- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กาง กม.ไฉน ตร.ขอศาลอนุมัติหมายจับพระผู้ใหญ่คดีเงินทอนวัดไม่ผ่าน ป.ป.ช.?
กาง กม.ไฉน ตร.ขอศาลอนุมัติหมายจับพระผู้ใหญ่คดีเงินทอนวัดไม่ผ่าน ป.ป.ช.?
“…พระ หรือเจ้าอาวาสไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย แต่ในเมื่อพนักงานสอบสวนส่งขออนุมัติหมายจับ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า เป็นเรื่องการสนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งในส่วนนี้ ป.ป.ช. มีอำนาจเข้าไปไต่สวนข้อเท็จจริงได้ อย่างไรก็ดีต้องดูเป็นรายกรณีไป...”
แวดวงผ้าเหลืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง !
หลังจากเมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 24 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ปฏิบัติการ ‘ลับ ลวง พราง’ บุกจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีเงินทอนวัดฉาว และคดีฟอกเงินทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม ตั้งแต่ปี 2557 รวมกว่า 150 ล้านบาท โดยมีการขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับ และทำคำร้องขอฝากขัง คัดค้านการประกันตัว (ขณะที่ในช่วงไล่เลี่ยกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ได้นำกำลังบุกควบคุมตัว พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ พระพุทธะอิสระเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และอดีตแกนนำ กปปส. เวทีแจ้งวัฒนะ วัฒนะ ผู้ต้องหาคดีอั้งยี่ ซ่องโจร ที่การ์ด กปปส.ร่วมทำร้ายร่างกายตำรวจสันติบาล 2 นาย บาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งคดีปลอมพระปรมาภิไธย และใช้พระปรมาภิไธยที่มีการปลอมขึ้นด้วย เป็นผลทำให้ พระพุทธะอิสระ ต้องถูกจับสึก และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว)
สำหรับพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูป ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีเงินทอนวัดฉาว และคดีฟอกเงินทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้แก่ 1.พระศรีคุณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ 2.พระครูสิริวิหารการสมจิตร จันทร์ศรี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ 3.พระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือ ‘เจ้าคุณเทอด’ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ 4.พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา (เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะกรุงเทพมหานครด้วย) และ 5.พระอรรถกิจโสภณ เลขานุการเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดสามพระยา
ขณะที่ น.ส.ฆัมม์พร นิพนธ์พิทยา แม่ของ ร.ท.ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา นายทหารประจำศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เจ้าของหจก.ดีดีทวีคูณ ที่ถูกตรวจสอบพบการโอนเงินจำนวน 25 ล้านบาท จากพระชั้นผู้ใหญ่ วัดสระเกศ เข้าบัญชีแม่บ้าน ที่โอนหุ้นให้ถือครองแทน ก็ติดต่อขอเข้ามอบตัวพนักงานสอบสวนของกองปราบปราม ก่อนถูกออกหมายจับด้วย
อย่างไรก็ดี ยังมีพระผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งที่ตำรวจจับกุมไม่ได้ คือ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่พบว่าหลบหนีไปทางประตูลับ และตำรวจเชื่อว่ายังหลบหนีอยู่ภายในประเทศ พร้อมสั่งกำชับให้ทุกด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจตราอย่างเข้มงวด
สำหรับพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 5 ราย ถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และขณะนี้ถูกฝากขังอยู่ที่ศาลอาญา เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ปัจจุบันคดีเหล่านี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ พศ. ร่วมกับกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ปปป.ตร.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สำหรับโครงสร้างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ 3 หน่วยงาน แบ่งเป็น การสอบสวนทางวินัย ดำเนินการโดย พศ. การสอบสวนจับกุมขยายผล ดำเนินการโดย ปปป.ตร. และการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว 13 สำนวน ในพื้นหลายจังหวัด โดยมี ‘เฮดใหญ่’ ได้แก่ อดีต ผอ.พศ. 2 ราย และอดีตรอง ผอ.พศ. 1 ราย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ใน พศ. อีกจำนวนหนึ่ง
ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือจากปฏิบัติการบุกจับกุมดังกล่าวคือ ประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย
ทำไมตำรวจถึงขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับ และใช้ขอฝากขัง คัดค้านไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่ตามข้อกฎหมาย พระระดับเจ้าอาวาส คือเจ้าพนักงานของรัฐ จะต้องผ่านการไต่สวน และได้รับการประสานร้องขอจากสำนักงาน ป.ป.ช. ก่อน ?
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ต้องเข้าใจว่า ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45 ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) บัญญัติว่า “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 บัญญัติว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ
นั่นหมายความว่า หากเป็นพระทั่ว ๆ ไป ไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่หากเป็นพระที่มีตำแหน่ง หรืออำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ ย่อมถือว่าเป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐในทันที
และพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูปดังกล่าว บางรูปเป็นถึงผู้ช่วยเจ้าอาวาส บางรูปเป็นถึงกรรมการ มส. บางรูปเป็นเลขาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร นั่นย่อมหมายความว่า มีตำแหน่งและอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ จึงถือว่าเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานของรัฐด้วย
แม้ว่าตามคำพิพากษาศาลฎีกา 7540/2554 จะระบุว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม หาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 (ขณะนั้น) และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่น ๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา (อ่านคำพิพากษาฉบับย่อ : https://deka.in.th/view-509236.html)
อย่างไรก็ดีคดีนี้คือคดีทุจริต มิใช่คดีอาญาโดยทั่วไป ดังนั้นที่พนักงานสอบสวนขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับ และศาลอนุมัติตามคำขอ พร้อมกับขอฝากขัง และคัดค้านการประกันตัวดังกล่าว สามารถทำได้หรือไม่ ?
สาระสำคัญของประเด็นนี้คือ การขออนุมัติหมายจับพระผู้ใหญ่ 5 รูป ในฐานะอะไร หรือข้อกล่าวหาแบบชัด ๆ คืออะไร ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราไหน ?
หนึ่ง หากเป็นไปในฐานะตัวการ พระตำแหน่งเจ้าอาวาส ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ จะต้องผ่านการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. เสียก่อน เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการทุจริต มิใช่คดีอาญาโดยทั่วไป เห็นได้จาก ปปป.ตร. ได้ส่งสำนวนคดีเกี่ยวกับเงินทอนวัดให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ที่ปัจจุบันมีถึง 13 สำนวนแล้ว
สอง หากเป็นไปในฐานะผู้สนับสนุน ทำไมพนักงานสอบสวนจึงขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยไม่รอให้สำนักงาน ป.ป.ช. สรุปคดีก่อนว่า ‘ตัวการใหญ่’ คดีนี้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือใคร และพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูปเหล่านี้ สนับสนุน ‘ใคร’
แต่ตามข่าวที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ไม่มีการระบุว่า พระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ถูกออกหมายจับในฐานะอะไร ตัวการใหญ่ หรือร่วมสนับสนุนการกระทำความผิด มีแต่ระบุอย่างกว้าง ๆ ว่า ถูกกล่าวหาในคดีเงินทอนวัดเท่านั้น ?
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อธิบายเบื้องต้นว่า พระ หรือเจ้าอาวาสไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย แต่ในเมื่อพนักงานสอบสวนส่งขออนุมัติหมายจับ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า เป็นเรื่องการสนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งในส่วนนี้ ป.ป.ช. มีอำนาจเข้าไปไต่สวนข้อเท็จจริงได้ อย่างไรก็ดีต้องดูเป็นรายกรณีไป
เมื่อถามว่า หากเป็นผู้ร่วมสนับสนุน ในเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐตัวการใหญ่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงขอศาลอนุมัติหมายจับได้เอง นายวรวิทย์ ตอบว่า เรื่องนี้ต้องขอไปดูรายละเอียด และประสานงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในสำนวนก่อนว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงให้เจ้าพนักงานสอบสวนไปดำเนินการเอง
อย่างไรก็ดีตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2542 มาตรา 89 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้เสียได้ร้องทุกข์ หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 (เช่น นักการเมือง และข้าราชการทางการเมือง) อันเนื่องมาจากการกระทำผิดตามมาตรา 88 (การกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่มิใช่นักการเมือง หรือข้าราชการทางการเมือง กระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่) ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติหมวดนี้
ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป
นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่มิใช่บรรดานักการเมือง-ข้าราชการการเมือง กระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ พนักงานสอบสวนจะต้องส่งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนก่อน หาก ป.ป.ช. พิจารณาแล้วว่า ไม่เข้าข่ายอำนาจ ก็ให้คืนเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนดำเนินการ แต่คดีนี้ ปปป.ตร. ได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. เข้ามาไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว อย่างน้อย 13 สำนวน
แต่คราวนี้เมื่อพนักงานสอบสวนพบ 'ตัวละครใหม่' ในคดีดังกล่าว กลับไม่ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนก่อน แต่ไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับเลย หลังจากนั้นได้จับกุมตัวมา พร้อมกับคำร้องขอฝากขัง และคัดค้านการประกันด้วย จะมีผลต่อกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าพนักงานของรัฐ ของ ป.ป.ช. หรือไม่ ?
นี่เป็นอีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่ ‘ซ่อน’ อยู่ในปรากฏการณ์ ‘วันพระใหญ่’ เมื่อวานนี้ และเป็นหน้าที่ของตำรวจ และสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า ตกลงแล้วการออกหมายจับพระผู้ใหญ่ 5 รูป ในฐานะอะไร ข้อกล่าวหาอะไร ผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตราไหน ?
เพื่อให้เกิดความชัดเจน ป้องกันไม่ให้บางกลุ่ม บางฝ่าย เคลือบแคลงสงสัย จนออกมาเคลื่อนไหวโจมตีการกระทำของตำรวจ และ ป.ป.ช. ในคดีนี้ได้
ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำสำนวนคดีเงินทอนวัดทั้งหมด 13 สำนวน เพื่อมาพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานแล้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบพระจาก https://photoofdays.blogspot.com/2017/01/5-6-60.html