- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘บิ๊กป๊อก’จัดให้! เบื้องหลัง มท.ซื้อเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ 234 ล.รับมือปีใหม่
‘บิ๊กป๊อก’จัดให้! เบื้องหลัง มท.ซื้อเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ 234 ล.รับมือปีใหม่
“การขับรถของคนไทยยังเป็นลักษณะเดิมคือขับรถเร็ว และกระชากความเร็วขึ้นไป ซึ่งในต่างประเทศไม่ค่อยทำกัน จะค่อย ๆ เร่งความเร็วขึ้นไปอยู่ในระดับหนึ่ง ประเด็นที่ต้องการจะดำเนินการคือการตรวจจับ โดยการเสนอขออุปกรณ์เครื่องมือ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการได้สรุปมา คิดว่าการตรวจจับลดได้ และควรทำอย่างไรที่จะให้คนในประเทศไทยมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย”
นับถอยหลังอีกไม่กี่วันจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 อย่างเป็นทางการ
แน่นอน เป็นประจำทุกปีที่หน่วยงานรัฐจะต้องออกมารณรงค์เรื่องการของการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เนื่องจากหลายคนใช้ช่วงเวลานี้เดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน หรือกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่ต่างจังหวัดอย่างล้นหลาม ส่งผลให้อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และบ่อยครั้ง และแต่ละปีก็มีผู้เสียชีวิต-ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณจำนวน 234,400,000 บาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จัดหาเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์จำนวน 2,930 เครื่อง ราคาเครื่องละ 8 หมื่นบาท ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นผู้เสนอผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นำไปใช้งานช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
โดยกรณีนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 ก่อนจะผ่านความเห็นชอบหลายหน่วยงาน กระทั่งคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ มีมติเห็นชอบดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยไม่ได้เสนอขอให้ซื้อแค่เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่ยังมีเครื่องตรวจจับความเร็วด้วย !
ทว่ากลับไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
ทำไมถึงไม่ผ่าน เหตุผลในการจัดซื้อเป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ช่วงเดือน ก.พ. 2558 มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานฯ มี พล.อ.อนุพงษ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง ได้หารือกันพร้อมกับข้าราชการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ และข้อเสนอเชิงนโยบายในการหาเครื่องตรวจจับความเร็วและเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เพื่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
โดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกรรมการและเลขานุการฯ สรุปบทเรียนสำคัญที่พบในช่วงที่ผ่านมาว่า มี 3 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ความเร็ว ความเมา และมอเตอร์ไซค์ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดคือมอเตอร์ไซค์ที่ส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย
ส่วนกรณีการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ในอดีตที่ผ่านมาผู้ขับขี่มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการเป่าแต่ปัจจุบันมีการแก้ไข พ.ร.บ.จราจร แล้ว ดังนั้นทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายได้ชัดเจน รวมถึงการจัดหาวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี และทางฝ่ายความมั่นคงของ คสช. ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ตามที่มีแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นใหญ่ ๆ คือมีผู้เสียชีวิตมาก ซึ่งเกิดจากการดื่มสุรา ขับรถเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจากการใช้รถมอเตอร์ไซค์
“การขับรถของคนไทยยังเป็นลักษณะเดิมคือขับรถเร็ว และกระชากความเร็วขึ้นไป ซึ่งในต่างประเทศไม่ค่อยทำกัน จะค่อย ๆ เร่งความเร็วขึ้นไปอยู่ในระดับหนึ่ง ประเด็นที่ต้องการจะดำเนินการคือการตรวจจับ โดยการเสนอขออุปกรณ์เครื่องมือ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการได้สรุปมา คิดว่าการตรวจจับลดได้ และควรทำอย่างไรที่จะให้คนในประเทศไทยมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย”
พล.อ.อนุพงษ์ ระบุอีกว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้ขับรถสาธารณะถ้ายังมีความคึกคะนองแล้วมาขับรถไม่ได้เด็ดขาด ขอฝากประเด็นนี้ไว้เป็นกรณีพิเศษทั้งกระทรวงคมนาคมและทางตำรวจ
“อยากให้ผู้ขับขี่มีความรู้ในการขับรถ โดยเฉพาะรถสาธารณะและรถบรรทุก และมีมาตรฐานไม่ใช่ทำสอบใบขับขี่ให้ยากขึ้น แต่อยากให้การขับรถดีกว่านี้ ประเด็นคือให้ใช้รถใช้ถนนเป็น”
ส่วน พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ขอให้ สตช. รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ นำนโยบายที่ รมว.มหาดไทย ไปดำเนินการทั้งหมด และดำเนินการเพื่อให้จำนวนผู้เมาแล้วขับลดลง โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ความเคลื่อนไหวของ สตช. กรณีนี้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) กล่าวยืนยันในที่ประชุมว่า การทำให้เกิดการขับขี่ปลอดภัยและการให้ความรู้ในมาตรการของ สตช. ในอีกไม่กี่เดือนจะมีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว กล้องการฝ่าไฟแดง กล้องห้ามการกลับรถตรงคอสะพานที่เคยจับ โดยจะใช้เทคโนโลยีในการจับกุม
