- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ฉบับเต็ม!คำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ดินริมหาด จ.ภูเก็ต 1.2 หมื่นล.-พ.อ.พยานเอกชน
ฉบับเต็ม!คำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ดินริมหาด จ.ภูเก็ต 1.2 หมื่นล.-พ.อ.พยานเอกชน
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีพิพาทที่ดินริมหาด รายัน-เลพัง จ.ภูเก็ต 178 ไร่ 1.2 หมื่นล. ให้เป็นที่สาธารณะ 2 พยานปากเอก-ภาพถ่ายทางอากาศยันชัด พยานหลักฐานโจทก์ 6 ราย น้ำหนักน้อยกว่าจำเลย ซื้อต่อๆกันมา พบ พ.อ. หน.วิจัยฯ กรมแผนที่ทหาร ชื่อโผล่พยานฝ่ายเอกชน
คดีคึกโครมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 4537-4543/2560 ระหว่างโจทก์ คือ นางอรพรรณ พลอยเพชร นายพิทักษ์ บุญพจนสุนทร บริษัท พังงารีสอร์ท จำกัด กับพวก รวม 6 ราย กับ หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต กับพวกรวม 7 ราย เป็นจำเลย ในคดีพิพาทที่ดินริมหาดรายัน-เลพัง ม. 4 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 178 ไร่ มูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจังหวัดภูเก็ตและกรมที่ดินประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2546 ขณะที่เอกชนอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน ปี 2497 ก่อนทางการประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ ศาลฎีกาพิพากษาที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของรัฐ ทำให้เอกชนจะต้องย้ายออกจากพื้นที่พิพาท ตามข่าวก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ: ศาลฎีกาฯให้เอกชนรายใหญ่ออกจากพื้นที่สาธารณะริมหาด จ.ภูเก็ต มูลค่าหมื่นล., อีกแปลงที่ดินสาธารณะ!ศาลให้เอกชนแพ้คดี -ดีเอสไอขยับยึด 178 ไร่ริมหาด จ.ภูเก็ต)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีความยาว 35 หน้ากระดาษ สรุปสาระสำคัญมาเสนอ
โจทก์ 6 ราย นางอรพรรณ พลอยเพชร (โจทก์ที่ 1) , นายพิทักษ์ บุญพจนสุนทร (โจทก์ที่ 2) ,บริษัท พังงา รีสอร์ท จำกัด (โจทก์ที่ 3) ,นางสดใส องค์ศรีตระกูล (โจทก์ที่ 4) ,นายสวัสดิ์ ทองไพยุทธ (โจทก์ที่ 5) และ นายธงชัย บุศราพันธ์ (โจทก์ที่ 6 )
จำเลย จังหวัดภูเก็ต (จำเลยที่ 1) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (จำเลยที่ 2) นายอำเภอถลาง (จำเลยที่ 3) องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล (จำเลยที่ 4) กรมที่ดิน (จำเลยที่ 5) หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต (จำเลยที่ 6) เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ส่วนแยกถลาง (จำเลยที่ 7)
โจทก์ฟ้องสรุปว่า ครอบครองที่ดินมาก่อนที่ทางการจะประกาศให้ที่ดิน 178 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ให้ราษฎรใช้ร่วมกันเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2546 เป็นการออกประกาศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ที่ 1 ฟ้องสรุปว่า ถือครองที่ดินก่อนปี 2494 ต่อมาปี 2520 นายสุนทร จิรพัฒนโสภณ และนายทวีศักดิ์ ติ้วสิขเรศ ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่น ปี 2533 นายสุนทรขายที่ดินพิพาทและส่งมอบสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 ต่อมาปี 2534 นายทวีศักดิ์ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทที่เหลือทั้งหมดให้แก่โจทก์ ที่ 1 และเข้าทำประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่หมู่ 4 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องและเพิกถอนประกาศขึ้นทะเบียนที่สงวนหวงห้ามของจำเลย
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 (นิติบุคคล) ฟ้องทำนองเดียวกัน มอบอำนาจให้บุคคลเดียวกันดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 2 ครอบครอบที่ดินมือเปล่า จำนวน 3 แปลงเนื้อที่ 8-3-56 ไร่ โจทก์ ครอบครองที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่ 7-1-63 ไร่ ถูกจำเลยมีหนังสือประกาศให้ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินของรัฐที่จะสงวนหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยช์ร่วมกัน เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ที่ 4 และ ที่ 5 ฟ้องสรุปว่า เดิมที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 17-3-68.7 ไร่ นายลำดวน สงคราม เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องโดยรับมรดกจากนายทอง สงคราม บิดา ซึ่งทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ต่อมาวันที่ 16 ส.ค.2526 โจทก์ที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายลำดวน ทำประโยชน์โดยการปลูกพืชและปลูกบ้าน ส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 5 เนื้อที่ 18-2-45.5 ไร่ เดิมนายสมเกียรติ แซ่ลิ่มหรือแซ่หลิม เป็นผู้ซื้อที่ดินมาจากนายสุเทพ ซึ่งรับมรดกมาจากนายศิริ แซ่ลิ่มหรือแม่หลิม บิดา ทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2493 ต่อมาวันที่ 4 มิ.