- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เครือข่ายศิลปินตั้งคำถาม ถึงผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือไม่ ยึดหอศิลป์ฯ ไปบริหารเอง
เครือข่ายศิลปินตั้งคำถาม ถึงผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือไม่ ยึดหอศิลป์ฯ ไปบริหารเอง
เครือข่ายศิลปินค้าน ‘พล.ต.อ.อัศวิน’ ดึงหอศิลป์ กรุงเทพฯ ไปบริหารเองเต็มรูปแบบ หวั่นนำไปดูแลใช้ผิดวัตถุประสงค์ เตรียมนัดหมายเดินขบวนหน้าศาลาว่าการ กทม. เร็ว ๆ นี้
เกิดปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยจากเครือข่ายศิลปินในโลกออนไลน์ทันที เมื่อทราบข่าวว่า ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมดึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มาบริหารจัดการเอง!!!
โดยอ้างว่า ที่ผ่านมาประสบปัญหาความไม่สะดวกสบายหลายด้าน เช่น เก้าอี้ให้บริการไม่เพียงพอ ดังนั้นหากได้เข้ามาบริหารจัดการ โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นผู้พัฒนากลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชน เหมือนกับหอสมุดเมือง เชื่อว่า จะมีความเหมาะสมมากขึ้น เพราะ กทม.อุดหนุนงบประมาณปีละ 40 ล้านบาท อยู่แล้ว
แนวความคิดที่เกิดขึ้น จึงสร้างความไม่สบายใจให้แก่เครือข่ายศิลปิน ไม่ว่าจะเป็น วสันต์ สิทธิเขตต์, จุมพล อภิสุข หรือแม้แต่ประสาท นิรันดรประเสริฐ ถึงกับพากันตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ผู้ว่าฯ กทม.พูดจริงหรือไม่ เรื่องจะยึดหอศิลป์ฯ” และเตรียมนัดหมายเพื่อเคลื่อนขบวนไปถามพ่อเมืองซึ่ง ๆ หน้า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
หอศิลป์ฯ เกิดขึ้นจากความปรารถนาดีของเครือข่ายศิลปินที่มุ่งหวังให้ กทม.มีพื้นที่รองรับในการแสดงผลงาน โดยริเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2537 แต่ประสบความสำเร็จในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. และเปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2551 โดยกรุงเทพมหานครได้โอนสิทธิในตัวอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้แก่มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการ ขณะที่กรุงเทพมหานครยังคงเป็นภาคีเครือข่ายผู้ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม และยังคงให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ถึงปัจจุบันครบ 10 ปีแล้ว สำหรับการบริหารงานภายใต้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมเเห่งกรุงเทพมหานคร ที่มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ, ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต เป็นประธานกรรมการบริหารฯ เเละพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาฯ
‘วสันต์ สิทธิเขตต์’ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ระบุว่า หอศิลป์ฯ เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่ง กทม.จะทำอะไรต้องมีค่าหัวคิว แต่ที่นี่ไม่มี ฉะนั้น วิธีการจึงต้องเขมือบไว้เลย เพราะเล็งเห็นว่า เป็นพื้นที่ทำรายได้ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และการอ้างว่า เก้าอี้มีไม่เพียงพอเป็นเรื่องไร้สาระที่สุด
“ผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ถามว่าใครลากตั้ง ซึ่งเมื่อถูกลากตั้งมาแล้ว จะเข้ามารื้อระบบแบบนี้ ถือว่าไม่ฟังเสียงของประชาชนและเครือข่ายศิลปินที่ต่อสู้เรียกร้องให้มีหอศิลป์ฯ”
เขายังบอกอีกว่า ทันทีที่ทราบข่าวได้มีการพูดคุยกับเครือข่ายศิลปินเบื้องต้นกันแล้วและมีแผนจะออกมาเคลื่อนไหว โดยเดินขบวนไปหาผู้ว่าฯ กทม. เพื่อถามว่า ท่านพูดว่าจะดึงหอศิลป์ฯ มาบริหารจัดการเอง จริงหรือไม่ และหากทำเพื่อหาผลประโยชน์ประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง ท่านคิดผิด!!! ที่จะเข้ามาบริหารจัดการเพื่อหาเงินลูกเดียว
“หอศิลป์ฯ ไม่ใช่ของผม หรือเครือข่ายศิลปิน แต่เป็นของประชาชนทุกคน ซึ่งแต่ละปีมีประชาชนเข้ามาเยี่ยมชมหลายแสนคน” วสันต์ กล่าว และถามว่า หากเป็นของ กทม.แล้ว บุคลากรเพียงพอหรือไม่ ใครจะมาบริหารจัดการวัฒนธรรม ในอดีตจึงต้องให้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเข้ามาดูแล
ศิลปินผู้นี้ ยังแสดงความเห็นอีกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรราว 10 ล้านคน ฉะนั้นต้องมีพื้นที่สำหรับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จะปล่อยให้เป็นศูนย์การค้าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก ขอให้หอศิลป์ฯ ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวศิลปวัฒนธรรมชุมชน การแสดงออกเคลื่อนไหวของภาคประชาชน
ทั้งนี้ หากกลายเป็นของ กทม. เกรงว่า สุดท้าย ประชาชนจะไม่มีพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวอีกแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีคิดที่ต้องการแย่งพื้นที่ประชาชน ต้องถูกทบทวน!!! .
ขณะที่นายพัฒน์ฑริก โรจนุตะมะ มีสายญาติ กรรมการ ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โพสต์แสดงความเห็น 7 ข้อ หนึ่งในนั้นเห็นว่า การบริหารงานของหอศิลป์ ไม่เคยขาดทุน มีแต่การสนับสนุนโดยกทม. 40 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายที่เกินมานั้น หอศิลป์เป็นผู้มาหาเองโดยทั้งสิ้น และยังเห็นว่า สิ่งที่กทม.จะทำนี้ เป็นการทำลาย ปฏิญญาฯ ที่เคยร่วมกันร่างมาด้วยกันจากภาคประชาชน 200 กว่าเครือข่ายและศิลปินแห่งชาติทุกสาขา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548
ภาพประกอบ:พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง-เว็บไซต์คมชัดลึก