- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชัด ๆ ป.ป.ช.แจงยิบไฉนตีตกสารพัดคดีข้าวยุค‘อภิสิทธิ์’-รอลุ้นคดีมันจีทูจีส่อเก๊?
ชัด ๆ ป.ป.ช.แจงยิบไฉนตีตกสารพัดคดีข้าวยุค‘อภิสิทธิ์’-รอลุ้นคดีมันจีทูจีส่อเก๊?
เปิดหมดครบทุกรายละเอียด ป.ป.ช.แจงยิบไฉนตีตกสารพัดคดีข้าวยุครัฐบาล ‘อภิสิทธิ์’ ก่อนเหลือปมกล่าวหา ‘พรทิวา’ พันปมเอกชนนำแคชเชียร์เช็ค กยศ. ของอดีต ผช.รมต. วางค้ำประกันทำสัญญา รอลุ้นคดีระบายมันจีทูจีส่อเก๊ ถูกกล่าวหายก ครม.
“คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปก่อนที่ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจัดให้บุคคลทั่วไปสามารถตรวจดูเหตุผลฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้น เรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของระเบียบดังกล่าว”
“ทั้งนี้ตามมาตรา 53 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้เข้าตรวจดูเฉพาะเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเท่านั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้เปิดเผยข้อมูลให้ทราบเฉพาะเหตุผลในการพิจารณามีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป”
เป็นเหตุผลจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ไม่ให้รายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีระบายข้าวยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจัดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่มีมติวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป พ.ศ.2558 รวม 2 กรณี ได้แก่
1.กรณีกล่าวหานางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ อนุมัติจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และไม่อนุมัติขายข้าวสารให้กับบริษัท วุฒิกวี จำกัด และบริษัท สิงโตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งที่อยู่ในกลุ่มผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด
2.กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตในการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2553 เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายอภิสิทธิ์ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ นางพรทิวา และนายมนัส สร้อยพลอย รวม 4 ข้อกล่าวหา
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลไต่สวนคดีข้าวยุค ‘อภิสิทธิ์’-เปิดแค่มติตีตกข้อหา‘พรทิวา’)
แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แนบเอกสารชี้แจงสาเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีกทั้ง 2 กรณีไว้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปได้ดังนี้
หนึ่ง กรณีกล่าวหานางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ อนุมัติจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และไม่อนุมัติขายข้าวสารให้กับเอกชน 2 ราย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดราคาขายต้องหักค่าขนส่งเฉลี่ยถึงโกดังกลางและค่าเสื่อมสภาพข้าวสารตามอายุการเก็บรักษา เพื่อนำมาคำนวณเกณฑ์ราคาพื้นฐาน ณ หน้าคลังสินค้า ทำให้ราคาข้าวสารในแต่ละชนิด และแต่ละคลังสินค้า มีการกำหนดราคาขายที่ต่างกัน และมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด
ในการพิจารณาอนุมัติจำหน่ายข้าวสารนั้น นางพรทิวา มิได้อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารตามความเห็นที่คณะทำงานเพื่อดำเนินการเปิดประมูลระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลเสนอมาทั้งหมด โดยไม่ได้อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารบางชนิดที่ผู้เสนอราคาซื้อได้เสนอราคามาต่ำมาก และยืนยันไม่ปรับราคาเสนอซื้อให้สูงขึ้น และยังได้แจ้งให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กลับไปตรวจสอบเกี่ยวกับคุณภาพข้าว การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นการพิจารณาอนุมัติจำหน่ายข้าวสารด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาระราคาตลาด
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า นางพรทิวา ได้อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสาร เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2552 ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงได้มีการพิจารณาแนวทางการระบายสินค้าเกษตร โดยมีมติว่า เมื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการได้พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการระบายหรือจำหน่ายผลผลิตของพืชแต่ละชนิดแล้ว คณะกรรมการดังกล่าวก็ควรต้องนำผลการพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป โดยมีมติเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2552 มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่มีการพิจารณาภายหลังจากที่นางพรทิวา ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร ได้อนุมัติจำหน่ายข้าวสารไปแล้ว จึงไม่อาจนำมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมาใช้กับการอนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารในกรณีนี้ซึ่งได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว
ส่วนกรณีไม่อนุมัติขายข้าวสารให้กับบริษัท วุฒิกวีฯ และบริษัท สิงโตทองไรซ์ฯ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะทำงานดำเนินการเปิดประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาการเสนอราคาซื้อข้าวสารดังกล่าว เมื่อวันที่ 6-9 พ.ค. 2552 โดยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นซองเสนอราคาทุกรายแล้ว โดย อคส. ได้มีหนังสือแจ้งว่า บริษัท วุฒิกวีฯ ได้เคยยื่นซองเสนอราคาข้าวสารโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลเมื่อปี 2551 แต่ไม่มาทำสัญญาซื้อขายภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการเสนอราคา จึงไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณา
ขณะที่บริษัท สิงโตทองไรซ์ฯ และบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นั้น ทั้งสองบริษัทได้เสนอซื้อข้าวขาว 5% นาปรัง 51 นาปี 51/52 ที่อยู่ในเกณฑ์ราคา แต่มีช่วงราคาที่ต่างกัน ซึ่งคณะทำงานดำเนินการเปิดประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล ได้เจรจาต่อรองราคากับทั้งสองบริษัทเพื่อปรับราคาให้สูงขึ้น และเสนอผลการเจรจาให้นางพรทิวา โดยนางพรทิวาได้อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารตามที่คณะทำงานฯเสนอมา ยกเว้นข้าวขาว 5% นาปรัง 51 และนาปี 51/52 ที่เสนอราคาตั้งแต่ 1.4 หมื่นบาทลงมา ซึ่งในการอนุมัติจำหน่ายข้าวขาว 5% นางพรทิวา ได้อนุมัติให้จำหน่ายข้าวสารโดยดูจากราคาหลังการเจรจาต่อรองที่คณะทำงานฯได้เสนอมา เมื่อพิจารณาผลการอนุมัติดังกล่าวแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้อนุมัติขายข้าวขาว 5% ให้กับบริษัท สิงโตทองไรซ์ฯ และบริษัท สยามอิดิก้าฯ ในราคาที่สูงกว่า 1.4 หมื่นบาทต่อตัน จึงเป็นการใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติเป็นอย่างเดียวกัน โดยพิจารณาจาราคาเสนอซื้อเป็นหลัก
ดังนั้น กรณีกล่าวหาในประเด็นที่หนึ่งนี้ ยังรับฟังไม่ได้ว่า นางพรทิวา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันจะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป (ดูเอกสารประกอบ)
สอง กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตในการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2553 เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายอภิสิทธิ์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) นางพรทิวา (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) และนายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4) รวม 3 ข้อกล่าวหา
ข้อกล่าวหาที่ 1 กรณีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 ร่วมกันกระทำการให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวสารให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย และกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกใช้วิธีระบายข้าวสารโดยให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซ้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย หรือกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม แต่เป็นการเลือกวิธีการระบายจำหน่ายข้าวสารของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีระบายข้าวสารที่อยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารที่ได้กำหนดแนวทางไว้ให้สามารถทำได้
ข้อกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 อนุมัติให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การจำหน่ายข้าวสารในครั้งนี้ได้มีการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทที่เสนอราคาซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ราคาเท่านั้น และเมื่อพิจารณาราคาขายหลังการเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคาซื้อทุกรายแล้ว ล้วนมีการกำหนดราคาขายที่สูงกว่าเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ในการพิจารณาอนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารนั้น นางพรทิวา ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร และนายไตรรงค์ ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็มิได้อนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารตามความเห็นที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารเสนอมาทั้งหมด กรณีการอนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารดังกล่าว
จึงเป็นการพิจารณาดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์ตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่ กขช. ได้ให้ความเห็นชอบ และจำหน่ายข้าวสารด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะราคาตลาด อันเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2553 และวันที่ 29 มิ.ย. 2553 ที่กำหนดไว้แล้ว
ข้อกล่าวหาที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 (นายไตรรงค์) และ 4 (นายมนัส) ร่วมกันกระทำการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลโดยให้ดำเนินการในทางลับ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่นายมนัส มีหนังสือแจ้งให้ อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินการในทางลับ ตามที่นายไตรรงค์ มีบัญชานั้น เป็นเรื่องภายหลังที่ได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติและให้ความเห็นชอบให้จำหน่ายข้าวสารให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อข้าวสารที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว ซึ่ง อคส. และ อ.ต.ก. ได้รับมอบหมายเพียงให้มีอำนาจหน้าที่เข้าเป็นผู้ทำสัญญากับบริษัทผู้ซื้อข้าวสาร ดังนั้นตามที่มีคำสั่งให้ อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินการในทางลับ จึงไม่ได้เป็นการมีคำสั่งให้ดำเนินการในทางลับโดยก้าวล่วงไปถึงขั้นตอนการอนุมัติและให้ความเห็นชอบในการจำหน่ายข้าวสารให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อข้าวสารที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านายอภิสิทธิ์ นายไตรรงค์ นางพรทิวา และนายมนัส ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ทั้ง 3 ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีกรณีกล่าวหาร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการระบายข้าวสารรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้น ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีอยู่คดีหนึ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้แก่ กรณีกล่าวหานางพรทิวา มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด นำแคชเชียร์เช็คเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนายวีระศักดิ์ จินารัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ มาวางค้ำประกันการทำสัญญาของบริษัทดังกล่าว กับองค์การตลาดเพื่อการเกษตรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง
แม้ว่าคดีระบายข้าวยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกไปจนเกือบหมดเหลืออยู่เพียงกรณีกล่าวหานางพรทิวาเพียงคดีเดียวก็ตาม
แต่ประเด็นเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการระบายสินค้าทางการเกษตรของรัฐบาลดังกล่าว ยังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบอีกคดีหนึ่ง คือ กรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 43 ราย กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับ China Marine Shipping Agency Lianyungang Co., Ltd
สำหรับกรณีนี้ คณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาทั้งหมด 32 ราย เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นต้น
นอกจากนั้นจะเป็นคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง เช่น นายกนก คดีการ อดีตที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธ์ อดีตผู้ช่วย รมว.พลังงาน ขณะที่ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ก็ถูกกล่าวหาด้วย เช่น นายมนัส สร้อยพลอย อดีตรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นต้น
สำหรับข้อกล่าวหาก็ใกล้เคียงกับคดีระบายมันสำปะหลัง (มันเส้น) จีทูจียุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั่นคือ บริษัทดังกล่าวไม่มีการมอบอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และวัตถุประสงค์ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทไม่ใช่การซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ดังนั้น China Marine จึงไม่ใช่ผู้แทนรัฐบาลจากต่างประเทศในการเจรจาและมิใช่ผู้ลงนามในสัญญาในนามของรัฐบาลจีนแต่อย่างใด
และก่อนที่ China Marine ได้ทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังกับกรมการค้าต่างประเทศ China Marine ได้มีการทำสัญญาซื้อขายและโอนสิทธิในแป้งมันสำปะหลังให้แก่บริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในไทย ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่กรมการค้าต่างประเทศได้ทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังแบบจีทูจี กับ China Marine โดยได้ทำสัญญาที่กรมการค้าต่างประเทศ โดยมีนายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศอยู่ด้วย
ดังนั้นการทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังดังกล่าว จึงไม่ใช่การซื้อขายแบบจีทูจี แต่เป็นการกระทำที่กล่าวอ้างการดำเนินการซื้อขายแบบจีทูจี เพื่อเข้าทำสัญญากับรัฐ โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อนำแป้งมันสำปะหลังตามสัญญาให้แก่ผู้ประกอบกิจการมันสำปะหลังในประเทศไทย ไม่มีเจตนาที่จะซื้อแป้งมนสำปะหลังไปยังประเทศจีน และเงินที่ใช้ในการชำระค่าแป้งมันสำปะหลังตามสัญญาดังกล่าว ก็มิได้เป็นเงินที่นำมาจากประเทศจีน เท่ากับว่าการทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบยก ครม.อภิสิทธิ์ ปมขายมันจีทูจีให้ บ.จีนมิชอบ, เปิดชื่อครบ! “ครม.อภิสิทธิ์-ขรก.ระดับสูง”ป.ป.ช.ลุยสอบขายมันจีทูจีส่อเก๊?, ย้อนหลักฐาน "สตง."มัดระบายแป้งมันฯ จีทูจีเก๊? ยุคครม."อภิสิทธิ์" 1.4 พันล.)
ต้องรอจับตาดูว่าคดีระบายข้าวที่เหลืออีก 1 คดี (นางพรทิวาถูกกล่าวหา) และคดีระบายมันจีทูจีที่ถูกกล่าวหายกคณะรัฐมนตรี ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะไต่สวนข้อเท็จจริงออกมาในรูปแบบใด
และจะเสร็จรวดเร็วเหมือนคดีในยุครัฐบาล ‘พรรคเพื่อไทย’ หรือไม่ ?
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.รับตีตกคดีข้าว“อภิสิทธิ์”หลายสำนวน ยุติหาหลักฐานเพิ่ม-สรุปเท่าที่มี
“วิชา”ยันประกันข้าวยุค“มาร์ค”ก็ทุจริต! จี้คนรับผิดชอบ-จ่อแจ้งข้อกล่าวหา
อัพเดต!ป.ป.ช.แจงยิบคดีข้าวยุคอภิสิทธิ์-ยกข้อหาแรก"พรทิวา"กีดกันขายข้าว