- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ไขที่มาคดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว.ต้องใช้หนี้ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ 6 พันล.
ไขที่มาคดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว.ต้องใช้หนี้ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ 6 พันล.
เจาะลึกคดีบัตรเงินฝาก FRCD 'ธพว.' ก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จ่ายเงินต้น 6,000 ล. ไม่รวมดอกเบี้ย 1,000 ล. ให้ 'ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด' โยงบอร์ดยุคปลายปี 2549 มีตำแหน่งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
กรณีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SBCT) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นจำเลย เพื่อเรียกค่าเสียหายตามสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate /IRS) บนบัตรเงินฝากชนิดดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวนคดีมีทุนทรัพย์รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2558 ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ ธพว. ชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าว ตามข่าวในสำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2560 (อ่านประกอบ : ธพว.แพ้คดีในศาลอุทธรณ์ต้องใช้หนี้แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 6 พันล.)
ย้อนความเป็นมาของเรื่องนี้ ดังนี้
เริ่มต้นจาก ธพว. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อ โดยแหล่งเงินทุนหนึ่งที่ ธพว. เลือกใช้เมื่อปี 2549 คือ การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ด้วยการออกบัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ( Floating Rate Certificate of Deposit หรือ FRCD) เพื่อขายให้กับนักลงทุนในต่างประเทศ
โดยเมื่อกลางปี 2549 คณะกรรมการธนาคารฯ มีมติที่ประชุมอนุมัติให้ฝ่ายจัดการของ ธพว. ออกบัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือ FRCD จำนวน 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินบาท 11,535 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) เพื่อนำออกขาย ซึ่งกระบวนการขาย FRCD จะต้องมีสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการขาย หรือเรียกว่า Underwriter โดยสถาบันการเงินที่เป็น Underwriter จะได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนที่ตกลงกันในการเสนอราคา ขณะที่ ธพว. จะต้องดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อคัดเลือกสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้และเสนอเงื่อนไขดีที่สุด หรือ ธพว. มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่การออก FRCD ในครั้งนั้น ถูกกล่าวหาใน 2 ขั้นตอน คือ
1) ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อคัดเลือกตัวแทนจำหน่าย (Underwriter) มีสถาบันการเงินชั้นนำของต่างชาติ 5 แห่ง ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน เสนอเข้ารับการคัดเลือก โดยกระบวนการคัดเลือกของ ธพว. ครั้งนั้น ถูกกล่าวหาว่าอาจไม่สุจริต มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอเข้ารับการคัดเลือกรายหนึ่ง ทั้งในเรื่องการประเมินข้อเสนอโดยให้คะแนนเต็มทุกรายการ และเรื่องอื่น ๆ จนทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา
2) ขั้นตอนการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง โดยสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่าย ตามเงื่อนไขของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กำหนดให้ ธพว. ต้องทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของ FRCD ไว้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ด้วย ซึ่งแตกต่างจากเงื่อนไขของสถาบันการเงินอื่นที่ไม่มีเงื่อนไขข้อนี้ ทำให้ ธพว. ต้องทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 หลังจากทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงกันเรียบร้อยแล้ว ได้มีพฤติกรรมเกิดขึ้นอีกคือในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2549 ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของ ธพว. ได้ร่วมมือกันกับผู้บริหารของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เพิ่มเติมข้อกำหนดพิเศษที่มีลักษณะเก็งกำไรจากการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาในภายหลัง ในลักษณะที่ทำให้ ธพว. มีข้อเสียเปรียบมาก โดยตกลงกันว่าหากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงคือ อัตราดอกเบี้ยประเภทระยะเวลา 6 เดือนในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารที่กรุงลอนดอน (London Interbank Offer Rate หรือ LIBOR) สูงหรือต่ำกว่ากรอบที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ ธพว. จะต้องจ่ายค่าปรับให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) สูงถึง 8.5 % ของจำนวนเงินใน FRCD ซึ่งการเพิ่มเติมข้อกำหนดพิเศษที่มีลักษณะเป็น Range Accrual Feature เช่นนี้เข้าไปในภายหลัง มีเหตุผลว่าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ ธพว. ได้รับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยจากอัตราสม่ำเสมอ มาเป็นจ่ายดอกเบี้ยที่มีอัตราแบบขั้นบันได คือ จากเดิมที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 6.4% ต่อปี คงที่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อมีข้อกำหนดพิเศษเพิ่มเข้าไปแล้ว ธพว. จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นขั้นบันไดคือ ปีที่ 1 อัตรา 3.75% ปีที่ 2 และปีที่ 3 อัตรา 4.25% ปีที่ 4 และปีที่ 5 อัตรา 8.8% โดยเฉลี่ยตลอด 5 ปี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ย 6.02% ต่อปี ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้เดิม 0.38% ต่อปี ซึ่งประโยชน์ที่ ธพว. ได้รับจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบใหม่ ต้องแลกเปลี่ยนกับความเสี่ยงจากถูกปรับในอัตราสูงถึง 8.5% หากอัตราดอกเบี้ย LIBOR หลุดจากกรอบที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่ามีความคุ้มค่าและสมควรจะตกลงเช่นนั้นหรือไม่
หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2550 อัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงลดลงต่ำกว่ากรอบที่ตกลงกันไว้ ทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เรียกเก็บค่าปรับจาก ธพว. เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท (จำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดี) ซึ่ง ธพว. ชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์ ธพว. กลับเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ ธพว. ชำระเงินให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ชำระเสร็จสิ้นอีกมากกว่า 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ ธพว. ต้องชำระมากกว่า 7,000 ล้านบาท เป็นอีกคดีหนึ่งที่หน่วยงานของรัฐต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนแบบที่ไม่ควรจะต้องจ่าย ?
ต้องรอดูผลสุดท้ายในศาลฎีกา
มีข้อมูลระบุว่า กรรมการธนาคารคนหนึ่งในขณะนั้นซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ยุคปลายปี 2549 มีตำแหน่งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน