- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดผังรายชื่อบริษัทออฟชอร์เครือ ซี.พี.ในพาราไดซ์ เปเปอร์ส
เปิดผังรายชื่อบริษัทออฟชอร์เครือ ซี.พี.ในพาราไดซ์ เปเปอร์ส
"...สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้น ปรากฎว่า ใช้บริการสำนักกฎหมายแอปเปิลบีมายาวนานราว 30 ปี เบื้องต้นพบว่า ระหว่าง ปี 2530 ถึง 2531 มีการใช้สำนักกฎหมายแอปเปิลบี จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตอย่างน้อย 7 บริษัท ที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีกิจกรรมทางธุรกิจต่างกันออกไป..โดยในช่วงปีที่ผ่านมาบางบริษัทอาจเปลี่ยนชื่อจากเดิมหรือเปลี่ยนลักษณะของกิจการ บริษัทต่าง ๆ.."
รายชื่อผู้รับบริการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตที่มีที่อยู่ในประเทศไทย หรือ มีสัญชาติไทยในฐานข้อมูล พาราไดซ์ เปเปอร์ส มีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างกับชื่อไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลอื่นที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ร่วมกับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ไอซีไอเจ (Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) เคยเปิดเผยมาแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา Offshore Leaks (พ.ศ. 2556) และปานามาเปเปอร์ส์ (พ.ศ. 2559)
ในขณะที่ฐานข้อมูลก่อนหน้านี้ พบการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตโดยตัวบุคคลค่อนข้างมาก โดยฐานข้อมูลของสำนักกฎหมายผู้ให้บริการด้านบริษัทนอกอาณาเขต คือ สำนักกฎหมายแอปเปิลบีที่เบอร์มิวดาและเอเชียซิตี้ ที่สิงคโปร์ มีรายชื่อบริษัทนอกอาณาเขตที่ถือโดยตัวบุคคลชาวไทยน้อยกว่า แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศเป็นหลัก โดยพบการใช้กลไกบริษัทนอกอาณาเขตในการดำเนินธุรกิจอย่างกว้างขวาง ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นรายชื่อชาวต่างชาติที่ใช้ที่อยู่ในประเทศไทยในการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต
บริษัทมหาชนของไทยเหล่านี้ บางบริษัทไม่ได้ปกปิดฐานะความเป็นบริษัทนอกอาณาเขตของบริษัทลูกบางแห่งของตนแต่อย่างไร
บางบริษัทใช้บริการสำนักกฎหมายแอปเปิลบีและเอเชียซิตี้มายาวนาน มีเครือข่ายบริษัทในพื้นที่นอกอาณาเขตต่าง ๆ หลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยังมีบริษัทอื่น ๆ บางบริษัทที่สำนักข่าวอิศราจะทยอยรายงานต่อไปเป็นระยะ
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้น ปรากฎว่า ใช้บริการสำนักกฎหมายแอปเปิลบีมายาวนานราว 30 ปี เบื้องต้นพบว่า ระหว่าง ปี 2530 ถึง 2531 มีการใช้สำนักกฎหมายแอปเปิลบี จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตอย่างน้อย 7 บริษัท ที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีกิจกรรมทางธุรกิจต่างกันออกไป
โดยในช่วงปีที่ผ่านมาบางบริษัทอาจเปลี่ยนชื่อจากเดิมหรือเปลี่ยนลักษณะของกิจการ บริษัทต่าง ๆ มีดังนี้
บริษัทจำกัด ซี.พี. โภคภัณฑ์ (C.P. Pokphand Co. Ltd) จดทะเบียนก่อตั้งที่เบอร์มิวด้า วันที่ 16 ตุลาคม 2530 ในเว็บไซต์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ระบุว่า เป็นบริษัทสำหรับการลงทุนในจีนและเวียดนามและจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ซีพีโภคภัณฑ์ไม่ได้ปกปิดฐานะความเป็นบริษัทนอกอาณาเขตของตน และระบุไว้ในเว็บไซต์อย่างชัดเจนว่า บริษัทตั้งเบอร์มิวด้า
1) บริษัทเจียไต๋เอ็นเตอร์ไพรซ์ อินเตอร์แนชั่นนัล จำกัด (Chia Tai Enterprises International Limited) เปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิม คือ บริษัทจำกัด เอ็กชอร์ ไชน่า มอเตอร์ไซเคิล (Ekchor China Motorcycle Co. Ltd.) จดทะเบียนก่อตั้งที่เบอร์มิวด้าในรูปบริษัทโฮลดิ้งในวันเดียวกันกับ ซี.พี. โภคภัณฑ์ โดยวัตถุประสงค์เบื้องต้นของบริษัทคือใช้เพื่อร่วมลงทุนในกิจการขายมอเตอร์ไซค์ในประเทศจีน แต่ปัจจุบันข้อมูลจากเว็ฐไซต์ของบริษัทระบุว่า เป็นบริษัทลูกของ CPF และเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ทำธุรกิจไบโอเคมีและอุตสาหกรรม
