- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดรายงานลับ จีที200 ฉบับ WPF พัฒนาจากเครื่องค้นหาลูกกอล์ฟ-ต้นทุน 85 บ.ขาย2.1ล้าน
เปิดรายงานลับ จีที200 ฉบับ WPF พัฒนาจากเครื่องค้นหาลูกกอล์ฟ-ต้นทุน 85 บ.ขาย2.1ล้าน
"...ในรายงานฉบับนี้ ระบุถึงความเป็นไปเป็นมาของเครื่องตรวจจับระเบิด ว่า มีที่มาจากอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Gopher ซึ่งถูกขายในสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ค้นหาลูกกอล์ฟ โดยนาย Malcolm Stig Roe นักธุรกิจสหรัฐอเมริกา ได้ปรับปรุงเครื่องมือนี้แล้วนำไปขายให้กับโรงเรียนและหน่วยงานด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจหาสารเสพติด ซึ่งในเวลาต่อมาหน่วยงานด้านสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกาหรือเอฟบีไอ ก็ได้ออกมาทดสอบและพบว่าเครื่องมือนี้ไม่สามารถใช้งานได้ และได้ส่งคำเตือนไปยังหน่วยงานด้านกฎหมายทั่วประเทศ ไม่ให้ซื้ออุปกรณ์ชนิดนี้มาใช้งานด้วย..."
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง!
หลังจากที่ศาลแขวงดอนเมือง มีคำพิพากษาในคดีอาญาที่ กรมราชองครักษ์ และ กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นโจทก์ฟ้องร้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ในข้อหาฉ้อโกงขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง โดย นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ถูกศาลตัดสินโทษจำคุกคนเดียว รวมจำนวน 19 ปี ส่วนบริษัท เอวิเอ แซทคอม จากัด เสียค่าปรับคดีอาญาและแพ่งชดใช้เงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 9,090,000 บาท ขณะที่คดีฟ้องร้องของหน่วยงานราชการอื่นๆ จ่อคิวรออีกจำนวนมาก (อ่านประกอบ : ข้อมูลธุรกิจล่าสุด สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบ.ขายจีที200 โดนโทษจำคุกคนเดียว 19 ปี, ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลย้อนหลังการซื้อขายเครื่อง GT200 ในต่างประเทศ พบว่า มูลนิธิ World Peace Foundation (WPF) ซึ่งเป็นมูลนิธิในสังกัดของโรงเรียนสอนกฎหมายและการทูต เฟลทเชอร์ ของมหาวิทยาลัยทัฟส์ (The Fletcher School of Law and Diplomacy at Tufts University) ที่มักมีการมีจัดทำรายงานรวบรวมประเด็นทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธทั่วโลกไว้
เคยเผยแพร่รายงานสรุปเรื่องการซื้อขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 และเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ได้แก่ เครื่อง GT200,เครื่อง ADE651,เครื่อง ALPHA6 ,เครื่อง MOLE Programmable Detection System,เครื่อง Quadro Tracker และเครื่อง Sniffex เอาไว้
ระบุสาระสำคัญว่า เครื่องมือเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้ แต่กลับถูกนำไปขายในท้องตลาดเพียงเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าผู้ผลิตเท่านั้น
สำหรับประเทศที่ซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเหล่านี้ ที่ขายให้โดยบริษัทที่อยู่ในประเทศอังกฤษ ได้แก่ ประเทศจิบูติ,ประเทศบาห์เรน,ประเทศอียิปต์,ประเทศอินเดีย,ประเทศอิรัก,ประเทศเลบานอน,ประเทศเม็กซิโก,ประเทศไนเจอร์,ประเทศปากีสถาน,ประเทศซีเรีย,ประเทศไทย,ประเทศอุซเบกิสถาน รวมวงเงินจัดซื้อมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว3.22พันล้านบาท) โดยซื้อขายในช่วงปี 1999-2010 (พ.ศ.2542-2553)
ส่วนจำนวนของอุปกรณ์ที่ขายไปซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลมาได้นั้นพบว่า มีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจำนวนมากกว่า 5,000 เครื่องขายให้กับประเทศอิรัก, 1,400 เครื่องขายให้กับประเทศไทย และ 1,200 เครื่องขายให้กับประเทศเม็กซิโก
อย่างไรก็ดี ในรายงานฉบับนี้ ระบุถึงความเป็นไปเป็นมาของเครื่องตรวจจับระเบิด ว่า มีที่มาจากอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Gopher ซึ่งถูกขายในสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ค้นหาลูกกอล์ฟ โดยนาย Malcolm Stig Roe นักธุรกิจสหรัฐอเมริกา ได้ปรับปรุงเครื่องมือนี้แล้วนำไปขายให้กับโรงเรียนและหน่วยงานด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจหาสารเสพติด ซึ่งในเวลาต่อมาหน่วยงานด้านสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกาหรือเอฟบีไอ ก็ได้ออกมาทดสอบและพบว่าเครื่องมือนี้ไม่สามารถใช้งานได้ และได้ส่งคำเตือนไปยังหน่วยงานด้านกฎหมายทั่วประเทศ ไม่ให้ซื้ออุปกรณ์ชนิดนี้มาใช้งานด้วย
