- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ขมวดปม‘ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟ’ร้อง‘กฟน.’จ่าย 33.7 ล. -แก้สัญญา5รอบ-เรื้อรัง 8 ปี
ขมวดปม‘ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟ’ร้อง‘กฟน.’จ่าย 33.7 ล. -แก้สัญญา5รอบ-เรื้อรัง 8 ปี
เกือบ 8 ปี! ปัญหา 'บ.ดาตั้มฯ-กฟน.' ก่อนยื่นอนุญาโตฯ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พบแก้ไขสัญญาจ้าง 5 ครั้ง ขยายเวลางานจาก 510 เป็น 2,066 วัน เพิ่ม-ลดค่าจ้าง ขณะที่ ผ่านหลายชุดผู้บริหารยังแก้ปมเงื่อนไม่ได้ ด้านผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟเรียก 33.7 ล. เหตุผิดสัญญาทำเสียหาย
กรณี นายวีรพงษ์ ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาตั้มไทย คอนสตรัคชั่น จำกัด เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranewsorg เกี่ยวกับปัญหาการถูกการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง และจ่ายคืนค่าจ้างล่วงหน้า จากการเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สถานีต้นทางวิภาวดี สถานีย่อยวังเพชรบูรณ์ บริเวณ ถ.ราชปรารภ กรุงเทพฯ
ขณะที่ บริษัทฯ ได้ยื่นเสนอข้อพิพาทกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้อนุญาโตตุลาการพิจาณา เนื่องจากเมื่อ 29 ม.ค. 2558 กฟน.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง และจ่ายคืนค่าจ้างล่วงหน้าถึงบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สถานีต้นทางวิภาวดี สถานีย่อยวังเพชรบูรณ์ บริเวณ ถ.ราชปรารภ กรุงเทพฯ
นายวีรพงษ์ ระบุว่า ข้อพิพาทที่ยื่นให้อนุญาโตฯ พิจารณานั้น ได้ขอให้ กฟน. ชำระค่างวดงานที่ 10 เป็นเงินจำนวน 5,998,427.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ กฟน. ปฏิเสธไม่รับงวดงาน (13มี.ค.2557) ซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่เสนอข้อพิพาทเป็นเงิน 877,575.60 บาท รวม 6,876,002.89 บาท และขอให้จ่ายเงินค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการค่าเครื่องจักร วันละ 20,192.20 บาท รวมระยะเวลา 1,226 วัน เป็นเงิน 24,755,637.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,126,269.86 บาท รวมเป็นเงิน 26,881,907.06 บาท โดยห้ามไม่ให้ กฟน. บังคับตามหนังสือค้ำประกัน และให้คืนหนังสือค้ำประกันสัญญาของ ธ.กรุงศรีฯ ทั้งหมดให้แก่บริษัทฯ รวมเรียกร้องเป็นเงินทิั้งสิ้น 33,757,909.95 บาท พร้อมดอกเบี้ย
(อ่านประกอบ : ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟกทม. ร้องอนุญาโตฯ ให้ กฟน.จ่าย 33.7 ล. อ้างผิดสัญญา)
เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมากขึ้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหนังสือคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 15/2559 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2559 ระหว่าง บริษัท ดาตั้มไทย คอนสตรัคชั่น จำกัด (ผู้ร้องเรียน) กับ การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. (ผู้คัดค้าน) ที่ นายปริญ เกษะศิริ ผู้รับมอบอำนาจบริษัทฯ เรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ มาเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
