- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- บทบาทหน้าที่ -ข้อควรระวัง ของนักข่าวในการลงพื้นที่รายงานข่าวเชิงสืบสวน
บทบาทหน้าที่ -ข้อควรระวัง ของนักข่าวในการลงพื้นที่รายงานข่าวเชิงสืบสวน
“..นักข่าวเชิงสืบสวน ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ยืนยันตรงกันว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของนักข่าวเป็นเรื่องสำคัญในการทำข่าวเชิงสืบสวน เพราะการลงพื้นที่จะทำให้นักข่าวได้เห็นภาพเหตุการณ์หรือข้อมูลจริงที่ชัดเจนด้วยตาของตนเอง มากกว่าการรอฟังคำแถลงของเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งจะได้รับทราบแค่ข้อมูลจากคำพูดหรือเอกสารประกอบเท่านั้น ...”
เป็นเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของคนในแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชน เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน จับกุม หลังมีผู้เสียหายแจ้งความให้ดำเนินคดีข้อหา 'บุกรุก' จากการลงพื้นที่ตรวจสอบหอพักของ หจก.สมถวิล เรียลเอสเตรท ย่านซอยพหลโยธิน 32 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ในช่วงบ่ายวันที่ 9 ส.ค.2560 เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหอพัก เพื่อใช้ประกอบการทำข่าวตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. หลังถูก ป.ป.ช. ไต่สวนการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ก่อนที่จะมีการยื่นประกันตัวออกมาด้วยวงเงิน จำนวน 15,000 บาท
คำถามสำคัญต่อกรณีนี้ คือ บทบาทหน้าที่ของนักข่าวในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูล มีความสำคัญ และข้อควรระวังอย่างไร ในกระบวนการรายงานข่าวเชิงสืบสวน
@ ข่าวเชิงสืบสวน (Investigative News)
ข่าวเชิงสืบสวน เป็นรูปแบบการรายงานข่าวประเภทหนึ่งของสื่อมวลชนที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมายาวนาน ว่าเป็นข่าวที่ทรงพลัง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมมากที่สุด โดยเฉพาะการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นมะเร็งร้ายกัดกินสังคม
เพราะกระบวนการทำงานของข่าวประเภทนี้ มุ่งเน้นการเจาะลึกข้อมูลที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ที่ถูกหมกเม็ดซ่อนงำไว้เพื่อประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจในการบริหารประเทศออกมาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้และรับทราบ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดความร่วมมือในการปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะ เกิดการระงับยับยั้งหรือยุติเรื่องนั้น รวมทั้งการลงโทษผู้เกี่ยวข้องด้วย
ในวงการวิชาชีพสื่อมักเรียกข่าวเชิงสืบสวนว่า 'ข่าวเจาะ' เพราะเป็นข่าวที่ได้มาด้วยการสืบค้นขุดเจาะเรื่องราวออกมาตีแผ่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามเหตุการณ์นั้นทุกประการ ภาษาทางวิชาการเรียกว่า “ข่าวสืบสวน” หรือในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า “Investigative Reporting” หรือ “Investigative Journalism” ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติเป็นศัพท์ในทางวารสารศาสตร์ว่า การรายงานข่าวแบบสืบสวน
ขณะที่กระบวนการและขั้นตอนการทำงานข่าวประเภทนี้จะมีมากกว่าการรายงานข่าวแบบปกติ ที่เรียกว่า “ข่าวประจำวัน” (Routine News) หรือ “ข่าวตรงไปตรงมา” (Straight News) นักข่าวที่ทำข่าวประเภทนี้ต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รวมถึงหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสืบค้นข้อมูลด้านเอกสาร การเสาะแสวงหาแหล่งข่าว การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนรอบด้าน รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริง
กล่าวโดยสรุป ข่าวเชิงสืบสวน (Investigative News) คือ ข่าวที่อธิบายปรากฏการณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ โดยนักข่าวต้องเข้าไปตรวจสอบ ติดตาม ในลักษณะเกาะติด เจาะลึก ขุดคุ้ยข้อมูลที่ซ่อนเร้นจากผู้มีอำนาจหน้าที่ โดยมีหลักฐานยืนยันชัดเจน มาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางใดทางหนึ่ง
@ ความสำคัญของการลงพื้นที่ ในกระบวนการรายงานข่าวเชิงสืบสวน
ในงานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการข่าวยอดเยี่ยมรางวัลมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กับการกำหนดบทบาท และแนวทางในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน” พบว่า ข่าวที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ตั้งแต่ปี 2515-2556 จำนวน 36 ข่าว ซึ่งมีลักษณะเนื้อหาข่าวเป็นเชิงสืบสวนทั้งสิ้น มีหลายข่าวที่ใช้เทคนิค หรือ กลยุทธ์การทำข่าวเชิงสืบสวน ในลักษณะการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในข่าว อาทิ
ข่าว “นาทราย” ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมปี 2517 โดย ปรีชา แสงอุทัย ผู้สื่อข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เป็นข่าวชิ้นแรกในจำนวน 36 ข่าว ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ที่มีการระบุถึงข้อมูลการส่งนักข่าวจากส่วนกลางลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลจริง เกี่ยวกับผลปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้านบ้านนาทราย อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย และสามารถขุดคุ้ยเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเข่นฆ่าราษฎรอย่างโหดเหี้ยม สะท้อนให้สังคมได้รับทราบถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม
ขณะที่รูปแบบการทำข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยในขณะนั้น จะมีการแบ่งเป็นทีมข่าวเจาะโดยเฉพาะ หรือเรียกกันว่าทีมข่าวหัวเห็ด ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 10 คน ทุกคนจะมีความพร้อมในการออกไปลุยเจาะข่าวได้ตลอดเวลา ในหลักการทำงานจะแบ่งออกเป็นทีมย่อย 2-3 คน ลงไปในพื้นที่หมู่บ้านนาทราย เข้าไปฝังตัวเพื่อเก็บข้อมูลแล้วนำข้อมูลมาเขียนเป็นรายงานสกู๊ปต่างๆ
ข่าว “การโค่นทำลายป่าเขาสอยดาว” ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมในปีต่อมา คือ 2518 ก็ปรากฏข้อมูลการส่งนักข่าวส่วนกลางลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลจริงเช่นกัน โดยร่วมกับนักศึกษาและกลุ่มชาวบ้าน เดินทางเข้าไปในพื้นที่ป่าเขาสอยดาวและพบว่านายทุนร่วมกับข้าราชการโค่นทำลายป่านับแสนไร่
ข่าว “ทุจริต รพช.” ที่ได้รับรางวันในปี 2522 , ข่าว “เผชิญหน้า ขจก.” ได้รับรางวัลในปี 2523 ของนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็ใช้เทคนิคการลงพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงของข่าวเช่นกัน
ข่าว “ซื้ออุปกรณ์การศึกษาของ ส.ปจ. จังหวัด” ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมในปี 2526 แม้จะไม่ได้มีการส่งนักข่าวจากส่วนกลางลงพื้นที่ แต่ก็มีการใช้นักข่าวภูมิภาค ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบราคาอุปกรณ์การศึกษาที่ขายในท้องตลาดกับราคาที่ ส.ปจ.จังหวัดจัดซื้อ ทำให้พบว่าราคาอุปกรณ์ในท้องตลาดถูกกว่าหลายเท่าตัว ซึ่งถือเป็นหลักฐานประกอบสำคัญในการตรวจสอบข่าวทุจริตชิ้นนี้
เช่นเดียวกับ ข่าว “ป่าดงใหญ่… ใครทำลาย” ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ในปี 2534 หลังจากที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ส่งผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางลงไปตรวจสอบข้อมูลจนพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลใช้อำนาจไม่ถูกต้องต่อพระประจักษ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระนักอนุรักษ์ ซึ่งข่าวนี้ ไทยรัฐให้ความสำคัญมากเพราะเล็งเห็นว่าการใช้อำนาจรัฐอย่างเคร่งครัดโดยไม่มองเหตุผลแวดล้อมอาจจะส่งผลร้ายให้กับส่วนร่วมสิ่งที่จะเป็นผลดี ขณะที่ปัญหาความยากลำบากการหาข่าวนี้มีอยู่ตลอด เพราะผู้สื่อข่าวต้องเข้าไปแฝงตัวอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้กล่าวเท็จระหว่างกลุ่มของพระประจักษ์กับกลุ่มข้าราชการ
นอกเหนือจากนี้ ยังมีข่าวที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมที่ใช้เทคนิคการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง อาทิ ข่าว “คนใช้-ซุกหุ้นหมื่นล้าน พิสดารแจ้งเท็จ ป.ป.ช.”, ข่าว “ คดีประวัติศาสตร์ : บทสะท้อนความล้มเหลวในการป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี”, ข่าว “ทลายวงจรอุบาทว์ ทุจริตหัวคิวแรงงาน”, ข่าว “เจาะขบวนการซุกไข้หวัดนก”, ข่าว “ทลายทุจริตบ้านเอื้ออาทรแสนล้าน ชักหัวคิว ปั้นราคาที่ดิน ประโยชน์ทับซ้อน เชือดวัฒนา เมืองสุข – บิ๊กเคหะฯ กับพวก”, ข่าว “เปิดโปง อบจ.ทั่วประเทศฮั้วเอกชนทุจริต ซื้อตำราห่วยแจกโรงเรียน, ข่าว “เปิดโปงขบวนการทุจริตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน”
รวมถึงข่าวที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ในกลุ่มประเภทข่าวอาชญากรรม ที่นักข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลในสถานที่เกิดเหตุ และติดตามการทำคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด เช่น ข่าว “คดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์”, ข่าว “ผ่าจรรยาบรรณหมอขบวนการซื้อขายไต”, ข่าว “ แกะรอยหมอผัสพรหาย… ลากหมอวิสุทธิ์สู่แดนประหาร” เป็นต้น
ขณะที่นักข่าวเชิงสืบสวน ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ยืนยันตรงกันว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของนักข่าวเป็นเรื่องสำคัญในการทำข่าวเชิงสืบสวน เพราะการลงพื้นที่จะทำให้นักข่าวได้เห็นภาพเหตุการณ์หรือข้อมูลจริงที่ชัดเจนด้วยตาของตนเอง มากกว่าการรอฟังคำแถลงของเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งจะได้รับทราบแค่ข้อมูลจากคำพูดหรือเอกสารประกอบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการลงพื้นที่ นักข่าวต้องทำการบ้านให้ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลภูมิหลังข่าว รวมถึงการตั้งคำถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีข่าวการซื้อขายที่ดินของบิดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ของนักข่าว มิใช่แค่ไปดูสภาพที่ดินที่มีการซื้อขายกันเท่านั้น แต่ควรจะต้องมีการไปสอบถามข้อมูลราคาซื้อขายที่ดินของบ้าน หรือหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบกับราคาที่ดินของบิดานายกฯ ที่ขายไปว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
นายภาสกร จําลองราช อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชน ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ในปี 2545 จากข่าว “ทลายวงจรอุบาทว์ ทุจริตหัวคิวแรงงาน” ที่ใช้ข้อมูลจากการลงพื้นที่ไปดูสภาพชีวิตความทุกข์ยากของแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ยืนยันว่าการลงพื้นที่มีความสำคัญกับการทำข่าวเชิงสืบสวนเป็นอย่างมาก
“นักข่าวเชิงสืบสวน มีวิธีการทำงานอยู่ 2 อย่าง คือใช้หัว กับใช้เท้า ซึ่งในส่วนของผมจะใช้เท้าในการทำงานเป็นหลัก ลงไปดูพื้นที่จริง ไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้รับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้เราเห็นข้อมูลอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการทำข่าวโดยใช้หัว ในการดูข้อมูลเอกสารหลักฐานอย่างเดียว”
