- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- คดี 6 พันล. ธพว.ปล่อยให้ผู้บริหารแค่ 4 คนทำธุรกรรมหมื่นล. ‘ไอ้โม่ง’ลอยนวล?
คดี 6 พันล. ธพว.ปล่อยให้ผู้บริหารแค่ 4 คนทำธุรกรรมหมื่นล. ‘ไอ้โม่ง’ลอยนวล?
เปิด 4 ข้อสังเกตคดี ธพว. ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 6 พันล. เหตุเกิดปลายยุค ‘ทักษิณ ชินวัตร’ บิ๊กเนม รมว. บอร์ดที่เกี่ยวข้อง FRCD มีถึง 3 คณะ ปล่อยให้ผู้บริหารเพียง 4 คน ทำธุรกรรมระดับหมื่นล. โดยลำพัง ผู้อยู่เบื้องหลังลอยนวล?
กรณีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นจำเลย เพื่อเรียกค่าเสียหายตามสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate /IRS) บนบัตรเงินฝากชนิดดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวนคดีมีทุนทรัพย์รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2558 ต่อมา วันที่ 22 มิ.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพากษาของศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) โดยให้ ธพว. ชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในการยื่นฎีกาภายใน 30 วัน หลังจากมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามรายงานที่เสนอไปแล้ว (อ่านประกอบ:เปิดสำนวนในศาลแพ่งคดี 6 พันล. ธพว.รับฮั้วประมูล ผู้บริหารทุจริต บอร์ดไม่รู้เห็น)
คดีนี้แนวทางการต่อสู้ของ ธพว. ได้อ้างอิงพยานหลักฐานในหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหาร ธพว. มีการกระทำทุจริต และปกปิดข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ธพว. ทำให้คณะกรรมการ ธพว. สำคัญผิดในสาระสำคัญ ส่งผลให้นิติกรรมที่ ธพว. ทำกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นโมฆะ ธพว. จึงไม่ต้องรับผิดต่อยอดหนี้ตามฟ้อง
ดังนั้น จึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่า กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารธนาคารเพียง 4 คน ตามรายงานผลสอบสวนของธนาคารและส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการไต่สวน จริงหรือไม่?
มีข้อสังเกต ดังนี้
1.โครงการนี้อาจถูกกำหนดขึ้นมาจากผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใน ธพว. หรือไม่ ? โดยการระดมเงินทุนด้วยเครื่องมือทางการเงินของ ธพว. ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีกู้ยืมจากต่างประเทศ (การออกบัตรเงินฝากเพื่อขายให้กับนักลงทุนในต่างประเทศ อาจถือว่าเป็นการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศอย่างหนึ่ง) ซึ่งมีความเสี่ยงหลายด้านทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย อีกทั้ง ธพว.ไม่มีธุรกรรมทางการเงินที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อจะนำไปชำระหนี้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ จึงไม่เหมาะสมที่จะกู้ยืมเงินเป็นเงินตราต่างประเทศ โดย ธพว. สามารถระดมเงินทุนจากภายในประเทศได้อยู่แล้ว ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ธพว. ไม่เคยออก FRCD อีกเลย แต่ก็สามารถดำเนินกิจการไปได้ตามปกติ โดยแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ของ ธพว. เป็นเงินฝากจากหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ดังนั้น การกำหนดให้มีการออก FRCD ในครั้งนั้น อาจแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะกำหนดโครงการขึ้นมาเพื่อเป้าประสงค์บางอย่างจากสถาบันการเงินต่างชาติที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคู่สัญญา หรือไม่
2.การออก FRCD ครั้งนั้น ที่มีวงเงินสูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท นักการเมืองสมัยนั้นปล่อยให้คณะกรรมการธนาคารที่เป็นข้าราชการหรือผู้บริหารของ ธพว.ดำเนินการเรื่องนี้ไปเพียงลำพังโดยที่ตนไม่มีมีส่วนรับรู้ เป็นไปได้หรือไม่ ? เพราะในช่วงปี 2545-2549 เป็นช่วงที่ ธพว. ถูกแทรกแซงจากนักการเมืองอย่างรุนแรงทั้งในเรื่องการปล่อยสินเชื่อและการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเรื่อง FRCD เป็นการจัดซื้อจัดจ้างประเภทหนึ่ง ซึ่งสถาบันการเงินที่ชนะการเสนอราคาและได้เข้าทำสัญญากับ ธพว. จะได้รับรายได้เป็นจำนวนสูงนับพันล้านบาท ทั้งค่าตอบแทนจากสัญญา Underwriter ( 0.125 % ของจำนวนเงินต้นใน FRCD หรือเป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท) และค่าตอบแทนจากสัญญาป้องกันความเสี่ยง ตลอดอายุสัญญา 5 ปี ( คิดเพียง 1-2 % ต่อปี ของจำนวนเงินต้นใน FRCD จะเป็นรายได้ตลอดสัญญา ประมาณ 500-1,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย) อีกทั้งภายหลังยังได้เพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในสัญญาเพื่อให้เรียกเก็บค่าปรับเพิ่มได้อีกและเป็นจำนวนสูง ดังนั้น จากความผิดปกติในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปภายหลังการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงแล้ว ที่ทำให้ผู้ชนะการเสนอราคาได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยผู้เกี่ยวข้องของ ธพว.ไม่คัดค้าน
3.ศาลแพ่งฟังข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการการเงิน และคณะกรรมการบริหารร่วมกันเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อเท็จจริงที่ศาลแพ่งฟังเป็นยุติและใช้เป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ ทำให้เห็นถึงผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ในระดับที่สูงขึ้นไปอีกจำนวนหนึ่ง โดยศาลแพ่งฟังข้อเท็จจริงแยกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การจัดซื้อจัดจ้างหรือการคัดเลือก Underwriter มีการกระทำที่ไม่สุจริต โดยศาลแพ่งฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการการเงิน ร่วมกันเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อว่าจ้างสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดเป็น Underwriter จึงถือได้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ โดยในคำให้การของ ธพว.ระบุถึงการกระทำไม่สุจริตที่เอื้อประโยชน์ให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เช่น
-การประเมินข้อเสนอของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โดยให้คะแนนเต็มทุกรายการจำนวน 500 คะแนนเต็ม ในขณะที่ให้คะแนนผู้เสนอราคารายอื่นแตกต่างกันมาก ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินชั้นนำเช่นกัน
-การใช้แบบประเมินที่ฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหาร
-การยินยอมให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเพียงรายเดียวแก้ไขข้อเสนอ แต่ไม่ให้ผู้เสนอราคารายอื่นแก้ไขได้ด้วย
- การยอมรับเงื่อนไขของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่ระบุว่าหากได้รับคัดเลือกเป็น Underwriter แล้วจะต้องได้เป็นคู่สัญญาป้องกันความเสี่ยงด้วย ทำให้ ธพว. ถูกจำกัดทางเลือกในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงินอื่น ขณะที่ผู้เสนอราคาอีก 4 ราย ไม่มีเงื่อนไขข้อนี้ (สัญญาป้องกันความเสี่ยงจะสร้างรายได้ให้กับสถาบันการเงินที่ได้เป็นคู่สัญญาเป็นจำนวนสูงยิ่งกว่าสัญญา Underwriter)
-การยอมรับข้อเสนอที่มีการการเดินทางไป Roadshow ในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นการออกบัตรเงินฝากไม่ใช่ออกหุ้นกู้ จึงไม่จำเป็นต้อง Roadshow
-การเปิดเผยข้อเสนอของผู้เสนอราคารายอื่น ทำให้ข้อเสนอของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ชนะคู่แข่งรายสำคัญคือธนาคารบาร์เคลย์ เพียง 0.01 %
-การเรียกผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวคือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เพื่อต่อรองโดยไม่เรียกผู้เสนอราคาทุกรายเข้าต่อรอง โดยเฉพาะไม่เรียกผู้เสนอราคาที่ได้คะแนนอันดับถัดลงไปคือธนาคารบาร์เคลย์ ที่มีข้อเสนอใกล้เคียงกันมากเข้าต่อรอง
-การร่างสัญญาแต่งตั้ง Underwriter ระหว่าง ธพว. กับ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และส่งให้แต่ละฝ่ายพิจารณาล่วงหน้า ก่อนที่คณะกรรมการธนาคารของ ธพว.จะอนุมัติผลการคัดเลือก
โดยคำให้การของ ธพว. สรุปว่าเป็นการกระทำเอื้อประโยชน์ ทำให้ผู้เสนอราคารายอื่นเสียเปรียบ และเป็นการเอาเปรียบหน่วยงานของรัฐ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 โดยศาลแพ่งรับฟังตามคำให้การของ ธพว. ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต
ขั้นตอนที่ 2 การจัดให้มีอนุพันธ์ทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง (Cross Currency Swap หรือCCS ) มีการปกปิดข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการธนาคาร โดยศาลแพ่งฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า พนักงานของ ธพว. ปิดบังข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมต่อคณะกรรมการธนาคาร ทำให้คณะกรรมการธนาคารสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม ส่งผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะ ซึ่งสาระสำคัญที่ถูกปกปิดคือ การเพิ่มเติมข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในสัญญาป้องกันความเสี่ยงในภายหลังโดยไม่มีอำนาจ และไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคาร อีกทั้งหลีกเลี่ยงที่จะรายงานถึงการมีข้อกำหนดพิเศษให้กับคณะกรรมการธนาคารได้รับทราบในการประชุมแต่ละครั้ง (ซึ่งข้อกำหนดพิเศษดังกล่าวเป็นเหตุให้ ธพว. ถูกเรียกให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินถึง 6,000 ล้านบาท)
จากการฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติของศาลแพ่งดังกล่าว จึงทำให้เห็นถึงภาพรวมในเรื่องนี้ว่า คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการกระทำด้วยหรือไม่ ? ทั้งในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง (การคัดเลือก Underwriter) และขั้นตอนการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง ถึงแม้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการจัดจ้างบางคนไม่ได้ร่วมให้คะแนนในขั้นตอนการคัดเลือก แต่ถือว่ามีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ในฐานะคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ หรือจนกว่าจะถึงขั้นตอนการลงนามในสัญญา หากกรรมการคนใดคนหนึ่งพบหรือควรจะพบการกระทำที่ไม่ถูกต้องจะต้องทักท้วงและขอให้ยกเลิกการเสนอราคาครั้งนั้น แต่หากไม่ได้ทักท้วงหรือไม่ยอมรับรู้ก็จะต้องถือว่าเห็นพ้องด้วยหรือไม่
4.การลงโทษทางวินัยกับผู้บริหาร ธพว. และการกล่าวหาผู้กระทำผิดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เนื่องจากการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่าผู้กระทำทุจริตและถูกลงโทษวินัยร้ายแรงมีเพียง 4 คน โดยไม่เชื่อมโยงไปถึงกรรมการทุกคนในคณะกรรมการการเงิน และกรรมการทั้งหมดในคณะกรรมการบริหาร ซึ่งศาลแพ่งฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ ร่วมกันเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการกระทำไม่สุจริต โดยการสอบสวนข้อเท็จจริงในครั้งนั้น กระทำโดยรวดเร็วเพื่อที่จะนำเอาผลสรุปไปใช้เป็นเหตุผลในการแจ้งการเป็นโมฆะของสัญญา กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เพื่อให้ ธพว. ไม่ต้องชำระเบี้ยปรับตามสัญญาป้องกันความเสี่ยง ซึ่งจะต้องหาตัวผู้กระทำทุจริตมาลงโทษให้ได้จำนวนหนึ่งก่อน จึงได้สรุปว่ามีผู้บริหารของ ธพว. 4 คน กระทำทุจริต ซึ่งธุรกรรมที่มีวงเงินสูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาทเช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีผู้รับรู้และร่วมกระทำด้วยผู้บริหารเพียง 4 คน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง 2 คน ระดับกลาง 1 คน และระดับต้น 1 คน เท่านั้น
สำหรับคณะกรรมการชุดต่าง ๆ มีดังนี้
คณะกรรมการ ธพว. ซึ่งมีมติที่ประชุมอนุมัติให้ฝ่ายจัดการของ ธพว.ออกบัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวน 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ อนุมัติให้ ธพว.ทำสัญญาจ้างธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นตัวแทนในการขาย (Underwriter) และอนุมัติให้ ธพว.ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คือ คณะกรรมการ ธพว. ตามคำสั่งที่คณะกรรมการ ธพว.ที่ 5/2549 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2549 มีจำนวน 11 คน นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานกรรมการ นายจงเจตน์ บุญเกิด รักษาการกรรมการผู้จัดการธนาคารฯ เป็น กรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบเรื่องต่าง ๆ ของฝ่ายจัดการของ ธพว. ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการ ธพว. และเป็นคณะกรรมการบริหารที่ร่วมกับคณะกรรมการการเงิน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างตัวแทนในการขาย (Underwriter) คือคณะกรรมการบริหาร ตามคำสั่งคณะกรรมการ ธพว.ที่ 1/2548 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2548 จำนวน 5 คน นายอุทิศ ธรรมวาทิน ประธานกรรมการ มี นายอุตตม สาวนายน เป็นกรรมการอยู่ด้วย นายจงเจตน์ บุญเกิด รักษาการ กรรมการผู้จัดการธนาคารฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการบริหาร ในช่วงที่ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงซึ่งได้เพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปภายหลัง คือคณะกรรมการบริหาร ตามคำสั่งคณะกรรมการ ธพว.ที่ 6/2549 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2549 จำนวน 4 คน นายอุทิศ ธรรมวาทิน ประธานกรรมการ นายพงษศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธพว.กรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการการเงิน ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการวิเคราะห์และประเมินสถานภาพทางด้านการเงิน ทั้งกระแสเงินสดเข้าและกระแสเงินสดออก เพื่อให้มีสภาพคล่องที่เหมาะสมและเพียงพอ, ประเมินสภาพคล่องของธนาคาร, วิเคราะห์และพิจารณาประเมินต้นทุนทางการเงิน, กำหนดและปรับนโยบายและข้อจำกัด (Policies and limits) ในการดำเนินธุรกรรมทางการเงินและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ, พิจารณาปรับแผนปฏิบัติงานเชิงนโยบายการบริหารเงินและสภาพคล่องรวมทั้งการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน ฯลฯ โดยต้องมีการประชุมไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามความเหมาะสม เพื่อสรุปสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงสถานการณ์การระดมทุนด้วยเครื่องมือทางการเงิน คือคณะกรรมการการเงิน ตามคำสั่ง ธพว.ที่ 50/2549 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2549 จำนวน 7 คน นายจงเจตน์ บุญเกิด ประธานกรรมการ
ขณะที่ทางการเมือง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2548-2549 หรือช่วงปลายของรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร มีบุคคลในสายการเมืองที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ (ที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง) ในคณะกรรมการ ธพว. และ/หรือ คณะกรรมการบริหาร ได้แก่
นายอุตตม สาวนายน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) เป็นกรรมการ ธพว. และกรรมการบริหาร
นายกำธร ตติยกวี เป็นกรรมการ ธพว. และกรรมการบริหาร
นายพิสุทธิ์ ชลากรกุล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการบริหาร
ฝ่ายการเมืองในขณะนั้น (ปี 2548-2549) นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายทนง พิทยะ (ส.ค.2548-ก.ย.2549) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ไม่มีบุคคลทางการเมืองและคณะกรรมการถูกกล่าวหาจากกรณีดังกล่าว
ทั้งหมดเป็นข้อสังเกต กรณี 6,000 ล้านบาทที่ ธพว. แพ้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์
อาจเป็นตัวอย่างให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ได้เห็นว่าการให้ความร่วมมือกับบุคคลใดก็ตามที่ไม่สุจริต ท้ายที่สุดแล้วชะตากรรมจะเป็นเช่นไร?
อ่านประกอบ:
เปิดสำนวนในศาลแพ่งคดี 6 พันล. ธพว.รับฮั้วประมูล ผู้บริหารทุจริต บอร์ดไม่รู้เห็น
ไล่ออกผู้บริหาร 4 คน สังเวยเอื้อ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ เบื้องลึกคดี 6 พันล.ธพว.
ไขที่มาคดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว.ต้องใช้หนี้ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ 6 พันล.
ธพว.แพ้คดีในศาลอุทธรณ์ต้องใช้หนี้แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 6 พันล.