- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดรายงานสตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯสตรียุค'ปู' ผลาญงบหมื่นล.
เปิดรายงานสตง.แจงยิบ สารพัดปัญหากองทุนฯสตรียุค'ปู' ผลาญงบหมื่นล.
"...ที่สำคัญงบประมาณแผ่นดินที่กองทุนฯ ได้รับการจัดสรรมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทแต่การพิจารณาจัดสรรมิได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาโดยรัฐบาลที่ผ่านมาใช้จ่ายจากงบกลางซึ่งกระทำได้ง่าย การใช้จ่ายเงินจึงมีความเสี่ยงที่อาจถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่ตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง มากกว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพของสตรีให้ได้รับความเป็นธรรม ให้มีความเท่าเทียมกันในโอกาส ให้ได้รับการพิทักษ์คุ้มครองอย่างแท้จริง.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นผลการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่เริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีฉบับเต็ม ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การเสนอให้ยุบเลิกกองทุนฯ ซึ่งมีการระบุถึงจุดอ่อนการดำเนินการไว้หลายประเด็น อาทิ ที่มาของเงินที่ตั้งเป็นกองทุนฯ ส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมจึงเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่จำเป็น เพราะมีช่องทางขององค์กรและสถาบันการเงินจำนวนมากที่จัดให้สตรีที่มีความยากลำบากในพื้นที่ต่าง ๆ ได้กู้ยืมหลายช่องทางให้สตรีสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นอยู่แล้ว ขณะที่กระบวนการของการจัดการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีความชัดเจน แทนที่จะเป็นไปตามหลักการ “ทั่วถึงและเท่าเทียม” ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้สตรีทุกภาคส่วนเข้าถึงกองทุนฯ ได้อย่างเสมอภาค แต่กลับสร้างช่องว่างให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสตรีเฉพาะกลุ่มที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฯ เท่านั้น
----------------------
รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสำนักนายกรัฐมนตรี
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 โดยต้องการให้มีการยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติ และนำศักยภาพและความแตกต่างระหว่างหญิงชายที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งในปีงบประมาณพ.ศ. 2555 จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้รับงบประมาณทั้งสิ้นเป็นเงิน 10,111.06 ล้านบาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เนื่องจากได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณเป็นจำนวนมากและการดำเนินงานส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปจึงดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด จากการตรวจสอบมีข้อตรวจพบ
ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การจัดสรรเงินของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาที่เป็นเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
จากการตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนฯ พบว่า การจัดสรรเงินของกองทุนฯ ไม่ตอบสนอง
หรือไม่สอดคล้องต่อการแก้ไขสภาพปัญหาของสตรีที่ใช้เป็นเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนฯ
กล่าวคือจัดสรรเป็นเงินกู้ยืมหรือเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้
พัฒนาอาชีพ ร้อยละ 80.00 แต่จัดสรรเงินอุดหนุนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพหรือแก้ไขปัญหาสตรี การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรีเพียงร้อยละ 19.40
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินโครงการที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
จากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในการดำเนินโครงการตามกิจกรรมและรายการใช้จ่ายเงิน
ตามแผนงานโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก คกส.จ. 13 จังหวัด ของกลุ่มสมาชิกสตรี จำนวน 133 กลุ่ม/โครงการ จำนวนเงิน 14.25 ล้านบาท ปรากฏว่าการดำเนินโครงการของกลุ่มสมาชิกสตรีส่วนใหญ่จำนวน 132 กลุ่ม/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 99.25 ของโครงการที่ตรวจสอบ ไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่มีความยั่งยืน
เช่น กลุ่มสมาชิกสตรีใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามแผนงานกิจกรรมหรือรายการใช้จ่ายที่ได้รับอนุมัติ จำนวน 76 กลุ่ม/โครงการ กลุ่มสมาชิกสตรีนำเงินอุดหนุน (จ่ายขาด) ไปใช้ตามกิจกรรมหรือรายการที่กำหนดไว้แต่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงใดใดระหว่างก่อนกับหลังดำเนินโครงการ จำนวน 22 กลุ่ม/โครงการ กลุ่มสมาชิกสตรีนำเงินอุดหนุน (จ่ายขาด) ไปใช้จ่ายนอกเหนือจากรายการหรือกิจกรรมตามแผนงานที่กำหนดไว้ตามแบบเสนอขอโครงการ จำนวน 6 กลุ่ม/โครงการ
ข้อตรวจพบที่ 3 การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดหรือตำบล ไม่สอดคล้องตามระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้องหรือไม่รัดกุม
จากการตรวจสอบการดำเนินงานของ คกส.จ. จำนวน 13 จังหวัด และ คกส.ต. จำนวน 48
ตำบล พบว่า
3.1 การพิจารณาจัดสรรเงินสนับสนุนโครงการที่สมาชิกขอรับการสนับสนุนไม่เหมาะสม
หรือไม่เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยการพิจารณาและอนุมัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือพวกพ้อง
3.2 การใช้จ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การส่งคืนเงิน มีข้อบกพร่อง เช่น การส่งใช้เงินคืน
คกส.จ. ไม่เป็นไปตามวิธีการที่กำหนด ไม่จัดทำบัญชีกองทุนฯ หรือจัดทำแต่ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันยอดการรับจ่ายเงินกองทุนฯ กับหลักฐานการรับจ่ายได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่มีการจัดเก็บหลักฐานหรือไม่มีหลักฐานการใช้จ่ายเงินให้ตรวจสอบ
3.3 การจัดการข้อมูลหนี้และสัญญา การติดตามทวงถามหนี้ยังไม่เป็นระบบ เช่น ไม่มีการ
จัดทำฐานข้อมูลลูกหนี้ หรือจัดทำแต่ไม่ครบถ้วนเป็นปัจจุบันและไม่เป็นระบบที่สามารถใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือทวงถามหนี้ได้
3.4 ขาดการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานในทุกระดับ คกส.ต. ไม่มีการติดตาม ควบคุมกำกับดูแลสมาชิกที่ดำเนินโครงการในพื้นที่จริงอย่างต่อเนื่องจริงจัง
จากผลการตรวจสอบข้างต้น ทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมากยังไม่เกิดประโยชน์
อย่างคุ้มค่า บางส่วนเกิดความสูญเปล่าที่ชัดเจน เช่น มีการนำเงินไปใช้ส่วนตัวหรือในครัวเรือนเป็นเงินไม่น้อยกว่า 0.23 ล้านบาท และนำเงินไปให้กู้ยืมแสวงหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย หรือไปใช้จ่ายในกิจการอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามแบบเสนอขอโครงการที่คำนวณเป็นเงินได้จำนวน 5.87 ล้านบาท ที่สำคัญการจัดสรรเงินในสัดส่วนข้างต้นทำให้ปัญหาของสตรีและองค์กรสตรี เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกกดขี่ข่มเหง ความไม่เสมอภาค ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้การใช้วิธีการเขียนโครงการและขอเงินสนับสนุนให้มากไว้ก่อนแต่เมื่อได้รับเงินแล้วกลับนำไปใช้ในกิจการอื่นยังเป็นการเสียวินัยทางการเงิน และก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้
การจัดสรรเงินของกองทุนฯ ไม่เหมาะสมเกิดจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ให้ความสำคัญ
กับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ มากกว่าการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทสตรีและเครือข่าย สำหรับโครงการที่ดำเนินการส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ สาเหตุสำคัญเกิดจาก ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการของ คกส.จ. และคกส.ต. ขาดระเบียบหรือหลักเกณฑ์กลางที่ใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ความเหมาะสม ความสมเหตุสมผลความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าของโครงการ และขาดข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญและเป็นปัจจุบันในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ ประกอบกับ คกส.จ. ขาดประสบการณ์หรือมีระดับความมากน้อยของประสบการณ์ที่แตกต่าง อีกทั้งการเสนอขอโครงการส่วนหนึ่งมิได้เกิดขึ้นจากความจำเป็นและความตั้งใจของสมาชิกสตรีอย่างแท้จริง แต่รวมกลุ่มกันเพื่อให้ได้เงินไปใช้จ่ายในครัวเรือนจึงไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน
ประการสำคัญการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ยังมีข้อบกพร่องเกิดจาก คกส.จ. คกส.กทม.คกส.ต. ขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำระบบฐานข้อมูลโครงการ การจัดทำบัญชีและทะเบียนคุมต่าง ๆ การจัดทำหนังสือสัญญาและรายละเอียดแนบท้าย รวมทั้งไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำหลักฐานในการใช้จ่ายเงิน ตลอดจนขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนฯ ประกอบกับขาดระเบียบกลางที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการประเมินผลโครงการในทุกระดับที่ชัดเจน
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
แห่งชาติดำเนินการ ดังนี้
1. ทบทวน การพิจารณาจัดสรรและใช้จ่ายเงินงบประมาณที่อุดหนุนให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีโดยต้องให้สอดคล้องตอบสนอง การแก้ไขปัญหาสตรีตามเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งเป็นอันดับแรก
2. กำหนดระเบียบกลางขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกัน
โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการปฏิบัติงานประจำ ที่สำคัญได้แก่ ระเบียบกลางเกี่ยวกับการควบคุมภายในด้านการบริหาร ระเบียบกลางเกี่ยวกับการจัดหาพัสดุ การบริหารจัดการลูกหนี้ การดำเนินการและติดตามทวงถามเกี่ยวกับหนี้ค้างชำระ และระเบียบและหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับวิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงการวิเคราะห์ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้หรือเหมาะสมของโครงการที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแนวทางป้องกันผู้ที่ตั้งใจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนฯ มิให้สอดแทรกเข้ามาได้โดยง่าย
3. กำหนดแนวทางการปฏิบัติและสั่งการให้ คกส.จ. ดำเนินการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของสตรี
และองค์กรสตรีในพื้นที่รับผิดชอบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาของสตรี ความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการ อันเป็นการรับรู้ถึงความต้องการอย่างแท้จริงของสตรีในหมู่บ้านหรือชุมชน
4. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุม กำกับ และติดตามดูแลการใช้จ่ายเงินทั้งประเภทเงินทุนหมุนเวียนและเงินอุดหนุนในทุกระดับอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทั้งในด้านผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินและผลตอบแทนด้านการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สตรี
