- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดมหากาพย์ทุจริต1MDB ชะตากรรม 'นาจิบ ราซัก' ใต้หน้ากาก 'MO1' มาเลย์ล่าเงินแสนล้านคืนปท.
เปิดมหากาพย์ทุจริต1MDB ชะตากรรม 'นาจิบ ราซัก' ใต้หน้ากาก 'MO1' มาเลย์ล่าเงินแสนล้านคืนปท.
"...ในขณะนี้การสืบสวนกรณี 1MDB ยังดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ และเปิดให้มีการสืบสวนทั้งหมดขึ้นใหม่ในประเทศมาเลเซีย แม้จะมีการประเมินจำนวนเงินที่สูญหายจากบัญชีของ 1MDB อย่างคร่าว ๆ ว่าอยู่ในระดับมากกว่าแสนล้านบาท แต่ยังคงต้องรอผลการสืบสวนอย่างเป็นทางการของคณะทำงานชุดนี้ ซึ่งนอกจากจะสามารถระบุตัวเลขความเสียหายทั้งหมดได้ชัดเจน ยังจะเป็นผู้ชงเรื่องสู่ศาล ตัดสินชะตาของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซักอีกด้วย..."
อดีตนายกรัฐมนตรี 'นาจิบ ราซัก' ผู้ถูกห้ามออกนอกประเทศมาเลเซีย ได้เดินทางเข้าให้การต่อคณะทำงานพิเศษสืบสวนสอบสวนกรณีทุจริต 1MDB เป็นครั้งที่สอง นับเป็นการดำเนินงานที่รวดเร็วของกรรมการชุดดังกล่าวที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งคำสังของนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัดเมื่อต้นสัปดาห์นี้
มหากาพย์ทุจริต 1MDB เป็นข่าวฉาวโฉ่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2558 เมื่อหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ของสหรัฐ ฯ รายงานว่า เงินจำนวนเกือบ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ (ประมาณกว่า 22,000 ล้านบาท) ได้ถูกผ่องถ่ายด้วยวิธีอันแยบยลจากบริษัท SRC International ที่ขณะนั้นเป็นบริษัทลูกของ 1 Malaysia Development Berhad (1MDB) บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงการคลังมาเลเซีย เข้าสู่บัญชีส่วนตัวของนายก นาจิบ ราซัก ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2556
คณะทำงานพิเศษสืบสวนสอบสวนกรณีทุจริต 1MDB ชุดนี้ประกอบด้วย อดีตอัยการสูงสุด อดีตประธานและประธานคนปัจจุบันของคณะกรรมการต่อต้านทุจริตแห่งชาติมาเลเซีย และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรอง (Special Branch) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซียซึ่งเป็นบุคคลที่มีความคุ้นเคยกับการสืบสวนกรณี 1MDB ในอดีต โดยมีบุคลากรจากธนาคารชาติ ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นทีมสนับสนุน
มีหน้าที่สำคัญ คือ การติดตามหาเงินที่หายไปจาก 1MDB รวมทั้งประสานงานด้านข้อมูลกับรัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องและนำเงินเหล่านี้จากแหล่งซุกซ่อนต่าง ๆ กลับคืนเข้าประเทศ ถือเป็นการเปิดรับข้อมูลใหม่หลังจากรัฐบาลนาจิบพยายามระงับกระบวนการการสืบสวนและการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนด้วยวิธีการต่าง ๆ ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนาน
คณะทำงานใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงสอบถามนายนาจิบในการไต่สวนรอบแรก หลังจากนั้นนายนาจิบให้สัมภาษณ์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่า เขา “ไม่ได้โกง”
อย่างไรก็ตาม เงินกว่าสองหมื่นล้านบาทนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของการทุจริต 1MDB ทั้งหมด ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ ประมาณไว้ว่าเงินอย่างต่ำ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ (ประมาณ หนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท) ได้ถูกยักยอกออกจากบัญชีของบริษัท 1MDB แล้วนำผ่านกระบวนการฟอกเงินนานาประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2552
นาจิบ ราซัก เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในพ.ศ. 2551 หลังจากนั้นก็เข้านั่งเก้าอี้ประธานกรรมการที่ปรึกษา 1MDB ที่พบว่าดำเนินการอย่างขาดความโปร่งใสตั้งแต่ต้น มีการเปลี่ยนบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา พบว่าไม่มีการตรวจสอบบัญชีบริษัทอย่างเหมาะสม โดยในปี 2559 ในช่วงที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ เริ่มยึดทรัพย์สิน 1MDB ในประเทศ บริษัทผู้ตรวจบัญชี Deloitte สาขามาเลเซียได้ลาออกจากการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีในขณะนั้น และแถลงว่าผลตรวจสอบบัญชีในปี 2556 และ 2557 ของตนไม่ถือว่านำไปใช้อ้างอิงได้ เนื่องจากขาดข้อมูลตามที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ ได้ค้นพบ
