- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดคำพิพากษาคดีสร้างสนามกีฬา 2 พันล. พยานซัดกันนัว-ยกฟ้องอดีตอธิบดีกับพวก
เปิดคำพิพากษาคดีสร้างสนามกีฬา 2 พันล. พยานซัดกันนัว-ยกฟ้องอดีตอธิบดีกับพวก
ละเอียดยิบ!คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีทุจริตสร้างสนามกีฬาคลองหก 2 พันล. ‘ยกฟ้อง’อดีตอธิบดีกรมพลฯ - 11 จำเลย ก่อน 1 อดีต ขรก.ยื่นประยุทธ์-กอบกาญจน์ ขอกลับรับราชการ อ้างเมื่อไม่ผิดก็ต้องคืนความเป็นธรรม พยาน 2 กลุ่มซัดกันนัวอ้างผู้คุมงานเรียกรับผลประโยชน์
กรณีนายวิทยา วงษ์สมาน อดีตข้าราชการระดับ 7 สังกัดกรมพลศึกษา 1 ใน 11 จำเลยคดีทุจริตก่อสร้างสนามกีฬาคลอง 6 ของกรมพลศึกษาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงกีฬาฯ และอธิบดีกรมพลศึกษา เพื่อขอพิจารณากลับเข้ารับราชการหลังจากศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องไม่มีความผิดในคดีอาญาและคดีถึงที่สุด
ก่อนหน้านี้นายวิทยาถูกกรมพลศึกษาไล่ออกตามคำชี้มูลวินัยร้ายแรงและดำเนินคดีอาญาฐานกระทำผิดฐานทุจริตกรณีก่อสร้างโครงการสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ 2 โครงการใน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี วงเงินรวมประมาณ 2 พันล้านบาท
ในส่วนของการดำเนินคดีอาญานั้นศาลชั้นมีพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 11 คน เมื่อ 5 ต.ค.55 (คดีหมายเลขแดงที่ อ.3669/2555) โจทก์อุทธรณ์
8 พ.ค.57 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องจำเลยทั้ง 11 คน (คดีหมายเลขแดงที่ 7688/2557) ได้แก่
1.นายสุวรรณ กู้สุจริต รองอธิบดีกรมพลศึกษา ต่อมาเป็นอธิบดีกรมพลศึกษา (จำเลยที่ 1)
2.นายสมเกียรติ ตงศิริ เจ้าหน้าที่ออกแบบก่อสร้าง (จำเลยที่ 2)
3.นายบัณฑิต ปลีจินดา เจ้าหน้าที่พัสดุ 7 (จำเลยที่ 3)
4.นายวิทยา วงษ์สมาน เจ้าหน้าที่พัสดุ 7 (จำเลยที่ 4)
5.นายประพันธ์ ไพรอังกูร นายช่างไฟฟ้า 5 (จำเลยที่ 5)
6.นายปกรณ์ ปั้นจั่น นายช่างเขียนแบบ 4 (จำเลยที่ 6)
7.นายสมศักดิ์ อยู่คง ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ (จำเลยที่ 7)
8.นายสมพงษ์ ผาสุก นายช่างโยธา 5 (จำเลยที่ 8)
9.นายพีชเรข พิริยหะพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการกีฬา (จำเลยที่ 9)
10.นายพีระพงศ์ สุวรรณราช เจ้าหน้าที่พลศึกษา 6 (จำเลยที่ 10)
11.นายบุญชู วงศ์กิจรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด (จำเลยที่ 11)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาอุทธรณ์มาเสนอดังนี้
กรมพลศึกษามีโครงการก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ(คลอง 6) ต.ธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี รวม 2 โครงการ
โครงการที่ 1 แบ่งเป็น 4 หมวดงาน
หมวดงานที่ 1 สนามแข่งขันฮอกกี้ ทำสัญญาจ้าง หจก. ก.นำเบญจพลพาณิชย์ เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มทำงานภายใน 14 ก.พ.41
หมวดงานที่ 2 สนามเบสบอล หจก.นครสวรรค์ คอนสตรัคชั่น ดีเอสเอส เป็นผู้รับเหมา เริ่มทำงาน 16 ก.พ.41
หมวดงานที่ 3 สนามลู่วิ่งมาตรฐาน ลานกีฬา และสนามแข่งขัน บริษัท สหธิดาชัย ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับเหมา เริ่มทำงานภายใน 26 ก.พ.41
หมวดงานที่ 4 อาคารบริการกลาง บริษัท สยามอินเตอร์ แอร์ซัพพลาย จำกัด เป็นผู้รับเหมา เริ่มงานภายใน 14 ก.พ.41
ทั้ง 4 หมวดมีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างเสร็จสิ้นภายใน 31 ส.ค.41 และจ้างบริษัท พรอพเพอร์ตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท เชนี่ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท สำนักงาน ดี.เอส.บี แอสโซซิเอทส์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงาน
โครงการที่สอง ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ (อาคารเอนกประสงค์)ทำสัญญาจ้าง บริษัท แปซิฟิค แอสโซซิเอท กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง และ ว่า จ้างบริษัท พรอพเพอร์ตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท เชนี่ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงาน มีคณะกรรมการตรวจการจ้างประกอบด้วยจำเลยที่ 1 ถึง 10
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ด กระทำความความผิดตามฟ้องหรือไม่
ประเด็นแรกโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ตรวจรับงานของบริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารบริการกลางในวงเงิน 97,187,446.25 บาท โดยตรวจรับงานในงวดที่ 6 ถึง 8 ไม่ถูกต้อง
โจทก์นำสืบว่า งานงวดที่ 6 ถึงที่ 8 บริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ยังทำไม่ถูกต้องตามแบบแปลนการก่อสร้าง และยังทำไม่เสร็จ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ตรวจรับมอบงานและจ่ายเงินค่างวดงานให้แก่บริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ไปแล้ว
ศาลมีความเห็นว่า รายการงานที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเป็นงานที่ผิดแบบแปลนก่อสร้างนั้น พยานโจทก์ที่โจทก์นำเข้าเบิกความเกี่ยวกับเรื่องการว่าจ้างของกรมพลศึกษาในครั้งนี้ แบ่งเป็นพยาน 2 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มผู้รับเหมา คือ นายเฉลิมชัย ศิลาน้อย กรรมการผู้จัดการของบริษัทแปซิฟิค แอสโซซิส กรุ๊ป จำกัด นายกิติพันธ์ คล้ายไชยา พนักงานของบริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด นายเกตุ นำเบญจพล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ่นส่วนจำกัด ก. นำเบญจพลพาณิชย์ นางธิดารัตน์ ทรัพย์ศิริ กรรมการผู้จัดการของบริษัทสหธิดาชัยก่อสร้าง จำกัด
โดยกลุ่มพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับเหมาต่างเบิกความในทำนองเดียวกันว่า แบบแปลนการก่อสร้างที่ผู้รับเหมาแต่ละรายรับจ้างจากกรมพลศึกษานั้นมีความไม่ชัดเจนของแบบ รายการประกอบแบบ และแบบไม่ตรงกัน แม้จะมีการแก้ไขรายการประกอบแบบแล้วแต่ก็แก้ไขไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดปัญหาในการก่อสร้าง อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาในการก่อสร้างและแบบไม่ชัดเจนผู้รับเหมาจะต้องทำแบบประกอบการก่อสร้าง (Shop Drawing) ทุกครั้ง เพื่อขออนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อน แต่การทำแบบประกอบการก่อสร้าง (Shop Drawing) ของผู้รับเหมานั้น ผู้ควบคุมงานใช้เวลาในการอนุมัติเป็นเวลานาน ผู้ควบคุมงานให้ความเห็นหรือคำแนะนำไม่ชัดเจน
อีกทั้งผู้ควบคุมงานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบและผู้รับมอบอำนาจของผู้ควบคุมงานอีกสองบริษัทกระทำการกลั่นแกล้งผู้รับเหมาทั้ง 4 ราย และเรียกรับเงินจากผู้รับเหมาเพื่อให้ความสะดวกในการตรวจรับมอบงาน และโจทก์มีพยานฝ่ายผู้รับเหมา คือ นายอระเด่น ดนตรี ซึ่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด และเป็นผู้ที่มีข้อพิพาทและการร้องเรียนผู้ควบคุมงานต่อกรมพลศึกษาตลอดเวลาที่มีการก่อสร้าง อีกทั้งเป็นผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาเบิกความในทำนองเดียวกับผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นว่า ถูกกลั่นแกล้งจากกรรมการผู้จัดการของบริษัท พรอพเพอตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด และผู้ควบคุมงานยังเป็นตัวแทนของ บริษัทเชนี่ เอนจิเนียริ่ง คอลซัลแตนท์ จำกัด ด้วย ในการกลั่นแกล้งหรือไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานของผู้ควบคุมงานนั้น ก่อให้เกิดปัญหาต่อ บริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด เป็นอย่างมาก
กลุ่มผู้ควบคุมงานและผู้ออกแบบ คือนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ และนายปรีชา คุณะกฤษฎาธิการ กรรมการผู้จัดการบริษัทพรอพเพอตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด มาเบิกความว่า บริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ทำงานไม่ถูกต้องในงวดที่ 6 ถึงที่ 8 โดยพยานแจ้งให้มีการแก้ไขแล้ว แต่บริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ไม่ได้มีการแก้ไข ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ตรวจรับมอบงานไปโดยที่งานที่บริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ส่งมอบนั้นไม่ถูกต้องตามแบบ โดยพยานโจทก์กลุ่มนี้ยืนยันว่าแบบที่ออกไว้นั้นถูกต้องทุกประการและสามารถเข้าใจได้ อีกทั้งผู้ควบคุมงานสามารถที่จะอธิบายแบบได้อย่างชัดเจน
คำพิพากษาระบุว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองกลุ่มแสดงให้เห็นว่า ในการก่อสร้างโครงการที่ 1 คือ สนามแข่งฮอกกี้ สนามเบสบอล สนามลู่วิ่งมาตรฐาน ลานกรีฑา สถานแข่งขัน และอาคารบริการกลาง ทั้ง 4 หมวดงานนั้น ผู้ควบคุมงานและผู้รับเหมาก่อสร้างมีความขัดแย้งกันอย่างมาก ผู้ควบคุมงานและผู้รับเหมาก่อสร้างมีความขัดแย้งกันอย่างมาก โดยผู้ควบคุมงานนั้นไม่พอใจที่กรมพลศึกษาตรวจรับมอบงานของบริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ในงวดที่ 6 ถึงที่ 8 จึงมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อันเป็นที่มาของคดีนี้
คำพิพากษาระบุว่า การที่ผู้ควบคุมงานและผู้รับเหมาก่อสร้างมีความขัดแย้งในการก่อสร้างเป็นอย่างมากนั้น ทำให้เกิดปัญหาในการตรวจรับมอบงาน แต่ปรากฏว่าโครงการก่อสร้างทั้ง 4 สัญญา ดังกล่าวนั้น มีกำหนดการใช้งานเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 ถึง 20 ธันวาคม และกีฬาเฟสปิกเกมส์ระหว่างวันที่ 6 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2542 แต่การจัดจ้างก่อสร้างโครงการที่ 1 ทั้ง 4 สัญญา มีการว่าจ้างผู้รับเหมา ก่อสร้างเมื่อประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งระยะเวลาในการก่อสร้างจนถึงระยะเวลาในกำหนดการใช้งานนั้นถือว่ามีความเร่งรัดในการก่อสร้างเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาระหว่างผู้ควบคุมงานกับผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ถึง จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจและรับมอบงานซึ่งมีหน้าที่เร่งรัด การก่อสร้างโครงการที่ 1 ทั้ง 4 สัญญา ให้เสร็จตามกำหนดเวลา จึงต้องเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาระหว่างผู้ควบคุมงานกับผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างนั้นสามารถดำเนินการไปได้และเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
อีกทั้งเข้ามาแก้ไขข้อพิพาทในเรื่องของแบบของการก่อสร้างด้วยว่าแบบใดเป็นแบบที่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างนั้นสามารถดำเนินการก่อสร้างไปได้
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เป็นคณะกรรมการตรวจและมอบงาน จึงมีหน้าที่ที่จะพิจารณาว่าผู้รับเหมาทำงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างหรือไม่ โดยมีคำแนะนำของผู้ควบคุมงานมาเป็นความเห็นประกอบ เพราะหากคณะกรรมการเชื่อตามที่ผู้ควบคุมงานรายงานทั้งหมดแล้ว และหากเกิดปัญหาการล่าช้าของงานหรือมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นระหว่างผู้รับเหมากับกรมพลศึกษา ก็ทำให้การก่อสร้างนั้นไม่สำเร็จตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้
อีกทั้งหากกรมพลศึกษาแพ้คดีก็จะทำให้กรมพลศึกษาเสียหายเป็นอย่างมาก การที่กรมพลศึกษามีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าการก่อสร้างโครงการที่ 1 ทั้ง 4 สัญญา เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2541 นั้น จึงถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบที่ค่อนข้างสูงสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10
ดังนั้นการพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ในการเห็นชอบหรือรับมอบงานในโครงการนี้ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และสถานการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 รับผิดชอบงานในคณะนั้นด้วย
สำหรับพยานโจทก์คือนายปรีชาซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทพรอพเพอตี้ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด นั้น ถูกกล่าวหาจากผู้รับเหมาทุกรายว่าว่านายปรีชาเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาถึงขนาดผู้รับเหมาร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2 คณะ คณะกรรมาธิการการปกครองพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นายปรีชากระทำการเรียกร้องผลประโยชน์จริง และเสนอว่าควรเลิกสัญญา ส่วนคณะกรรมาธิการการกีฬามีความเห็นว่า นายปรีชาควบคุมงานไม่มีประสิทธิภาพ และแนะนำให้เลิกสัญญา และผู้รับเหมาก่อร้องเรียนถึงพฤติการณ์นายปรีชาต่อกรมพลศึกษาด้วย
ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นว่า พยานโจทก์คือนายปรีชาเป็นพยานที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับกรมพลศึกษา อีกทั้งถูกตั้งข้อสังเกตว่ากระทำการไม่สุจริตในการควบคุมงานและในการตรวจรับมอบงาน จึงไม่สมควรรับฟังพยานปากนี้
สำหรับพยานโจทก์คือนายดิเรกซึ่งเป็นผู้ออกแบบนั้น ก็ไม่เคยเข้าไปตรวจดูงานเลย โดยนายดิเรกมอบอำนาจให้นายปรีชาเป็นผู้ควบคุมงานแทน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว น่าเชื่อว่าการกระทำของนายดิเรกที่มอบอำนาจให้นายปรีชากระทำการแทนนั้นผิดวัตถุประสงค์ของการว่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างต้องการให้นายดิเรกร่วมควบคุมงานก่อสร้างอย่างแท้จริง เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำและช่วยแก้ปัญหาให้ผู้รับเหมาในกรณีที่แบบการก่อสร้างมีปัญหา
ดังนั้นน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงที่นายดิเรกเบิกความไว้นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่นายดิเรกรับฟังมาจากนายปรีชา คำพยานโจทก์ปากนี้จึงเป็นพยานบอกเล่า ปรากฏว่าเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับแบบการก่อสร้างผู้รับเหมาก็ต้องสอบถามนายปรีชา ทั้งที่นายดิเรกเป็นผู้ออกแบบน่าจะให้ความเห็นและข้อเท็จจริงได้ดีกว่า ซึ่งอาจลดปัญหาและข้อขัดข้องระหว่างผู้ควบคุมงานกับผู้รับเหมาได้ เมื่อผู้ออกแบบไม่ได้เข้ามาตรวจดู จึงเกิดช่องว่างทำให้นายปรีชาเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดเพียงคนเดียว ซึ่งอาจะเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ได้
ดังนั้น การรับฟังพยานโจทก์ปากนายดิเรก จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงการก่อสร้างอาคารบริการกลางที่บริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด เป็นผู้รับเหมาปรากฏว่าอาคารดังกล่าวมีการออกแบบเป็นอาคาร 8 ชั้น แต่ได้ย่อส่วนอาคารดังกล่าวเหลือ 2 ชั้น อีกทั้งแบบอาคารบริการกลางดังกล่าวผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้เพื่อก่อสร้างที่บริเวณสนามศุภชลาศัย แต่ได้นำแบบอาคารบริการกลาง มาก่อสร้างที่บริเวณสนามเฉลิมพระเกียรติฯ การที่มีการย้ายการก่อสร้างอาคารที่ออกแบบไว้สร้างที่อื่นและมีการลดขนาดของอาคารจาก 8 ชั้น ลดลงเหลือ 2 ชั้น แต่กลับนำแบบก่อสร้างเดิมมาปรับปรุงโดยมิได้มีการออกแบบใหม่ จึงน่าเชื่อว่าจะต้องเกิดปัญหาในการก่อสร้างอย่างแน่นอน อีกทั้งแบบที่ออกและรายละเอียดที่คำนวณไว้ก็มีความแตกต่างกัน
