- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เติบโตอย่างก้าวกระโดด Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พัก สภาพัฒน์ชี้ไทยยังไม่มีมาตรการรองรับ
เติบโตอย่างก้าวกระโดด Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พัก สภาพัฒน์ชี้ไทยยังไม่มีมาตรการรองรับ
ประเทศไทย มีที่พักในระบบ Airbnb 43,223 แห่ง โดยกรุงเทพฯ มากที่สุด 10,566 แห่ง รองลงมาเป็นภูเก็ต เกาะสมุย และเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบร้อยละ 100 ในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ 774,000 คน
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2561 โดยมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายและจำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง
มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังสามารถจัดการได้ การเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลงจากคดีอาญาและอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ดีขึ้นเป็น "Tier 2” การลดขยะพลาสติก สถานการณ์ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ รวมถึงสถานการณ์ของแอร์บีเอ็นบีในไทย
Airbnb เทคโนโลยีกับการเปลี่ยนรูปแบบบริโภค-ผลกระทบต่อสังคม
Airbnb เป็นแพลตฟอร์มจองที่พัก มีผลกระทบด้านลบคือ การตัดราคา การจัดเก็บภาษีไม่ได้ ปัญหาความปลอดภัยและการรบกวนผู้พักอาศัย ซึ่งในต่างประเทศมีการออกกฎระเบียบเพื่อลดผลกระทบ เช่น กำหนดให้ลงทะเบียนที่พักและการกำหนดวันและจำนวนที่พักให้เช่า ฯลฯ แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องนี้โดยตรง
เรามาลองทำความรู้จัก Airbnb ผ่านรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2561 ของสภาพัฒน์ฯ
Airbnb (Air bed and breakfast) เป็นแพลตฟอร์มจองที่พักระหว่างผู้เช่า กับเจ้าของโดยตรง ที่ก่อตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปสงค์และอุปทานในเรื่องที่พักอาศัย มีแนวคิดมาจากการแบ่งประโยชน์จากที่พักอาศัย ให้เปลี่ยนเป็นรายได้มีลักษณะแตกต่างจากการจองที่พักผ่านเว็บไซด์จองที่พักทั่วไปที่มีการจดทะเบียนให้เช่าที่พัก เช่น อโกด้า บุ๊คกิ้งดอทคอม ฯลฯ
ส่วน Airbnb ผู้เช่าสามารถจองกับเจ้าของที่พักในท้องถิ่นโดยตรง โดยที่พักอาจเป็นห้องพักส่วนบุคคลที่ให้เช่าเต็มเวลา หรือให้พักเวลาที่เจ้าของไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีจุดเด่นสำหรับนักท่องเที่ยวแนวใหม่คือ ทำให้สามารถรับรู้ชีวิตท้องถิ่น รู้สึกอบอุ่นและให้ความเป็นมิตรมากกว่าการไปพักโรงแรม และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
แพลตฟอร์มที่คล้าย Airbnb ได้แก่ HomeAway Tujia ส่วนของไทย ได้แก่ Favstay ห้องพักให้เช่าผ่านแพลตฟอร์ม Home Sharing หรือเรียกกันว่า “โฮสต์” (Host) มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านแห่งใน 6.5 หมื่นเมืองใน 191 ประเทศ มียอดผู้เข้าพักแล้วกว่า 160 ล้านคน มีการเติบโตกว่าร้อยละ 150 ต่อปี
รวมทั้งยังมีการเปิดบริการตัวใหม่ “Tips” ที่ให้เจ้าของที่พัก หรือผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นจัดกิจกรรมนำเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ในแพลตฟอร์มได้ โดยประเทศที่มีนักเดินทางเข้าไปสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น (Brandinside,2017)
แม้ว่า การเชื่อมต่อให้ผู้เช่าและผู้ให้เช่าได้พบกันจะทำให้เกิดการแข่งขัน เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับผู้ให้เช่ารายย่อยในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ยังมีผลกระทบด้านหลายประการ ได้แก่
- ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าเช่าห้องพักเพิ่มสูงขึ้น จากการมีผู้นำห้องพักมาประกาศให้เช่า เช่น ในเมืองอัมสเตอร์ดัม และนิวยอร์ค ขณะเดียวกันเป็นการตัดราคากับธุรกิจโรงแรม และปัญหาทางภาษีที่ไม่สามารถเก็บได้ จากการให้เช่าห้องพัก
- ด้านสังคม อาจก่อให้เกิดการรบกวนในบริเวณที่พักอาศัยของประชาชน ปัญหาความปลอดภัยจากผู้เช่าที่อาจเป็นอาชญากร ปัญหาความปลอดภัยของห้องพักที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนกับโรงแรม เช่น ขาดอุปกรณ์ดับเพลิง หรือพนักงานรักษาความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวอาจจะสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของประเทศได้ รวมถึงความเสี่ยงของผู้บริโภคกรณีผู้ให้เช่าเปลี่ยนแปลงที่พักหรือไม่เป็นไปตามที่ตกลง
ทั้งนี้ ในต่างประเทศได้เริ่มการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่ การกำหนดให้เจ้าของสถานที่ต้องลงทะเบียนกับหน่วยงานเทศบาลในพื้นที่เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจากไฟไหม้ และตรวจประวัติของเจ้าของห้องการกำหนดวันที่สามารถให้เช่าได้ เช่น การกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการให้เช่าแต่ละครั้ง การกำหนดให้เช่าในบางช่วงเวลาหรือระยะเวลาให้เช่าได้ต่อปี และการกำหนดห้องพักที่สามารถให้เช่าได้ เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบของธุรกิจโรงแรมและเพื่อไม่ให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินไปที่จะรบกวนผู้อาศัยปกติ
สำหรับประเทศไทย มีที่พักในระบบ Airbnb 43,223 แห่ง โดยกรุงเทพฯ มีที่พักมากที่สุด 10,566 แห่ง รองลงมาเป็นภูเก็ต เกาะสมุย และเชียงใหม่ มีจำนวนที่พักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบร้อยละ 100 ในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ 774,000 คน
ขณะเดียวกันมีคนไทยที่ใช้บริการ Airbnb ไปพักในต่างประเทศกว่า 3 แสนคน รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมนำเที่ยว อาทิ การสอนมวยไทย สอนแกะสลักผลไม้ เป็นต้น
ปัจจุบัน Airbnb ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรง มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 ซึ่งในการให้เช่าพักรายวัน ถือเป็นการนำอาคารชุด ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนโรงแรมให้เช่าเป็นโรงแรม จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 เจ้าของห้องชุดผู้รับโอนกรรมสิทธิ์สามารถดำเนินการได้ในกรณีให้เช่ารายวันไม่เกิน 4 ห้อง มีผู้พักรวมทั้งหมดไม่เกิน 20 คน ซึ่งรวมถึงบ้านพักให้เช่ารายวัน และโฮมสเตย์ของชุมชน ที่ไม่เข้าข่ายการดำเนินการในรูปโรงแรม
ขณะที่บริการนำเที่ยวบางกรณีอาจกระทำได้และในบางกรณีอาจไม่ถูกกฎหมายเนื่องจากการนำเที่ยวบางกรณีต้องใช้ใบอนุญาตมัคคุเทศก์
ในรายงานของสภาพัฒน์ฯ ยังระบุด้วยว่า การเข้าพักผ่าน Airbnb ในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณนักท่องเที่ยว และยังไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมมากนัก เนื่องจากลูกค้ากลุ่ม Airbnb มีพฤติกรรมการท่องเที่ยวแตกต่างจากนักท่องเที่ยวที่เข้าพักโรงแรม รวมทั้งราคาห้องพักของโรงแรมยังมีความใกล้เคียงกับ Airbnb ทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเลือกพักในโรงแรมมากกว่า (ลภัส อัครพันธุ์,2559) อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสังคม ทั้งเรื่องความปลอดภัย การรบกวน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Airbnb และการเกิดขึ้นของธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและมีมาตรการเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านกฎระเบียบ การกำหนดกฎเกณฑ์ และมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย การพัฒนาและจัดเก็บข้อมูล การกำกับดูแลความปลอดภัยประชาชน และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการดูแล ปกป้องสิทธิตนเอง รวมทั้งมีศูนย์ให้ความช่วยเหลือ/ให้คำปรึกษาการใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ Airbnb เป็นเพียงกรณีตัวอย่างหนึ่งของการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิมที่สังคมจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้เท่าทันและสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