ย.2528 โจทก์ที่ 5 ซื้อที่ดินจากนายสมเกียรติเข้าใช้ประโยชน์โดยปลุกพืชและปลูกบ้าน ต่อมาโจทก์ที่ 4 และ ที่ 5 ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 6 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินของโจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 แล้วสรุปว่าไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน ต่อมา วันที่ 1 เม.ย.2537 กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ใช้บังคับ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 6 ยุติเรื่องการออกโฉนดที่ดิน กระทั่งวันที่ 16 มิ.ย.2546 จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 3 ประกาศให้ที่ดินของโจทก์ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์
โจทก์ที่ 6 ฟ้องสรุปว่า มอบอำนาจให้นายประสิทธิ์ องค์ศรีตระกูล ดำเนินคดีแทน โจทก์ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์เนื้อที่ 40 ไร่ โดยซื้อต่อมาจากนายประสิทธิ์ ซึ่งนายประสิทธิรับมอบมาจากนายลำดวน สงคราม ซึ่งนายลำดวนรับมรดกมาจากนายทอง สงคราม บิดาตั้งแต่ปี 2489 ต่อมาโจทก์ที่ 6 ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 6 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดิน แล้วสรุปว่าไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน ต่อมา วันที่ 1 เม.ย.2537 กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ใช้บังคับ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 6 ยุติเรื่องการออกโฉนดที่ดิน และต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.2546 ล จำเลยประกาศให้ที่ดินของโจทก์ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน โจทก์จึงยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องสิทธิในที่ดินมิใช่คำสั่งทางปกครองจึงโอนคดีมาพิจารณาที่ศาลชั้นต้น ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้อง (จำเลยที่ 7 ในคดีนี้-เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ส่วนแยกถลาง) พิจารณาดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดี ต่อมา จำเลยที่ 5 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินของโจทก์ที่ 6 เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ เป็นของโจทก์ที่ 6 ห้ามจำเลยขัดขวางในการออกโฉนด และให้จำเลยออกโฉนดที่ดินตามคำขอแก่โจทก์
คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ทั้ง 7 สรุปได้ว่า
1.โจทก์ทั้งหก ไม่ใช่ผู้ครอบครองที่ดินโดยสุจริตจึงไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ เพื่อยึดถือครอบอครอลปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
2. จำเลยทั้งเจ็ดกระทำการตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
3. การออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้มีชื่อผิดพลาด ขณะนี้อยู่ในระหว่างเพิกถอนเอกสารสิทธิ ที่ดินพิพาทบางส่วนมีผู้มีชื่อดำเนินการขอออกเอกสารสิทธิก่อนแล้ว แต่ทางราชการไม่ออกเอกสารสิทธิให้เนื่องจากผู้ขอไม่อาจพิสูจน์สิทธิครอบครองได้ บางส่วนทางราชการเพิกถอนเอกสารสิทธิของผู้มีชื่อแล้วเนื่องจากการออกเอกสารสิทธิผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง เมื่อปี 2538 คณะกรรมการประสานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนกลางแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐและมีมติให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ผลการตรวจสอบปรากฎว่าเดิมที่ดินพิพาทอยู่ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัท วิเศษนุกูลกิจ จำกัด ตั้งแต่ปี 2506 ที่ดินพิพาทเป็นที่ราบชายทะเล น้ำขึ้นถึงบางส่วนและทับทะเลอ่าวบางเทา ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก และนับแต่ปี 2522 ภายหลังสิ้นสัมปทานบัตรเหมืองแร่ ไม่มีผู้ใดเข้าครอบครองที่ดินพิพาท และจากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากศป 2510 และปี 2520 ไม่ปรากฎร่องรอยการยึดถือครอบครองหรือทำประโยชน์แต่อย่างใด ที่ดินพิพาทย่อมกลับคืนมาอยู่ในความครอบครองดูแลของรัฐ
4.ทั้งไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดแจ้งการครอบครองและทำประโยชน์ต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน นับแต่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ และเมื่อปี 2521 ทางราชการประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจเพื่อออกหนงสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 วรรคสอง โดยปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานที่ดิน ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน แห่งท้องที่ที่ดินตั้งอยู่ตามกฎหมายแล้ว ก็ไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดแจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานและไม่ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่รังวัดทำการสำรวจที่ดินพิพาท เพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 27 ตรี แต่อย่างใด
