- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกแฟ้ม12คดีจีที200-อัลฟ่า6ใน ป.ป.ช. ก่อนเชือดสำนวนแรก-7หน่วยงานรัฐซื้อ688ล.
พลิกแฟ้ม12คดีจีที200-อัลฟ่า6ใน ป.ป.ช. ก่อนเชือดสำนวนแรก-7หน่วยงานรัฐซื้อ688ล.
“…การเริ่มประเดิม ‘เชือด’ สำนวนแรกในคดีนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญถึงมาตรฐานการทำงานของ ป.ป.ช. ที่ถูกครหามาตลอดว่า ทำงานไม่เข้าเป้า-ตราชั่งโน้มเอียง หรือจ้องเล่นงานแต่นักการเมือง อย่างไรก็ดีสิ่งที่สังคมยังคงจับจ้องนั่นคือ การไต่สวนข้อเท็จจริงอดีตนายทหารระดับสูงในกองทัพที่เอี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวว่า ท้ายสุดบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร จะจบเหมือน ‘ราชภักดิ์’ ที่ทุกคน ‘ขาวสะอาด’ กันหมดอีกหรือเปล่า…”
ประเดิมกันไปแล้ว 1 สำนวน
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดอดีตข้าราชการระดับสูง ระดับ 8-9 หลายราย โดยมีรายหนึ่งมีตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากพบหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดชนิดพกพา หรืออัลฟ่า 6 (Alpha6) (อ่านประกอบ : ประเดิมคดีแรก!ป.ป.ช.เชือด ขรก.ซี8-9ปมซื้อเครื่องตรวจยาเสพติดอัลฟ่า6)
หลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อนี้เป็นอย่างดี นั่นเพราะการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ถูกจัดซื้อมาในช่วงปี 2550-2553 ใกล้เคียงกันกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบพกพาหรือจีที 200 (GT200) อันโด่งดังนั่นเอง
ที่สำคัญในการจัดซื้อทั้ง 2 เครื่องมือดังกล่าว ถูกขุดคุ้ยโดยสื่อต่างประเทศว่า ไม่ได้มาตรฐาน และใช้งานไม่ได้จริง กระทั่งศาลที่ต่างประเทศลงโทษปรับเงิน-ยึดทรัพย์ และจำคุกเจ้าของบริษัทผู้ผลิตไปนานหลายปีแล้ว จนกระทั่งปัจจุบันพ้นโทษออกมาแล้ว
แต่ในประเทศไทย มีการตรวจสอบพบว่า หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ ‘กองทัพ’ จัดซื้อเครื่องมือเหล่านี้มาในราคาค่อนข้างสูงมาก ตกหลักแสนบาทต่อเครื่องเลยทีเดียว
นำไปสู่การร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงปี 2555-2556
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า คดีที่เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 12 สำนวน แบ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจีที 200 4 สำนวน คดีจัดซื้ออัลฟ่า 6 8 คดี มีการชี้มูลความผิดไปแล้ว 1 สำนวน คือกรณีอดีตข้าราชการระดับสูงระดับ 8-9 ที่ จ.พิษณุโลก จึงเหลือแค่ 11 สำนวนที่อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง
ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบุว่า กองทัพบก โดยกรมสรรพาวุธทหารบก เป็นหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 รวมทั้งสิ้น 11 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ระหว่างปี 2550-2552 เป็นเงินทั้งสิ้น 659,800,000 บาท
ขณะเดียวกันอดีตนายทหารระดับสูงจำนวนกว่า 40 นาย ตั้งแต่ระดับอดีตเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก จนมาถึงระดับร้อยเอก ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบ และตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว
โดยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การณีจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธและวัตถุระเบิดจีที 200 ของกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก ในปีงบประมาณ 2550-2552 โดยไม่ตรวจสอบราคาที่หน่วยราชการอื่นเคยจัดซื้อ ทำให้กองทัพบก ต้องจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น และไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย รวม 12 สัญญา วงเงินรวม 683,900,000 บาท ในราคาแพงเกินจริง
