- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- บทพิสูจน์นโยบายต้านทุจริตบมจ.สามารถฯกับ ท่าที 'สมบัติ อุทัยสาง' หลังโดนคดียึดทรัพย์108ล.
บทพิสูจน์นโยบายต้านทุจริตบมจ.สามารถฯกับ ท่าที 'สมบัติ อุทัยสาง' หลังโดนคดียึดทรัพย์108ล.
"..บมจ. สามารถเทลคอม เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ระบุเรื่องนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไว้ หลายข้อ ให้กรรมการ ผู้บริหารพนักงานของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาทิ มีความเป็นกลางทางการเมือง การบริจาคเงินเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนต้องมีเอกสารหลักฐานชัดเจน ไม่ให้ของขวัญทรัพย์สิน ของกำนัล หรือประโยชน์ อื่นใด ที่ไม่เหมาะสมหรือทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการเกื้อหนุน การทำธุรกรรมกับภาครัฐจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ปฏิบัติตามกฎหมายแต่ละประเทศ เป็นต้น.."
ชื่อของ นายสมบัติ อุทัยสาง กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง!
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นทางการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินรายการเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในนามของนางสุจิวรรณ อุทัยสาง คู่สมรส และบุตร 3 คน ที่สาขาคอนแวนต์ และสาขาพุทธมณฑล เป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมมูลค่า 108,574,356.23 บาท
อันเป็นคดีสืบเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูล นายสมบัติ อุทัยสาง ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี รวม 3 ตำแหน่ง 9 บัญชี โดยไม่แสดงบัญชีเงินฝากของตนหรือคู่สมรสที่อยู่ในชื่อของบุตร หรือที่คู่สมรส มีชื่อร่วมกับบุตร จำนวน 9 บัญชี เพื่อปกปิดจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงของตน เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย
ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในช่วงปี 2552 พิพากษาว่านายสมบัติ อุทัยสาง จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยเห็นว่าเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ รวม 5 บัญชี ในระหว่างปี 2540 – 2541 รวมเป็นเงิน 112,820,749.77 บาท นายสมบัติ อุทัยสาง และนางสุจิวรรณ อุทัยสาง ร่วมกันเป็นเจ้าของเงิน และมีคำพิพากษาว่านายสมบัติ อุทัยสาง จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และพบว่า เงินฝากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์ และสาขาพุทธมณฑล ในนามของนางสุจิวรรณ อุทัยสาง คู่สมรสและบุตร 3 คน ที่นายสมบัติ อุทัยสาง ไม่ได้แสดงไว้ในการยื่นบัญชีกรณีต่างๆ มียอดเงินฝากคงเหลือ ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งเป็นการยื่นบัญชีครั้งสุดท้ายในกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 106,291,109.01 บาท โดยนายสมบัติ อุทัยสาง สามารถพิสูจน์การได้มาของเงินฝากธนาคารดังกล่าวว่าได้มาโดยชอบตามวิถีทางปกติ จำนวน 15,000,000 บาท
ดังนั้น เมื่อนำจำนวนเงินที่ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาโดยชอบ จำนวน 91,291,109.01 บาท รวมกับดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นดอกผลทางนิตินัยของเงินฝากดังกล่าวอีกจำนวน 17,283,247.22 บาท มารวมคำนวณแล้ว เห็นว่า นายสมบัติ อุทัยสาง มีทรัพย์สินที่ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาโดยชอบ รวมมูลค่า 108,574,356.23 บาท จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ พิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน 'สมบัติ' อดีต รมช.มหาดไทย รวยผิดปกติ 108.5 ล.- ซุกเงินฝาก เมีย ลูก)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลประวัติการทำงานปัจจุบันของ นายสมบัติ อุทัยสาง พบว่า ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการอิสระบริษัทเอกชนชื่อดังหลายแห่ง ดังนี้
2551 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการ / กรรมการอิสระ บมจ. สามารถเทลคอม
2551 - 2555 ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการ บมจ. สามารถเทลคอม
2556 - ปัจจุบัน กรรมการอิสระ บมจ. ธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์
2557 - ปัจจุบัน กรรมการอิสระ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า บมจ. สามารถเทลคอม เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ระบุเรื่องนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไว้ หลายข้อ ให้กรรมการ ผู้บริหารพนักงานของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม จะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาทิ มีความเป็นกลางทางการเมือง การบริจาคเงินเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุนต้องมีเอกสารหลักฐานชัดเจน ไม่ให้ของขวัญทรัพย์สิน ของกำนัล หรือประโยชน์ อื่นใด ที่ไม่เหมาะสมหรือทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการเกื้อหนุน การทำธุรกรรมกับภาครัฐจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ปฏิบัติตามกฎหมายแต่ละประเทศ เป็นต้น (อ่านประกอบ : http://www.samtel.com/upload/file/Ethic_thai_14638.pdf)
ขณะที่ล่าสุดในปี 2559 นายสมบัติ อุทัยสาง เคยเขียนสารจากคณะกรรมการบริษัทฯ ถึงผู้ถือหุ้น ระบุตอนหนึ่งว่า จะดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะยึดมั่นในการเป็นบริษัทที่ดี นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง มาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรที่ดี มีความรับผิดชอบดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงดำเนินกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ที่หลากหลายมากมาย เพื่อ “สร้างคนคุณภาพ ส่งเสริมสังคมคุณธรรม” อย่างต่อเนื่อง ให้บริษัทบรรลุเป้าหมายในการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน (อ่านประกอบ : http://www.samtel.com/?page=message_from_board)
ณ วันนี้ นายสมบัติ อุทัยสาง กำลังเผชิญหน้ากับคดีความในชั้นศาล หลัง ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลนายสมบัติ อุทัยสาง เกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ พิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมมูลค่า 108,574,356.23 บาท
คำถามที่น่าสนใจ คือ นายสมบัติ อุทัยสาง และบมจ. สามารถเทลคอม จะแสดงออก ซึ่งท่าทีและจุดยืน ต่อเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ ที่มีการประกาศเป็นนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่สวยหรูไว้หลายข้อ ตามที่กล่าวไว้อย่างไรบ้าง?