- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- สรุปเงื่อนปม ม.44 เปิดช่องสรรหา ‘คตง.'ต่ออายุ'ผู้ว่า สตง.’-จับตาคนใหม่?
สรุปเงื่อนปม ม.44 เปิดช่องสรรหา ‘คตง.'ต่ออายุ'ผู้ว่า สตง.’-จับตาคนใหม่?
"...สรุปคือ หากมี คตง. รายใดพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ยังสามารถรักษาการอยู่ได้ภายใน 60 วัน จนกว่าจะมีการสรรหา คตง. รายใหม่มาทดแทน ส่วนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จากเดิมที่ครบกำหนดเกษียณตาม พ.ร.บ.สตง. คืออายุครบ 65 ปีในเดือน เม.ย. 2560 ให้ต่ออายุจนกว่าจะถึงวันที่ 23 ก.ย. 2560 ที่ครบตามวาระประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557 หลังจากนั้นหัวหน้า คสช. เลือกรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายใดรายหนึ่งขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน จนกว่า คตง. จะสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายใหม่ และส่งให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วเสร็จ..."
ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการสรรหาองค์กรอิสระเริ่มชัดเจนขึ้นทันที แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศ-คำสั่งหัวหน้า คสช. งดเว้นการสรรหา
จนเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 เรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้นเมื่อหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 23/2560 แก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เกี่ยวโยงกับผู้ดำรงตำแหน่งใน 3 องค์กรอิสระสำคัญ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
โดยกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นเก้าอี้ภายใน 180 วัน ให้สรรหาใหม่ภายใน 60 วัน กรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พ้นเก้าอี้ภายใน 180 วัน ให้สรรหาใหม่ภายใน 60 วัน โดยทั้งสองตำแหน่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และอยู่ได้วาระเดียว
(อ่านประกอบ : ม.44 เปิดช่องเลือก‘ตุลาการศาล รธน.-คตง.-ผู้ว่า สตง.’ใหม่ นั่ง 6-7 ปีวาระเดียว)
แต่กรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินค่อนข้างจะซับซ้อนเล็กน้อย ?
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 ที่เกี่ยวกับการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินไว้ ดังนี้
ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว ระบุว่า ให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยการเสนอชื่อจาก คตง. และการพ้นตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำสั่งนี้ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วกยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.สตง.) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และอยู่ได้วาระเดียว
แต่ประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามคือ ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ สรุปว่า ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557 โดยให้งดเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติตามมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.บ.สตง. (หมายถึงอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์จึงพ้นจากตำแหน่ง) และเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้ คตง. ดำเนินการคัดเลือก หรือสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน และเสนอชื่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ที่พ้นจากตำแหน่ง
ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้หัวหน้า คสช. แต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่งทำหน้าที่รักษาการไปพลางก่อน จนกว่าจะแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่แล้วเสร็จ
ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557 ระบุสาระสำคัญถึงวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า ให้ คตง. และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยมิให้นำบทบัญญัติที่ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียงวาระเดียวมาใช้บังคับ เว้นแต่ผู้นั้นได้รับการสรรหาเป็น คตง. หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอีกวาระหนึ่ง ให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็น คตง. ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 ปี และให้ผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 ปี
อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ กรณีหากมี คตง. รายใดเกษียณจากตำแหน่งภายหลังคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะสามารถอยู่รักษาการได้ต่อภายใน 60 วัน จนกว่าคณะกรรมการสรรหาจะสรรหา คตง. รายใหม่ แล้วเสร็จ และส่งให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ
ส่วนกรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะแตกต่างกันคือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน (นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส) จะเกษียณตามมาตรา 34 (2) พ.ร.บ.สตง. (อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์) ช่วงเดือน เม.ย. 2560 แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ จึงเลื่อนการเกษียณไปเป็นวันที่ 23 ก.ย. 2560 ซึ่งครบ 3 ปี ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557 และเมื่อเกษียณในวันที่ 23 ก.ย. 2560 แล้วจะพ้นจากตำแหน่งทันที โดยหัวหน้า คสช. จะเลือกรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายใดรายหนึ่งขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ใน 60 วันจนกว่า คตง. จะสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายใหม่เสร็จ และส่งให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ
สรุปคือ หากมี คตง. รายใดพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ยังสามารถรักษาการอยู่ได้ภายใน 60 วัน จนกว่าจะมีการสรรหา คตง. รายใหม่มาทดแทน ส่วนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จากเดิมที่ครบกำหนดเกษียณตาม พ.ร.บ.สตง. คืออายุครบ 65 ปีในเดือน เม.ย. 2560 ให้ต่ออายุจนกว่าจะถึงวันที่ 23 ก.ย. 2560 ที่ครบตามวาระประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557 หลังจากนั้นหัวหน้า คสช. เลือกรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายใดรายหนึ่งขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน จนกว่า คตง. จะสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรายใหม่ และส่งให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วเสร็จ
สำหรับเหตุผลและความจำเป็นที่หัวหน้า คสช. ต้องออกคำสั่งดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจาก คตง. และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือน ก.ย. 2560 ขณะที่ พ.ร.บ.สตง. ฉบับใหม่ยังออกไม่ทัน จึงต้องมีการสรรหาก่อน โดยจะประสานเป็นการภายในกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถึงแนวทางการสรรหาให้สอดคล้องกับกฎหมายลูกที่จะออกมา ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 ราย จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงเดือน พ.ค. 2560 นี้เช่นกัน จึงต้องดำเนินการสรรหาใหม่
นี่คือรายละเอียดเชิงกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการสรรหา 3 ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใหม่ ซึ่งอาจเป็นบรรทัดฐานใส่ไว้ในกฏหมายลูกก็เป็นไปได้
ส่วนจะมีนัยทางการเมืองแอบแฝงไว้หรือไม่ โดยเฉพาะตำแหน่ง คตง. และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นตำแหน่งค่อนข้างสำคัญในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด !