- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดประวัติ 7ว่าที่ กกต. ก่อนลุ้นระทึกผ่านเวทีโหวต สนช. จะถูกคว่ำรอบ 2 หรือไม่?
เปิดประวัติ 7ว่าที่ กกต. ก่อนลุ้นระทึกผ่านเวทีโหวต สนช. จะถูกคว่ำรอบ 2 หรือไม่?
"...ทั้งหมดนี้ คือ ประวัติว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน โดยหลังจาก สนช.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประวัติของว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คนขึ้นมาแล้ว จะมีระยะเวลาทำงานอยู่ที่ไม่เกิน 60 วัน จากนั้น จะเข้าสู่ขั้นตอนการโหวตของที่ประชุมใหญ่ สนช.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปคาดกันว่า วันโหวตนั้นน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้..."
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ของประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบประวัติผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกมาก่อนหน้านี้จำนวน 5 คน จากจำนวน กกต.ที่มีทั้งหมด 7 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยรายชื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย 1.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด, 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, 4.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และ 5.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ศาสตราจารย์ประจำคณะพลังงาน สิ่งแวดล้อและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำหรับอีก 2 คนที่เหลือเป็นตัวแทนที่มาจากศาลฎีกาและยังคงเป็นชุดเดียวกับที่ถูก สนช.ลงมติไม่เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้แก่นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ นายปกรณ์ มหรรณพ
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็น กกต. ทั้ง 7 คน มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สืบค้นประวัติว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน และอีก 2 คนเดิม มานำเสนอว่า แต่ละคนมีเส้นทางที่มาที่ไปอย่างไรกันบ้าง
@นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า
เกิดเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2499 จบการศึกษาคณะศิลปศาสตรฺบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหงปี 2520 และคณะศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ปี 2538
มีประสบการณ์ทำงานเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552 –ธ.ค. 2553 ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2553 – พ.ย. 2554 ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในดือน พ.ย. 2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2554 – ต.ค. 2555 ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555 – มิ.ย.2557 รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2557 ก.ย. 2557 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 – ก.ย. 2559
นอกเหนือจากนั้นยังเคยเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี 2549 – 2551 และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพสช.) ปี 2542- 2554
ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ในกระทรวงมหาดไทย
@นายสมชาย ชาญณรงค์กุล
เกิดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2501 จบการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เกษตรศาสตร์-โรคพืช) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2523 คณะวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (ส่งเสริมการเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2531
มีประสบการณ์การทำงานเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ ต.ค. 2551- ก.ย. 2553 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตั้งแต่ ต.ค. 2553 – ธ.ค.2556 ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ ธ.ค. 2556- มิ.ย. 2558 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ ต.ค. 2558 – ก.ย. 2559
นอกเหนือจากนั้นยังเคยเป็น คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2553-2556 และคณะกรรมการสรรหรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร ตั้งแต่ปี 2559-2560
ปัจจุบัน นายสมชัย ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีส่งเสริมการเกษตร สังกัดกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยดำรงตำแหน่งทั้งหมดตั้งแต่ปี 2559 – ปัจจุบัน
@นายอิทธิพร บุญประคอง
เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2499 จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2522 จากคณะนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย Tulane สหรัฐอเมริกา ปี 2527
มีประสบการณ์การทำงานเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และรองตัวแทนของประเทศไทยในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุธิธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ปี 2553 และเนื่องจากฐานะอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯจึงได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการในคณะกรรมการองค์กรร่วมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2553 -2555 ต่อมาจึงได้รับตำแหน่งให้เป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ในปี 2555 เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ในปี 2555 เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์สหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ในปี 2555 ประธานกลุ่ม 77 และจีนประจำโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ในปี 2557 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี ปี 2558
และยังเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทยในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนเข้ารับการเลือกตั้งของไทย ในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปี 2559
ปัจจุบัน เป็นข้าราชการบำนาญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ
@นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย
เกิดเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2495 จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ปี 2518 จบปริญญาโทจากคณะการเมืองเปรียบเทียบและการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ปี 2522
มีประสบการณ์การทำงานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ ธ.ค. 2549-ธ.ค.2551 ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่ ธ.ค. 2552-ก.ย.2552 ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ ต.ค. 2552 –ธ.ค. 2553 ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ตั้งแต่ ธ.ค. 2553- พ.ค. 2555 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ตั้งแต่ พ.ค. 2555 – ก.ย. 2556 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ตั้งแต่ปี 2558-2560 และกรรมการองค์กรการตลาดกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2559-2560
ปัจจุบันเป็นข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทย และเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่อมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ เป็นประธานคณะ โดยเริ่มดำรงตำแหน่งที่ปรึกษามาตั้งแต่ปี 2560
@นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์
เกิดเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2501 จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์บัณฑิต (จุลชีววิทยา) มหาวิทบาลัยจุฬาลงกรณ์ ปี 2523 จบคณะวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม) มหาวิทยลัยจุฬาลงกรณ์ ปี 2527 จบการศึกษาเกษตรดุษฎีบัณฑิต สาขาเกษตรเคมี จากมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ปี 2533 จบการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาเอกหรือ Past Doctoral Degree ในสาขาเทคโนโลยียีนในเรื่องการจัดการยีสต์ (Gene Technology on Yeast) จากสถาบันเทคโนโลยีคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2537
มีประสบการณ์ทำงานเป็นอาจารย์ในระดับ 6 และ 7 ในเดือน พ.ย. 2537 – ต.ค. 2539 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 7-9 ในสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
สำหรับประสบการณ์ทำงานในปัจจุบันนั้น เป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2552 – ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพ ตั้งแต่ พ.ค. 2553 – ปัจจุบัน เป็นกรรมการสภาวิชาการอาวุโส วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ ส.ค. 2554-ปัจจุบัน เป็นกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ ก.ย. 2559-ปัจจุบัน เป็นอนุวุฒาจารย์สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ ก.ค. 2560-ปัจจุบัน และเป็นกรรมการบริหาร สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ พ.ค. 2561-ปัจจุบันด้วย
@ นายปกรณ์ มหรรณพ
เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2498 จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จบการศึกษาในระดับปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า มีประสบการณ์การทำงานเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555-มี.ค. 2556 รองประธานศาลอุทธรณ์ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2556- ก.ย. 2556
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา
@นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี
เกิดวันที่ 28 มิถุนายน 2496 จบการศึกษาจากนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2519 จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปี 2519 มีประสบการณ์การทำงานเป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2551- ก.ย.2554 เป็น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554-ก.ย.2556 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตั้งแต่เดือน ต.ค.2556-ก.ย.2558 และเป็น ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558-ก.ย. 2560
ปัจจุบันเป็น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ทั้งหมดนี้ คือ ประวัติว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน โดยหลังจาก สนช.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประวัติของว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คนขึ้นมาแล้ว จะมีระยะเวลาทำงานอยู่ที่ไม่เกิน 60 วัน จากนั้น จะเข้าสู่ขั้นตอนการโหวตของที่ประชุมใหญ่ สนช.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปคาดกันว่า วันโหวตนั้นน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้
จากนี้คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน จะสามารถผ่านการโหวตไปได้หรือว่าจะถูกโหวตคว่ำอีกรอบกันแน่