คดีนี้ถูกร้องเรียนตั้งแต่ปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อปี 2556 และดำเนินการสอบพยานหลักฐาน รวมถึงเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำจำนวนมาก และมีการส่งตรวจพยานหลักฐานด้วย
ข้อมูลล่าสุดพบว่า ช่วงเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เสนอสำนวนให้คณะอนุกรรมการไต่สวนฯพิจารณาแล้ว
นอกจากคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯอดีตนายทหารระดับสูงในกองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) รวมทั้งหมด 10 นาย โดยมีตำแหน่งตั้งแต่ระดับอดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยฯ ไล่มาถึงนายทหารระดับยศแค่ร้อยตรีด้วย โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้อเครื่องตรวจจับและค้นหาวัตถุระเบิด ยี่ห้อ Coms Trac รุ่น Alpha6 ของศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด ในปีงบประมาณ 2550 - 2552 โดยไม่ตรวจสอบราคาที่ส่วนราชการอื่นเคยจัดซื้อ ทำให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด ต้องจัดซื้อเครื่องตรวจจับและค้นหาวัตถุระเบิด ยี่ห้อ C0ms trac รุ่น alpha 6 ในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น และไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย
คดีนี้ถูกร้องเรียนตั้งแต่ปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯตั้งแต่ปี 2556 ดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานเรื่อยมา ข้อมูลล่าสุดพบว่า เมื่อเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลส่งให้คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้ว
นอกเหนือจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายสิบราย รวมถึงอดีตนายตำรวจระดับสูงเป็นถึงอดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กับพวก ถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าอาจมีส่วนพัวพันกับความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเครื่องมือจีที 200 และอัลฟ่า 6 ดังกล่าวด้วย (อ่านประกอบ : เปิด 12 คดีซื้อจีที 200! ป.ป.ช.สอบกราวรูด ขรก.-เอกชน 75 ราย-ทหารอื้อ 6 นายพล)
และไม่ใช่แค่กองทัพบกเพียงอย่างเดียวที่จัดซื้อเครื่องมือจีที 200 และอัลฟ่า 6 แต่ยังมีกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รวมถึงกรมราชองครักษ์ ดำเนินการจัดซื้อเครื่องดังกล่าวด้วย ได้แก่ กองทัพเรือ โดยกรมสรรพาวุธทหารเรือ จัดซื้อ 1 สัญญา วงเงิน 8,523,364 บาท กองทัพอากาศ โดยกรมสรรพาวุธทหารอากาศ จัดซื้อ 1 สัญญา วงเงิน 5,553,900 บาท และกรมราชองครักษ์ จัดซื้อ 3 สัญญา วงเงิน 9 ล้านบาท เป็นต้น
เบ็ดเสร็จแล้วมีหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ทั้งสิ้น 7 แห่ง รวม 19 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) เม็ดเงินกว่า 688 ล้านบาท (อ่านประกอบ : 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์)
ดังนั้นการเริ่มประเดิม ‘เชือด’ สำนวนแรกในคดีนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญถึงมาตรฐานการทำงานของ ป.ป.ช. ที่ถูกครหามาตลอดว่า ทำงานไม่เข้าเป้า-ตราชั่งโน้มเอียง หรือจ้องเล่นงานแต่นักการเมือง อย่างไรก็ดีสิ่งที่สังคมยังคงจับจ้องนั่นคือ การไต่สวนข้อเท็จจริงอดีตนายทหารระดับสูงในกองทัพที่เอี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวว่า
ท้ายสุดบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร จะจบเหมือน ‘ราชภักดิ์’ ที่ทุกคน ‘ขาวสะอาด’ กันหมดอีกหรือเปล่า ?
ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ : ผู้ว่าฯสตง.สั่งรื้อคดีจีที200สอบใหม่-ส่งเรื่อง 'ศอตช.'สาวลึกตัวแทนขายในไทย