- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- Folk Rice ตลาด (กลาง) ออนไลน์เพื่อเกษตรกรไทย
Folk Rice ตลาด (กลาง) ออนไลน์เพื่อเกษตรกรไทย
เกษตรกรน้อยลง แต่ความต้องการเพิ่มขึ้น การส่งเสริมให้ทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น คนไทยจะเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ช่องว่างระหว่างคนกินและคนผลิตน้อยลง อนาคตปากท้องคนไทยฝากไว้ที่ใคร
'คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก และประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ทำไมเกษตรกรไทยยังจนอยู่' ประโยคชวนสงสัยของเด็กหนุ่มไฟแรง อนุกูล ทรายเพชร ผู้ก่อตั้งเว็ปไซต์ Folk Rice ดังขึ้นบนเวทีในงาน 'คนไทยขอมือหน่อย' ลานหน้าCentral World ที่ผ่านมา
พื้นเพเดิม อนุกูล เป็นลูกหลานของเกษตรกร ก่อนจะเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ กระทั่งจบออกมาและเข้าสู่วัยทำงาน เขาหันกลับไปมองความเป็นประเทศเกษตรกรรมของไทย แล้วพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันเกษตรกรลดลงอย่างน่าใจหาย ซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีกในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเหลือเกษตรกรในไทยเพียง 5% หรือแค่ 3.5 ล้านคนเท่านั้น
หากลองเปรียบเทียบกับสถิติในปี 2532 ไทยมีจำนวนของเกษตรกรกว่า 67% ของคนทั้งประเทศ และในปีที่ผ่าน 2558 ไทยเหลือเกษตรกรเพียง 25%
"การลดลงของเกษตรกร ทำให้อาหารดีๆ และหลากหลายลดลงไปด้วย" อนุกูล ระบุ แต่กลับกันสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือจำนวนประชากรที่คาดว่า ไทยจะมีประชากรเพิ่มถึง 70 ล้านคน และนี่ยังไม่รวมประชากรแฝงอีกหลายล้านคน
การที่ประชากรเพิ่ม แต่เกษตรกรลดลง ซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะปลูกกันแบบอุตสาหกรรม ซึ่งภาวะแบบนี้จะทำให้เกษตรกรรายย่อยลดลง อาจจะเหลือแค่ 1% เท่านั้น
"คิดดูว่า คน 70 ล้านคนจะสามารถเข้าถึงเกษตรกร เข้าถึงวัตถุดิบได้จากไหน เรามีเกษตรกรเหลืออยู่น้อยมาก เพราะผู้บริโภคเลือกกินแต่ของกระแสหลัก บวกกับหลายๆ ปัจจัยทำให้ปัจจุบันเรามีเกษตรกรเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ การที่เกษตรกรลดลงทำให้อาหารดีๆ ลดลงไปด้วย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องพันธุกรรมพืช ซึ่งแน่นอน เมื่อไม่มีคนปลูก สายพันธ์ุต่างๆ ย่อมหายไป" เขากล่าวด้วยสีหน้ากังวล
"1:20" คืออัตราส่วนระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค ที่อนุกูล ชี้ว่า ที่ผ่านมาเราบอกว่า เกษตรกรต้องหาผู้บริโภคของตัวเอง ถึงจะอยู่รอด แต่ปัจจุบัน เขาคิดว่า ผู้บริโภคต่างหากที่ต้องหาเกษตรกร เพราะความท้าทายในอนาคตจะไม่ใช่ของเกษตรกร เพียงเท่านั้น แต่จะเป็นเรื่องของผู้บริโภคด้วย
ทำไมผู้บริโภคถึงจำเป็นต้องแสวงหาผู้ผลิตหรือเกษตรกรมากขึ้น เรื่องนี้ อนุกูล อธิบายพร้อมชวนคิดว่า ปัจจุบันมีกี่คนที่เข้าถึงอาหารปลอดภัย ซึ่งในอัตราส่วนของประชากรปัจจุบันและจำนวนเกษตรกรที่น้อยลงโดยเฉพาะรายย่อย ทำให้ส่วนใหญ่เราไม่ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัย
แล้วอาหารปลอดภัยอยู่ที่ไหน? เราจะทำอย่างไรให้ได้อาหารปลอดภัย และนั่นทำให้ อนุกูล คนรุ่นใหม่ไฟแรง ลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบคำถามทั้งหมดในตัวเขา
เขาเริ่มก่อตั้งเว็ปไซต์ที่มีชื่อว่า Folk Rice โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นตลาดกลางให้กับเกษตรกรและผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเพื่อสร้างการสื่อสารและความต้องการโดยตรงจากผู้บริโภคถึงผู้ผลิต
อนุกูล เล่าย้อนความหลังถึงจุดเปลี่ยนทางความคิดของตัวเองว่า "เมื่อก่อนผมเคยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวตามที่ตลาดต้องการ แต่พบว่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมา ตลาดต้องการกินข้าวไม่กี่สายพันธ์ุ ซึ่งผลจากการทำการตลาด และสื่อสารว่าสายพันธ์ุนั้นดี พันธ์ุนี้ดี ทำให้อีกหลายสายพันธุ์ที่ไม่ถูกสื่อสารหายไป ไม่มีคนปลูก เพราะคนปลูกต้องปลูกตามที่ตลาดต้องการ และเชื่อว่าที่ตลาดต้องการนั้นดีจริง ทั้งที่เมื่อก่อนเรามีข้าวหลายสายพันธ์ุและแต่ละที่มีความหลากหลาย แต่ด้วยกลไกตลาดและการสื่อสาร ส่งเสริมกลับไปทำลายความหลากหลายของสายพันธ์ุที่เคยมี ลักษณะการทำลายตรงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะเป็นในเชิงค่อยๆ หายไป จนกว่าจะรู้ตัวบางสายพันธ์ุก็หมดเเล้ว"
การปลูกข้าวในแบบเดียวกัน เพื่อเอาใจตลาดใหญ่ ยังคงส่งผลอย่างอื่นด้วย เช่น การที่ชาวบ้านต้องซื้อเมล็ดพันธ์ุจากบริษัทใหญ่ที่ผูกขาดเจ้าเดียวและการจำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลงเพราะต้องการให้มีผลิตถึงเป้าหมาย ไม่ขาดทุน
ซึ่งเรื่องนี้ อนุกูล มองว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเปลี่ยนไป ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องสายพันธ์ุ รู้เพียงแค่จะเตรียมดิน จะปลูก เท่านั้น คือเกษตรกรปลูกเป็น ปลูกขึ้นด้วย แต่ไม่มีโฟกัส ไม่มีความรู้ว่าจะทำอย่างไรกับสายพันธ์ุของตน ซึ่งเปลี่ยนไปมาตามที่กระแสสังคมบอกว่า ดี เรื่องนี้ก็เป็นเพราะผลพวงจากการทำการตลาด และทิศทางการบริโภคด้วยเช่นกัน
อนุกูล มองว่า การจะไปบอกว่าเกษตรกรผิดก็ไม่ได้ เพราะการที่เกษตรกรเลือกปลูกข้าวในสายพันธ์ุตามกระแสตลาดเป็นเพราะหากเลือกปลูกข้าวพื้นเมืองแน่นอนตลาดไม่มี ปลูกไปขายไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เขาจึงดึงไอเดียจากเว็ปไซต์ อาลีบาบา ที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างมากจากการค้าผลผลิตเกษตรในประเทศ เพราะหากมองในเมืองไทยพบว่า มีสินค้าเกษตรเยอะพอสมควร แต่กลไกที่ผ่านมายังต้องผ่านระบบพ่อค้าคนกลาง
อนุกูล เล่าให้ฟังว่า เว็ปไซต์ของเขานั้น จะเป็นเหมือนสื่อกลาง เป็นตลาดกลางที่เกษตรกรสามารถเข้ามาลงทะเบียนและประกาศขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ หรือจะมาเป็นกลุ่มก็สามารถทำได้ โดยลักษณะทำงานบนเว็ปไซต์นั้นจะคล้ายกับเเคตตาล็อก ที่ให้คนทั่วโลกสามารถเข้ามาช็อปปิ้งได้ ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และจะทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
หรือเรียกว่า return to farmer ก็ได้ นอกจากจะสามารถประกาศขายสินค้าของตัวเองได้แล้ว ลูกค้ายังสามารถรีวิวสินค้าเหล่านั้นได้ด้วย รวมถึงยังมีการแนะนำ กรีนมาร์เก็ต ให้ผู้บริโภคสามารถเดินทางไปหาซื้อของได้สะดวกมากขึ้น
เขาเชื่อว่าเหล่านี้คือการสร้างเศรษฐกิจจากฐานรากของชุมชนอย่างแท้จริง
สำหรับในส่วนของความปลอดภัยของสินค้านั้น อนุกูล บอกว่า ขณะนี้ทางทีมงานเว็ปไซต์ได้มีการลงไปสำรวจตามรายชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับเว็ปไซต์ เพื่อกำหนดและจัดให้มีการจัดเรตติ้งตามระดับมาตฐานความปลอดภัย ตั้งแต่ในเรื่องการใช้สารเคมี เรื่องออแกนิค เป็นต้น
"เราต้องมีความหวังต่อโลกของเรา รักษาพันธุกรรม ของพันธ์ุพื้นเมือง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเราทุกคนเติบโตและอยู่มาได้จากความหลากหลายเหล่านั้น" เขากล่าว
มีผู้บริโภคหลายท่านที่เข้ามาสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับเกษตรกรคนนั้น เพราะมีคำถามคือ เราต้องกินข้าว เราต้องกินต้องใช้ แต่ทำไม เกษตรกรไทยยังจนอยู่ ที่เกษตรไทยยังจน เพราะเราไม่ได้ซื้อของจากเขา แต่เราซื้อผ่านนายทุน ซึ่งการที่จะซื้อกับเขาและทำให้เขาได้กำไรจะทำอย่างไร อันนี้เป็น สิ่งที่ผู้บริโภคต้องรู้ ต้องตระหนัก อนาคตต่อไปช่องว่างของเกษตรกรและผู้บริโภคจะห่างขึ้น ประเด็นคือทำอย่างไร จะลดช่องว่างตรงนี้ลงและนั้นทำให้เด็กหนุ่มคนนี้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงจากความเชื่อที่ตนมี
ปัจจุบัน ทาง Folk Rice ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นในชื่อเดียวกัน โดยจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเชื่อมโยงผู้บริโภคและเกษตรกรในอนาคต ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานกันได้เเล้ว ทั้งระบบแอนดรอยและไอโอเอส.
ขอบคุณภาพประกอบจาก facebook.com/folkrice