- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- E-project :เมื่อ 'บิ๊กตู่' ลั่นคสช.ทำศก.ฟื้น ไฉนคนเตะฝุ่นพุ่งสูงสุดรอบ10 ปี-เอกชนไม่กล้าลงทุน
E-project :เมื่อ 'บิ๊กตู่' ลั่นคสช.ทำศก.ฟื้น ไฉนคนเตะฝุ่นพุ่งสูงสุดรอบ10 ปี-เอกชนไม่กล้าลงทุน
“...หากรัฐบาลยังปล่อยไว้แบบนี้ สังคมเราจะเป็นสังคมคนแก่และมีแต่คนตกงาน รัฐบาลต้องเตรียมการแต่วันนี้ ทำอย่างไรให้คนมีงานทำท่ามกลางสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และบัณฑิตบางสาขาที่จบมาแล้วไม่มีงานทำ ก็ควรส่งเสริมให้ยกเลิกได้แล้ว...”
แม้ว่ารัฐบาล และทีมเศรษฐกิจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศอย่างมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง
หลังจากเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2560 ว่า เศรษฐกิจขยายตัวที่ระดับ 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส หรือ 4 ปีครึ่ง ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 3.8% และไตรมาสแรกที่ขยายตัว 3.3%
ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวในระดับที่สูงกว่าคาดการณ์ไว้ เป็นเพราะตัวเลขการส่งออกขยายตัวสูงถึง 12.5% โดยสามารถเติบโตด้วยตัวเลข “สองหลัก” และสูงที่สุดในรอบ 19 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมทั้งเศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้ได้รับอานิสงค์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้เข้าประเทศ 4.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8%
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นๆจะพบว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 3.1% เทียบกับไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 3% ซึ่งถือเป็นการอัตราการขยายตัวในระดับต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และยังบ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจมากนัก จึงยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวดีขึ้นก็จริง แต่ขยายตัวอย่างช้าๆที่ 2.8% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.6% และก็เป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำกว่า 3% ติดต่อกันมาแล้ว 7 ไตรมาส
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตัวเลขการลงทุนรวมพบว่า มีการขยายตัวเพียง 1.2% แม้ว่าจะสูงกว่าไตรมาสก่อนที่ขยายตัวที่ระดับ 0.4%
แต่เมื่อพิจารณาเบื้องลึกรายละเอียดจะพบว่า การลงทุนภาครัฐติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยไตรมาส 3 การลงทุนภาครัฐติดลบ 2.6% เทียบกับไตรมาส 2 ที่ติดลบ 7% แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ ส่วนการลงทุนเอกชนไตรมาส 3 นั้น แม้ว่าจะขยายตัว 2.9% แต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 3.2% ขณะที่ก่อนหน้านี้ตัวเลขการลงทุนเอกชนติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส สะท้อนว่าภาคเอกชนก็ไม่กล้าลงทุนเช่นกัน
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังมีความเปราะบาง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ขยายตัวดีเกินคาด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกมาประกาศอย่างมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.9% และปีหน้าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 4.1% ทำให้เห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่อง นับจากที่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 โดยเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.9% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และปัญหาความขัดแย้งในประเทศ
เช่นเดียวกับ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาระบุว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวทะลุ 4% และปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวมากกว่า 4% อย่างแน่นอน
(ภาพจากไทยรัฐ)
ทว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น กลับไม่ได้ส่งอานิสงค์ไปถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศนัก
โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจเมื่อวันที่ 1-12 ต.ค.2560 พบว่า ในเดือนต.ค.2560 จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.81 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงานที่ระดับ 1.3% สูงที่สุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551-52 ที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.4-1.5% ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานถือว่าสูงที่สุดในรอบ 8 ปี ที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เริ่มต้นวันทำงานหรือนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ มีอัตราว่างงานสูงถึง 2.3 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 6.1%
สถิติอัตราว่างงานย้อนหลัง 10 ปี
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนผู้มีงานทำในเดือนต.ค.2560 พบว่าลดลงเหลือเพียง 36.65 ล้านคน จากเดือน ก.ย.2560 ที่มีผู้มีงานทำ 37.24 ล้านคน หรือลดลง 6 แสนคน และถือเป็นจำนวนผู้มีงานทำลดลงต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2550 ที่มีจำนวนผู้มีงานทำ 36.24 ล้านคน
โดยในเดือนต.ค.2560 จำนวนแรงงานมีงานทำในภาคเกษตรอยู่ที่ 11.05 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีแรงงานในภาคเกษตรอยู่ที่ 11.21 ล้าคนคน หรือลดลง 1.6 แสนคน สอดคล้องกับดัชนีราคาสินค้าเกษตรในไตรมาส 3 ที่ติดลบ 12.9% (ข้อมูลรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2560 สศช.)
ส่วนแรงงานนอกภาคเกษตรในเดือนต.ค.2560 ลดลงเหลือ 25.60 ล้านคน จาก 25.93 ล้านคน เมื่อเดือนต.ค.2559 หรือลดลง 3.3 แสนคน โดยเฉพาะผู้มีงานทำในภาคการผลิตลดลงเหลือ 6.36 ล้านคนในเดือนต.ค.2560 จาก 5.83 ล้านคนในเดือนต.ค.2559 หรือลดลง 5.3 แสนคน ซึ่งสะท้อนได้ว่าแม้ว่าภาคการส่งออกไตรมาส 3 จะขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลัก แต่ยังไม่ส่งผลให้มีการจ้างงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำกลับทำให้จำนวนผู้มีงานทำในภาคผลิตลดลงด้วย
สถิติจำนวนผู้มีงานทำย้อนหลัง 10 ปี
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า สถานการณ์การการจ้างงานดีขึ้น โดยในเดือนต.ค.2560 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ม.33) มีจำนวน 10.69 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมดังกล่าว ถือว่าเป็นระดับที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2560 ที่มีจำนวนผู้ประกันตน 10.46 ล้านคน
โดยอัตราผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างอยู่ที่ 0.2% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2560 ที่อัตราการเลิกจ้างอยู่ที่ 0.28%
(ตารางจากเว็บประชาไท)
ในขณะที่จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในเดือนต.ค.2560 อยู่ที่ 1.44 แสนคน ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2560 แต่จะพบว่าในเดือนส.ค.2560 จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานพุ่งเป็น 1.57 แสนคน ซึ่งเป็นจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากเดือนส.ค.2559 ที่มีจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 1.61 แสนคน และสะท้อนให้เห็นว่าจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในปี 2559-ต.ค.2560 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2554-2557
ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย กล่าวยืนยันทีมข่าวเศรษฐกิจพิเศษ สำนักข่าวอิศรา ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 จะขยายตัวได้ในระดับสูงถึง 4.3% แต่จะพบว่าอัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.22% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน แต่เมื่อถึงเดือนต.ค.2560 อัตราว่างงานเพิ่มเป็น 1.3% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.8 แสนคน จากก่อนหน้านี้ที่อัตราว่างงานอยู่ที่เฉลี่ย 0.7% ต่อปี
โดยสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มที่ได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวยังอยู่ในกลุ่มคนระดับบน เช่น ผู้รับเหมาโครงการสร้างรถไฟฟ้าที่ได้งานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีไฮเทค ส่วนชาวบ้านและแรงงานทั่วไปยังไม่ได้ประโยชน์มากนัก จึงทำให้ไม่เกิดการผลิต การจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้า ซึ่งนำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น
“เมื่อก่อนเวลานักการเมือง หรืออบต. สร้างถนนหนทาง แม้ว่าจะวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง แต่เงินก็ยังไหลเวียนอยู่ในพื้นที่ คนก็เลยยังมีเงินจับจ่าย แต่ตอนนี้เศรษฐกิจมันโตเฉพาะข้างบนเท่านั้น เพราะจะเห็นว่าที่สิ่งที่ภาครัฐลงทุนหลักๆเลยจะเป็นรถไฟฟ้า หรือโครงการที่ไฮเทค ซึ่งทุกอย่างต้องนำเข้า และเงินส่วนใหญ่ก็กระจุกตัวอย่างข้างบน ชาวบ้านก็ไม่ค่อยได้อะไร”นายธนิตกล่าว
ส่วนการส่งออกไตรมาส 3 ที่ขยายตัวเกิน 10% นั้น จะพบว่ากลุ่มคนที่ใช้แรงงานผลิตสินค้าเพื่อส่งออกก็ยังไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่เช่นกัน เพราะแม้ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกจะเติบโตในเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่เมื่อคิดเป็นตัวเงินจะพบว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้ ยังอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปี 2556 เท่านั้น หรือเงินที่ประเทศได้จากการส่งออกไม่เพิ่มขึ้นเลย อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการใช้กำลังการผลิตก็พบว่าตอนนี้อยู่ที่ระดับ 60-61% เทียบกับช่วงต้นปีที่อยู่ที่ 58% เมื่อกำลังการผลิตเหลืออยู่มาก ภาคเอกชนก็ยังไม่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และไม่มีการลงทุนเพิ่มด้วย
“ตอนนี้เรากำลังเป็นห่วงว่าตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 8.5 หมื่นคน แต่ที่น่ากลัว คือ ในจำนวนคนที่ว่างงานอยู่ตอนนี้ 4-5 แสนคน พบว่า 38.66% เป็นคนที่เคยมีงานทำมาก่อน โดยคนเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) บอกชัดเจนว่า ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า เมื่อแต่ละประเทศนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตสินค้าโดยใช้หุ่นยนต์ จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 44%” นายธนิตระบุ
นายธนิต กล่าวว่า เวลานี้ภาครัฐจะต้องมีนโยบายและวางแผนอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาอัตราการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจอี E-commerce ข้ามชาติ เช่น อาลีบาบา เข้ามาในตลาดเมืองไทย และทำให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าหันมาทำ E-commerce มากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ E-commerce รายเล็ก รายกลางต้องล้มหายตายจากไป เพราะสู้เรื่องทุนและเทคโนโลยีไม่ได้ สุดท้ายแล้ว ธุรกิจ E-commerce ที่เคยรองรับคนที่ตกงานจากงานประจำก็จะไม่มี สุดท้ายอัตราการว่างงานก็เพิ่มขึ้น
“หากรัฐบาลยังปล่อยไว้แบบนี้ สังคมเราจะเป็นสังคมคนแก่และมีแต่คนตกงาน รัฐบาลต้องเตรียมการแต่วันนี้ ทำอย่างไรให้คนมีงานทำท่ามกลางสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และบัณฑิตบางสาขาที่จบมาแล้วไม่มีงานทำ ก็ควรส่งเสริมให้ยกเลิกได้แล้ว”นายธนิตกล่าว
ทั้งหมดนี่ คือ โลกความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่องการว่างงาน และการลงทุนของเอกชน ที่นับเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องรีบเร่งหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน
เมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อถือ(ศรัทธา) !