และในการก่อสร้างผู้รับเหมาคือบริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด กับผู้ควบคุมงานก็มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องรายละเอียดของงานก่อสร้างที่กำหนดไว้ในแบบ โดยผู้รับเหมาก็ยืนยันว่างานทั้ง 6 รายการนั้น ได้ปฏิบัติตามแบบถูกต้องแล้ว โดยได้นำเสนอรายละเอียดต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างซึ่งประกอบไปด้วยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ว่าการดำเนินการก่อสร้างของบริษัทสยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด นั้น ถูกต้องตามแบบแล้ว อีกทั้งงานบางรายการที่ถูกกล่าวหาว่าทำไม่ถูกต้องตามแบบนั้น บริษัทสยาม อินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด ก็โต้แย้งว่างานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแบบที่ได้รับเหมาไว้เนื่องจากถูกตัดออกไปแล้ว แต่ที่ทำส่งมอบให้แก่กรมพลศึกษานั้น ก็เนื่องจากได้รับการขอร้องให้ทำให้นอกเหนือจากงานที่รับจ้าง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างจึงมีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบข้อโต้แย้งระหว่างผู้ควบคุมงานกับผู้รับเหมาว่าข้อโต้แย้งหรือข้อต่อสู้หรือความเห็นของฝ่ายใดถูกต้อง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 มีการตรวจสอบเอกสารการออกแบบ เอกสารประกอบรายการประกอบแบบ อีกทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาช่วยตรวจสอบแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ถึงจะมีการประชุมปรึกษาหารือกัน และมีมติว่าบริษัทสยาม อินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย ก่อสร้างงานถูกต้องครบถ้วนแล้ว
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 มีการตรวจสอบและพิจารณาถึงเหตุการณ์และข้อโต้แย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงพิจารณาว่างานที่ผู้รับเหมากระทำนั้นถูกต้องตามแบบแล้ว
สำหรับงานทั้ง 6 รายการ ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ถูกกล่าวหานั้น ศาลขั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่า งานทั้ง 6 รายการนั้นถูกต้องตามสัญญาแล้วศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 กระทำการตรวจและรับมอบงานเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ตามปกติแล้ว อีกทั้งเป็นการกระทำไปโดยสุจริตและให้ผลประโยชน์แก่ทางราชการแล้ว ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 11 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด
ประเด็นพิจารณา การเปลี่ยนแปลงแบบกำแพงกันดิน (DIAPHRAGM WALL) ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัตินั้น เหมาะสมและถูกต้องหรือในส่วนของกำแพงกันดิน (DIAPHRAGM WALL)
ศาลมีความเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 พิจารณาอนุญาตให้มีการก่อสร้างไปก่อนและมีการแก้ไขแบบในภายหลังนั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม แต่หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ยังเชื่อตามที่ผู้ควบคุมงานและผู้ออกแบบยืนยันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างก่อสร้างไปตามแบบเดิม และผู้รับเหมายินยอมก่อสร้างไปตามที่ผู้ควบคุมงานและผู้ออกแบบได้เสนอความเห็นก็มีข้อเท็จจริงจากผู้รับเหมาและบริษัทเลตัน จีโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างกำแพงกันดินว่าแบบที่ออกนั้นไม่ถูกต้องและไม่มีความแข็งแรงเพียงพอ เนื่องจากปริมาณเหล็กที่กำหนดไว้นั้นมากเกินไป จะทำให้การเทปูนไปนั้นไม่เกาะตัวและไม่มีความแข็งแรงเพียงพออาจจะเกิดความเสียหายได้ ซึ่งหากมีการก่อสร้างจริงจะเป็นไปตามที่วิศวกรของผู้รับเหมาก่อสร้างและของบริษัทเลตัน จีโอเทค จำกัด ให้ความเห็นไว้ ก็จะเกิดความเสียหายต่อทางราชการเป็นอย่างมาก อีกทั้งทำให้ราชการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเป็นจำนวนมากกว่ากำแพงกันดินที่มีการแก้ไขแบบ และหากกำแพงกันดินนั้นพังทลายหรือเสียหายลง ก็จะเกิดปัญหาว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากผู้รับเหมาก็จะต่อสู้ว่าแจ้งให้ทราบแล้วว่า