- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เมื่อมหากาพย์คดีความอธิการบดี-บุคลากรใน ม.อุบลฯ ถึงบทสรุปแล้ว
เมื่อมหากาพย์คดีความอธิการบดี-บุคลากรใน ม.อุบลฯ ถึงบทสรุปแล้ว
".. คดีอาญาตาม ก. 1 และ 2 ทั้ง 6 คดี ที่รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข ถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วทุกคดี ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่มีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ส่วนคดีอาญาตาม ข. 1 และ 2 ที่รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุง เป็นผู้เสียหายและเป็นโจทก์ร่วมจำนวนสองคดี ทั้ง 2 คดี ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดหนึ่งคดีเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 733/2560 อยู่ระหว่างอุทธรณ์..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทำหนังสือแจ้งถึงสำนักข่าวอิศรา เพื่อชี้แจงผลคดีอาญาในคดีความของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เคยมีการนำเสนอข่าวก่อนหน้านี้ ในชื่อหัวข้อ “แกะรอย มหากาพย์คดีความอธิการบดี-บุคลากรใน ม อุบลฯ”
-------------------------
ตามที่อ้างถึง สำนักข่าวอิศรา ได้ลงข่าวเกี่ยวกับกรณีที่ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถูกบุคลากรในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ฟ้องเป็นคดีอาญาในหลายคดี ความละเอียดทราบแล้วนั้น
บัดนี้ คดีในบทความข่าวที่กล่าวอ้างถึงได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดทุกคดีแล้ว มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงขอชี้แจงผลคดีดังกล่าวให้สำนักข่าวอิศราทราบ รวมทั้งขอแจ้งผลคดีที่รองศาสตราจารย์นงนิตย์ เป็นโจทก์ร่วมในฐานะเป็นผู้เสียหายด้วย จำนวน 2 คดี มีดังรายละเอียดต่อไปนี้
ก. คดีอาญาที่รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข ถูกฟ้องเป็นจำเลย
1. คดีอาญา ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
1.1คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2412/2555 หมายเลขแดงที่ 3470/2557 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง ศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจกูฏ โจทก์ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข ที่ 1 รวมกับพวก 2 คน จำเลย ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 แต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการสอบสวน และจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหากับโจทก์โดยมิชอบ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
คดีนี้ ศาสชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามกฎหมาย แต่โจทก์ได้ยื่นฎีฎาโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาในองค์คณะรับรองให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงไม่รับฎีกาโจทก์ โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกา และปรากฏว่าศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์โจทก์ คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์
1.2คดีอาญาหมายเลขดำที่ 463/2556 หมายเลขแดงที่ 2329/2557 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง รองศาสตราจารย์ธาดา สุทธิธรรม โจทก์ กับ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย กรณี อ.ก.พ.อ. มีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากราชการและให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการตามเดิม แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามมติดังกล่าว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลให้ยกฟ้องโจทก์ และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ยกฟ้องโจทก์ คดีจึงที่สิ้นสุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ว่ารองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์
1.3คดีอาญาหมายเลขดำที่ 666/2556 หมายเลขแดงที่ 444/2557 ศาลจังหวัดจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่า นางรัชนี นิคมเขตต โจทก์ กับ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้ที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่าจำเลยละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีคณะอนุกรรการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ทำหน้าที่แทน คณะกรรมการข้าราชการผลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (อ.ก.พ.อ.) มีมติให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากราชการและให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการตามเดิม แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามมติดังกล่าว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ยกฟ้องโจทก์ คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ว่ารองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์
1.4คดีอาญาหมายเลขดำที่ 967/2557 หมายเลขแดงที่ 967/2557 หมายเลขแดงที่ 698/2558 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง นายสุภชัย หาทองคำ โจทก์ กับ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ฐานความผิดต่อตำแหน่งราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์และออกคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากราชการโดยมิชอบ และจำเลยละเว้นไม่ปฏิบัติตามมติ อ.ก.พ.อ. ที่ให้มหาวิทยาลัยเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากราชการและให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการตามเดิม
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทย์ฎีกาตามกฎหมาย คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์
(หมายเหตุ ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า อ.ก.พ. เกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ มีอำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษวินัย หรือไม่ อย่างไร ได้ชี้แจงไว้หน้าหมายเหตุท้ายหนังสือนี้)
2. คดีอาญา บนความผิดหมิ่นประมาท
2.1คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1849/2555 หมายเลขแดงที่ 2010/2557 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง นายกังวาน ธรรมแสง และนายไท แสงเทียน โจทก์ กับ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ฐานความผิดหมิ่นประมาท คดีโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยกล่าวข้อความหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร สาเหตุสืบเนื่องมาจากกรณีที่โจทกทั้งสองและพวก ได้ร่วมกันจัดชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยและกล่าวปราศรัยโจมตีการปฏิบัติงานของจำเลย ทำให้มหาวิทยาลัยและจำเลยเสียหาย จำเลยในฐานะอธิการบดีจึงได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงสาเหตุที่มาของการปราศรัยโดยระบุชื่อโจทก์เป็นแกนนำการจัดชุมนุมปราศรัย โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยข้อหาหมิ่นประมาท
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ยกฟ้องโจทก์ คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ว่ารองศาสตราจารย์นงนิตย ธีระวัฒนสุข จำเลย ไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์
2.2คดีหมายเลขดำที่ 2215/2555 หมายเลขแดงที่ 2953/2557 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง นายสัมมนา มูลสาร โจทก์ กับ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ฐานความผิดหมิ่นประมาท คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยกล่าวหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร สาเหตุสืบเนื่องมาจากกรณีโจทก์และพวก ได้ร่วมกันชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยและกล่าวปราศรัยโจมตีการปฏิบัติงานของจำเลย ทำให้มหาวิทยาลัยและจำเลยเสียหาย จำเลยในฐานะอธิการบดีจึงได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงสาเหตุที่มาของการปราศรัยโดยระบุชื่อโจทก์เป็นแกนนำการจัดชุมนุมปราศรัย โจทก์จึงฟ้องจำเลยข้อหาหมิ่นประมาท พร้อมเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีในส่วนแพ่งด้วย
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนคดีอาญาเป็นฟ้องซ้ำคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2010/2557 (คดีตามข้อ 2.1) เนื่องจากเป็นการฟ้องในมูลความผิดเดียวกัน
ส่วนคำฟ้องในส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งด้วย
ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษา สรุปความว่า เมื่อมีสาเหตุให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและจำเลยในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงจำเป็นต้องจัดแถลงข่าวเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้แก่บุคลากรกับนักศึกษา และประชาชนทั่วไปทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเผยแพร่ใบปลิวจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และสาเหตุที่มีการชุมนุมปราศรัย เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและมีมูลความจริง และเป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่ จำเลยย่อมได้รับการคุ้มครองจากการกระทำละเมิดในมูลคดีแพ่ง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดชอบตามละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจในการจำเลยให้รับผิดทางแพ่ง การที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นภาค 3 พิพากษาคดีในส่วนแพ่งมานั้นจึงไม่ชอบ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาโจทก์ ยกอุทธรณ์โจทก์และจำเลย ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนคดีแพ่ง คำพิพากษาจึงถึงที่สุดว่า รองศษสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงไม่มีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งตามฟ้องโจทก์
ข.คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และรองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข เป็นโจทก์ร่วม ในฐานะผู้เสียหาย
1.คดีอาญาหมายเลขดำที่ 581/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1289/2559 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดอบลราชธานี โจทก์ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข โจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย) กับ นายกังวาน ธรรมแสง ที่ 1 นายตรีภพ เดชภิมล ที่ 2 นายสัมมนา มูลสาร ที่ 3 และนายไท แสงเทียน ที่ 4 จำเลย (รวม 4 คน) ข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มูลเหตุของคดี สืบเนื่องจากจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเผยแพร่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์และเอกสาร.บปลิวที่มีข้อความอันเป็นเท็จโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และเผยแพร่ไปในที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง ทำให้รองศาสตราจารย์นงนิตย์ โจทก์ร่วมเสียหาย
ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น นายตรีภพ เดชภิมล จำเลยที่ 2 และนายไท เสียงเทียน จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 1 (นายกังวาน) และที่ 3 (นายสัมมนา) ให้การปฏิเสธ ศาลจึงมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ภายใน 7 วัน และมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จ จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงาน 2 ครั้ง จำคุกกระทงละ 4 เดือนและปรับ 2,000 บาท รวมจำคุกทั้งหมด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 14,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งนึง คงเหลือโทษจำคุก 10 เดือน และปรับ 7,000 บาท
ส่วนจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 จำคุก 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 2 และ ที่ 4 ยอมรับสารภาพกล่าวคำขอโทษต่อผู้เสียหายถือว่าสำนักผิดในการกระทำ ทั้งผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจเอาความทั้งทางอาญาและแพ่งกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 สมควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 และ ที่ 4 โทษจำคุกให้รอลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
2.คดีหมายเลขดำที่ 1423/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 733/2560 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข โจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย) กับนายกังวาน ธรรมเสียง ที่ 1 นายสัมมนา มูลสาร ที่ 2 จำเลย (รวม 2 คน) ข้อหา หมิ่นประมาท ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (คดีนี้ เป็นคดีที่แยกฟ้องสองรายออกจากคดีหมายเลขดำที่ 581/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1289/2559)
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาสรุปว่า การบริหารงานของโจทก์ร่วมเป็นการบริหารงานภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยทั้งสองส่งข้อความกล่าวหาโจทก์ร่วม จึงเป็นความเท็จและทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย เมื่อมีการนำข้อความเท็จลงในระบบคอมพิวเตอร์ จึงเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น ข้อความที่ใส่ความโจทก์ร่วมเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมว่าบริหารโดยไม่มีประสิทธิภาพ และไร้คุณธรรม ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเจ้าพนักงาน ดังนั้น การกล่าวโจมตีการปฏิบัติงานของโจทก์ร่วม จึงถือว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136
และที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าบัญชีผู้ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 ถูกลักลอบนำไปใช้โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่รู้ เป็นข้อต่อสู้ที่มีข้อพิรุธสงสัย รวมทั้ง ข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2 เป็นการส่งข้อมูลในฐานะที่เป็นประธานสภาอาจารย์เพื่อหาข้อมูลจะมาใช้ประชุมกับคณะกรรมการสภาอาจารย์ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ซึ่งหากการพิจารณาประกอบพฤติกรรมทั้งหมดของจำเลยที่ 2 แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นประธานสภาอาจารย์ สามารถที่จะเรียกบุคลากรในมหาวิทยาลัยมาสอบถามข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องใช้ลักษณะการสอบถามข้อมูลผ่านเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานความผิดดูหมิ่นเจ้าพนักงานกับฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เป็นกรรมเดียวที่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จ ซึ่งเป็นกฎหมายหมายบทลงโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมดูหมิ่นเจ้าพนักงานกับฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดทั้งสองานมีอัตราโทษจำคุกเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 4 เดือน
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการและเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยซึ่งต้องเป็นแบบอย่างกับประชาชนและนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแต่ได้มากระทำความผิดเอง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงจึงไม่มีสาเหตุรอการลงโทษ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันละเมิด จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3
โดยสรุป คดีอาญาตาม ก. 1 และ 2 ทั้ง 6 คดี ที่รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข ถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วทุกคดี ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่มีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
ส่วนคดีอาญาตาม ข. 1 และ 2 ที่รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุง เป็นผู้เสียหายและเป็นโจทก์ร่วมจำนวนสองคดี ทั้ง 2 คดี ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดหนึ่งคดีเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 733/2560 อยู่ระหว่างอุทธรณ์
หากผลการดำเนินคดีมีความคืบหน้าประการใด มหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ทราบต่อไป
--------
ทั้งหมด คือความคืนไหวล่าสุดของ มหากาพย์คดีความฟ้องร้องระหว่างอธิการบดี กับ บุคลากรใน ม.อุบลฯ ที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี