- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดช่องโหว่ฉีดวัคซีน ก่อนโรคพิษสุนัขบ้าระบาด
เปิดช่องโหว่ฉีดวัคซีน ก่อนโรคพิษสุนัขบ้าระบาด
"... จะหยุดการแพร่ระบาดได้ ทฤษฎีทางระบาดวิทยาระบุไว้ว่า สุนัขและแมวทั้งประเทศต้องมีภูมิคุ้มกันโรคมากกว่าร้อยละ 70 จากทั้งหมด 10.3 ล้านตัว..."
สถานการณ์ล่าสุด การแพร่ระบาด ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ เริ่มลดลงเรื่อย ๆ ล่าสุด ข้อมูลจากสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศเขตควบคุมชั่วคราว 30 วัน จาก 37 จังหวัด เหลือเพียง 24 จังหวัด
โดยพบผู้เสียชีวิตและตรวจพบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 มากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน พร้อมกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด
ขณะที่กรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า วัคซีนป้องกันโรคชนิดนี้มีเพียงพอ สำหรับสุนัขและแมว 10.3 ล้านตัว (อ่านประกอบ:เช็คประชากรหมา-แมว หลัง ‘พิษสุนัขบ้าระบาด’ ผ่านไป 6 เดือน ฉีดวัคซีนแค่ 9 แสนตัว)
การแพร่ระบาดในขณะนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 12 เรื่อง ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวอย่างถูกต้อง ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผอ.สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในไทยและกรุงเทพมหานคร ย้อนหลัง 27 ปี (ข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2534-2561) พบว่า ทั่วทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลง จากปี 2534 ที่มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 171 ราย ปัจจุบันเหลือเพียง 4 ราย คือ จ.สุรินทร์ สงขลา ตรัง และนครราชสีมา
เฉพาะกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลระบุว่า เคยมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในปี 2539 จำนวน 10 ราย
ส่วนสถานการณ์สัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในไทยและกรุงเทพมหานคร ย้อนหลัง 9 ปี (ข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2552-2561) พบว่า ปัจจุบันทั่วทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 321 ตัว ลดลงเกินกว่าครึ่งจากปี 2560 ที่มีอยู่ 846 ตัว ส่วนกรุงเทพมหานคร ตรวจพบ 6 ตัว และจะพยายามรักษาสถิติให้เกิดการติดเชื้อ 20-30 ตัว/ปี
สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่พบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้านั้น ผอ.สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ระบุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เช่น เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก อีกส่วนหนึ่งคือ เขตบางขุนเทียน
แต่ปัจจุบันสัตว์ 6 ตัวที่พบการติดเชื้อพิษสุนัขบ้านนั้น อยู่ในตอนกลางของกรุงเทพมหานคร ในเขตบางเขน เขตบางซื่อ เขตดอนเมือง และเขตจตุจักร
จากข้อมูลสถิติข้างต้น สพ.ญ.เบญจวรรณ กล่าวว่า จึงไม่สามารถยืนยันได้เขตพื้นที่ใดจะปลอดเชื้อพิษสุนัขบ้าทั้งหมด เพราะปีนี้ไม่เจอ ปีหน้าอาจเจอก็ได้ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ตลอดเวลา
ผอ.สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ยังกล่าวถึงมาตรการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าของกรุงเทพมหานคร จะเน้นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โดยมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนพร้อมกันทั้ง 50 เขต ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีคลินิกสัตวแพทย์ 8 แห่ง คอยให้บริการและออกหน่วยเคลื่อนที่เป็นประจำด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น กรุงเทพมหานครยังมีการควบคุมจำนวนพาหะนำโรค โดยเน้นการทำหมันทั้งในสุนัขและแมว เพศผู้และเมีย ทั้งมีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ อีกทั้งยังมีหน่วยจับสุนัขไม่มีเจ้าของไปเลี้ยงดูจนหมดอายุขัย ที่ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัข และสุนัขตัวใดที่มีอาการสงสัยจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้า หากเสียชีวิต จะนำไปชันสูตร
“หากจะลดจำนวนพาหะนำโรคตั้งแต่ต้นเหตุจริง จะต้องงจดทะเบียนสุนัขตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 ทุกตัวต้องจดทะเบียน ฉีดไมโครชิพ 6000-7,000 ตัว/ปี” สพ.ญ.เบญจวรรณ กล่าวในที่สุด
ด้าน ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ รองคณบดีนโยบายและแผน และอาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้โรคพิษสุนัขบ้าจะมีความรุนแรงสูง แต่ความเป็นจริงแล้วสามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ สงสัยเหมือนกันว่า ปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ประเทศไทยมีการควบคุมอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ดังเช่น กรุงเทพมหานคร ออกหน่วยฉีดวัคซีน
สาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ เกิดจากช่องว่างของการฉีดวัคซีน ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา อธิบายว่าระยะหนึ่งมีการทักท้วงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงบทบาทของอปท.ในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้หรือไม่ แต่ภายหลังยืนยันแล้วว่าทำได้
(อ่านประกอบ:เมื่อสตง. ถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุทำพิษสุนัขบ้าระบาด)
ปี 2559 อย.เจอวัคซีนไม่ได้มาตรฐาน
ทำให้ช่วงที่มี อปท.ยังไม่เข้าใจบทบาท คือ ปี พ.ศ. 2558 ที่ใช้วัคซีนราว 10 ล้านโด๊ส เหลือเพียง 5 ล้านโด๊ส ในปี พ.ศ. 2559 ในขณะที่สุนัขมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวเลขการหยุดแพร่ระบาดของโรคให้ได้ร้อยละ 70 เริ่มง่อนแง่น
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อปี พ.ศ.2559 ยังเป็นปีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เรียกคืนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าถึง 3.5 ล้านโด๊ส เนื่องจากตรวจพบไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ในปีนั้น เหลือวัคซีนใช้ได้เพียง 1.5 ล้านโด๊สเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้จึงมีปัญหา ทำให้วิกฤตการสร้างภูมิคุ้มกันฝูงต่ำเกินไป ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ ทำให้เราเห็นโรคพิษสุนัขบ้าเกิดมากขึ้น
ทั้งนี้ จะหยุดการแพร่ระบาดได้ ทฤษฎีทางระบาดวิทยาระบุไว้ว่า สุนัขและแมวทั้งประเทศต้องมีภูมิคุ้มกันโรคมากกว่าร้อยละ 70 จากทั้งหมด 10.3 ล้านตัว
ส่วนสุดท้ายจะสามารถหยุดยั้งการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปได้หรือไม่นั้น น.สพ.วีระ เทพสุเมธานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒินายสัตวแพทย์ สถานเสาวภา สภาการชาดไทย บอกเล่าว่า การหยุดยั้งให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไป มักประสบความสำเร็จในประเทศที่เป็นเกาะ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน อังกฤษ สิงคโปร์ แต่ที่ยาก คือ การเฝ้าระวังไม่ให้โรคดังกล่าวเกิดขึ้นมาอีก
เช่นเดียวกับประเทศไทยเคยมีการผลักดันนโยบายร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน ในเกาะภูเก็ตและเกาะสมุยจนประสบความสำเร็จ แต่ถึงช่วงเวลาหนึ่งพิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถหยุดยั้งโรคพิษสุนัขบ้าไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้
นอกจากจะต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันให้ได้ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรสัตว์เสี่ยงติดเชื้อทั้งหมด แต่ต้องร่วมมือกันทำให้ได้ในระยะเวลา 1 เดือน จึงเชื่อว่าจะหยุดยั้งได้ อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยยังมีปัจจัยเรื่องภูมิประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่ชายแดน
ดังนั้น การจะให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะภายใน 6 เดือน จึงเป็นไปได้ยาก
‘โรคพิษสุนัขบ้า’ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจาเชื้อไวรัสเรบีส์ ส่วนใหญ่แพร่เชื้อจากสุนัข ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ฉีดวัคซีนป้องกันให้ได้ร้อยละ 70 และเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงและหมดไป .
อ่านประกอบ:กรมปศุสัตว์แต่งตั้ง 'ผศ.เฉลิมพล'-'สมพงศ์' เป็นที่ปรึกษาฯ ด้านโรคพิษสุนัขบ้า
อปท.เสนอแก้ระเบียบกองทุนสุขภาพตำบล เปิดช่องซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า
ภาพประกอบหลัก:http://www.sevendaynew.com/42491/