หากดำเนินการก่อสร้างต่อไปกำแพงกันดินจะไม่มีความแข็งแรงทนทาน ส่วนผู้ควบคุมงานหรือผู้ออกแบบ กำแพงกันดินไม่มั่นคงแข็งแรงและเสียหายเกิดจากการก่อสร้างของผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งจะทำให้กรมพลศึกษาเสียทั้งเงินและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที 10 ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไปตามแบบที่มีการเสนอเพื่อแก้ไขและอนุมัติให้มีการแก้ไขแบบกำแพงกันดินในเวลาต่อมานั้น เป็นการดำเนินการไปตามพฤติการณ์ที่เหมาะสมในขณะนั้นแล้ว เนื่องจากหากไม่อนุมัติให้มีการก่อสร้างตามที่มีการแก้ไขแบบก็จะไม่สามารถนำอาคารไปใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ได้ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 อนุมัติให้มีการก่อสร้างไปก่อน ที่จะได้รับอนุมัติให้แก้ไขแบบก็เนื่องจากการขออนุมัติให้มีการแก้ไขแบบนั้นใช้เวลานานประมาณ 5 เดือน ซึ่งหากกระทำการตามขั้นตอนดังกล่าวก็จะเห็นได้ว่าจะไม่สามารถก่อสร้างอาคารเสร็จทันการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากต่อทางราชการ
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 พิจารณาใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันดินไปก่อนและอนุมัติให้มีการแก้ไขแบบในภายหลัง จงเป็นการกระทำที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการแล้ว ตามทางนำสืบของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต
สำหรับกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีการคำนวณเงินที่ผู้รับเหมาต้องคืนให้แก่กรมพลศึกษาไม่ถูกต้องนั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเกี่ยวกับการกำหนดราคาตามแบบก่อสร้างที่ได้มีการแก้ไข แต่มีข้อโต้เถียงในเรื่องของข้อสัญญาว่าควรจะคิดว่าส่วนลดจากความลึก 22 เมตร เป็น 20 เมตร ด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้พยานโจทก์ก็คือว่าที่ร้อยตรีอานุภาพ เกสรสุวรรณ์ สถาปนิกกรมพลศึกษาก็มีความเห็นว่า การที่มีการก่อสร้างในระยะค่าเฉลี่ย 20 เมตร นั้น เป็นการก่อสร้างที่ถูกต้อง และนอกจากนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องงานที่ปรับลดกับงานที่เพิ่มขึ้นนั้น งานที่เพิ่มขึ้นควรจะเพิ่มเงินให้แก่ผู้รับเหมาหรือไม่ หรือว่าจะคิดเงินเฉพาะส่วนที่มีการลดงานไป กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 พิจารณาถึงพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการปรับลดจำนวนวงเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานแล้ว จึงมีความเห็นให้ผู้รับเหมาคืนเงินจำนวน 14,000,000 บาทเศษ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งไม่ได้มีความรู้ทางด้านวิศวกรโดยตรง แต่ก็ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีความรู้เพื่อให้ความเห็น และนำความเห็นของผู้ที่ให้ความเห็นไว้มาพิจารณาว่าสมควรเรียกเงินหรือปรับลดเงินแก่ผู้รับเหมาเป็นจำนวน 14,000,000 บาทเศษ ก็พิจารณาถึงเหตุผลและความเป็นธรรมที่ผู้รับเหมาควรได้รับแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ในการปรับลดวงเงินดังกล่าว จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบ ตามทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทุจริตที่จะทำให้ทางราชการเสียหาย
ประเด็นพิจารณา การทำจำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินค่าก่อสร้างล่วงหน้าจำนวน 142 ล้านบาทเศษ แต่ผู้ที่รับเงินไปแล้ว ไม่ดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญาถูกต้องหรือไม่
