมค้าต่างประเทศจะดำเนินการทำการค้าต่างตอบแทนให้แล้วเสร็จ นายวัฒนากลับตอบข้อหารือของ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) ที่สอบถามเรื่องกรมการค้าต่างประเทศทำการค้าต่างตอบแทนหลังการทำสัญญาซื้อขายรถดับเพลิงมีผลอย่างไร แม้ กทม. ทำสัญญาซื้อขายไปก่อนกรมกาค้าต่างประเทศ ทำการค้าต่างตอบแทนก็ไม่มีผลอย่างไร เพราะภายหลังกรมการค้าต่างประเทศได้ทำการค้าต่างตอบแทนแล้ว กรณีของ กทม. จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์
@สั่งชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 พันล้าน
การกระทำของนายวัฒนาทำให้กระบวนการฉ้อฉลทั้งจาก รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) กับพวกจัดซื้อรถดับเพลิงฯในราคาสูงเกินจริง และการทำการค้าต่างตอบแทนเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัท C.P.M. จำกัด สำเร็จ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมีหนังสือเมื่อปี 2553 แจ้งนายวัฒนาว่า จะยืนยันข้อเท็จจริงที่เคยให้ไว้ในชั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่ หากจะชี้แจงแสดงพยานหลักฐานใดเพิ่มเติมให้ดำเนินการได้ แต่นายวัฒนาทำคำชี้แจงปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำละเมิดตามที่ถูกกล่าวหา การกระทำทั้งหลายเป็นกรณีปกติของข้าราชการที่เสนองานต่อรัฐมนตรี โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายวัฒนาเข้าไปมีส่วนในการจัดซื้อรถดับเพลิงฯแพงเกินจริง หรือเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท C.P.M. จำกัด แต่อย่างใด
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเห็นว่า นายวัฒนา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อรถดับเพลิงฯแพงกว่าปกติ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่ได้ชี้มูลความผิดกรณีเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท C.P.M. จำกัด อันเป็นบริษัทในเครือ CP ให้ส่งออกสินค้าไก่ต้มสุกแช่แข็ง ทำให้ราชการเสียเปรียบดุลการค้า
หลังจากนั้น กทม. ส่งรายงานการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไปยัง รมว.มหาดไทย เมื่อปี 2553 รมว.มหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นว่า กทม. ชำระเงินค่าสินค้าไปถึงงวดที่ 8 รวมเป็นเงิน 7.7 พันล้านบาท นายวัฒนา กับพวกรวม 6 ราย จึงต้องรับผิดเท่า ๆ กัน รายละ 1.4 พันล้านบาทเศษ
หลังจากรายงานไปยังกระทรวงการคลังแล้ว กทม. มีคำสั่ง กทม. ที่ 4812/2553 ให้นายวัฒนาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินกว่า 1.4 พันล้านบาทเศษ รวมทั้งรับผิดในเงินค่าสินค้าที่มีการจ่ายในงวดต่อไปเป็นจำนวน 11.8 ล้านยูโร โดยรับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
ต่อมาปี 2553 นายวัฒนา มีหนังสืออุทธรณืต่อผู้ว่าฯ กทม. แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ นายวัฒนาจึงนำคดีมายื่นต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง กทม. ที่ 4812/2553 ให้นายวัฒนาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว
กทม. และผู้ว่าฯ กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2) ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์
@เผยส่งไก่ต้มสุกเพื่อแก้ปัญหาไข้หวัดนกระบาด ไม่เอื้อเครือ CP
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีต้องวินิจฉัยว่า คำสั่ง กทม. ให้นายวัฒนาชดใช้ค่าสินไหมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายวัฒนา มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนการทำการค้าต่างตอบแทน และขั้นตอนการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) พิจารณาแล้วเห็นว่า ขั้นตอนการทำการค้าต่างตอบแทน แม้นายวัฒนาจะเคยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงฯตามที่ กทม. เสน โดยมีเงื่อนไขการทำการค้าต่างตอบแทนร้อยละ 100 และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งนายวัฒนารับที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ
แต่โดยที่การทำการค้าต่างตอบแทนเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ ขณะที่นายวัฒนาดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลให้ข้าราชการประจำปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย มิได้มีหน้าที่ดำเนินการทำการค้าต่างตอบแทนเอง นายวัฒนาจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการทำการค้าต่างตอบแทนดังกล่าว
แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายวัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้ กทม. ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงฯ วงเงิน 6.6 พันล้านบาทเศษ และให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการค้าต่างตอบแทน โดยให้เน้นไก่ต้มสุกเป็นสินค้าที่จะดำเนินการเป็นลำดับแรก ต่อมาอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศทำสัญญาต่างตอบแทนกับบริษัท C.P.M. จำกัด ตัวแทนของบริษัท สไตเออร์ฯ ส่งออกไก่ต้มสุกมูลค่าร้อยละ 100 ของสินค้าที่ กทม. ซื้อจากบริษัท สไตเออร์ฯ ก็ตาม
แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า การกำหนดให้สินค้าในการทำการค้าต่างตอบแทนเป็นไก่ต้มสุกตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นผลมาจากการผลักดันของนายวัฒนา กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า นายวัฒนามีส่วนต้องรับผิดชอบในการกำหนดสินค้าส่งออกเป็นไก่ต้มสุก
ประกอบกับเมื่อพิจารณาเอกสารที่กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์เสนอขอเพิ่มงบช่วยเกษตรกรเนื่องจากเกิดภาวะโรคไข้หวัดนกระบาดตั้งแต่ต้นปี 2547 และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือให้กระทรวงพาณิชย์ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ต้มสุกให้มากขึ้นแล้ว น่าเชื่อได้ว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2547 ที่กำหนดให้ไก่ต้มสุกเป็นสินค้าต่างตอบแทน เป็นผลมาจากความพยายามแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกระบาดตามมติคณะรัฐมนตรีดงกล่าว มากกว่ามาจากการผลักดันของนายวัฒนาตามที่ กทม. และผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอ้าง
@ชี้ ‘สไตเออร์ฯ’ ไม่ได้ถูกครอบงำให้เลือก บ.เครือ CP เป็นตัวแทนการค้า
ส่วนกรณีที่บริษัท สไตเออร์ฯ แต่งตั้งบริษัท C.P.M. จำกัด เป็นตัวแทน ซึ่ง กทม. และผู้ว่าฯ กทม. เห็นว่า บริษัท C.P.M. จำกัด เป็นบริษัทในเครือ CP ที่นายวัฒนาเป็นเครือญาติ นายวัฒนาจึงมีส่วนผลักดันให้มีการเลือกไก่ต้มสุกเป็นสินค้าที่ทำการค้าต่างตอบแทนนั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า บริษัท สไตเออร์ฯ ถูกครอบงำ หรือยื่นข้อเสนอว่าต้องจ้างบริษัท C.P.M. จำกัด เท่านั้นเป็นตัวแทน จึงจะให้สิทธิในการทำการค้าต่างตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า การกำหนดให้ไก่ต้มสุกเป็นสินค้าในการต่างตอบแทน เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่เน้นแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกระบาด ข้อกล่าวอ้างของ กทม. และผู้ว่าฯ กทม. จึงไม่อาจรับฟังได้
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง กทม. ที่ 4812/2553 ให้นายวัฒนาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ กทม. โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/