ในรายงานยังระบุว่า ต่อมานาย Roe ได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ และไปพบกับนาย Samuel Tree (พนักงานด้านการตลาด ขายเครื่องตรวจจับระเบิด Alpha 6 ถูกตัดสินจำคุก 3.5 ปี เมื่อปี 2557) และนาย Joan Tree (พนักงานด้านการตลาด ขายเครื่องตรวจจับระเบิด Alpha 6 ถูกตัดสินให้ทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 300 ชั่วโมง) ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจด้านความมั่นคง และไปพบกับพนักงานขายสินค้าข้ามชาติอีก 2 คนได้แก่ นาย Gary Bolton และนาย James McCormick
เพื่อร่วมกันผลิตอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดชนิดหนึ่งขึ้นมา โดยปรับปรุงเพียงแค่เล็กน้อยจากเครื่อง Gopher เดิมเท่านั้น
และช่วงปี 2543 ก็เป็นช่วงที่เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดชนิดดังกล่าวเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ ส่วนการดำเนินธุรกิจของนาย McCormick นั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2549 เมื่อเขาได้เซ็นสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อจะผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่มีขนาดใหญ่และมีรูปลักษณ์ที่ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ที่มารูปภาพเครื่อง Gopher จากเว็บไซต์ www.barstoolsports.com (https://www.barstoolsports.com/boston/how-fraudsters-fatally-sold-20-golf-ball-finders-as-800000-bomb-detectors-all-over-the-world)
โดยอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นมีต้นทุนแค่ประมาณ 2 ปอนด์ (85 บาท)เท่านั้นในการประกอบขึ้นมาต่อ 1 เครื่อง แต่สามารถขายได้ถึงเครื่องละ 5,000 ปอนด์(2.1แสนบาท)ต่อเครื่อง และในบางครั้งราคาขายก็สูงถึง 22,000 ปอนด์ (9.26 แสนบาท )หรืออาจจะสูงถึง 500,000 ปอนด์ (2.1ล้านบาท)ต่อเครื่อง
อย่างไรก็ดี ไม่มีการเก็บข้อมูลหรือยืนยันเป็นทางการว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดเป็นจำนวนเท่าไร แต่มีการประเมินเบื้องต้นว่า รายได้จากการขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด น่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศอิรักซึ่งซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดไปจำนวนอย่างน้อย 5,000 เครื่อง ใช้งบประมาณไปถึง 53 ล้านปอนด์ (2.23 พันล้านบาท)
ส่วนข้อมูลการดำเนินการสืบสวนสอบสวน นั้น ในรายงานฉบับนี้ ระบุว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดนั้นถูกพิสูจน์ว่าไม่สามารถใช้งานได้โดยหน่วยงานด้านสมาคมวิศวกรรมศาสตร์ของสหราชอาณาจักรในช่วงปี 2542 แต่อย่างไรก็ตามนาย Gary Bolton หัวหน้าฝ่ายการตลาดของบริษัทในฝ่ายขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 กลับปลอมแปลงเอกสารว่าเครื่องตรวจจับระเบิดนั้นถูกรับรองว่าใช้การได้
แต่แม้ว่าจะมีผลการพิสูจน์ว่าเครื่องตรวจจับระเบิดไม่สามารถใช้งานได้เมื่อปี 2544 โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ของประเทศสหราชอาณาจักร แต่บริษัทเอกชนบางราย ยังคงขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานภายในรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงสถานทูตของอังกฤษในประเทศเม็กซิโก และองค์กรการค้าและอุตสาหกรรม ของอังกฤษ ที่ช่วยโปรโมต นำเสนอราคาในนิทรรศการเสนอสินค้า และยังช่วงนำเสนอสินค้าให้กับองค์การทางทหาร ที่แสดงความสนใจกับเครื่องตรวจจับระเบิดรุ่นนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี มีรายงานจากบุคลากรของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่ประจำการอยู่ในประเทศอิรัก ระบุว่า เครื่องตรวจจับระเบิดนี้ไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจจับเป้าหมายที่ขนวัตถุระเบิดผ่านด่านตรวจต่างๆ จนนำไปสู่การสอบสวนที่เริ่มต้นโดยตำรวจในท้องที่ Avon & Somerset ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทของนาย James McCormick หัวหน้าฝ่ายการตลาดของบริษัทที่ในฝ่ายขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ADE651 ทำงานอยู่
