- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดกรุ 12 นักการเมือง ถูกศาลสั่งคุกจริง ‘สุรพงษ์’รายล่าสุด?
เปิดกรุ 12 นักการเมือง ถูกศาลสั่งคุกจริง ‘สุรพงษ์’รายล่าสุด?
‘สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล’ นักการเมือง ‘เพื่อไทย’ รายล่าสุด ถูกศาลฎีกาฯสั่งคุกจริง ซ้ำรอย ‘ยิ่งลักษณ์-ภูมิ-บุญทรง-เกษม-ชูชีพ-วิทยา’ ส่วนในศาลอาญามี ‘จตุพร-จ่าประสิทธิ์-อริสมันต์-เด็จพี่-เกียรติอุดม’ ไม่นับสารพัด อดีต บิ๊กการเมือง ยุค ‘ไทยรักไทย-พลังประชาชน’
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลย คดีคืนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายสุรพงษ์ 2 ปี ไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ดีนายสุรพงษ์ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ และขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท (อ่านประกอบ :ศาลฎีกาฯสั่งคุกจริง2ปี!'สุรพงษ์'คืนพาสปอร์ต 'ทักษิณ' ล่าสุดให้ประกันตัว 5 ล้าน ห้ามออกนอกประเทศ)
นายสุรพงษ์ เป็นนักการเมืองรายที่ 12 ของ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกศาลพิพากษา ‘จำคุกจริง’
หากนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลช่วงปลายปี 2554 จนถึงกลางปี 2557 ที่พ้นอำนาจจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์) รัฐมนตรีหลายราย ไล่มาถึงอดีต ส.ส.เพื่อไทย ต่างพาเหรดถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องศาลฎีกาฯ และศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาอย่างน้อย 4 ราย รวมไปถึงข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท และก่อการร้าย หรือข้อหาอื่น ๆ ในชั้นศาลอาญาปกติ พิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 5 คดี
คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทั่งศาลฎีกาฯพิพากษาให้ ‘จำคุกจริง’ มีอย่างน้อยก่อนหน้านายสุรพงษ์ 6 ราย ได้แก่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวม ดังนี้
หนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 5 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้ประเทศชาติขาดทุนหลายแสนล้านบาท รวมถึงไม่ระงับยับยั้ง หรือตรวจสอบการทุจริตในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว เกิดความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท
คดีนี้สาธารณชนให้ความสนใจติดตามเป็นอย่างมาก เพราะโครงการรับจำนำข้าวถูกร้องเรียนประเด็นทุจริตตั้งแต่ช่วงเริ่มโครงการใหม่ ๆ คือช่วงปลายปี 2554 ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจ กระทั่งถูกร้องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อปี 2555 ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐาน สอบทั้งทางตรง ทางลับ กระทั่งมีมติชี้มูลความผิดเมื่อกลางปี 2557 แต่ อสส. ขณะนั้นเห็นว่าพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช. ก่อนมีมติส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯเมื่อปี 2558 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดีวันนัดฟังคำพิพากษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ ‘หลบหนี’ ไม่มาตามนัด ปัจจุบันศาลฎีกาฯได้ออกหมายจับแล้ว ทั้งนี้มีข้อมูลจากสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้วีซ่าให้พำนักที่ประเทศอังกฤษได้เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่ไม่สามารถอยู่เกินได้ครั้งละ 6 เดือน
สอง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, สาม นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ คดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายบุญทรง 42 ปี นายภูมิ 36 ปี กรณีมีส่วนรู้เห็นในการทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ซึ่งมีอัตราโทษรุนแรง
คดีนี้นับเป็นกรณี ‘คลาสสิค’ กรณีหนึ่งในเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ข้อมูลจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. และในชั้นศาลฎีกาฯ ทำให้เห็นว่า ต้นตอที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ เกิดขึ้นเพราะการคิดค้นนโยบายรับจำนำข้าว เมื่อชาวนานำข้าวมาจำนำแล้ว ข้าวถูกเก็บสต็อกในโกดัง ทำให้ต้องคิดนโยบายระบายข้าวออกมา โดยการระบายข้าวแบบจีทูจีคือหนึ่งในวิธีนั้น แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า ไม่ได้มีการทำจีทูจีกับประเทศจีนจริง แต่กลับนำรัฐวิสาหกิจจีนที่ไม่มีอำนาจทำจีทูจีมาดำเนินการ และมีการกระจายข้าวให้กับกลุ่ม ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และเครือข่าย โดยมี นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ เป็นตัว ‘ดีล’ ส่งผลให้ข้าวไม่ไปไหน และยังวนเวียนขายอยู่ภายในประเทศในราคาสูง ส่งผลให้ชาติเสียหายหลายหมื่นล้านบาท
นอกเหนือจากนายภูมิ และนายบุญทรงแล้ว ยังมีอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ และเอกชนเครือข่าย ‘เสี่ยเปี๋ยง’ พาเหรดติดคุกด้วยรวม 21 ราย
สี่ นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย คดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2560 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายเกษม 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินฯเป็นเท็จ แบ่งข้อเท็จจริงได้ 2 กรณี
หนึ่ง ช่วงพ้นตำแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ แจ้งรายการหนี้สินจำนวน 72 ล้านบาทอันเป็นเท็จ เนื่องจากไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า หนี้สินดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินมาจริง
สอง ช่วงพ้นตำแหน่งที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ ครบ 1 ปี ช่วงเข้าตำแหน่ง ส.ส. ช่วงพ้นตำแหน่ง ส.ส. และช่วงพ้นตำแหน่ง ส.ส. ครบ 1 ปี และช่วงดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.เชียงใหม่ ปกปิดรายได้จากการขายหุ้นบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) วงเงิน 26.1 ล้านบาท ส่วนนางดวงสุดา นิมมลรัตน์ (ภรรยานายเกษม) พร้อมกับไม่ยอมแจ้งว่านางบุญทอง สุภารังสี (มารดาของนายเกษม) ถือครองหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 74 ล้านบาท ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน
นายเกษม ยังไม่หมดเคราะห์กรรมแค่นั้น ศาลฎีกาฯได้พิพากษา ‘ยึดทรัพย์’ รวมวงเงินกว่า 189 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 สำนวน สำนวนแรกศาลฎีกาฯพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินของนายเกษม นางดวงสุดา และนางบุญทอง รวมทั้งสิ้น 168,453,245 บาท เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินได้ และมีมติให้คืนทรัพย์สินในส่วนของรถยนต์โตโยต้ามูลค่า 7 แสนบาท และหุ้น NFC จำนวน 9,870 หุ้น
อีกคดีหนึ่งสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯพิพากษายึดทรัพย์นายเกษม และนางดวงสุดา อีกรวม 21 ล้านบาท เป็นที่ดิน 2 แปลง วงเงิน 11.8 ล้านบาท ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อดีตพนักงานของบริษัทลูกชายนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ภรรยานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเงินสด 11 ล้านบาทซื้อแคชเชียร์เช็ค ก่อนนำไปชำระค่าที่ดินดังกล่าว โดยไม่พบว่ามีเงินของนายเกษมเข้าไปเกี่ยวข้องในการซื้อแคชเชียร์เช็คดังกล่าว นอกจากเงินสดจำนวน 8.2 แสนบาท ที่โอนไปชำระค่าที่ดินทีหลัง นอกจากนี้ยังยึดหุ้นจำนวน 9.2 ล้านบาท โดยพบว่า เป็นการนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท วินโคสท์ฯ ที่ศาลฎีกาฯเคยพิพากษาว่าเป็นเงินที่ได้จากการรวยผิดปกติมาซื้อ
ห้า นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย, หก นายวิทยา เทียนทอง อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ อดีต ส.ส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก นายชูชีพ และนายวิทยา รายละ 6 ปี ไม่รอลงอาญา คดีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) กรณีทุจริตการจัดซื้อปุ๋ยและสารเคมีเมื่อปี 2545
อย่างไรก็ดีหากนับคดีอื่น ๆ ในชั้นศาลอาญาปกติ มีนักการเมืองพรรคเพื่อไทยอย่างน้อย 5 ราย ที่ถูกพิพากษาจำคุก ได้แก่
หนึ่ง นายจตุพร พรหมพันธ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายจตุพร 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยใส่ความว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นผู้สั่งฆ่าประชาชน ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553
สอง นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแกนนำ นปช.
นายอริสมันต์ หรือ ‘กี้ร์’ ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 คดี ใน 2 ศาล คดีแรก เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2560 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายอริสมันต์ 1 ปี คดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ ใส่ความเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
คดีที่สอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกนายอริสมันต์ 4 ปี คดีบุกขัดขวางการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ที่พัทยา เมื่อปี 2552 พร้อมกับบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงอีกหลายราย อย่างไรก็ดีคดีนี้อยู่ระหว่างฎีกา และศาลฎีกาอนุญาตให้ประกันตัวนายอริสมันต์ ด้วยวงเงิน 2.2 ล้านบาท
สาม จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย คดีหมิ่นเบื้องสูง
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2557 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก จ.ส.ต.ประสิทธิ์ 2 ปี 6 เดือน คดีหมิ่นเบื้องสูง จากกรณีปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดง มีการพาดพิงถึงเบื้องสูง อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ได้ถูกพ้นโทษคดีดังกล่าวแล้ว
สี่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, ห้า นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย คดีหมิ่นประมาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อเดือน ก.ค. 2558 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่นประมาทนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 รายได้ใส่ความว่า นายวสันต์ เปิดห้องให้นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบ ก่อนหน้าตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ (สุดท้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่ยุบพรรค) ปัจจุบันทั้ง 2 ราย ได้พ้นโทษออกมาแล้ว
หากรวมคดีของนายสุรพงษ์ในวันที่ 19 มิ.ย. 2561 เบ็ดเสร็จรวมแล้วมีนักการเมือง ‘ซีกสีแดง’ อย่างน้อย 12 ราย ถ้านับเฉพาะช่วงพรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นมามีอำนาจเมื่อปลายปี 2554 ที่ถูกศาลพิพากษา ‘ติดคุกจริง’
นี่ยังไม่นับรวมอดีตนักการเมืองสมัย ‘ไทยรักไทย’ ที่ถูกจำคุกอีกหลายราย เช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในคดีแก้ไขสัมปทานดาวเทียมเอื้อประโยชน์ให้เครือชินคอร์ปฯ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกจริง 1 ปี ปัจจุบันพ้นโทษแล้ว
หรือสมัย ‘พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน’ มีอดีต ‘บิ๊กนักการเมือง’ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ราย ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช (เสียชีวิตแล้ว) อดีตนายกรัฐมนตรี นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย คดีทุจริตการจัดซื้อรถ-เรือ-อุปกรณ์ดับเพลิง และมีอีกรายที่ ‘รอดคุก’ ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2551 ที่ศาลฎีกาฯพิพากษายกฟ้อง
นอกจากนี้ยังมีบางราย ‘หลบหนี’ เร้นกายไปซุกตัวอยู่ต่างประเทศ ไล่มาตั้งแต่ ‘นายใหญ่’ ทักษิณ ชินวัตร นายประชา มาลีนนท์ นายวัฒนา อัศวเหม คนล่าสุดคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น
ส่วนใครจะเป็นคิวต่อไป ต้องรอติดตาม ?