- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- มีเงินสด 5,287 บาท! บัญชีงบฯ บ.ผู้เสียหายคดีปล้น 196 ล.เยน นำเข้าครั้งที่ 5
มีเงินสด 5,287 บาท! บัญชีงบฯ บ.ผู้เสียหายคดีปล้น 196 ล.เยน นำเข้าครั้งที่ 5
เจาะงบการเงินย้อนหลัง 5 ปี บ. จี แอนด์ จี สโตนส์ ของ ‘ภัทริศ แต้รัตนชัย’ ผู้เสียหายคดีปล้นสะท้านกรุง 196 ล้านเยน แบกขึ้นเครื่องนำเข้าเงินจากญี่ปุ่น ลงบัญชีรอบสิ้นสุด 2559 มีเงินสด 5,287 บาท ฝากแบงก์1.1 ล้าน กำไรสะสม 1 แสนเศษ ก่อนเกิดเหตุนำเข้าครั้งที่ 5
สืบเนื่องจากคดีกลุ่มคนร้าย 5-7 คน สวมหมวกไหมพรมสีดำปิดบังใบหน้า ใช้ปืนก่อเหตุปล้นเงินสด 196 ล้านเยน มูลค่าประมาณ 60 ล้านบาทของนายภัทริศ หรือโตโต้ แต้รัตนชัย นักธุรกิจซื้อขายทองคำแท่งและส่งออกเครื่องประดับเพชรไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลางดึกวันที่ 2 ต.ค.2560 ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คนและมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการขยายผลอีกจำนวนหนึ่งคาดว่ามีผู้ร่วมขบวนการประมาณ 10 คน
กรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า นายภัทริศ แต้รัตนชัย ผู้เสียหายนั้น เป็นเจ้าของ บริษัท จี แอนด์ จี สโตนส์ จำกัด (G & G STONES CO.,LTD.) จดทะเบียนวันที่ 14 ม.ค. 2554 ทุน 2 ล้านบาท ประกอบกิจการทำเบเกอรี่ ค้าเพชร พลอย อัญมณี ที่ตั้งเลขที่ 119 อาคารบีไอเอส ชั้น 7 ห้อง 7 เอ 6 ถนนมเหสักข์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร บริษัทดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและเปลี่ยนผู้ถือหุ้นหลายครั้ง นายภัทริศ เข้ามาถือหุ้นครั้งแรกเมื่อ 23 ต.ค.2555 ร่วมกับนายคิม ยาง ซิค (MR.KIM YANG SIK) สัญชาติเกาหลี (REPUBLIC OF KOREA) กระทั่งชื่อหลายไปในราวการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2559 จนถึงปัจจุบัน นายวันจักร อิ่มแสง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่งบการเงินรอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2559 แจ้งว่ามีรายได้ 165,961 บาท ขาดทุนสุทธิ 78,286 บาท สินทรัพย์ 2,188,955 บาท หนี้สิน 15,400 บาท กำไรสะสม 173,555 บาท (อ่านประกอบ:เปิดธุรกิจ‘ภัทริศ’ผู้ขนเงินสด 196 ล.เยน-ทำเบเกอรี ค้าเพชร-แจ้งรายได้ 165,961 บ.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศราตรวจสอบงบการเงินเพิ่มเติมพบว่า
รอบปี 2555 (31 ธ.ค.2555) แจ้งว่ามีรายได้ 690,779 บาท ขาดทุนสุทธิ 192,197 บาท มีเงินสดและเงินฝากรวมกัน 98,334 บาท สินทรัพย์ 1,909,977 บาท หนิ้สิน 19,859 บาท
รอบปี 2556 รายได้รวม 2,037,392 บาท กำไรสุทธิ 587,873 บาท มีเงินสดและเงินฝากรวมกัน 286,311 บาท (เงินสด 85,421.40 บาท เงินฝาก 200,890.23 บาท) สินทรัพย์ 2,758,190 บาท หนี้สิน 280,199 บาท
รอบปี 2557 รายได้รวม 451,334 บาท ขาดทุนสุทธิ 330,696 บาท มีเงินสดและเงินฝากรวมกัน 1,110,130 บาท (เงินสด 88,075.17 บาท เงินฝาก1,022,055.18 บาท) สินทรัพย์ 2,424,894 บาท หนี้สิน 277,600 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
รอบปี 2558 รายได้รวม 508,315 บาท กำไรสุทธิ 104,547 บาท มีเงินสดและเงินฝากรวมกัน 916,820 บาท (เงินสด 100,000 บาท เงินฝากธนาคาร 816,820 บาท) สินทรัพย์ 2,270,641 บาท หนี้สิน 18,800 บาท
รอบปี 2559 รายได้รวม 165,961 บาท ขาดทุนสุทธิ 78,286 บาท มีเงินสดและเงินฝากรวมกัน 1,196,076 บาท (เงินสด 5,287.32 บาท เงินฝากธนาคาร 1,190,789.62 บาท) สินทรัพย์ 2,188,955 บาท หนี้สิน 15,400 บาท กำไรสะสม 173,555 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่คดีการปล้นเงิน 196 ล้านเยนนั้นมีข้อมูลจากคำให้สัมภาษณ์ของ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560 ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของนายภัทริศ หรือโตโต้ เจ้าของเงินที่ถูกปล้นเงินสด 196 ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 60 ล้านบาท นำเงินเยนเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้สามารถนำเงินสดต่างประเทศเข้าในประเทศ ไทยได้ไม่เกิน 15,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 495,000 บาท หากต้องการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามามากกว่านั้น ต้องขออนุญาตกรมศุลกากรกร ก่อนรายงานเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน (ปปง.) รับทราบตามมาตรฐาน FATF (Financial Action Task Force) เพื่อติดตามการเคลื่อนย้ายเงิน ที่ผ่านมานายภัทริศขออนุญาตนำเข้าเงินตราต่างประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง ส่วนครั้งที่ถูกปล้นถือเป็นครั้งที่ 5 (อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.thairath.co.th/content/1090065)
ถ้าดูจากข้อมูลงบการเงินในรอบ 5 ปี ของบริษัทผู้เสียหายเป็นฐานข้อมูลหลัก จึงเป็นปริศนาว่าไฉน!ธุรกิจของผู้เสียหาย มีกำไรสะสมเพียง 173,555 บาท โดยแสดงเงินสด หลักหมื่นถึง 1 แสนบาท ล่าสุดสิ้นปี 2559 เงินสดเพียง 5,287 บาท เงินฝากธนาคาร 1,190,789 บาท เท่านั้น
เป็นเงินของผู้เสียหาย เป็นเงินของบริษัท? หรือประกอบธุรกิจในบริษัทอื่น?
ต้องฟังข้อเท็จจริงจากฝั่งผู้เสียหายด้วยเหมือนกัน