ในปี 2558 นายกรัฐมนตรีนาจิบ สั่งให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจบัญชีรายใหม่ แต่ผลการตรวจบัญชีนี้ถือเป็นความลับตามกฎหมายความลับราชการ( Official Secret Act)
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลได้สั่งเปิดเผยผลการตรวจสอบบัญชีนี้ และนาย ลิม กวน อิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ได้สั่งการให้ว่าจ้างสำนักตรวจบัญชีนานาชาติ PricewaterhouseCoopers (PwC) เป็นผู้ตรวจบัญชีรายใหม่
การฟอกเงินระดับยักษ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องเปิดการสืบสวนขึ้น ซึ่งนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีประเทศ สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์, แคนาดา และฮ่องกง เป็นต้น ผลการสอบสวนทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สั่งปิดธนาคาร Falcon Private Bank สัญชาติสวิสสาขาสิงคโปร์, สั่งปรับธนาคาร DBS และ UBS ในฐานะมีส่วนร่วมในการฟอกเงิน และสั่งจับกุมชาวสิงคโปร์ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงระงับการทำธุรกรรมของบัญชีธนาคารหลายบัญชี สำหรับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลได้สั่งยึดเงินจำนวน 2.5 ล้านสวิสฟรังค์ (ราว 80.75 ล้านบาท) จากธนาคาร Falcon Private Bank ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 1MDB
ในขณะนี้การสืบสวนกรณี 1MDB ยังดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ และเปิดให้มีการสืบสวนทั้งหมดขึ้นใหม่ในประเทศมาเลเซีย แม้จะมีการประเมินจำนวนเงินที่สูญหายจากบัญชีของ 1MDB อย่างคร่าว ๆ ว่าอยู่ในระดับมากกว่าแสนล้านบาท แต่ยังคงต้องรอผลการสืบสวนอย่างเป็นทางการของคณะทำงานชุดนี้ ซึ่งนอกจากจะสามารถระบุตัวเลขความเสียหายทั้งหมดได้ชัดเจน ยังจะเป็นผู้ชงเรื่องสู่ศาล ตัดสินชะตาของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซักอีกด้วย
@ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ เปิดตัว ‘MO1’
แม้ว่าเงินและทรัพย์สินของ 1MDB ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทั้งหมด แต่ปัจจุบันข้อมูลจากเอกสารการสืบสวนสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ ที่ยื่นต่อศาล ถือเป็นเอกสารที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะที่ถือว่ามีรายละเอียดมากที่สุดที่สามารถอธิบายรูปแบบของการฟอกเงินในการทุจริตครั้งใหญ่ระดับโลกนี้ได้
ในพ. ศ. 2560 และ พ.ศ. 2560กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ ได้ยื่นต่อศาลเพื่อขออำนาจยึดทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 1.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 54,400 ล้านบาท) ที่ถูกกล่าวหาว่าได้มาโดยมิชอบจากเงิน 1MDB ปัจจุบันคำร้องขอนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล โดยทรัพย์สินดังกล่าวถูกระงับการทำธุรกรรมชั่วคราว
คำร้องที่ยื่นต่อศาลระบุว่า ระหว่างปีพ. ศ. 2552 - พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่ของ 1MDB ได้ยักยอกเงินจำนวน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หรือราวหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท โดยโยกย้ายฟอกเงินนี้ผ่านระบบการทำธุรกรรมทางการเงินนานาชาติรวมทั้งในสหรัฐ ฯ โดยเงินนี้ถูกใช้ไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง
--------------------------------------------