“ส่วนการให้องค์ความรู้ก็จะจับไปสอนไป การจับกุมในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมามีการเตรียมการในเรื่องไหล่ทาง ป้ายจราจร เรื่องการทางกายภาพล่วงหน้า 2 เดือน จะเห็นว่าอุบัติเหตุในปีนี้ลดลง เพราะจับจริง เน้นไปที่การจำหน่ายสุรา ณ บริเวณข้างทาง ร้านที่ไม่มีใบอนุญาตขายเบียร์ทั้งหมด เอาทุกหน่วยมาจับ การสร้างวินัยจราจร เรื่องของการไม่ให้แซงในที่คับขับ อุบัติเหตุในปีนี้ลดลง ทั้ง ๆ ที่ รถเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่า ในเรื่องของการกวดขัน จะรับนโยบายไปพัฒนาต่อ รวมทั้งการให้องค์ความรู้ด้วย และจะมีการปรับปรุงเรื่องการตรวจจับความเร็ว จะมีการเตือนในช่วง 1 กิโลเมตรแรก และถ้ายังขับเร็วอีกในกิโลเมตรที่สองจะมีการจับกุม ซึ่ง สตช. จะปรับปรุงในส่วนนี้ต่อไป”
ข้างต้น คือบทสนทนาในที่ประชุม ก่อนที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะทำเรื่องถึง พล.อ.ประวิตร ขอจัดซื้ออุปกรณ์ 2 อย่าง ได้แก่ เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และเครื่องตรวจจับความเร็ว
สำหรับกรณีนี้ สำนักงบประมาณให้ความเห็นว่า
หนึ่ง เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ กรมป้องกันฯเคยจัดซื้อให้ สตช. ใช้งานในปี 2547 (ประมาณ 13 ปี) ซึ่งปัจจุบันเครื่องตรวจดังกล่าวเสื่อมโทรมอย่างมาก ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง บางส่วนใช้งานไม่ได้ เนื่องจากมีความถี่การใช้งานสูง ส่วนที่ยังใช้งานไม่ได้ ต้องใช้งบประมาณซ่อมแซมจำนวนมาก ไม่คุ้มค่า ทำให้ สตช. มีเครื่องมือดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน
ดังนั้นกรมป้องกันฯ ขอรับการสนับสนุนการปฏิบัติงานของ สตช. สำหรับสถานีตำรวจทุกสถานี จำนวน 1,465 แห่ง แห่งละ 2 เครื่อง รวมเป็น 2,930 เครื่อง จึงเห็นสมควรให้กรมป้องกันฯ เป็นหน่วยงานในการจัดหาเครื่องมือดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการจัดหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ในการจัดซื้อเครื่องตรวจดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ขอจัดซื้อในราคาเครื่องละ 80,000 บาท จำนวน 2,930 เครื่อง รวมเป็นเงิน 234,400,000 บาท โดยที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการดังกล่าวไว้ และไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณได้ จึงสมควรที่จะพิจารณาเห็นชอบให้กรมป้องกันฯ ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 234,400,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าว
สอง เครื่องตรวจความเร็ว ที่กรมป้องกันฯขอรับการสนับสนุนงบประมาณครั้งนี้ เป็นเครื่องมือที่มีคุณลักษณะครุภัณฑ์พิเศษและมีราคาสูงมาก ตกราคาเครื่องละ 900,000 บาท (มีสองรูปแบบ ได้แก่ แบบติดตั้ง 532 เครื่อง รวม 478,800,000 บาท และแบบพกพา 1,064 เครื่อง รวม 957,600,000 บาท) รวมทั้งได้รับการท้วงติงจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา เมื่อปี 2557 ซึ่ง สตช. เคยจัดหาให้เฉพาะหน่วยงานที่มีความจำเป็นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้งานเฉพาะเท่านั้น ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมืออย่างดี และต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ รวมทั้งใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาสูง
แต่การขอจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วครั้งนี้ เป็นการจัดหาให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งสถานีตำรวจจะใช้เครื่องตรวจจับความเร็วอีกชนิดหนึ่ง ที่มีคุณลักษณะธรรมดา มีราคาไม่สูง ตกราคาเครื่องละประมาณ 130,000 บาท และมีความเหมาะสมกับการใช้งานทั่วไป สามารถตรวจจับความเร็วได้ดี การดูแลรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายในการดูแลไม่สูง เครื่องมือดังกล่าวจึงน่าจะเหมาะกับสถานีตำรวจมากกว่า ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงจัดหาได้จำนวนมากเพียงพอครอบคลุมสถานีตำรวจทั่วประเทศ จึงเห็นสมควรให้กระทรวงมหาดไทยและ สตช. ทบทวนการจัดหาเครื่องมือดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
เท่ากับว่า กรมป้องกันฯ เสนอขอจัดซื้อเครื่องมือ 2 อย่าง ได้แก่ 1.เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ 2,930 เครื่อง รวมมูลค่า 234,400,000 บาท 2.เครื่องตรวจจับความเร็ว (ครุภัณฑ์พิเศษ) ให้กับสถานีตำรวจทุกแห่ง ตกเครื่องละ 900,000 บาท 2 รูปแบบ รวมมูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านบาท
แต่สำนักงบประมาณ อนุมัติแค่การจัดซื้อเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เท่านั้น ส่วนเครื่องตรวจจับความเร็ว ขอให้กระทรวงมหาดไทย และ สตช. หารือกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะเครื่องครุภัณฑ์พิเศษที่เสนอมามีราคาสูงมาก ไม่เหมาะกับใช้งานทั่วประเทศ และเป็นคนละรูปแบบกับเครื่องตรวจความเร็วที่ตำรวจใช้กันในปัจจุบันที่ตกราคาเครื่องละ 130,000 บาทเท่านั้น
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-เบื้องหลัง ที่มาที่ไปในการจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยลดอุบัติเหตุ ก่อนที่คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ไฟเขียวตามที่พี่ชาย ‘ใจดี’ 2 คน อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร จัดให้ !
ส่วนจะช่วยให้อุบัติลดลงมากน้อยแค่ไหน รอผลหลังปีใหม่ก็รู้ ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.อนุพงษ์ จาก bangkokbiznews, ภาพวัดแอลกอฮอล์จาก ASTVmanager