5. เร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้แก่สมาชิกเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง
กองทุนฯ และความคาดหวังในเรื่องการพัฒนาศักยภาพและบทบาทสตรี
6. อบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่ คกส.จ./คกส.กทม./คกส.ต. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้และความเข้าใจหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ โดยเฉพาะเรื่องการชำระคืนเงิน การจัดทำและความสำคัญของหนังสือสัญญาและรายละเอียดแนบท้ายสัญญา การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการกองทุนฯ ของคณะกรรมการฯ และการจัดทำบัญชีและทะเบียนคุมต่าง ๆ
7. เร่งรัดให้คณะกรรมการประเมินผลกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง/วิธีการติดตามและ
ประเมินผลโครงการของคณะกรรมการติดตามฯ จังหวัด อย่างเป็นระบบ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความชัดเจน สามารถตรวจสอบและวัดผลได้
8. กรณีพบว่า คกส.จ. บางรายมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ได้แก่ การพิจารณาและอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนสนับสนุนโครงการบ้านพักริมน้ำ หมู่ 9 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี และโครงการร้านจำหน่ายกาแฟสดและกาแฟโบราณ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามควรแก่กรณี รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมมิให้พฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
9. กรณีพบว่า การดำเนินโครงการของกลุ่มสมาชิกสตรีบางกลุ่ม/โครงการ มีการนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ได้นำเงินไปใช้ตามแผนงาน กิจกรรมหรือรายการที่กำหนดไว้ ให้ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ สั่งการให้มีการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามควรแก่กรณี รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน โดยอาจมีบทลงโทษที่เหมาะสม เพื่อให้มีสภาพบังคับและบังเกิดผลในเชิงป้องปราม และต้องประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มสมาชิกสตรีทราบอย่างทั่วถึง
ข้อสังเกต ปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึง
ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินจำนวนมากให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และมิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาหญิงและชายให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย
ที่สำคัญ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นระเบียบภายในของหน่วยราชการโดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการกองทุนฯ ทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัด ระดับตำบล หากมีการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่มิชอบ และเกิดความเสียหายการดำเนินการจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการกับบุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้อย่างไร หรือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายในการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมาก
ที่สำคัญงบประมาณแผ่นดินที่กองทุนฯ ได้รับการจัดสรรมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทแต่การพิจารณาจัดสรรมิได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาโดยรัฐบาลที่ผ่านมาใช้จ่ายจากงบกลางซึ่งกระทำได้ง่าย การใช้จ่ายเงินจึงมีความเสี่ยงที่อาจถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่ตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง มากกว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพของสตรีให้ได้รับความเป็นธรรม ให้มีความเท่าเทียมกันในโอกาส ให้ได้รับการพิทักษ์คุ้มครองอย่างแท้จริง
นอกจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้แสดงความเห็นและข้อสังเกต ที่สำคัญเช่น 1) ที่มาของเงินที่ตั้งเป็นกองทุนฯ ส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมจึงเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่จำเป็น เพราะมีช่องทางขององค์กรและสถาบันการเงินจำนวนมากที่จัดให้สตรีที่มีความยากลำบากในพื้นที่ต่าง ๆ ได้กู้ยืมหลายช่องทางให้สตรีสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นอยู่แล้ว 2) กระบวนการของการจัดการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีความชัดเจน แทนที่จะเป็นไปตามหลักการ “ทั่วถึงและเท่าเทียม” ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้สตรีทุกภาคส่วนเข้าถึงกองทุนฯ ได้อย่างเสมอภาค แต่กลับสร้างช่องว่างให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสตรีเฉพาะกลุ่มที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฯ เท่านั้น
ประกอบกับจากการเสวนาของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องมีข้อสังเกตว่า เงินที่จ่ายให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะถูกฝังในระบบงบประมาณของประเทศ จะคล้ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รัฐบาลจะต้องอุดหนุนให้เรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดเป็นภาระด้านงบประมาณ และการที่วัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเน้นให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ มีลักษณะเอาเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา ขณะที่มิติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็ง ความมั่นคงของสตรี อาศัยเงินอย่างเดียวไม่ได้ ควรให้ความสำคัญกับมิติอื่น ๆ ด้วย เช่นประเด็นการสร้างเครือข่ายน่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาบทบาทสตรี สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้ง บทบาทอำนาจหน้าที่ วัตถุประสงค์