การลงนามในสัญญาเริ่มต้นขึ้น เมื่อ 1 ก.ย. 2551 โดย นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการ กฟน. (ขณะนั้น) ได้ลงนามในสัญญาจ้างเลขที่ ฝอบ.ค.6/2550 ว่าจ้าง บริษัท ดาตั้มไทยฯ ให้ทำการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สำหรับสถานีต้นทางวิภาวดี สถานีย่อยวังเพชรบูรณ์ โดยวิธี Pipe Jacking ,Horizontal Direction Drilling และ Open Cut (วิธีดันท่อร้อยสายและเปิดผิวจราจรขุดบ่อ) โดย มีข้อตกลงดังต่อไปนี้
วันเริ่มต้นสัญญา 10 ต.ค. 2551 วันสิ้นสุดสัญญา 3 มี.ค. 2553 รวมระยะเวลา 510 วัน วงเงิน 73,940,000 บาท บริษัท ดาตั้มไทยฯ วางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ จำนวน 7,394,000 บาท ให้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อเป็นหลักประกัน และได้คืนเมื่อพ้นข้อผูกพันตามสัญญา (หากไม่เกิดความเสียหายใดๆ แก่งานก่อสร้าง) โดย กฟน. ตกลงจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 11,091,000 บาท เท่ากับร้อยละ 15 ของราคาค่าจ้างตามสัญญา และจะจ่ายภายหลังจากบริษัทฯ ได้วางหลักประกันการรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าเต็มตามจำนวนค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่ กฟน. ตามหนังสือค้ำประกันของ ธ.กรุงศรีอยุธยาฯ ลงวันที่ 1 ก.ย. 2551 จำนวน 11,867,370 บาท
โดยในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่าง บริษัท ดาตั้มไทยฯ กับ กฟน. เกี่ยวกับข้อกำหนดในสัญญา หรือไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อพิจารณาชี้ขาด
ทั้งนี้ บริษัท ดาตั้มไทยฯ ได้ดำเนินงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินตามสัญญาจ้าง โดยส่งมอบงาน เบิกและได้รับเงินจาก กฟน. ตามเนื้องาน จนเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 บริษัทฯ ได้มีจดหมายแจ้งลิขสิทธิ์ให้แก่ กฟน. ระบุปัญหาที่เกิดจากการออกแบบผิดพลาด กฟน. จะต้องรับผิดชอบในภาระค่าใช้จ่าย ต่อมา 23 ธ.ค. 2552 มีการบันทึกแก้ไขสัญญาจ้างครั้งที่ 1 โดยเปลี่ยนแปลงขนาดบ่อพัก MH4 และ MH5 ให้ยาวลึกลงไปอีกประมาณ 2 เมตร โดยเพิ่มค่าจ้างอีก 3,121,105.56 บาท ขยายระยะเวลาทำงาน 107 วัน (รวม 617 วัน) สิ้นสุดสัญญาวันที่ 18 มิ.ย. 2553 และมีการเรียกหลักประกันจากบริษัทฯ เพิ่มเติม
ต่อมา 1 ต.ค. 2553 มีปัญหาการก่อสร้างที่บ่อพัก MH2.2 ไป MH2.3 บริษัทฯ เสนอแนวทางแก้ไขไปยัง กฟน. และรอการตลับจนเวลาล่วงเลยไปถึง 6 เดือนเศษ ก็ยังได้รับการตอบกลับ ซึ่งสรุปงานที่ดำเนินการแล้วคิดเป็นร้อยละ 86.17 เหลืองานอีกร้อยละ 13.83 เท่านั้น แต่ปัญบ่อพักดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับคำตอบ กระทั่ง 3 มิ.ย. 2554 มีการบันทึกแก้ไขสัญญาจ้างครั้งที่ 2 บันทึกรูปแบบงาน และลดค่าจ้างลง 431,670.43 บาท ขยายเวลาทำงานให้อีก 195 วัน (รวม 812 วัน) สิ้นสุดสัญา 30 ธ.ค. 2553
ต่อมา 27 ก.ค. 55 มีการบันทึกแก้ไขสัญญาจ้างครั้งที่ 3 ตามมติ ครม. ขยายเวลาอีก 180 วัน แก้ไขวันทำงานแล้วเสร็จเป็น 29 ก.พ. 2555 (รวม 1,238 วัน) จนวันที่ 3 มิ.ย. 2556 มีการบันทึกแก้ไขสัญญาจ้างครั้งที่ 4 โดยให้ยกเลิกบักทึกฯ ครั้งที่ 3 และคำนวณงานใหม่ เพิ่มเงินค่าจ้างอีก 13,899,161.93 บาท ขยายระยะเวลาการจ้างเป็นวันที่ 7 ม.ค. 2557 (รวม 1,916 วัน) และเรียกหลักประกันเพิ่มเติม และแม้ กฟน. จะขยายเวลาให้เพียงใด งานที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ไม่สามารถทำได้จริง เพราะเสี่ยงอันตรายและมีอุปสรรคมากมาย อีกทั้ง กฟน. ไม่ยอมรับฟังวิธีการที่บริษัทฯ เสนอ และละทิ้งปัญหาไม่ยอมตัดสินใจแก้ปัญหา จนมีลักษณะเป็นการทำให้บริษัทฯ ไม่อาจดำเนินงานก่อสร้างตามสัญญาได้