5.ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิได้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทรกร้างว่างเปล่า จำเลยจึงรายงานและเสนอความเห็นให้สงวนที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณที่ดินพิพาทไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน ตามขั้นตอนของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์ภาค 8
คำพิพาษาของศาลชั้นต้น พิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ,ที่ 3,ที่ 4 และที่ 5 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาท
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ที่ 6 (นายธงชัย บุศราพันธ์) พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาทด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ประเด็นวินิจฉัยของศาลฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2546 จำเลยที่ 3 ประกาศสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐในหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ 178 ไร่ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามความในประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 20 (4) ตามประกาศ
โจทก์ทั้งหกอ้างว่า ที่ดินตามประกาศดังกล่าว ไม่ใช่ที่ดินของรัฐ แต่บางส่วนของที่ดินนั้นเป็นที่ดินโจทก์ทั้งหก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทไว้ ซึ่งตามแผนที่ดังกล่าวที่ดินที่โจทก์ทั้งหกอ้างว่าเป็นของตนนั้นติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โดยทิศตะวันตกจดทะเล ทิศตะวันออกจดทางสาธารณะ ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 4 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ดินพิพาทตามแผนที่ดังกล่าวแบ่งเป็นแปลงย่อยรวม 8 แปลง เรียงลำดับจากทิศเหนือไปทางทิศใต้
แปลงที่ 1 เนื้อที่ 48 ไร่ 1 งาน 10.6 ตารางวา แปลงที่ 2 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา แปลงที่ 3 เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 10.6 ตารางวา แปลงที่ 4 เนื้อที่ห้าไร่ 74 ตารางวา แปลงที่ 5 เนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 70.6 ตารางวาแปลงที่ 6 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา แปลงที่ 7 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 77.3 ตารางวา แปลงที่ 8 เนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 87.4 ตารางวา
โจทก์ที่ 1 อ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 3
โจทก์ที่ 2 อ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 2 แปลงที่ 4 และแปลงที่ 6
โจทก์ที่ 3 อ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 7
โจทก์ที่ 4 อ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 8
โจทก์ที่ 5 อ้างว่ามีสิทธิ์ครอบครองที่ดินแปลงที่ 5 และ
โจทก์ที่ 6 อ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 1
ที่ดินพิพาททั้งหมดทั้งแปดแปลงยังไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินและยังไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 5
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินของรัฐตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งเจ็ด ฝ่ายโจทก์ทั้งหกอ้างว่า รับโอนที่ดินพิพาทมาจากผู้ครอบครองที่ดินคนก่อนซึ่งครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับคือก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2497
จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งหกว่าผู้ครอบครองที่ดินพิพาทคนก่อนได้สิทธิ์ครอบครองในที่ดินพิพาทมาก่อนวันที่ 1ธันวาคม 2497 หรือไม่ หากโจทก์ทั้งหกไม่สามารถนำสืบให้รับฟังได้ว่าผู้ครอบครองที่ดินคนก่อนได้สิทธิ์ครอบครองมาก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2497 ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ซึ่งบัญญัติว่า “ที่ดินซึ่งมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ถือว่าเป็นของรัฐ” และมาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย”
เห็นว่า
โจทกที่ 1 บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 ราษฎรได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ก่อนปี 2494 แล้วได้โอนขายที่ดินกันเป็นทอดๆ จนถึงโจทก์ที่ 1 แต่ โจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ใดครอบครองทำประโยชนในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ที่ 1 โดยเริ่มครอบครองตั้งแต่เมื่อใด แล้วโอนขายกันมาเป็นทอดๆ อย่างไร โจทก์ที่ 1 นำสืบไม่สมฟ้อง ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าราษฎรได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 ก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2497
