- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะพื้นที่ใหญ่โครงการขยะมูลฝอย มท. 8 จว.ใช้งบแล้ว 944 ล.-นนท์แห่งเดียว 699 ล.
เจาะพื้นที่ใหญ่โครงการขยะมูลฝอย มท. 8 จว.ใช้งบแล้ว 944 ล.-นนท์แห่งเดียว 699 ล.
ชำแหละรายละเอียด 13 จังหวัดกลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ โครงการกำจัดขยะมูลฝอยครบวงจร มท. มีแค่ 8 จังหวัด ใช้งบไปแล้วกว่า 944 ล้านบาท จ้างเอกชนเก็บ-กำจัดขยะ บางจังหวัดจ้างที่ปรึกษา-ก่อสร้างศูนย์เก็บขยะมูลฝอยแล้ว เฉพาะ จ.นนทบุรี แห่งเดียวใช้ไปแล้วเกือบ 700 ล้าน ส่วนอีก 5 จังหวัดซื้อแต่รถบรรทุกขยะ
โครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานหลัก ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังถูกสาธารณชนจับตาอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีเอกสารนัดพบระหว่างบุตรชายของรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการนี้ ทั้งที่บุตรชายของรัฐมนตรีคนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับโครงการนี้ และไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด
เบื้องต้นมีผู้ไปร้องเรียนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว (อ่านประกอบ : ร้อง ป.ป.ช.สอบ‘บิ๊กป๊อก’ปมสร้าง รง.กำจัดขยะ 3 แสนล.-‘ลูก’เข้าพบ ผวจ.ภูเก็ต)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 กระทั่งในปี 2560 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ก่อนทำหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้เร่งรัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งแผนกำจัดขยะมูลฝอยแบบ Clusters มาให้กระทรวงมหาดไทยโดยเร็ว ภายในวันที่ 26 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : พลิกปูมโครงการขยะมูลฝอย มท.แม่งาน ‘บิ๊กตู่’สั่งการ5ครั้ง-งบก้อนแรก2.7พันล., อ้างคำพูด‘บิ๊กตู่’!ปลัด มท.สั่งเร่ง อปท. ส่งแผนตั้งศูนย์กำจัดขยะ-ขีดเส้น 26 ส.ค.)
ขณะเดียวกันนับตั้งแต่ 1 ก.ค. 2558 ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้ว่าจ้างเอกชนเก็บ-กำจัดขยะทั่วประเทศแล้ว จำนวน 535 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 4,912,152,578 บาท หรือราว 4.9 พันล้านบาท (อ่านประกอบ : 3 ปีหลังสุด อปท.ทั่วประเทศจ้างเอกชนเก็บ-กำจัดขยะ 535 สัญญา 4.9 พันล.)
สำหรับโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรนี้ คือการรวมศูนย์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเก็บ กำจัด ทำลาย หรือนำขยะไปแปรรูปไปเป็นพลังงานไฟฟ้า แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ พื้นที่ขนาดใหญ่ (L) กลาง (M) และเล็ก (S) โดยคำนวณจากปริมาณขยะในแต่ละวัน
พื้นที่ที่น่าสนใจคือ พื้นที่ขนาดใหญ่ (L) ตามการสำรวจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า การจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะเพื่อแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าสามารถทำได้เฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านั้น เบื้องต้นมีทั้งหมด 44 กลุ่ม ใน 27 จังหวัด แต่จากการวิเคราะห์และสำรวจประกอบกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ พบว่า มีความเป็นไปได้ในระยะแรก โดยไม่มีปัญหาด้านมวลชน 19 กลุ่มพื้นที่ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี นนทบุรี นครปฐม นครสวรรค์ พิษณุโลก สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่วนที่เหลืออีก 25 กลุ่มพื้นที่จำนวน 14 จังหวัด จะต้องมีการศึกษาตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียดต่อไป
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558-ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ส.ค. 2561) เพื่อตรวจสอบว่า 13 จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ นับตั้งแต่แผนแม่บทกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการกำจัดขยะมูลฝอยออกมา ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง พบรายละเอียด ดังนี้
1.เชียงราย โดยเทศบาลนครเชียงราย ว่าจ้างเอกชนเก็บ-กำจัดขยะจำนวน 19 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) แบ่งเป็น 2 ข่วงคือ ช่วงปี 2558 และปี 2559 รวมวงเงิน 45,368,400 บาท
2.นครราชสีมา โดยเทศบาลนครนครราชสีมาว่าจ้างเอกชนจำนวน 3 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) เป็นการจ้างที่ปรึกษาโครงการบริหารจัดการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย และการให้เอกชนร่วมลงทุนในระบบกำจัดขยะมูลฝอย และการเดินระบบผลิตปุ๋ยจากขยะมูลฝอย รวมวงเงิน 32,864,000 บาท
3.อุบลราชธานี ศูนย์อนามัยที่ 7 จ.อุบลราชธานี ว่าจ้างเอกชนติดตามตรวจสอบมลพิษสิ่งแวดล้อมจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย 1 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 1,826,918 บาท
4.นนทบุรี เทศบาลนครนนทบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ว่าจ้างดำเนินการเก็บ-กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนนทบุรี จำนวน 10 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 699,908,138 บาท
ในจำนวนนี้มี อบจ.นนทบุรี ว่าจ้างก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ วงเงิน 356,542,500 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 มี หจก.ไทยเอ็นไวรอนเมนท์ ซิสเท็มส์ เป็นคู่สัญญา และจ้างเหมาเดินระบบกำจัดขยะมูลฝอย 438,000 ตัน/ปี วงเงิน 83 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2559 มี หจก.โชติอำนวยกิจพัฒนาการ เป็นคู่สัญญา
จ้างเหมาเดินระบบกำจัดขยะมูลฝอย 456,250 ตัน/ปี วงเงิน 89,900,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 มี หจก.โชติอำนวยกิจพัฒนาการ เป็นคู่สัญญา และจ้างเหมาะเดินระบบกำจัดขยะมูลฝอย 1,300 ตัน/วัน วงเงิน 94.7 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 มี หจก.โชติอำนวจกิจพัฒนาการ เป็นคู่สัญญา
5.พิษณุโลก โดยเทศบาลนครพิษณุโลกว่าจ้างเอกชนเก็บ-ขน-กำจัดขยะมูลฝอย 7 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 32,513,102 บาท
6.สงขลา โดย อบจ.สงขลา ว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำชะมูลฝอย และจ้างที่ปรึกษาออกแบบการจัดการขยะมูลฝอยใหม่ รวม 3 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 13,735,000 บาท
7.ภูเก็ต โดยเทศบาลนครภูเก็ต ว่าจ้างเอกชนเก็บขยะมูลฝอย ล้าง-ดูแลพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย จำนวน 7 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 48,624,000 บาท
8.นครศรีธรรมราช โดย อบจ.นครศรีธรรมราช ว่าจ้างเอกชนเก็บขนขยะมูลฝอย 2 สัญญา วงเงินรวม 6,346,228 บาท และ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครศรีธรรมราช ว่าจ้างเอกชนจัดการสิ่งแวดล้อมรองรับการท่องเที่ยวสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย 2 แห่ง วงเงินรวม 69,200,000 บาท
ส่วนที่เหลืออีก 5 จังหวัด เท่าที่ตรวจสอบพบ มีแต่การว่าจ้างซื้อรถบรรทุกเก็บขยะ ได้แก่ 1.บุรีรัมย์ 2.ขอนแก่น 3.นครปฐม 4.นครสวรรค์ 5.สุราษฎร์ธานี
เบ็ดเสร็จ 8 จังหวัด ใช้เงินเกี่ยวกับการดูแล-เก็บ-กำจัดขยะไปแล้ว เป็นเงิน 944,039,558 บาท โดยเฉพาะ จ.นนทบุรี จังหวัดเดียวใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 699 ล้านบาท หรือเฉียด 700 ล้านบาท
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในการว่าจ้างเอกชนดำเนินการเก็บ-กำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ตามการประเมินของกระทรวงมหาดไทย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก kapook.com