โจทก์มีนางแสงจันทร์ วรสุมันต์ หัวหน้าฝ่ายบัญชีกรมพลศึกษามาเบิกความว่า ในโครงการที่ 2 ผู้รับจ้างขอใช้สิทธิเบิกเงินล่วงหน้าตั้งแต่งวดที่ 5 ถึงที่ 17 เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีออกมาเพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการก่อสร้าง กรมพลศึกษาอนุมัติจ่ายเงินไปแล้ว 142 ล้านบาท ต่อมามีการระงับการก่อสร้าง แต่กรมพลศึกษาได้รับเงินคืนครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้นางจิรกร สาตราภัย เจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชีกรมพลศึกษามาเบิกความว่าการจ่ายเงินล่วงหน้า 142 ล้านบาทถูกต้องตามระเบียบ
ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ใช้ดุลพินิจในการอนุมัติให้บริษัท แปซิฟิค แอสโซซิเอท กรุ๊ป จำกัด เบิกเงินล่วงหน้าไปได้นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิด
ประเด็นพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึง 10 อนุมัติให้งดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับเหมาในโครงการที่ 1 ทั้ง 4 หมวดงานนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า ในการสั่งงดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับเหมาทั้ง 4 รายนั้น ก่อนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จะใช้อำนาจในการสั่งงดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับเหมาทั้ง 4 รายนั้น มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาว่ามีเหตุในการที่จะสั่งงดหรือลดค่าปรับให้แก่ผู้รับเหมาทั้ง 4 รายหรือไม่
นอกจากนี้ยังขอความเห็นจากผู้ควบคุมงานด้วยว่า เหตุที่ผู้รับเหมากล่าวอ้างว่าทำงานล่าช้าเกิดจากความบกพร่องของผู้ว่าจ้างนั้น ผู้ควบคุมงานมีความเห็นอย่างไร
คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการพิจารณาถึงเหตุที่ผู้รับเหมาทั้ง 4 ราย กล่าวอ้างว่าเป็นสาเหตุจากเหตุสุดวิสัย เกิดจากความผิดของผู้ว่าจ้าง โดยผู้รับเหมากล่าวอ้างไว้หลายสาเหตุ คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการก็พิจารณาอย่างละเอียดแต่ละสาเหตุตามที่ผู้รับเหมาอ้างและพิจารณาอนุมัติในบางเหตุและในบางเหตุก็ไม่อนุมัติให้มีการขยายเวลา
การกระทำของคณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นการกระทำไปอย่างรอบคอบ ไม่ได้มีเจตนาช่วยเหลือผู้รับเหมาแต่อย่างใด และเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้รับเหมาทั้ง 4 ราย เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่คณะกรรมการปรับลดค่าจ้าง เช่นปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ในการก่อสร้างสนามฮอกกี้ เนื่องจากมีวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างของบริษัท อินซัม จำกัด ซึ่งถูกยกเลิกสัญญา แต่วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างยังอยู่ในพื้นที่ ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการก่อสร้างคานรั้วรอบสนามฟุตบอล ผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินงานได้ เพราะรูปแบบมีปัญหาและต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อน ปัญหาการก่อสร้างในหมวดงานที่ 4 เกี่ยวกับเรื่องการปลูกต้นไม้ยืนต้น ก็มีความเห็นว่าการปลูกต้นไม้ยืนต้นนั้นไม่สามารถทำได้เพราะยังมีการก่อสร้างอาคารในส่วนอื่นอยู่ นอกจากนั้นก็ยังมีการโต้แย้งการตอกเสาเข็มของอาคารบริการกลางด้วย คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงมีความเห็นว่า สมควรขยายเวลาให้แก่ผู้รับเหมาทั้ง 4 ราย ตามเหตุผลและความเหมาะสมแต่ละเหตุการณ์ เมื่อมีการขยายระยะเวลาไปแล้วก็ทำให้ผู้รับเหมาแต่ละรายนั้นปฏิบัติผิดสัญญาน้อยลง และบางรายก็ไม่ปฏิบัติผิดสัญญา
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 อนุมัติให้มีการงดหรือลดค่าปรับดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึง จำเลยที่ 10 ปฏิบัติหน้าที่ไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อ่านประกอบ:
อดีต ขรก.คดีทุจริตสนามกีฬา 2 พันล. ยื่น ‘ประยุทธ์’ ขอกลับรับราชการหลังศาลยกฟ้อง