- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- การศึกษาดีมีวุฒิภาวะ-วางแผนแยบยลซับซ้อน! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีคลองด่านจำคุก'วัฒนา-บ.เอกชน'
การศึกษาดีมีวุฒิภาวะ-วางแผนแยบยลซับซ้อน! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีคลองด่านจำคุก'วัฒนา-บ.เอกชน'
"...ส่วนที่จำเลยทั้ง 4 ราย ขอให้ศาลปรานีรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งหมดล้วนมีการศึกษาดีมีวุฒิภาวะพอเพียงที่จะสำนึกได้ว่าการใดควรไม่ควรอย่างไรก่อนที่จะได้ลงมือกระทำการนั้น จำเลยทั้ง 4 ราย กระทำการทุจริต มีการวางแผนแยบยลซับซ้อน ทำให้โครงการของรัฐมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาน้ำเสียในจังหวัดสมุทรปรากฏอันเป็นมลพิษซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมากเสียหาย จึงไม่มีเหตุอันควรปราณีที่จะรอการลงโทษ คำแก้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้ง 4 ราย ฟังไม่ขึ้น..."
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 เวลา 13.30 น. ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ 254/2547 ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กับพวกจำนวน 19 ราย กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อที่ดิน อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่รวม 1,900 ไร่ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างฯ มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยศาลฏีกาพิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยที่กระทำความผิด ทั้งปรับและจำคุก จากเดิมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยไปก่อนหน้านี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เห็นว่า คดีนี้มีความสำคัญ เป็นคดีทุจริตโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท จึงได้สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ณ ที่นี้อีกครั้ง
โจทก์ : กรมควบคุมมลพิษ
จำเลย : มี 19 ราย ได้แก่ จำเลยที่ 1 กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี, จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด , จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, จำเลยที่ 5 นายสังวร ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด , จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, จำเลยที่ 7 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด , จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, จำเลยที่ 9 นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด , จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด, จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด , จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด, จำเลยที่ 13 นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 14 นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 15 นายชยณัฐ โอสถานุเคราห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 16 บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, จำเลยที่ 17 นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม
กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องและแก้ฟ้องว่า ใน 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ฐานฉ้อโกงที่ดิน
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2539 กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะโจทก์ ได้ประกาศเชินชวนให้ผู้สนใจยื่นเอกสารแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อขายที่ดินให้สำหรับใช้ในโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 23 ก.ค.2539 คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เสนอที่จะขายที่ดินดังกล่าว รายงานผลว่า จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ผ่านการคัดเลือก
จากนั้นวันที่ 4 ต.ค.2539 จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยสมรู้กัน มีจำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง ลงชื่อกระทำการแทนทั้ง จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ฝ่ายผู้จะขาย และจำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ฝ่ายผู้จะซื้อ แล้วจำเลยที่ 1 ถึง ที่19 ร่วมกันผลักดันให้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวน 1.550 ไร่ หรือ 1,900 ไร่ แล้วแต่ผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลง โดยที่ดินตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายที่มีให้เลือก 22 แปลง ล้วนเป็นที่ดินที่ได้มาจากการรวบรวมและออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ
ต่อมา 26 พ.ค.2540 จำเลยที่ 1 กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับอนุมัติจัดจ้างให้เป็นผู้ดำเนินโครงการและเป็นผู้ตรวจสภาพที่ดินที่จะใช้เป็นสถานที่ตั้งโครงการ และเจรจาต่อรองราคาที่ดินกับจำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ตามเงื่อนไขการประกวดราคาของ โจทก์ คือ กรมควบคุมมลพิษ แล้วนำเสนอต่อโจทก์ว่า จะจัดหาที่ดินเพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งของโครงการตามสัญญาแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ หรือสัญญาแบบเทิร์นคีย์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงโจทก์ด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 2 , 4, 6, 8 และที่ 10 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และได้ร่วมประกวดราคานำที่ดินหลายแปลงดังกล่าวมาเสนอขายให้แก่โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จเพื่อใช้ในโครงการ โดยบริษัทจำเลยที่ 2, 4, 6 , 8 และที่ 10 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 12 มาก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2539
จากนั้น จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 12 โดยไม่ต้องจดทะเบียน เปลี่ยนชื่อเป็นของจำเลยที่ 1 ก่อน ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 ร่วมกันหลอกลวงและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ว่าโฉนดที่ดินทั้ง 19 แปลง ที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 12 นั้น เป็นโฉนดที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีเนื้อที่ตามที่ระบุในโฉนดโดยไม่มีเนื้อที่ซึ่งเป็นคลอง ถนนสาธารณะ หรือที่ชายตลิ่ง แต่ความจริงแล้ว ที่ดิน 5 แปลง ใน 17 แปลง ที่นำเสนอขาย มีเนื้อที่ไม่ครบตามที่ปรากฏในโฉนดเนื่องจากบางส่วนเป็นคลองและถนนสาธารณะหรือ ที่ขายตลิ่งและเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ทำให้โจทก์หลงเชื่อรับโอนที่ดินและชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 12 เป็นเงิน 1,956,600,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 นำเงินดังกล่าวไปแบ่งกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
โดยเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2546 โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปรามแล้ว แต่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า โจทก์จึงดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึง 19 เอง
ประเด็นที่ 2 ฐานฉ้อโกงสัญญา
ระหว่างปี 2538 – ต้นปี 2546 จำเลยที่ 1 กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ถึงจำเลยที่ 11 ยังร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ ในกรณีที่โจทก์ประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นคุณสมบัติเบื้องต้นโครงการออกแบบรวมก่อสร้างและแบบจ้างเหมาะเบ็ดเสร็จซึ่งมีผู้ยื่นแสดงคุณสมบัติ 13 ราย มีผู้ผ่านเกณฑ์ 4 ราย โดยมีกลุ่มของจำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และจำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด กับบริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าร่วมและได้รับการคัดเลือก
โดยในขั้นตอนการคัดเลือก มีการระบุว่า บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มีความสามารถทางเทคนิคที่แข็งแกร่งมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับระบบการกำจัดน้ำเสียเพียงพอที่จะทำงานโครงการนี้ เป็นผู้นำกลุ่ม และร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 แก่โจทก์ อันถือเป็นคุณสมบัติและสาระสำคัญที่จะทำให้กลุ่มของจำเลย ที่ 1 กิจการร่วมค่า เอ็นวีพีเอสเคจี ถึงจำเลยที่ 11 กับบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะการประมูล ก่อนจะมีการลงนามสัญญาว่าจ้างกันเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2540
แต่ความเป็นจริง บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจไม่ให้บริษัทใดกระทำการแทนไปแล้ว และมิได้ยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญากับโจทก์แต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อและเข้าทำสัญญาจ้างเหมารวมเบ็ดเสร็จเพื่อจะได้รับเงินค่าจ้าง เงินเบิกจ่ายล่วงหน้าและเงินอื่นๆ
