- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกปมจัดซื้อ ฮ. AW 15 ลำ ? กองทัพยุคใหม่ต้องเปิดข้อมูล-พร้อมให้ สตง.สอบ
พลิกปมจัดซื้อ ฮ. AW 15 ลำ ? กองทัพยุคใหม่ต้องเปิดข้อมูล-พร้อมให้ สตง.สอบ
พลิกปูม เฮลิคอปเตอร์ AW ก่อน‘ศรีสุวรรณ’ยื่น สตง.สอบ ‘แพง-ไม่แพง’ คนนอกไม่รู้ข้อมูลแท้จริง คาดจัดซื้อ 15 ลำ AW 139 มี 10 ลำๆ ละ 700 ล. ขณะที่ AW 149 - 5 ลำ ๆ ละ 600 ล. กองทัพยุคใหม่โชว์โปรงใสต้องเปิดให้องค์กรภายนอกสอบ
เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาให้ข่าวว่าจะยื่นหนังสือถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ให้ตรวจสอบ การจัดซื้อ เฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 139 และ AW 149 ที่สำนักนายกรัฐมนตรีและกองทัพบกจัดซื้อในช่วงปี 2555-2560จำนวนหลายลำในราคาลำละกว่า 700 ล้านบาท ว่าทำไมมีราคาแพงกว่า ฮ.AW 169 เป็นรุ่นที่เกิดโศกนาฏกรรม กรณีนายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยราคาลำละ 6.6 ล้านปอนด์ หรือราว 280 ล้านบาทไทย
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า หากเปรียบเทียบราคาเฉพาะตัวเครื่อง ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบราคาของกองทัพบกและภาคเอกชนนั้นจะมีราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ในส่วนของกองทัพบกไม่ได้จัดซื้อเฉพาะตัวเครื่องเพียงอย่างเดียวเหมือนกับของภาคเอกชน ที่ใช้เพียงระบบการจ้างขับ และจ้างซ่อมจากบริษัทภายนอก แต่ในส่วนของกองทัพเราจัดซื้อจัดจ้างระบบทั้งหมด ทั้งซิมเมอร์เรเตอร์ การสำรองอะไหล่ การอบรมช่าง อย่างไรก็ตามทางหน่วยที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดการตัดซื้อจัดจ้างเพื่อชี้แจงสังคมต่อไป (อ้างอิงข่าว https://www.thaipost.net/main/detail/21161)
ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงคงต้องว่ากันไปกรณีถ้ากองทัพเปิดให้ สตง.เข้าตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีความชัดเจนต่อสาธารณะว่า ณ ขณะนี้กองทัพมีเฮลิคอปเตอร์ แบบ AW 139 และ AW 149 จำนวนทั้งหมดกี่ลำ?
ขณะที่มีข้อมูลเชิงลึกว่า กองทัพบกมี ฮ. AW จำนวน 14 ลำ จำแนกเป็น 139 จำนวน 10 ลำ และ 149 จำนวน 4 ลำ อีก 1 ลำ บริษัทผู้ขายส่งมานานแล้วแต่ยังมาได้บรรจุเข้าหน่วย
ทั้งนี้ ฮ.AW 139 2 ลำ แรก ได้แก่ หมายเลข 31520 และ 31525 จัดซื้อจาก บริษัท AGUSTAWESTLAND S.p.A. สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อ วันที่ 28 ก.ย. 2555 วงเงิน 43,548,387.10 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1,350 ล้านบาท ตามสัญญาส่งมอบภายใน 530 วัน หรือ 11 มี.ค. 2557 เอกชน ส่งชิ้นส่วนล่าช้าเกินกว่ากำหนดในสัญญา 5 ครั้งรวด 6-255 วัน และ กองทัพบกได้ทำหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับกรณีผิดสัญญา
ฮ.AW 139 จำนวน 2 ลำลอตที่สอง อนุมัติเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2557 วงเงิน 1,474 ล้านบาทหรือประมาณ 46,062,500 เหรียญสหรัฐ กำหนดเวลาส่งมอบไม่เกิน 900 วัน โดยใช้งบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีแต่กองทัพบกบำรุงรักษาดูแลมีราคาแพงกว่า 2 ลำแรก ประมาณ 2,514,113 เหรียญสหรัฐ หรือราว 124 ล้านบาท โดย โฆษกกองทัพบกชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าเหตุที่ราคาสูงกว่า 2 ลำแรก
เพราะเป็นการจัดซื้อพร้อมแพ็คเกจ การฝึกนักบิน และช่าง, ชิ้นส่วนซ่อมควบคู่, เครื่องมือซ่อมบำรุง และ บริภัณฑ์ภาคพื้น (TOTAL PACKAGE) และมีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับบุคคลสำคัญ
ส่วนอีก 6 ลำไม่มีใครทราบว่าซื้อในราคาเท่าใด?
ขณะที่ เฮลิคอปเตอร์ AW149 เป็นโครงการจัดซื้อทดแทนเฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ขณะนี้ดำเนินการมาจนถึงระยะที่ 4 แล้ว โดยการจัดซื้อในระยะที่ 4 มีอยู่ด้วยกัน 5 ลำ เฮลิคอปเตอร์ลำที่ 1 ลำที่ 2 กองทัพบกได้รับมาเมื่อเดือน ก.พ. 2560 แจกจ่ายไปเมื่อเดือน ก.ค. 2560 ส่วนเครื่องที่ 3 ได้รับมาตอน ม.ค. 2561 เครื่องที่ 4ได้รับมาเมื่อเดือน ก.พ. 2561 และเครื่องที่ 5 จะมีกำหนดการส่งมอบในเดือน ส.ค. 2561 ราคาจัดซื้อลำละกว่า 600 ล้านบาท
ฉะนั้น กรณี ฮ. AW ประเด็นของการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และ พร้อมรับให้มีการตรวจสอบ น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดความเคลือบแคลง ข้อสงสัย และสร้างความโปร่งใสให้แก่หน่วยงานกองทัพเอง