แนวการดำเนินงาน และสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ปรากฏว่าการดำเนินงานของกองทุนฯ มีความคล้ายคลึงกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีการจัดตั้งมาก่อนแล้ว ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(ปัจจุบันยกฐานะเป็นกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยปัจจุบันมีองค์กรสตรีระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รวมจำนวน 78,906 คณะและทั้งหมดเป็นสตรีอาสา
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ดังนี้
1. พิจารณาทบทวนความเหมาะสมในการคงอยู่ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยอย่างน้อย
ควรพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็น ความซ้ำซ้อนของกองทุนหมุนเวียน องค์สตรีที่มีอยู่แล้ว จุดอ่อนจุดแข็ง ผลสำเร็จจากการดำเนินงานหรือการบริหารจัดการกองทุนฯ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจำนวนมากกับประโยชน์ที่ได้รับที่ผ่านมา โดยให้นำรายงานการตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของ สตง. ไปประกอบการพิจารณาเป็นสำคัญ
2. กรณีพิจารณาทบทวน เหตุผลความจำเป็นแล้ว เห็นว่าการแก้ไขปัญหาสตรีอันสืบเนื่องจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว การขาดโอกาสในสังคม การถูกเลือกปฏิบัติ ยังจำเป็นต้องมีการดำเนินการต่อไป และสมควรดำเนินการให้ตอบสนองต่อเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจริงจัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นควรยุบเลิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่จัดตั้งขึ้นโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 อันถือเป็นระเบียบปฏิบัติภายในหน่วยงานเสียก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนฯ มิได้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสตรีอันสืบเนื่องจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว การขาดโอกาสในสังคมการถูกเลือกปฏิบัติ และไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในทุกมิติให้เป็นไปอย่างเป็นระบบได้ ที่สำคัญได้ตรวจพบความเสียหายบางส่วนซึ่งเกิดจากข้อบกพร่องในการกำกับดูแลการนำเงินไปใช้ อันเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่อไปอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหากกองทุนฯ มีบทบาทเพียงเป็นแหล่งเงินกู้ของสตรีเพื่อนำเงินกู้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินหรือกองทุนหลายแห่ง เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สามารถรองรับและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้สตรีได้อยู่แล้ว กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่มีในปัจจุบันจึงไม่มีความจำเป็น
หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการใหม่ โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนหรือองค์กรในกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอจัดตั้ง การดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2557 หรือตราเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะองค์กรสตรีได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พิจารณากลั่นกรอง อย่างละเอียดรอบคอบและการพิจารณางบประมาณสนับสนุนจะได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนหรือองค์กรที่เกี่ยวกับการพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นใหม่ ควรเป็นไปในลักษณะการต่อยอดจากองค์กรสตรีที่มีอยู่แล้วซึ่งทำงานด้วยจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทน โดยอาจบูรณาการงานพัฒนาสตรีของกรมการพัฒนาชุมชนเข้ากับงานพัฒนาศักยภาพสตรีของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเห็นว่าองค์กรสตรีของทั้ง 2 ส่วนงานมีประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาศักยภาพและบทบาทของสตรีหรือองค์กรสตรี มากกว่าคณะกรรมการระดับต่าง ๆ ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
ที่สำคัญที่สุดการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลทั้งการประหยัดงบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และระยะเวลาและเป็นการคงไว้ซึ่งการมีจิตอาสาของสตรีส่วนหนึ่งที่เสียสละเข้ามาทำงานโดยไม่หวังค่าตอบแทน ซึ่งเป็นค่านิยมที่ดี มิให้เสียไปด้วยการนำเงินและผลประโยชน์เข้ามาเป็นแรงจูงใจหรือเป็นตัวตั้ง จนนำไปสู่ความขัดแย้ง สำหรับการสนับสนุนงบประมาณควรเป็นไปในจำนวนที่เหมาะสม แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโดยมีสตรีหรือองค์กรสตรีเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้งหรือเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาอย่างที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการยกระดับและเสริมศักยภาพสตรีในมิติต่าง ๆ
อาทิ การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาสตรี การช่วยเหลือเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหา การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี ต้องเปิดโอกาสให้สตรีทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกภาคส่วน องค์กรสตรี สตรีที่มีความบกพร่องทางร่างกาย มีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน