- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ส่องตัวเลขละเมิดทางเพศโดยคริสตจักร VS พระสงฆ์ไทย ขยะซุกใต้พรม 'รอยด่าง' แห่ง 2 ศาสนา
ส่องตัวเลขละเมิดทางเพศโดยคริสตจักร VS พระสงฆ์ไทย ขยะซุกใต้พรม 'รอยด่าง' แห่ง 2 ศาสนา
"...ในระหว่างปี 1950 – 2015 มีบาทหลวงถูกฟ้องร้องในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นจำนวนสูงถึง 6,528 ราย ...โดยร้อยละ 69 ของบาทหลวงที่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความมีสมณศักดิ์อยู่ในระดับเขต (diocese).." Vs. "...พระภิกษุสามเณรที่ก่อคดีส่วนมากเป็นพระที่มีพรรษามากกว่า 5 พรรษาขึ้นไปมีทั้งสิ้น 34 คดี คิดเป็นร้อยละ 11.9 เป็นพระมียศสำคัญ ๆ ถึงระดับเจ้าคุณชั้นสามัญ ส่วนการศึกษานักธรรมของผู้กระทำความผิดนั้นนักธรรมชั้นเอกมากที่สุด ส่วนการศึกษาเปรียญธรรมนั้นส่วนมากเป็นเปรียญธรรมตรี ส่วนการศึกษาทางโลกที่กระทำความผิดมากที่สุดเป็นประถมศึกษาปีที่ 6.."
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ภาพยนตร์เรื่อง 'สปอตไลท์' (spotlight) ได้สร้างความตื่นรู้ของสาธารณชนชาวอเมริกัน และชาวโลก ต่อปัญหาการละเมิดทางเพศจากสถาบันทางศาสนาเป็นอย่างมาก
กระนั้นแล้ว คดีต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสปอตไลท์ แท้จริงแล้วเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น
ในโลกแห่งความเป็นจริง เว็บไซต์ BishopAccountability.org จากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่จัดเก็บรวมรวบเอกสารเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในผู้เยาว์โดยคริสตจักร เปิดเผยว่า ในระหว่างปี 1950 – 2015 มีบาทหลวงถูกฟ้องร้องในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นจำนวนสูงถึง 6,528 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับนามานุกรมบิชอปในคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสหรัฐอเมริกาพบว่า จำนวนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 5.6 ของจำนวนบาทหลวงทั้งหมดที่ประจำการในช่วงเวลานั้น
โดยร้อยละ 69 ของบาทหลวงที่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความมีสมณศักดิ์อยู่ในระดับเขต (diocese)
ข้อมูลจากเครือข่ายเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศโดยพระคาธอลิก (The Survivors Network of those Abused by Priests : SNAP) เผยว่า จนถึงปี 2013 มีการรายงานกรณีพระคาธอลิกละเมิดทางเพศผู้เยาว์ต่อทางมุขมณฑลต้นสังกัดกว่า 10,667 ครั้ง เสียค่าชดเชยไปแล้วทั้งสิ้นเป็นจำนวนกว่า 400 ล้านหรืออาจสูงไปถึงหลักพันล้านดอลลาร์
หลังการเปิดโปงเรื่องนี้ที่อเมริกา สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงประเทศต่าง ๆ เร่งตรวจสอบสถาบันทางศาสนาของตนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่
@ โดยล่าสุด วิกฤตการณ์ครั้งนี้ฉาวไปไกลถึงวาติกัน
สำนักข่าว AP รายงานว่า พระคาร์ดินัลจอร์จ เพลล์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการเงินของพระสันตะปาปา ต้องลาศาสนกิจเพื่อกลับไปสู้คดีที่ประเทศบ้านเกิด
หลังตำรวจออสเตรเลียตั้งข้อหาว่าได้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศหลายต่อหลายครั้งเป็นประวัติการณ์ ระหว่างที่ประจำการเป็นอาร์ชบิชอปที่เมลเบิร์นและซิดนีย์
เบื้องต้นเจ้าตัวให้การปฏิเสธ โดยกล่าวว่าการกลับออสเตรเลียเป็นไปเพื่อ “ชำระชื่อเสียง” เท่านั้น โดยกล่าวว่ารอวันขึ้นศาล ส่วนตนนั้นรังเกียจการละเมิดทางเพศและเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้แจ้งเรื่องนี้ต่อพระสันตะปาปาตลอดมา
ทั้งนี้ ออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จัดให้มีการตรวจสอบกรณีละเมิดทางเพศผู้เยาว์ในคริสตจักรโรมันคาธอลิก โดยรายงานล่าสุดปีนี้ เปิดเผยว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีบาทหลวงร้อยละ 7 ของจำนวนทั้งหมดถูกฟ้องในกรณีดังกล่าว
@ ย้อนกลับมาดูข้อมูลคดีล่วงละเมิดทางเพศ ที่ผู้ก่อเหตุเป็นพระภิกษุสามเณร ในประเทศไทย