โจทก์ที่ 3 มีนายสิทธิโชค เดชภิบาล กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 3 มาเบิกความ อ้างว่าซื้อที่ดินมาจากนายประยงค์ เกียรติอารีย์ดี เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2534 ซึ่งนายประยงค์ ซื้อที่ดินมาจากนายสุนทร จิรพัฒนโสภณ และนายสุนทรซื้อที่ดินมาจากนายพรณรงค์ กิตติวิภาส และนายพรณรงค์ ซื้อต่อมาจาก นายประเสริฐ วิมลพันธ์ โจทก์เคยฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าว พยานอ้างว่าเป็นคนท้องถิ่นทราบความเป็นมาของที่ดินพิพาทว่าประชาชนเข้าครอบครองทำประโยชน์ มาก่อนปี 2497 เห็นว่า ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 3 ที่บรรยายฟ้องว่า มีการครอบครองทำประโยชนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2497 นั้น บุคคลผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ครั้งแรกเป็นผู้ใด เริ่มครอบครองเมื่อใด เป็นการนำสืบไม่สมฟ้องเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตามเอกสารอ้างว่าซื้อที่ดินมาจากนายประยงค์ (เกียรติอารีย์ดี) นั้น ระบุเขตติดต่อทางทิศตะวันออกว่าจดที่ดินบริษัทบางเทา เวลลอปเม้นท์ จำกัด แตกต่างกับสัญญาซื้อขายตามเอกสาร ที่ระบุว่า ที่ดินดังกล่าวทิศตะวันออกจดทางสาธารณะ ทำให้น่าสงสัยว่าจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกันหรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทในส่วนโจทก์ที่ 3 ได่มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนวันที่ 1 ธ.ค.2497 เช่นเดียวกัน
ข้อเท็จจริงตามทีโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 นำสืบจึงรับฟังไม่ได้ว่า นายสุเทพ แซ่ลิ่ม และ นายลำดวน สงคราม มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แม้จะมีการโอนต่อๆ มาหลายทอดถึงโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ได้สิทธิในที่ดินตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
@ 2 ขรก. พยานปากเอกจำเลย
ฝ่ายจำเลยที่นายสิทธิชัย พรหมชาติ อดีตข้าราชการสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ส่วนแยกถลาง มาเบิกความว่า ในปี 2544 จำเลยทำเรื่องขอสงวนที่ดินรกร้างว่างเปล่าจัดทำเป็นสวนเฉลิมพระเกียรต พยานสืบสวนทราบว่าที่ดินที่จะทำโครงการเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีเอกสารสิทธิ กับ จำเลยทั้งเจ็ดมี น.ส.รุจิรา ฉิมดี นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ สำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดิน มาเบิกความประกอบรายงานผลการอ่าน แปล และตีความภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณที่ดินพิพาท ปี 2510 ผลปรากฎว่าที่ดินพิพาททั้งแปดแปลงพี่นที่ส่วนใหญ่ปรากฎเป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ทางทิศตะวันออกปรากฎเป็นชายหาด ป่าชายเลน และเหมืองแร่ ทิศตะวันตกปรากฎเป็นทะเล
ในปี 2519 พื้นที่ส่วนใหญ่ปรากฎเป็นชายหาด ถัดจากป่าชายหาดไปทางทิศตะวันออกปรากฎเป็นหาดทราย บางส่วนมีสภาพเป็นป่าชายหาด และเหมืองแร่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของป่าชายหาดปรากฎเป็นหาดทราย และหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง
ส่วนในปี 2538 พื้นที่ส่วนใหญ่ปรากฎการเพาะปลูกไม้ผล บางส่วนเป็นหมู่บ้าน เส้นทาง และป่าชายหาด
@ พ.อ. กรมแผนที่ทหาร พยานโจทก์ น้ำหนักน้อย
เห็นว่าแม้โจทก์ทั้งหกจะมี พ.อ.ปิยะ จารุกาญจน์ หัวหน้าวิจัยและพัฒนา กรมแผนที่ทหาร เบิกความประกอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศว่า ในปี 2510 ที่ดินพิพาทมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศของพยานเพียงแต่เอาภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ปี 2510 มาถ่ายขยายแล้วเปรียบเทียบตีความเท่านั้น แตกต่างจากการวิเคราะห์ของ น.ส.รุจิรา ซึ่งเบิกความว่า อ่านภาพถ่ายทางอากาศจากภาพถ่ายขนาด 9 คูณ 9 นิ้ว โดยใช้เครื่องอ่านเป็นอุปกรณ์มองภาพสามมิติ โดยใช้วิธี ‘ดิจิไทซ์’ จึงมีความน่าเชื่อถือในเรื่องความถูกต้องแม่นยำมากกว่าวิธีการของ พ.อ.ปิยะ ซึ่งอาศัยความชำนาญของผู้อ่านแผนที่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ น.ส.รุจิรา ยังจบการศึกษา ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภูมิศาสตร์ และปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์ ทำงานในตำแหน่งนักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ระดับชำนาญงาน ทั้งยังขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำศาลยุติธรรม ด้านการวิเคราะห์แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
@ พยานหลักฐานของจำเลย น้ำหนักมากกว่า
ศาลฎีกาเห็นว่า ในปัญหาว่าที่ดินพิพาททั้งแปดแปลงเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินของรัฐนั้น พยานหลักฐานของจำเลยทั้งเจ็ดมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้งแปดแปลงยังเป็นที่ดินของรัฐ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งหกมานั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8