และในที่สุดสหราชอาณาจักรก็ได้ระงับการส่งออกวัตถุเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดชนิดนี้ และนาย McCormick พร้อมกับพรรคพวกก็ถูกจับกุมเมื่อปี 2553 และถูกพิพากษาในปี 2556 โดยนาย James McCormick ถูกพิพากษาให้จำคุก 10 ปี และนาย Gary Bolton ถูกพิพากษาให้จำคุก 7 ปี โดยนาย McCormick ยังถูกทางการอังกฤษยึดทรัพย์เป็นเงินจำนวน 7 ล้านปอนด์ (2.94 ร้อยล้านบาท)
ขณะที่นาย Roe นั้นพบข้อมูลว่าขณะนี้อาศัยอยู่ ที่ เกาะไซปรัสทางตอนเหนือ ซึ่งอยู่ในเขตครอบครองของประเทศตุรกี
ทั้งนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า ในบางประเทศที่ซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด การทุจริตในกองทัพถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการซื้อขายต่อไปได้
โดยกลุ่มผู้ตรวจการณ์การฟื้นฟูประเทศอิรักหลังจากสงคราม ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประเมินไว้เมื่อปี 2554 ว่ากว่าร้อยละ 27ของค่าตอบแทนที่นาย McCormick ได้รับนั้นถูกนำมาหมุนเวียนเป็นเงินสินบน ซึ่งในกรณีนี้ทำให้หน่วยงานทางสืบสวนของกระทรวงมหาดไทยของอิรัก ต้องออกมาดำเนินการ ในที่สุด พล.ท. Jihad al-Jabiri ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการก็ถูกจับกุมเมื่อปี 2554 และถูกตัดสินโทษจำคุก 4 ปี ในปี 2555 ในข้อหาทุจริตและฉ้อโกง
ขณะที่ประเทศไทยนั้น มีการระบุว่ามีการใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดในพื้นทื่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในช่วงกลางปี 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของประเทศไทย ได้ระบุว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือกับทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และคณะกรรมการตรวจสอบทุจริต ในการสืบสวนและสอบสวนเรื่องนี้
สำหรับการดำเนินคดีโดยศาลนั้น ปรากฏว่าบริษัทที่นำเข้าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดถูกตัดสินว่าพ้นผิดเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา เนื่องจากทางศาลเห็นว่าทางอัยการไม่สามารถจะหาหลักฐานมาเพื่อยืนยันว่าบริษัทมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อการตลาดเพื่อขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าว (อ่านประกอบ : ย้อนข้อมูล บ.แจ๊คสันฯ ชนะคดีขายจีที200 กองบัญชาการกองทัพไทย-อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ!)
ทั้งที่ การจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดนั้น มีการระบุว่าเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการสอบสวนของรัฐบาลไทยจะมีความชัดเจนอย่างไรบ้าง?
ขณะที่ในประเทศเม็กซิโก เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ทำสงครามต่อสู้กับยาเสพติด แต่มีอย่างน้อยหนึ่งคดี ที่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธ์ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญให้การว่าเครื่อง GT200 เป็นเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่กลับไม่ได้มีการหยุดใช้เครื่อง GT200 ของเจ้าหน้าที่เม็กซิโกแต่อย่างใด
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่าทางกองทัพเม็กซิโกไม่ให้ความร่วมมือในการส่งมอบเครื่อง GT200 ให้กับหน่วยงานทางกฎหมาย เพื่อดำเนินการทดสอบว่าเครื่องสามารถใช้งานได้หรือไม่ จึงทำให้ศาลฎีกาของเม็กซิโกไม่สามารถจะออกคำพิพากษาเพื่อยืนยันว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดไม่สามารถใช้งานได้
จึงทำให้ศาลฎีกาเม็กซิโกออกคำวิเคราะห์ว่าพยานหลักฐานที่ได้จาก GT200 ไม่อาจรับฟังสำหรับใช้เป็นข้ออ้างเพื่อการขอออกหมายค้น การรับฟังควรใช้อย่างจำกัดและเหมาะสม
(บทความดั้งเดิม :https://sites.tufts.edu/corruptarmsdeals/2017/05/05/the-worldwide-fake-bomb-detector-scam/)
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลรายงานการตรวจสอบและดำเนินคดีการจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ในต่างประเทศ ที่มีการจัดทำไว้โดย มูลนิธิ World Peace Foundation (WPF) ซึ่งข้อมูลหลายส่วน นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก และไม่เคยถูกเปิดเผยเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมาด้วย
อ่านประกอบ:
ตามไปดูบ.เอวิเอ หลังแพ้คดีขายจีที200 -รปภ.ปัดไม่รู้จักผู้บริหารโดนโทษจำคุกคนเดียว19 ปี
ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
ย้อนข้อมูล บ.เอวิเอฯ คู่ค้ากองทัพอื้อ1.3 พันล. ก่อนกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์