งานวิจัยในปี 2553 เรื่อง “ปัญหาการล่วงละเมิดจริยธรรมของพระภิกษุสามเณร ศึกษาเฉพาะกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์” ของ พระปรียะพงษ์ คุณปัญญา ระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายวัน ตั้งแต่ปี 2546 ถึง ปี 2550 พบว่า มีคดีที่พระภิกษุสามเณรเป็นผู้ก่อทั้งสิ้น 117 คดี
โดยคดีล่วงละเมิดทางเพศมากเป็นอันดับสองรองจากคดีฆาตกรรม จำนวน 35 คดี
และเมื่อสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้กระทำผิด พบว่าสาเหตุสองประการใหญ่ ๆ ได้แต่การอุปสมบทตามประเพณีและสภาพขาดการศึกษา
แม้ผู้ก่อคดีส่วนใหญ่จะมีการศึกษาทางศาสนาถึงชั้นนักธรรมโท แต่ทางโลกส่วนใหญ่ก็เป็นจบแค่ชั้นประถมศึกษา
ผลการวิจัยในส่วนการล่วงละเมิดทางเพศ มีรายละเอียดดังนี้
“จากข้อมูลของคดีล่วงละเมิดทางเพศที่ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์พบว่า พระภิกษุสามเณรที่ก่อคดีส่วนมากเป็นพระที่มีพรรษามากกว่า 5 พรรษาขึ้นไปมีทั้งสิ้น 34 คดี คิดเป็นร้อยละ 11.9 เป็นพระมียศสำคัญ ๆ ถึงระดับเจ้าคุณชั้นสามัญ ส่วนการศึกษานักธรรมของผู้กระทำความผิดนั้นนักธรรมชั้นเอกมากที่สุด ส่วนการศึกษาเปรียญธรรมนั้นส่วนมากเป็นเปรียญธรรมตรี ส่วนการศึกษาทางโลกที่กระทำความผิดมากที่สุดเป็นประถมศึกษาปีที่ 6
ส่วนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากข้อมูลของคดีล่วงละเมิดทางเพศที่ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์พบว่า เพศที่ล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด ได้แก่ เพศหญิง มีจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.1 ส่วนอายุของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นอยู่ระหว่าง 20 - 40 ปีโดยประมาณและยังไม่ได้มีการสมรสมากที่สุด ส่วนผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่อายุต่ำสุุดได้แก่ 8 ขวบ
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศกับผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์นั้นพบว่า ความสัมพันธ์กับคนสนิทมากที่สุดมีจำนวนทั้งสิ้น 24 คิดเป็นร้อยละ 64.8 ของสัดส่วนความสัมพันธ์ทั้งหมด ด้าน สถานที่ใช้เป็นที่กระทำความผิดมากที่สุด ได้แก่ กุฎิสงฆ์ มีทั้งสิ้น 17 คดี”
ทั้งนี้ การวิจัยไม่ได้ครอบคลุมกรณีที่การล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์
เมื่อปี 2559 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานวัตกรรมสื่อสารมวลชน กลุ่มวิชาเอกวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับรางวัล “ชมเชย” ข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น (พิราบน้อย) ประจำปี 2558 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จากการเปิดประเด็นเรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์ หอข่าว “ระวังภัยทางเพศ บวชเณรฤดูร้อน”
เนื้อข่าวเปิดเผยพฤติกรรมทางอินเตอร์เน็ตของบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งสวมเครื่องนุ่มห่มคล้ายพระภิกษุสงฆ์ เผยแพร่ภาพและคลิปอนาจารทั้งกับบุคคลธรรมดา และกับผู้เยาว์ มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนที่สื่อถึงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เช่น “สุขสันต์วันเด็ก วันนี้เด็กมาถวายตัวถึงที่xxxxเลย” และ “ของเณรวัดxxxxอายุ 14 ขอบอกว่าเด็ด”
ทั้งนี้ ในข่าวยังระบุว่า ผู้ปกครองครึ่งต่อครึ่งเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีหลังเกิดเหตุ เนื่องจากมองว่าเด็กผู้ชายถูกละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องเสียหายเท่ากรณีเด็กผู้หญิง
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลคดีล่วงละเมิดทางเพศโดย คริสตจักร และคดีล่วงละเมิดทางเพศโดย พระสงฆ์ไทย ที่เกิดขึ้น และ ซุกซ่อน เป็นขยะใต้พรมทั้ง 2 ศาสนา มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
เพื่อรอคอยการแก้ไขปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเสียที!
ภาพประกอบเรื่อง จาก เว็บไซต์พุทธะ