- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลัง! ก.อบต.เลิกบรรจุ พนง. ตำบลในแม่ฮ่องสอน-มรภ.เชียงใหม่ต้นเหตุ?
เบื้องหลัง! ก.อบต.เลิกบรรจุ พนง. ตำบลในแม่ฮ่องสอน-มรภ.เชียงใหม่ต้นเหตุ?
“…ไม่ทราบว่าเกิดเหตุจากอะไรทำให้ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน รื้อเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนจะส่งเรื่องไปหารือกับ ก.อบต.กลาง กระทั่ง ก.อบต.กลาง มีมติเลิกบรรจุดังกล่าวออกมา อย่างไรก็ดีในกระบวนการจัดสอบต่าง ๆ เป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส และเรื่องความผิดพลาดเป็นอำนาจของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ มรภ.เชียงใหม่ สิ่งที่ต้องถามกลับไปคือ เหตุใด มรภ.เชียงใหม่ จึงไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีลับลมคมในอะไรหรือไม่…”
ประเด็นการสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง !
ภายหลังกลุ่มข้าราชการ จ.แม่ฮ่องสอน ตบเท้าเข้าร้องเรียนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.กลาง สังกัดกรมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย) มีมติยกเลิกการบรรจุพนักงานส่วนตำบล และข้าราชการที่ขอรับรองบัญชีจากฝ่ายปฏิบัติไปสู่ฝ่ายวิชาการ เบื้องต้นมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 151 คน และตัวเลขอาจเพิ่มไปถึงหลักพันคน
โดยประเด็นที่ ก.อบต.กลาง นำมาใช้เพื่อยกเลิกการบรรจุ และยกเลิกการรับรองบัญชี คือ การจัดสอบดังกล่าวมีการตั้งคณะกรรมการสอบ และการคัดเลือกข้อสอบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน
อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ ในการสอบแข่งขันนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานกลางรับผิดชอบการจัดสอบ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิมพ์ข้อสอบ และคณะกรรมการออกข้อสอบชุดเดียวกัน ทั้งที่ตามหลักเกณฑ์ต้องเป็นคนละชุด รวมถึงการออกข้อสอบแบบปรนัยคนละ 100 ข้อ รวม 300 ข้อ หลังจากนั้นคัดเลือกให้เหลือรายวิชาละ 100 ข้อ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่ต้องออกข้อสอบอย่างน้อย 500 ข้อด้วย
ประเด็นที่ถูกกลุ่มข้าราชการตั้งคำถามคือ ทำไม ก.อบต.กลาง ถึงกลับมารื้อเรื่องนี้อีกครั้ง ทั้งที่การสอบดังกล่าวดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ค. 2558 หรือราว 2 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้น ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ ก.อบต.กลาง มีมติรับรองผลการสอบไปแล้วด้วย
อีกเงื่อนปมสำคัญคือ ทำไม มรภ.เชียงใหม่ ถึงดำเนินการขัดหลักเกณฑ์ที่วางไว้แต่ต้น ทั้งที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบการจัดสอบ จำเป็นต้องทราบระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขมวดสองเงื่อนปมสำคัญที่ ก.อบต.กลาง มีมติเพิกถอนการบรรจุพนักงานส่วนตำบลใน 8 อบต. จ.แม่ฮ่องสอน ดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้
หนึ่ง ประเด็นการจัดสอบ การขอรับรองบัญชี และการบรรจุแต่งตั้ง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ก.อบต.กลาง ระบุว่า การขอรับรองบัญชี และการบรรจุแต่งตั้ง เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยอ้างว่า มรภ.เชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานกลางรับผิดชอบการสอบแข่งขัน แต่งตั้งคณะกรรมการจัดพิมพ์ข้อสอบ และคณะกรรมการออกข้อสอบ เป็นชุดเดียวกัน ซึ่งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับกระบวนการจัดสอบแข่งขัน พ.ศ.2558 ของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน นั้น คณะกรรมการต้องเป็นคนละชุด เพื่อป้องกันการทุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี กลุ่มข้าราชการเห็นว่า ขั้นตอนของหลักเกณฑ์ และกระบวนการสอบแข่งขันต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของกฏหมายเป็นสำคัญ ดังนั้นที่ มรภ.เชียงใหม่ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดพิมพ์ข้อสอบ และคณะกรรมการออกข้อสอบชุดเดียวกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น ย่อมแสดงว่าการที่ มรภ.