- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดละเอียดหนี้ 600 ล. รถร่วมฯ ค้างชำระค่าตอบแทน ขสมก.
เปิดละเอียดหนี้ 600 ล. รถร่วมฯ ค้างชำระค่าตอบแทน ขสมก.
เปิดยอดหนี้รถร่วมฯ ค้างชำระ ขสมก. ผ่อนตามโครงสร้างค้างชำระบันทึก-ไม่บันทึก เฉียด 400 ล้าน ขณะที่หนี้ปัจจุบันอีกเกือบ 200 ล้าน ประธานสหภาพฯ ยันกรมการขนส่งทางบกต้องตัดสิทธิ์เอกชนไม่ชดใช้หนี้ ห้ามประมูลเส้นทางปฏิรูปใหม่
การออกมาเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ได้ยื่นหนังสือเสนอแนะถึงอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ห้ามมิให้สถานประกอบการรถร่วมโดยสารสาธารณะที่ยังค้างชำระค่าตอบแทนราว 800 ล้านบาท กับขสมก. เข้าร่วมประมูลเส้นทางเดินรถใหม่ในโครงการปฏิรูป 269 เส้นทาง เพราะถือว่าไม่มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน
โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจากกรมการขนส่งทางบกออกมา อย่างไรก็ตาม จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อเร่งรัดหนี้สิน หากไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารเอกชนร่วมบริการขนาดใหญ่ ค้างชำระค่าตอบแทน (ข้อมูล ณ ต.ค. 2559) กล่าวคือ
หนี้ผ่อนตามโครงสร้างค้างชำระ ทำบันทึกรับสภาพหนี้ (มติคกก.บริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชน ครั้งที่ 11/2556 วันที่ 8 ต.ค. 2556) รวมเป็นเงิน 204.38 ล้านบาท แบ่งเป็น
-หนี้ผ่อนตามโครงสร้างค้างชำระที่ทำบันทึกรับสภาพหนี้ (1 มี.ค. 2548-30 มิ.ย. 2550) รถโดยสารขนาดใหญ่ (รถธรรมดา และรถปรับอากาศ) รถมินิบัส 151.39 ล้านบาท
-หนี้ผ่อนตามโครงสร้างค้างชำระที่ทำบันทึกรับสภาพหนี้ (1 ก.ค. 2550-30 มิ.ย. 2556) รถโดยสารขนาดใหญ่ (รถธรรมดา และรถปรับอากาศ) รถมินิบัส 52.96 ล้านบาท
หนี้ค้างชำระค่าตอบเเทนรถเอกชนร่วมบริการ (ตามโครงสร้าง)
หนี้ผ่อนตามโครงสร้างที่ทำบันทึกเเละไม่ทำบันทึก
โดยการจัดเก็บหนี้ผ่อนตามโครงสร้างข้างต้นนั้น พบว่า ต.ค. และ พ.ย. ทั้งสองประเภท สามารถจัดเก็บได้เป็นเงิน 1,618,879 บาท (850,242 และ 768,637 บาท ตามลำดับ)
ทั้งที่ตามแผนการจัดเก็บหนี้ค้างชำระค่าตอบแทนตามโครงสร้างที่มาทำบันทึก ต้องมียอดชำระหนี้รวม 3.4 ล้านบาท/เดือน
ส่วนหนี้ตามโครงสร้างค้างชำระที่ไม่มาทำบันทึกขอขยายเวลา มีจำนวน 179.72 ล้านบาท
ดังนั้น หากรวมหนี้ที่ทำและไม่ทำบันทึกข้อตกลง จะมีจำนวนสูงถึง 384.08 ล้านบาท
ขณะที่หนี้ตามสัญญา (หนี้ปัจจุบัน) ของรถโดยสารธรรมดา รถโดยสารปรับอากาศ รถมินิบัส และรถตู้โดยสารปรับอากาศ มีจำนวน 196.74 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2559)
การจัดเก็บหนี้ค้างชำระค่าตอบเเทนตามโครงสร้างที่มาทำบันทึก เริ่มจัดเก็บเมื่อ 8 ต.ค. 2559
วีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธาน สร.ขสมก. กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกจะต้องห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการเอกชนที่ค้างชำระค่าตอบแทนเข้าร่วมประมูลเส้นทางปฏิรูปอย่างเด็ดขาด เพราะปล่อยไปจะเกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก เพราะค่าตอบแทนดังกล่าวถือเป็นรายได้ของรัฐ
พร้อมยืนยันข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่การมัดมือชก แต่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงกันไว้ว่า เมื่อนำรถโดยสารมาให้บริการประชาชนแล้วต้องจ่ายค่าตอบแทนตามเงื่อนไข แต่ที่ผ่านมากลับไม่ยอมจ่าย และ ขสมก.ไม่กล้าติดตามทวงหนี้
เหตุผลเพราะที่ผ่านมามีอดีตผู้บริหาร ขสมก.บางกลุ่ม ที่ออกไปแล้ว กลับเข้ามามีบทบาทในเส้นทางเดินรถ คล้ายผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อไม่ชำระค่าตอบแทน กลับไม่กล้าติดตามทวงหนี้ เพราะอดีตผู้บริหารรายนั้นเคยเป็นลูกพี่ของพนักงานมาก่อน จึงไม่กล้า แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่ามีใครบ้าง จึงเป็นที่มาให้รัฐเร่งตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของพนักงานที่มีอยู่ทุกตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล”
ประธาน สร.ขสมก. ระบุอีกว่า ค่าตั๋วโดยสารอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการเอกชนอ้างว่า ต่ำกว่าต้นทุน มีส่วนเป็นไปได้ที่ทำให้ขาดทุน แต่ต้องเข้าใจว่า ผู้จะมาประกอบการเดินรถต้องมีความพร้อม ซึ่งความจริงกิจการนี้รัฐต้องผูกขาด หากรายใดไม่มีความพร้อมไม่ควรจะมาดำเนินกิจการ อย่างไรก็ดี การเข้ามาดำเนินกิจการนั้นต้องไม่มุ่งแสวงหากำไรมากเกินไปด้วย เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่คอยให้บริการประชาชน
อย่างไรก็ตาม จำไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการเอกชนรายใดมีหนี้ค้างชำระค่าตอบแทนกับ ขสมก. บ้าง และมีจำนวนเท่าไหร่
สุดท้ายกรมการขนส่งทางบกจะรับข้อเสนอ สร.ขสมก. หรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด .
อ่านประกอบ:อ่วมหนี้รถร่วม! 75 บริษัท 600 ล. เอกชนโต้สหภาพฯ ใช้หนี้แสนล.ก่อน ค่อยขู่ตัดสิทธิ