2) บริษัท ซี.ที. โพรเกรสสีฟ (อควาคัลเจอร์) จำกัด (C.T. Progressive (Aquaculture) Ltd.) จดทะเบียนก่อตั้งที่เบอร์มิวด้าวันที่ 13 เมษายน 2532 ในรูปบริษัทจำกัด
3) บริษัท ซี.ที. โพรเกรสสีฟ (เอช. เค.) จำกัด (C.T. Progressive (H.K.) Ltd.) จดทะเบียนก่อตั้งที่เบอร์มิวด้าในรูปบริษัทจำกัด ในวันเดียวกับซี.พี. โภคภัณฑ์ มีเป้าหมายเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกที่ลงทุนในกิจการอสังหาริมทรัพย์
4) บริษัท เจียไต๋ (ไชน่า) อโกร-อินดัสตรี จำกัด (Chia Tai (China) Agro-Industry Ltd.) ชื่อเดิมคือ ซี.ที. โพรเกรสสีฟ (ซีโน) อาโกร จำกัด (C.T. Progressive (Sino) Agro Ltd.) จดทะเบียนก่อตั้งที่เบอร์มิวด้าในวันเดียวกับซี.พี. โภคภัณฑ์ ในรูปบริษัทเพื่อการลงทุน
5) บริษัทจำกัด เจริญโภคภัณฑ์ (ไต้หวัน) อินเวสต์เม้นท์ จำกัด (Charoen Pokphand Taiwan Investment Limited) จดทะเบียนก่อตั้งที่เบอร์มิวด้า วันที่ 23 พฤศจิกายน 2531 ลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมการเกษตรเกี่ยวกับฟาร์มสัตว์เลี้ยงและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ดำเนินการโดย CPF
6) บริษัท ชนที เจียไต๋ อินเตอร์แนชั่นนัล โฮลดิ้งส์ จำกัด (Conti Chia Tai International Holdings Ltd.) จดทะเบียนก่อตั้งที่เบอร์มิวด้า วันที่ 29 ธันวาคม 2531 มีวัตถุประสงค์ในการเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในกิจการผลิตและขายปศุสัตว์ที่กำหนดขึ้นด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ (scientifically formulated livestock), อาหารสัตว์ปีก, พันธุ์สัตว์ปีกและการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ บริษัทลูกต่าง ๆส่วนใหญ่ประกอบกิจการในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ไอซีไอเจ และสำนักข่าวอิศรา มีความความเข้าใจอย่างชัดเจนในการรายงานครั้งนี้และที่ผ่านมาว่า การถือครองบริษัทนอกอาณาเขตไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นผู้ถือครองจะมีพฤติกรรมในการใช้บริษัทนอกอาณาเขตอย่างไม่สุจริต เช่น การฟอกเงินหรือการซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออื่น ๆ เป็นต้น
@ ผังรายชื่อบริษัทนอกอาณาเขตเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานข้อมูล “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” ดูชื่อบริษัทได้ที่จุดสีเขียว”
สำนักข่าวอิศรา ได้ส่งจดหมายสอบถามประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งเกี่ยวกับการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตไปยัง นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และได้รับจดหมายตอบกลับเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ดังนี้
“เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจอย่างเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ของทุกประเทศที่ได้เข้าไปทำการค้าและการลงทุน ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์มีการลงทุนใน 20 ประเทศ มีการจำหน่ายสินค้าและให้บริการใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก ในส่วนของ ซีพีโภคภัณฑ์ จำกัดนั้น เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในบริษัทหลักทรัพย์ฯฮ่องกง ปฏิบัติตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ และนักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุน (ซื้อ/ขาย) ได้โดยเสรีตามกฎหมายกำหนด”
อ่านประกอบ :
โยงกลุ่มทรัมป์-บ.ยักษ์ใหญ่ไทย! ICIJเปิดตัว‘พาราไดซ์เปเปอร์ส‘ฐานข้อมูลกลุ่มออฟชอร์มหัศจรรย์
ล้วงฐานแอปเปิลบีล่าสุด! ควีนเอลิซาเบธ-ราชินีนูร์แห่งจอร์แดน ลงทุน/ถือครอง บ.นอกอาณาเขต