สอดคล้องกับ เสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ที่ได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยม จากข่าว ‘ทลายทุจริตบ้านเอื้ออาทรแสนล้าน ชักหัวคิว ปั้นราคาที่ดิน ประโยชน์ทับซ้อน เชือดวัฒนา เมืองสุข – บิ๊กเคหะฯ กับพวก’ กล่าวยืนยันว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล มีความสำคัญกับการทำงานข่าวเชิงสืบสวนเป็นอย่างมาก ซึ่งในการลงพื้นที่ของนักข่าวมีทั้งการเปิดเผยตัวและไม่เปิดเผยตัว แต่ถ้าเป็นการเปิดเผยตัว ผู้สื่อข่าวจะต้องแนะนำตนเองเป็นทางการว่ามาจากสื่อใด พร้อมบอกวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่ามาทำข่าวอะไร และจะนำข้อมูลไปเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนการไม่เปิดเผยตัวสามารถทำใด ในกรณีที่พื้นที่ที่จะลงมีอันตรายและเสี่ยงภัย แต่การทำงานของนักข่าวจะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิ์ของเจ้าของสถานที่ เช่น ไม่เข้าไปอาคารสถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันปัญหาถูกฟ้องร้อง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมาก ผู้สื่อข่าวสามารถใช้ Google Earth เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการดูข้อมูลสถานที่ในเบื้องต้นก่อนก็ได้ โดยการกรอกข้อมูลสถานที่ที่จะไป แต่ข้อมูลอาจจะไม่เป็นปัจจุบันมากนัก ส่วนในกรณีที่จำเป็นต้องลงพื้นที่ ผู้สื่อข่าวสามารถใช้บริการ 1133 เข้ามาช่วยในการสอบถามข้อมูลที่อยู่เพิ่มเติม หรือในระหว่างการลงพื้น กรณีที่ไม่สามารถหาที่อยู่ที่จะไปได้ ก็สามารถที่จะไปสอบถามข้อมูลจากสำนักงานไปรษณีย์ในเขตพื้นที่ที่อยู่ที่นักข่าวจะเดินทางไป ซึ่งไปรษณีย์บางแห่งอาจจะมีการเรียกเก็บค่าบริการในราคา 100 บาท แลกกับข้อมูลในลักษณะการวาดภาพแผนที่ที่อยู่ที่จะเดินทางไปตรวจสอบข้อมูล
จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า การลงพื้นที่ มีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการรายงานข่าวเชิงสืบสวน
@ ข้อควรระวังของการลงพื้นที่ ในกระบวนการรายงานข่าวเชิงสืบสวน
ในกรณีของผู้สื่อข่าวอิศรา ที่ถูกแจ้งความให้ดำเนินคดีในข้อหา "บุกรุก" จากการลงพื้นที่ตรวจสอบหอพักของ หจก.สมถวิล เรียลเอสเตรท ย่านซอยพหลโยธิน 32 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์แบบมีส่วนรวม ในการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย สามารถสรุปข้อเท็จจริงการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลข่าวได้ดังนี้
- นักข่าว ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาบุกรุก ต้องการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการติดต่อสัมภาษณ์แหล่งข่าว เมื่อเดินทางไปถึงหอพัก ซึ่งประตูเปิดอยู่ ไม่ได้มีป้ายข้อความเขียนว่าห้ามเข้าแต่อย่างใด จึงถ่ายภาพและคลิปวีดิโอไว้ ก่อนจะเดินเข้าไปติดต่อสอบถามข้อมูลเรื่องหอพักเพื่อนำไปใช้ประกอบการทำข่าว และขอสัมภาษณ์ภรรยานายตำรวจชื่อดัง ตามขั้นตอนปกติ
โดยเริ่มต้นจากการไปสอบถามข้อมูลเรื่องราคาหอพัก เพื่อเช็คว่าที่นี่ประกอบธุรกิจหอพักจริงตามที่แจ้งการประกอบธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไว้หรือไม่ จากนั้นก็แสดงตัวว่าเป็นนักข่าว พร้อมแจ้งความประสงค์ขอสัมภาษณ์เจ้าของ ขณะที่คนดูแลไม่ได้พูดหรือไล่ให้ออกไปจากตัวอาคารแต่อย่างใด พร้อมบอกให้รอ จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาเชิญตัวไปสอบปากคำที่สน.ตามที่ปรากฎเป็นข่าว
-ด้านฝั่งผู้เสียหาย ยืนยันว่า นักข่าวรายนี้ ไม่ได้ขออนุญาตใคร เดินเข้าไปในหอพักเลย ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นนักข่าว และหอพักแห่งนี้ เป็นหอพักส่วนตัวบุคคล ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไป ขณะที่การแต่งกายของนักข่าว ใส่หมวกใส่เสื้อคลุมดูแล้วมีลักษณะไม่เหมือนเป็นนักข่าว กล้องถ่ายรูปก็ไม่มี
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่ง กล่าวแสดงความเห็นว่า ในการทำข่าว ผู้สื่อข่าวควรจะต้องพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าของก่อนว่า พร้อมที่จะยอมให้สัมภาษณ์หรือไม่ ไม่ใช่เดินดุ่มๆ เข้าไปเลย ถ้าเขาไม่ต้องให้สัมภาษณ์ก็ไม่ควรไปยุ่งอะไรด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลของทั้งสองฝั่ง ที่จะต้องไปว่ากันต่อในขั้นตอนการสู้คดีชั้นศาล หากมีการส่งเรื่องฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จากกรณีนี้ สามารถสรุปเป็นบทเรียนข้อควรระวังในการลงพื้นที่ เพื่อทำข่าวเชิงสืบสวน ได้หลายประเด็นดังนี้
1. ในการลงพื้นที่ตรวจสอบบ้าน หรือบริษัทห้างร้าน ที่ปรากฎในข่าว (ทั้งข่าวทรัพย์สิน และการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ) นักข่าวควรต้องพยายามติดต่อแหล่งข่าวทางโทรศัพท์ เพื่อขอสัมภาษณ์และขออนุญาตเข้าไปสัมภาษณ์เป็นทางการจนถึงที่สุดก่อน (ในการนำเสนอข้อมูลข่าวเรื่องหจก.ภรรยา พล.ต.อ.พัชรวาท สำนักข่าวอิศรา พยายามติดต่อผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถติดต่อได้)
2. แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อได้ และมีความจำเป็นต้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลจริงๆ นักข่าวควรเตรียมความพร้อมดังนี้
- แต่งกายให้สุภาพ ติดป้ายชื่อสังกัดองค์กรสื่อให้เห็นชัดเจน แจ้งความประสงค์กับบุคคลหรือผู้พักอาศัยภายในโดยทันที เมื่อเดินทางไปถึง ว่าเป็นนักข่าวจากที่ไหน ต้องการมาทำข่าวเรื่องอะไร และต้องการติดต่อขอสัมภาษณ์ใคร
- ห้ามเข้าไปในบ้านหรือบริษัท ห้างร้านต่างๆ โดยพลการ ให้กดกริ่งสัญญาณ เพื่อให้คนในบ้านออกมาพบ พร้อมขออนุญาตเข้าไปสัมภาษณ์ รวมถึงถ่ายภาพภายในบ้าน บริษัทห้างร้าน เป็นทางการ ในกรณีที่ต้องการจะพิสูจน์ว่า บ้าน บริษัท ห้างร้านมีตัวตนหรือทำธุรกิจจริงหรือไม่ นอกเหนือจากการถ่ายภาพจากบริเวณด้านนอกอาคาร
ข้อควรระวังที่สำคัญที่สุด คือ จะเข้าไปได้ ก็แต่เมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาในข้อกฎหมายบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (การพิจารณาคดีนี้ ตามมาตรานี้ ต้องดูว่าเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดครบถ้วนหรือไม่)
-หากบุคคลหรือผู้พักอาศัยภายใน แจ้งว่าประสงค์ว่าไม่ขอให้สัมภาษณ์ ให้ผู้สื่อข่าวทิ้งเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ และแจ้งความประสงค์ในการขอสัมภาษณ์ หากแหล่งข่าวเปลี่ยนใจจะได้ติดต่อกลับมาชี้แจงข่าวในภายหลังได้
ซึ่งแนวทางปฏิบัติในการลงพื้นที่ทำข่าวเชิงสืบสวนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นแนวปฏิบัติที่สำนักข่าวอิศราใช้ในการลงพื้นที่ทำข่าวเชิงสืบสวนเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะจุดยืนในการทำหน้าที่สื่อมวลชน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ
ทั้งหมดนี่ คือ บทเรียนข้อควรระวังในการลงพื้นที่ เพื่อทำข่าวเชิงสืบสวน ที่สามารถสรุปได้ จากกรณีปัญหาเรื่องนี้ และน่าจะเป็นประโยชน์ช่วยทำให้การลงพื้นที่ทำข่าวเชิงสืบสวนในโอกาสต่อไป
อ้างอิงเนื้อหาข้อมูลบางส่วนจาก งานวิจัยเรื่อง เรื่อง “พัฒนาการข่าวยอดเยี่ยมรางวัลมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กับการกำหนดบทบาท และแนวทางในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน”ปี 2558