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ยังได้หลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริง ว่า บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ยังร่วมทำงานอยู่ โดยเสนอใบเรียกเก็บเงินที่มีชื่อบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ อยู่หัวกระดาษ เป็นเหตุให้โจทก์อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้ รวม 57 งวด โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้มีการเปิดบัญชีธนาคารใช้ชื่อว่า “ เอ็นวีพีเอสเคจี จอยท์เวนเจอร์ แอนด์ เอ็นดับเบิลยูดับเบิลยูไอเรฟเวนู แอคเคาท์” ซึ่งหมายถึงบัญชีรายรับร่วมของกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีและของ บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ทั้งที่ บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มิได้รู้เห็นยินยอมหรือมอบอำนาจให้ไปเปิดบัญชีเพื่อรับเงินแทนแต่อย่างใด และบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ก็ไม่เคยถอนเงิน รับเงินหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากดังกล่าว โจทก์จึงหลงเชื่อจ่ายเช็คชำระค่าจ่าง โดยอนุมัติโอนเงินเข้าบัญชี ไว้ 2 จำนวน คือ 17,045,889,431.40 บาท และ 121,343,887.19 เหรียญสหรัฐ
โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2546 โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดีในเหตุดังกล่าว แต่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า โจทก์จึงดำเนินคดีแก่จำเลย ที่ 1 ถึง 19 เอง โดยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 341
เบื้องต้น ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึง 19 ให้ประทับฟ้อง ส่วน จำเลยที่ 1 กิจการร่วมค่า เอ็นวีพีเอสเคจี ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึง 19 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 , 4 , 6, 8, 10, 12 และที่ 16 ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยที่ 3 , 5 ,7, 9, 11, 13 , 15 , 17ถึงที่ 19 จำคุกคนละ 3 ปี หากจำเลยที่ 2 , 4 , 6, 8, 10, 12 และที่ 16 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ต่อมาโจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการหลอกขายที่ดินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาโดยสรุปว่าพยานหลักฐานโจกท์เชื่อมโยงให้เห็นได้ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมและขายที่ดินให้โจทก์ และกลุ่มบริษัทที่เข้าทำสัญญาก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียของโจทก์เป็นกลุ่มเดียวกัน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 ร่วมกันฉ้อโกงโดยหลอกลวงขายที่ดินซึ่งบางส่วนเป็นที่ดินที่ออกโฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมายให้โจทก์ และร่วมกันฉ้อโกงในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับโจทก์ โดยหลอกลวงปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งว่า บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มิได้ยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญากับโจทก์ และ บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ ได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจที่ให้ทำการและลงนาทในสัญญาแล้ว และพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึง 19 กระทำผิดตามฟ้อง
ประเด็นที่ 1 ฐานฉ้อโกงที่ดิน
ทั้งนี้ ในส่วนประเด็นความผิดฐานฉ้อโกงขายที่ดินซึ่งบางส่วนออกโฉนดโดยไม่ชอบนั้น ข้อเท็จจริงสำหรับ จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า โฉนดที่ดินทั้ง 5 โฉนด ออกโดยมิชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย
ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 18 แม้มิได้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว และจะนำเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว ว่าจำเลยที่ 19 กับพวก กว้านซื้อที่ดิน ประมาณ 1,900 ไร่ ในนามบริษัทเหมืองแร่ลานทอง จำกัด ที่จำเลยที่ 19 ถือหุ้นและเป็นกรรมการ แล้วขอออกโฉนดที่ดินในนามจำเลยที่ 16 ต่อมาจำเลยที่ 16 ซื้อที่ดินจากบริษัทเหมืองแร่ลานทองฯ ในราคา 88 ล้านบาท โดยไม่มีการชำระราคา แต่ตีราคาเป็นหุ้นร้อยละ 22 ของหุ้นทั้งหมดในบริษัทจำเลยที่ 16 และจำเลยที่ 19 ให้บริษัทนอร์ธเทอร์นฯ ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 19 เป็นเจ้าของหุ้นดังกล่าว จำเลยที่ 19 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทจำเลยที่ 16 และจำเลยที่ 19 ได้ข่มขืนใจ หรือจูงใจให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดิน 5 โฉนด โดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายมารับฟังเป็นพลัดโดยตรงในคดีนี้ไม่ได้ก็ตาม แต่โจทก์ก็มี พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทร์ขาว พนักงานสอบสวนที่สำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและสอบสวนกรณีทุจริตโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ สมุทรปราการ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จากการสอบสวนได้ความว่าจำเลยที่ 19 ข่มขืนใจ จูงใจเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ ซึ่งต่อมากรมที่ดินได้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวแล้ว และก็มีการพยานอีกหลายปากมาเบิกความยืนยัน มีน้ำหนักรับฟังได้
