- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- พลิกแฟ้มประวัติ 9รมต.ป้ายแดง (หน้าใหม่) ครม.ประยุทธ์ 5
พลิกแฟ้มประวัติ 9รมต.ป้ายแดง (หน้าใหม่) ครม.ประยุทธ์ 5
"...การปรับครม.ครั้งล่าสุดนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่การปรับครม.ชุดเล็ก หากแต่เป็นการปรับครม.ชุดใหญ่ โดยมีตำแหน่งสำคัญทั้งรองนายกรัฐมตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นจำนวน 18 คน และในจำนวนนี้มีผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีป้ายแดงหลายคนด้วย"
ในช่วงค่ำวันที่ 24 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา สาธารณชนคงได้รับทราบกันไปแล้วว่า มีบุคคลใดบ้างในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.ประยุทธ์ 4 ที่ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งไป และมีบุคคลใดบ้างที่ปรากฎชื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ใน ครม.ประยุทธ์ 5 แทน เพื่อร่วมกันทำงานรับใช้ประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้าย เตรียมความพร้อมสู่การประกาศเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่จะมาถึงอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้ (อ่านประกอบ :'กฤษฎา บุญราช'ว่าที่ปลัด มท.ใหม่แกะกล่อง สายตรง 'สุเทพ'-บิ๊ก คสช.?)
อย่างไรก็ตาม การปรับครม.ครั้งล่าสุดนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่การปรับครม.ชุดเล็ก หากแต่เป็นการปรับครม.ชุดใหญ่ โดยมีตำแหน่งสำคัญทั้งรองนายกรัฐมตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นจำนวน 18 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีป้ายแดงหลายคน ซึ่งหากไม่นับรวมนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ที่คัมแบ็คกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายกฤษฎา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่รับตำแหน่งรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์ชื่อเสียงทางการเมืองเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมอยู่แล้ว มีบุคคลหน้าใหม่ ที่ปรากฎชื่อเข้ามาเป็น รมต.ป้ายแดง ถึง 9 คน ด้วยกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลประวัติ-ประสบการณ์การทำงานของรัฐมนตรีป้ายแดงหน้าใหม่ ทั้ง 9 คน มานำเสนอ ณ ที่นี้
1.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2539 และการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Williams College ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ภายใต้ทุนการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายกอบศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนและผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนจะเข้ามาสู่ตำแหน่งทางการเมือง โดยเริ่มจากตำแหน่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในระยะสั้นๆ แทนนางทิชา ณ นคร ซึ่งลาอออกจากตำแหน่งไป เคยดำรงตำแหน่งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ควบคู่กับตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
2.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
เป็นนักเรียนนักเรียนเตรียมทหาร (ตท.) ทบ. รุ่นที่ 16 และนักเรียนโรงเรียน จปร.รุ่งที่ 27 ร่วมรุ่นกับ พล.อ.พอพล มณีรินทร์ พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล พล.ท.บรรเจิด ฉางปูนทอง
พล.อ.ชัยชาญรับราชการมาตั้งแต่ปี 2523 ผ่านตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้บังคับกองร้อยรถถัง กองพันทหารม้าที่ 8, ผอ.กองนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารบก หัวหน้าศูนย์ประสานงานพัฒนาเพื่อความมั่นคงสำนักนโยบายและแผนกลาโหม, ผู้ช่วยผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม, รองผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม
ต่อมาเมื่อปี 2556 พล.อ.ชัยชาญได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำปลัดกระทรวงกลาโหม และผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม และในเดือนต.ค. 2558 พล.อ.ชัยชาญ ก็ขยับขึ้นไปนั่งเก้าอี้รองปลัดกระทรวงกลาโหมดำรงตำแหน่งก่อนจะเกษียณไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2560 นอกจากนี้ยังควบตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และหลังจากนั้นก็ไปดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2560 จนกระทั่งยื่นใบลาออกจาก สนช.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (อ่านประกอบ : เปิดกรุทรัพย์สิน 28.6 ล. พล.อ.ชัยชาญ รมช.กลาโหมคนใหม่ - พระ 50 องค์ ทองคำ 95 บ.)
3.นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จบการศึกษาในระดับปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
นายวิวัฒน์ เคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะลาออกมาเพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สปท. ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในขณะเดียวกับได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับหลายหน่วยงาน/องค์กร เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ฯลฯ
4.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ (D.Eng) จาก Tokyo Institute of Technology, ประเทศญี่ปุ่นก่อนจะเข้าทำงานกับ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในบริษัทพลังงานหลายแห่ง จนกระทั่งตำแหน่งตำแหน่งสุดท้ายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จนเกษียณอายุการทำงาน
ต่อมาหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นายไพรินทร์ได้รับการแต่งตั้งแต่งตั้ง เป็นกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กรรมการในคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ สำนักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 และในวันที่ 8 ส.ค. 2560 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก ด้านวิศวกรรมเคมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซ็ทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประวัติเคยเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ด้านการลงทุน และเป็นผู้ว่าการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด ได้เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง อาทิ การรถไฟ องค์การเภสัช และการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีประสบการณ์การทำงานเป็นผู้อำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะถูกส่งลงสมัครและได้รับเลือกเป็นสมาชิก สปช.ด้านพลังงาน
6.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาเอก วว. อายุรศาสตร์ จากแพทยสภาและได้รับ Certificate research fellowship training in Gastroenterology จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับประสบการณ์การทำงาน เคยดำรงตำแหน่งทั้งในด้านการแพทย์และตำแหน่งในคณะแพทย์หลายตำแหน่ง อาทิเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
7.นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยคองคอเดียร์ ประเทศแคนาดา มีประสบการณ์การทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TepCot) กระทรวงพาณิชย์ เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 7 (วนพ.7) สถาบันวิทยาการพลังงาน เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ประธานกรรมการบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENGO) ประธานคณะกรรมการบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ที่ปรึกษา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ปรึกษา กรรมการวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
8.นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับประวัติทางการศึกษา “กฤษฎา” ได้ปริญญาตรี 2 ใบ ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จาก ม.รามคำแหง และนิติศาสตรบัณฑิต จาก ม.เชียงใหม่ ต่อมาได้ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) ม.ธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ยังได้ประกาศนียบัตรการบริหารการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วม จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม โดยทุนสถานทูตอังกฤษ เมื่อปี 2544 และการบริหารจัดการความมั่นคงที่สถาบัน APCSS รัฐฮาวาย โดยทุนสถานทูตสหรัฐอเมริกา ในปี 2550 รวมถึงการบริหารงานภาครัฐและท้องถิ่น จาก ม.ฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐฯ โดยทุนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อปี 2552 อีกด้วย
สำหรับประวัติในด้านการทำงาน นายกฤษฏา เริ่มรับราชการที่ศูนย์รับผู้อพยพ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในปี 2522 โดยรับราชการมาหลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น นายอำเภอดอยเต่า นายอำเภอแม่อาย นายอำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ นายอำเภอเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง และนายอำเภอเมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี เป็นต้น
ต่อมาในปี 2547 ขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ก่อนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาในปี 2549 และในเดือน พ.ย. 2554 ได้ย้ายมานั่งเก้าอี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และในปี 2558 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย (อ่านประกอบ : 'กฤษฎา บุญราช'ว่าที่ปลัด มท.ใหม่แกะกล่อง สายตรง 'สุเทพ'-บิ๊ก คสช.?)
9.นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จบการศึกษาสูงสุดในระดับชั้นปริญญาโทวิทยศาสตร์มหาบัณฑิตจาก มหาวิทยาลัยดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ มีประวัติการทำงานในภาคเกษตรมานานกว่า 30 ปี โดยเป็นผู้ริเริ่ม “โครงการธนาคารชุมชน”และต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ นักการธนาคารแห่งปี 2556 ในช่วงที่เกิดวิกฤติจำนำข้าว
ทั้งหมดนี้ คือประวัติและประสบการณ์ทำงานเบื้องต้น ของรมต.หน้าใหม่ป้ายแดง ทั้ง 9 คน ที่ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และห้วหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาดูแลรับผิดชอบงานแต่ละด้าน ส่วนผลงานจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เชื่อว่าอีกไม่นานสาธารณชนคงจะได้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์กันในเร็วๆ นี้ แน่นอน