- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- คู่มือติดตาม 5 คดี ‘ทักษิณ’ ในศาลฎีกาฯ
คู่มือติดตาม 5 คดี ‘ทักษิณ’ ในศาลฎีกาฯ
เปิดคิว 5 คดี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในศาลฎีกาฯ ประเดิมทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยนัดพิจารณาครั้งแรก 20 มิ.ย.61 ตามด้วยเอ็กซิมแบงก์ 4 พันล.4 ก.ค.61 ก่อนถึงแปลงสัญญาสัมปทาน-หวยบนดิน-ฟื้นฟูกิจการทีพีไอ มี เกษม รวยผิดปกติ กับ สุรพงษ์ ออกพาสปอร์ต เป็นคิวแทรก
เป็นอันว่า ณ ขณะที่มีคดีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย รอคิวพิพากษาจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 5 คดี
ล่าสุด ร้อนๆ คดีที่ 5 คือ นายทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เห็นชอบและยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (TPI) ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เข้าปรึกษา จนนำไปสู่การทำหนังสือยินยอมของ รมว.คลัง ให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของบริษัท TPI โดยมีรายชื่อคณะผู้บริหารแผนตามที่นายทักษิณเสนอ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มอบหมายให้สำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายทักษิณ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2561 ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายทักษิณ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2553
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การกระทำของนายทักษิณ เป็นการกระทำทั้งที่รู้อยู่ว่ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นส่วนราชการ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้าไปบริหารแผนกิจการ หรือจัดการทรัพย์สินให้กับบริษัทเอกชน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง และเสียหายต่อระบบราชการ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
สำหรับคดีนี้ป.ป.ช.มีมติชี้มูลตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2553 โดยมี ร.อ.สุชาติ เชาว์ศิษฐ์ อดีตรมว.คลัง ร่วมกระทำผิดด้วย แต่ ร.อ.สุชาติถึงแก่กรรม จึงจำหน่ายคดี จากนั้นจึงมอบสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องแต่อัยการไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและป.ป.ช.แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติที่ตรงกันได้ ป.ป.ช.จึงตัดสินใจยื่นฟ้องเอง รวมระยะเวลาดำเนินการก่อนส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยาวนานเกือบ 8 ปี ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีสุดท้ายของนายทักษิณ ที่ค้างอยู่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช.
อีก 4 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ศาลนัดตรวจเอกสารและนัดพิจารณาในช่วงเดือย มิ.ย. และ ก.ค. ดังนี้
1.คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษฎามหานครกว่า 9,000 ล้านบาท (คดีกรุงไทย) คดีดำที่ อม.3/2555 คดีแดงที่ อม.55/2558 (อัยการสูงสุดโจทก์/ผู้ร้อง) ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก 20 มิ.ย.2561
2.คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัท เครือชินคอร์ป (คดีเอ็กซิมแบงก์) คดีดำที่ อม.3/2551 คดีแดงที่ อม.4/2551 (คตส. โจทก์ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน) ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก 4 ก.ค. 2561
3.คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท คดีดำ ที่ อม.9/2551 คดีแดงที่ อม.5/2551 (อัยการสูงสุดโจทก์/ผู้ร้อง) ศาลฎีกาฯนัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.ค.2561
4.คดีโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขัดต่อ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง ทำให้รัฐเสียหาย 14,862 ล้านบาท (คดีหวยบนดิน) คดีดำที่ อม.1/2551 คดีแดงที่ อม.10/2552 (คตส.โจทก์ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็น คู่ความแทน) ศาลฎีกาฯนัดพิจารณาครั้งแรก 25 ก.ค. 2561
5.คดีฟื้นฟูกิจการ TPI ข้างต้น ศาลฎีกาฯยังไม่ได้นัดหมาย
ในจำนวนนี้มี 2 คดี ที่จำเลยร่วมถูกศาลพิพากษากระทำความผิด ได้แก่ คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ 9,000 ล้านบาท ประธานกรรมการและผู้บริหารธนาคาร เอกชน 19 คนถูกพิพากษาจำคุก คนละ 12-18 ปี กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด ปรับรายละ 26,000 บาท กลุ่มนิติบุคคล และ ผู้แทนนิติบุคคลฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 10,004,467,480 บาท
และคดีหวยบนดิน มี จำเลย 47 คน ศาลฎีกาฯพิพากษาความผิดรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและอดีตผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่ง เมื่อ 30 ก.ย. 2552 จำคุก นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ,นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัด กระทรวงการคลังและประธานบอร์ดกองสลาก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท ส่วนนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก จำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ 2 ปี
สำหรับคดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมนั้น ศาลฎีกาฯนัดพิจารณาครั้งแรกไปแล้วเมื่อ วันที่ วันที่ 6 มี.ค.2561 ฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาลและไม่มีการแต่งตั้งทนายความ สู่กระบวนพิจารณาคดี โดยก่อนหน้านี้ ศาลได้สำเนาฟ้องและปิดหมายที่บ้านพัก นายทักษิณ ย่านจรัญสนิทวงศ์ ให้ทราบแล้ว เมื่อไม่เดินทางมาศาล ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ จึงนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 ก.ค.
เป็นผลจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้
สำหรับคดีบุคคลอื่นถูกกล่าวหานั้น มีคดีที่ศาลฎีกาฯนัดพิพากษาแล้ว 2 คดี
1.คดีนายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ร่ำรวยผิดปกติ (คดีดำที่ อม.123/2560) ศาลฎีกาฯนัดพิพากษา ในวันที่ 15 มิ..ย.2561
2.คดี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีออกหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต) ให้แก่ พ.ต.ท. (ขณะนั้น) ทักษิณ ชินวัตร ศาลฎีกาฯนัดพิพากษา ในวันที่ 19 มิ.ย.2561 (คดีดำที่ อม.51/2560)
คดี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (หมอโด่ง) อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 896,554,760.28 บาท ศาลฎีกาฯนัดพิจารณาครั้งแรก วันที่ 19 มิ.ย.2561
ทั้งแฟนและมิใช่แฟนทักษิณเป็นคู่มือติดตามคดีทักษิณ และ 2 คดีสำคัญ ต้องรอดูผลกันต่อไป
5 คดี ทักษิณ ในศาลฎีกาฯ
อ่านประกอบ:
ทักษิณ’โดนอีก! ป.ป.ช.ฟ้องศาลฎีกาฯปมยอมให้ ก.คลังบริหารแผนฟื้นฟู TPI
จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้
พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.
หมายเหตุ:ภาพประกอบ นายทักษิณ จาก BBC