ขณะที่จากการสอบสวนข้อมูลของคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการนี้ พบว่า บริษัทเอกชนที่ปรากฏชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทที่ปรากฏชื่อเป็นจำเลยอีกหลายบริษัท มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดกัน มีการถือหุ้นไขว้กันของบริษัท ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มจำเลยน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า มีการรังวัดออกโฉนดทับที่สาธารณะ แต่ยังรวมที่ดินที่มีปัญหาไปจดทะเบียนแสร้งเป็นว่าขายให้จำเลยที่ 12 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ราคา 563,746,400 บาท ก่อนที่จะนำมาขายให้กับโจทก์เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ ได้รับค่าที่ดินไปเป็นเงิน 1,956,600,000 บาท และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินก็พบความเชื่อมโยงกัน และข้อต่อสู้ของจำเลยบางรายก็รับฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ฎีกาข้อขี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
ประเด็นที่ 2 ฐานฉ้อโกงสัญญา
กรณีที่จำเลยที่ 2 ถึง 11 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงให้โจทก์ทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยหลอกลวงปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งว่า บริษัท นอร์ธเวสต์วอเตอร์ฯ ไม่ได้ยิมยอมที่จะผูกพันตามสัญญา และได้บอกเลิกหนังสือมอบอำนาจที่ให้ทำการและลงนามในสัญญาแล้วหรือไม่
โจทก์ได้มีการนำพยานเบิกความ ว่า ได้สอบสวนผู้บริหารและอดีตผู้บริหารบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ โดยกลุ่มผู้บริหารยืนยันว่า บริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ตกลงกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคีเจ ไว้คราวๆ ว่าจะเข้าร่วมทำงานในโครงการ โดยมีข้อกำหนดว่า จะรับจ้างช่วงทำหน้าที่เดินระบบให้กับโครงการเท่านั้น จะไม่รับผิดร่วมกันและแทนกันกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และแจ้งชัดเจนว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์จะไม่ลงนามหรือมอบอำนาจให้ผู้ใดไปเซ็นสัญญากับโจทก์ และต่อมามีการออกหนังสือมอบอำนาจให้ จำเลยที่ 2 แต่เกรงว่าจะถูกนำไปใช้ฝ่าฝืนคำสั่งและนโยบาย จึงบอกเลิกหนังสือมอบอำนาจ แต่กลุ่มกิจการร่วมค้า ฯ ก็ไปลงนามในสัญญากับโจทก์โดยที่บริษัทฯ มิได้รู้เห็นยินยอม จึงทำหนังสือโต้แย้งคัดค้านไปแล้ว ซึ่งการที่จำเลยทราบแล้วว่าบริษัทนอร์ธเวสต์วอเตอร์ฯ ยกเลิกการมอบอำนาจแต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงในข้อที่เป็นสาระสำคัญ อันควรบอกโดยทุจริต ทำให้ได้เงินค่าจ่างไปเป็นจำนวนเงินเกือบ 20,000 ล้านบาท การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึง 11 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงสัญญาตามฟ้อง
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ศาลฎีกา จึงพิพากษากลับเป็นว่า
จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด , จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, จำเลยที่ 5 นายสังวร ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด , จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, จำเลยที่ 7 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด , จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, จำเลยที่ 9 นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด , จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด, จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด , จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด, จำเลยที่ 13 นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 14 นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 15 นายชยณัฐ โอสถานุเคราห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , จำเลยที่ 16 บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, จำเลยที่ 17 นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ , จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83
การกระทำของจำเลย จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์, จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และจำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ฐานฉ้อโกงที่ดิน
จำคุก จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์, จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา , จำเลยที่ 13 นายชาลี ชุตาภา, จำเลยที่ 14 นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ, จำเลยที่ 15 นายชยณัฐ โอสถานุเคราห์, จำเลยที่ 17 นางบุญศรี ปิ่นขยัน, จำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง, จำเลยที่ 19 นายวัฒนา อัศวเหม คนละ 3 ปี
ปรับ จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด , จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด,จำเลยที่ 12 บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัดและจำเลยที่ 16 บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด คนละ 6,000 บาท
ฐานฉ้อโกงสัญญา
จำคุก จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์, จำเลยที่ 5 นายสังวร ลิปตพัลลภ, จำเลยที่ 7 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล, จำเลยที่ 9 นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล และ จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา คนละ 3 ปี
ปรับ จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, จำเลยที่ 4 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, จำเลยที่ 6 บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด,จำเลยที่ 8 บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และ จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด คนละ 6,000 บาท
รวมคุก จำเลยที่ 3 นายพิษณุ ชวนะนันท์ และ จำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา คนละ 6 ปี
รวมปรับ จำเลยที่ 2 บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ จำเลยที่ 10 บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด คนละ 12,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และ 30
ทั้งนี้ ในคำพิพากษาศาลฎีกา มีการระบุถึงประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ตามคำแก้ฎีกา ของจำเลยที่ 11 นายรอยอิศราพร ชุตาภา จำเลยที่ 13 นายชาลี ชุตาภาจำเลยที่ 14 นายประพาส ตีระสงกรานต์ และ จำเลยที่ 18 นายกว๊อกวา โอเยง ว่ามีเหตุสมควรลงโทษในสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ โดยเห็นว่าความผิดฐานฉ้อโกง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 (เดิม) กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 ราย คนละ 3 ปี โดยมิได้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
ส่วนที่จำเลยทั้ง 4 ราย ขอให้ศาลปรานีรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งหมดล้วนมีการศึกษาดีมีวุฒิภาวะพอเพียงที่จะสำนึกได้ว่าการใดควรไม่ควรอย่างไรก่อนที่จะได้ลงมือกระทำการนั้น จำเลยทั้ง 4 ราย กระทำการทุจริต มีการวางแผนแยบยลซับซ้อน ทำให้โครงการของรัฐมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาน้ำเสียในจังหวัดสมุทรปรากฏอันเป็นมลพิษซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมากเสียหาย จึงไม่มีเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษ คำแก้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้ง 4 ราย ฟังไม่ขึ้น
สำหรับ จำเลยที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ได้แก่ นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัท สี่แสงการโยธา นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และนายวัฒนา อัศวเหม ศาลฯ มีคำสั่งออกหมายจับให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวมาดำเนินคดี เพื่อฟังคำพิพากษานับจากนี้ไปอีก 30 วัน
อ่านประกอบ :
ยื่น ป.ป.ช.สอบ‘ประพัฒน์’ปมย้ายอธิบดี คพ.สนองการเมืองทำคลองด่านเจ๊ง
ปปง.ยื่นดีเอสไอสอบฟอกเงิน'กิจการร่วมค้าฯ-จนท.รัฐ'พันทุจริตคลองด่าน
นักการเมืองใหญ่ใช้คลองด่านบีบคนเข้าพรรค!กิจการร่วมค้าฯ ร้อง'บิ๊กตู่'ขอถอนอายัด
'ประพัฒน์' ยื่นอุทธรณ์เเล้ว หลัง คพ.สั่งชดใช้เลิกสัญญาโครงการคลองด่าน
เลิกสัญญาคลองด่านทำเสียหาย!กรมมลพิษ สั่งจนท.ชดใช้รวมกว่า 2 หมื่นล. - 'ธาริต' โดนด้วย 900 ล.
เรียก'ประพัฒน์' ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 6 พันล. ต้นเหตุให้รัฐ'เสียค่าโง่' คลองด่าน
'ประพัฒน์' เล็งยื่นอุทธรณ์ หลังกรมควบคุมมลพิษ สั่งชดใช้ค่าโง่คลองด่าน
ศาลปค.ไม่รับคำร้อง"ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" ให้รื้อคดีคลองด่านใหม่
นานาทัศนะ : ค่าโง่ 'คลองด่าน' มหากาพย์ที่ยังขุดไม่หมด-ต้องศึกษาทั้งระบบ