กระทั่ง มีการเปลี่ยนแปลงชุดผู้บริหาร และผู้ควบคุมงานไปหลายชุด แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน 'นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล' ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ กฟน. (ขณะนี้อิศรา อยู่ระหว่างทำเรื่องติดต่อขอสัมภาษณ์ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นทางการ)
ต่อมา 15 พ.ค. 2557 มีการบันทึกแก้ไขสัญญาจ้างครั้งที่ 5 ตามมติ ครม. ขยายระยะเวลา 150 วัน แก้ไขวันทำงานแล้วเสร็จเป็นวันที่ 6 มิ.ย. 2557 ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินงานตามที่ได้รับจ้าง โดยส่งมอบงาน เบิก และได้รับเงินจาก กฟน. แล้ว 9 งวดงาน รวมเป็นเงิน 49,158,236.73 บาท จนเมื่อส่งมอบงวดงานที่ 10 เป็นเงิน 5,998,427.29 บาท แต่ กฟน. ไม่รับมอบงาน อ้างผลงานยังไม่แล้วเสร็จตามที่สัญญาจ้างกำหนด
ล่าสุด 29 ม.ค. 2558 กฟน. มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัท ดาตั้งไทยฯ และเรียกร้องค่าเสียหาย รวมถึง แจ้งให้ ธ.พระนครศรีอยุธยาฯ ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน บริษัทฯ จึงมีหนังสือขอให้ กฟน. ตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท และให้มีหนังสือแจ้งธนาคารฯ ให้ระงับการชำระเงินตามภาระค้ำประกันให้แก่ กฟน. ไว้ก่อน เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการ
อย่างไรก็ตาม ต่อมา 7 ก.ค. 2558 กฟน. ได้มีจดหมายแจ้งให้บริษัทฯ ทำตามแบบที่เคยออกแบบมาภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าเป็นผู้ทิ้งงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความตั้งใจจะทำงานเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินให้สำเร็จ แต่ทว่า กฟน. ไม่ยอมรับ โดยการกระทำของ กฟน. ถือเป็นการผิดสัญญา เป็นเหตุให้บริษํทฯ เสียหาย บริษัทฯ จึงขอเรียกร้องจากการกระทำดังกล่าวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 33,757,909.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อนละ 7.5 ต่อปี โดยนับถัดจากวันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
น่าสังเกตว่า ในการทำสัญญาจ้างข้างต้นระหว่าง กฟน. กับ บริษัท ดาตั้มไทยฯ ผู้รับจ้าง มีการบันทึกแก้ไขสัญญาจ้างถึง 5 ครั้ง โดยมีการขยายระยะเวลาออกไปจากเดิมใช้เวลาการทำงาน 510 วันเพิ่มเป็น 2,066 วัน รวมถึง มีการเพิ่ม-ลดค่าจ้าง ตลอดจน การเรียกหลักประกันเพิ่มเติม
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ดาตั้ม ไทย คอนสตรัคชั่น จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2534 ทุนปัจจุบัน 45 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 68 ซอยรามคำแหง 26/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง (อาคารศูนย์การค้า โรงแรม หอพัก) ปรากฎชื่อ นาย วีระพงษ์ ศรีนวกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งหมด คือ ที่มาที่ไปก่อนที่บริษัท ดาตั้มไทย ฯ จะขอให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด กรณีเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สถานีต้นทางวิภาวดี สถานีย่อยวังเพชรบูรณ์ ทีมีปัญหาเรื้อรังเกือบ 8 ปี