ในขณะที่มีการระบุชื่อจริงของบุคคลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างชัดเจน เอกสารของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ กลับปกปิดตัวตนของบุคคลผู้หนึ่งโดยใช้นามแฝงว่า ‘MO1’ ซึ่งย่อมาจาก (Malaysian Official 1) ที่หมายถึง "เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมาเลเซียที่มีอำนาจในการจัดการกับ 1MDB" อย่างไรก็ตามในปี 2560 นาย อับดุล ราห์มาน ดาห์ลาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาเลเซียกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า MO1 คือ นายนาจิบ ราซัก ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
--------------------------------------------
เอกสารชี้ตัวนักธุรกิจชาวมาเลเซียที่รู้จักกันในนาม ‘โจโล’ ชื่อเต็ม ‘โล เต็ก โจ’ ผู้เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยของนาย รีซา อาซีส บุตรบุญธรรมของนาจิบ ราซัก ว่าเป็นตัวจักรสำคัญเบื้องหลังการทุจริต 1MDB
ในขณะที่มีการระบุชื่อจริงของบุคคลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างชัดเจน เอกสารของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ กลับปกปิดตัวตนของบุคคลผู้หนึ่งโดยใช้นามแฝงว่า ‘MO1’ ซึ่งย่อมาจาก (Malaysian Official 1) ที่หมายถึง "เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมาเลเซียที่มีอำนาจในการจัดการกับ 1MDB" อย่างไรก็ตามในปี 2560 นาย อับดุล ราห์มาน ดาห์ลาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาเลเซียกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า MO1 คือ นายนาจิบ ราซัก ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ในการสืบสวนครั้งนี้นอกจากนั้นยังมีชื่อดาราดังสองรายที่ถูกดึงมาเกี่ยวข้อง คือ นักแสดงหนุ่ม ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ และนางแบบสาว มิรานดา เคอร์
เอกสารที่ยื่นต่อศาลที่มีจำนวนหลายร้อยหน้า แจกแจงรายละเอียดการทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนผ่านบริษัทนอกอาณาเขต และเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ รวมทั้งรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยแบ่งกระบวนการการฟอกเงินนี้เป็น 4 ช่วงตามบทบาทของบริษัทหลัก และวิธีการในการฟอกเงิน
นอกจากนั้นยังแจกแจงขั้นตอนของการโอนเงินออกจากบัญชี 1MDB ในแต่ละครั้งโดยละเอียด โดยเงินนี้เดินทางเข้าสู่บริษัทต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นในประเทศต่าง ๆ หลายทอด โดยบริษัทเหล่านี้อยู่ในชื่อของบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายโจโล
มีการให้เหตุผลหลายประการในการโอนเงินจาก 1MDB ในแต่ละช่วง เช่นเพื่อนำไปใช้ในโครงการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศ, ใช้ในการชำระหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง หรือเป็นการให้เงินกู้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยบางช่วงกระทรวงยุติรรมสหรัฐ ฯ พบว่า ‘MO1’ ได้ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงินต่อกรรมการบริษัท 1MDB
นอกจากนั้นยังระบุว่า ในบางช่วงเงินจาก 1MDB ยังถูกโอนเข้าบัญชีของ ‘MO1’ ผ่านบุคคลที่ชื่อ อีริก ตัน ซึ่งภายหลังศาลสิงคโปร์ระบุว่าเป็นนามแฝงของนาย โจโล
เงินจาก 1MDB จำนวนมหาศาลถูกใช้ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์สุดหรู เช่น โรงแรม L'Ermitage,โรงแรม Hillcrest ใน Beverly Hill, Penthouse Stratton และ Stratton Flat ในลอนดอน และ Time Warner Penthouse เครื่องบิน Bombardier Global 5000 เรือยอร์จ และกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ยังใช้ในการผลิตภาพยนต์เรื่อง ‘The Wolf of Wall Street’ (ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ แสดงนำ) เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด กล่าวว่า ตนเองมั่นใจว่า จะสามารถเรียกเงินและทรัพย์สินส่วนใหญ่ของ 1MDB คืนกลับประเทศมาเลเซียได้
ส่วนชะตากรรมของนายนาจิบ ราซัก หรือ MO1 นั้น นายก ฯมหาเธร์ กล่าวไว้ชัดเจนว่า "จะต้องตัดสินตามกระบวนการทางกฎหมาย"
อ่านประกอบ:
100 วัน ในสัญญาของ รัฐบาล ‘มหาเธร์’