เชียงใหม่ ดำเนินการ แม้ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ แต่มิได้กระทบสาระสำคัญของกระบวนการจัดสอบที่มีผลให้เกิดการทุจริตแต่อย่างใด และรายงานการประชุมของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ ก.อบต.กลาง ยืนยันว่า การสอบดังกล่าวไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น อีกทั้งเป็นกระบวนการผิดพลาดของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ มรภ.เชียงใหม่ เอง จะอ้างความผิดพลาดภายในเป็นเหตุเพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวไม่ได้
สอง ประเด็นการออกข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือกคนละ 100 ข้อ รวม 300 ข้อ แต่มีการคัดเลือกให้เหลือเพียง 100 ข้อ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
กลุ่มข้าราชการ เห็นว่า ก.อบต.กลาง ไม่ได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า วิธีการออกข้อสอบดังกล่าวจะทำให้ข้อสอบที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ และผู้ที่สอบได้ดังกล่าวจากการทดสอบด้วยวิธีนี้จะเป็นผู้ไม่มีความสามารถตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เพราะเป็นสาระสำคัญที่จะอ้างเหตุเพิกถอน หากไม่ปรากฏว่า ข้อสอบดังกล่าวต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ไม่ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ จึงไม่สามารถเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้
ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวของ ก.อบต.กลาง จึงรีบด่วนสรุปเกินไป โดยไม่ได้หารือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายปกครอง ได้แก่ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเสียก่อน อีกทั้งเป็นการเร่งดำเนินการโดยไม่รับฟังและให้โอกาสแก่ผู้ถูกกระทบสิทธิได้ชี้แจงแสดงเหตุผล
แหล่งข่าวจากกลุ่มข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ที่มาที่ไปของเรื่องเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2560 ที่ไม่ทราบว่าเกิดเหตุจากอะไรทำให้ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน รื้อเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนจะส่งเรื่องไปหารือกับ ก.อบต.กลาง กระทั่ง ก.อบต.กลาง มีมติเลิกบรรจุดังกล่าวออกมา อย่างไรก็ดีในกระบวนการจัดสอบต่าง ๆ เป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส และเรื่องความผิดพลาดเป็นอำนาจของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ มรภ.เชียงใหม่ สิ่งที่ต้องถามกลับไปคือ เหตุใด มรภ.เชียงใหม่ จึงไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีลับลมคมในอะไรหรือไม่ เท่าที่ทราบล่าสุด มรภ.เชียงใหม่ ได้ชี้แจง ก.อบต.กลาง แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผย ขณะเดียวกัน ก.อบต.แม่ฮ่องสอน เตรียมจะประชุมเกี่ยวกับกรณีนี้ในวันที่ 23 พ.ค. 2560 เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ
นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการบรรจุพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา มีประเด็นเกี่ยวกับการจัดสอบพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล กระทั่งนำไปสู่ จ.มหาสารคาม ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สรุปเรื่องส่งให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทั่งมีการลงมติชี้มูลความผิดนายก อบต. และข้าราชการที่เกี่ยวข้องล็อตแรกไปแล้ว
ต้องจับตาดูว่า การดำเนินการจัดสอบของ ก.อบต.แม่ฮ่องสอน และ มรภ.เชียงใหม่ ในกรณีนี้ จะมีบทสรุปตอนท้ายอย่างไร ?
อ่านประกอบ :
มีอีก 15 คน! นายก อบต.สารคามฯพันปมจัดสอบฉาว-ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหาเพิ่ม
จ่าย6แสนแก้คะแนน!ป.ป.ช.ฟัน2นายก อบต. สารคามฯ-อ.จุฬาฯปมจัดสอบฉาว
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบ 32 นายก อบต.สารคามพันปมจัดสอบฉาวแล้ว
ถึงคิวอบต.ยางสีสุราช-สารคาม!ป.ป.ช. แจ้งข้อหาพันปมสอบฉาว-คนสมัครโดนด้วย
เบื้องหลัง! ม.44 เชือด‘ขรก.-นายก อบต.’ ยกสารคามฯปมจัดสอบ พนง.ฉาว?